วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อ.ส.ค. ฟิตจัดดัน“กัญชง”ขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมโคนมของประเทศ


 

อ.ส.ค. ฟิตจัดแถลงข่าวจับมือหน่วยงาน อย.-แม่โจ้-ม.เกษตร-วิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์ พร้อมเร่งขับเคลื่อนงานวิจัย กัญชงขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจ ชี้สรรพคุณกากเมล็ดหลังบีบสกัดให้โปรตีนที่สูง ช่วยเพิ่มมูลค่าในการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์และเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมของประเทศในอนาคต



นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) กล่าวว่า จากที่มีการอนุญาตหรือปลดล็อก "กัญชง" ให้ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ประชาชนสามารถขออนุญาตและนำกัญชงไปใช้ในทางการค้า การแพทย์ การศึกษาวิจัย พัฒนาและการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองได้นั้น  อ.ส.ค. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและสนใจในการนำทุกส่วนของกัญชงและของเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือการแปรรูปกัญชงมาศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าในการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์  โดยเฉพาะส่วนของกากเมล็ดกัญชงหลังจากที่บีบสกัดน้ำมันออกไปแล้ว จากการรายงานวิจัยพบว่ามีคุณค่าโภชนะที่สูง ได้แก่ โปรตีนและพลังงาน โดยมีคุณค่าใกล้เคียงเทียบเท่ากากถั่วชนิดต่างๆที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศไทย ดังนั้น อ.ส.ค. จึงได้จับมือกับองค์การอาหารและยา (อย.) และพันธมิตรอีก 3หน่วยงาน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์   มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการในการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆของกัญชงเป็นอาหารโคนมในเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา  ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก 



สำหรับวัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือ เพื่อรองรับโครงการศึกษาวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชง ได้แก่ เมล็ด ใบ ลำต้น ราก กากเมล็ด น้ำมันจากเมล็ด น้ำมันจากดอก และส่วนอื่นๆของลำต้นกัญชง หรือส่วนที่แปรรูปจากพืชกัญชง ในการเป็นอาหารโคนมคุณภาพ เพื่อความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านการใช้ประโยชน์พืชกัญชง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออุตสาหกรรมโคนม  โดยร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงในรูปแบบต่างๆ เช่น การผลิตน้ำนมกัญชง การผลิตอาหารเสริมสำหรับโคนม เป็นต้น ตลอดจนร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปยังเกษตรกรผู้มีความสนใจ

สำหรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าว อ.ส.ค.ยังได้ประสานองค์ความรู้จากหน่วยงานพันธมิตร เช่น  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ด้านสายพันธุ์กัญชงและฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชงให้กับบุคลากรของ อ.ส.ค.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยภาควิชาสัตวบาลได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาในโครงการวิจัยต่างๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในวงการปศุสัตว์ ที่จะมีกากเมล็ดกัญชงและส่วนอื่นๆของกัญชง ไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยมุ่งหวังที่จะนำงานวิจัยไปผลักดันให้มีการพิจารณาอนุญาตใช้ในอาหารสัตว์ต่อไป 


 

ภารกิจสำคัญของ อ.ส.ค. คือการทำหน้าที่ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและดูแลเกษตรกรในด้านการเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพน้ำนม และหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตน้ำนมให้มากที่สุด  ดังนั้นการเร่งศึกษาวิจัยนำทุกส่วนของกัญชงและของเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือการแปรรูปกัญชงมาศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าในการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์จึงถือเป็นอีกทางเลือกสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมของประเทศในอนาคต โดยองค์การอาหารและยา (อย.) คาดว่า เมื่อมีการเพาะปลูกกัญชงเพิ่มขึ้นในประเทศไทย  จะสามารถผลักดันให้มีของเหลือจากอุตสาหกรรมการแปรรูปกัญชงมากยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสที่ดีในการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศไทยในอนาคตได้อย่างมหาศาล 



ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ทางองค์การอาหารและยา (อย.) คาดว่า เมื่อมีการเพาะปลูกกัญชงเพิ่มขึ้นในประเทศไทย จะสามารถผลักดันให้มีของเหลือจากอุตสาหกรรมการแปรรูปกัญชงมากยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสที่ดีในการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศไทยในอนาคตได้อย่างมหาศาล เพราะกัญชงนั้นยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกมาก โดยเฉพาะโปรตีนที่สามารถทำหารสัตว์ได้ ส่วนอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาก และขณะนี้ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป สามารถขออนุญาตปลูกได้ทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่การค้า การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง โดยผู้ที่ต้องการขออนุญาตให้ยื่นคำขอ ณ สถานที่ปลูกที่ตั้งอยู่ หากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนผู้ขอนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง ให้ยื่นคำขอที่ อย.

       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...