วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กรมส่งเสริมการเกษตรชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีข่าวราคาผลผลิตลำไยตกต่ำในจังหวัดจันทบุรี


 

กรมส่งเสริมการเกษตร ชี้แจงกรณีที่มีสำนักข่าวบางแห่งได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็น ราคาลำไยจังหวัดจันทบุรีตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะที่คนงานจากล้งรับซื้อผลไม้เข้ามาเก็บลำไยตามสวนต่างๆ โดยเก็บไปเฉพาะลูกที่มีขนาดใหญ่ ผิวสวย ส่วนผลที่มีขนาดเล็ก และกลาง จะปล่อยทิ้งไว้ในสวน จนต้องพากันเก็บผลผลิตที่เหลือเอง และเกษตรกรชาวสวนต้องเก็บลำไยสภาพดีออกขายเป็นลำไยร่วง ณ จุดรับซื้อลำไยร่วงของพ่อค้ารายย่อย บริเวณริมถนนทั่วไปในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งการรับซื้อดังกล่าวทำให้ราคาลำไยตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 6 บาท นั้น



นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับแจ้งจาก นางปัทมา นามวงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี ว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอโป่งน้ำร้อน ผู้นำท้องถิ่น และเกษตรกรผู้ผลิตลำไยในพื้นที่ พบว่า สถานการณ์การผลิตลำไยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ขณะนี้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 160,716 ตัน คิดเป็นร้อยละ 83.19 และมีผลผลิตคงเหลือประมาณ 32,475 ตัน คิดเป็นร้อยละ 16.81 ส่วนสถานที่/จุดรับซื้อผลผลิตตามที่เป็นข่าว เป็นจุดรับซื้อผลผลิตตกเกรดซึ่งจะซื้อผลผลิตไปเพื่อส่งผู้ประกอบการแปรรูป ตั้งอยู่ที่บริเวณตำบลสะตอน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งไม่ใช่ผู้รับซื้อผลผลิตในอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี




นอกจากนี้ เกษตรกรชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ได้ทำการเก็บเกี่ยวลำไยเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว มีเพียงส่วนน้อยที่ยังมีผลผลิตตกค้างอยู่ในช่วงนี้ และผลผลิตดังกล่าวจะเป็นผลผลิตที่มีขนาดผลเล็ก ผิวไม่สวย มีการรับซื้อผลผลิต (ลูกร่วงขนาดเล็ก) ไปขายต่อในราคา 6 บาทต่อกิโลกรัม และราคารับซื้อผลร่วง (ลูกร่วงขนาดผลใหญ่) ราคาประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจังหวัดจันทบุรีได้ดำเนินแก้ไขและช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้นแล้ว ดังนี้ 1. ส่งเสริมให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตโดยตรงให้กับผู้บริโภคภายในประเทศ เช่น การทำการตลาดออนไลน์ การนำผลผลิตไปจำหน่ายยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น อตก. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ราชการต่าง ๆ 2. ส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลผลิตที่เกรดไม่ได้คุณภาพ หรือตกเกรด เพื่อไม่ให้สินค้าดังกล่าวปะปนหรือทำลายตลาด 3. ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการพักต้นลำไย หรือแบ่งพื้นที่เพื่อทำการราดสาร จะทำให้ผลผลิตกระจายตัว พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชอื่นเป็นพืชเสริมในสวนลำไย เช่น การปลูกพริก การปลูกมะเขือ และการปลูกกระวาน เป็นต้น 4. กรณีสวนที่มีขนาดเล็กให้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยโดยใช้แรงงานในครัวเรือน และเพื่อนบ้านช่วยในการเก็บเกี่ยว แล้วนำผลผลิตที่เก็บได้ไปส่งสถานประกอบการรับซื้อผลผลิต (ล้ง) เนื่องจากขณะนี้ในพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...