วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

มกอช. ชง (ร่าง) ระเบียบตามสอบสินค้าเกษตรมะกันฉบับใหม่ฯ การันตีความน่าเชื่อถือการรับรองมาตรฐานของไทยตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร


 

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้มอบหมายให้นายปราการ วีรกุล ที่ปรึกษา มกอช. เป็นประธานการประชุมหารือผลกระทบและข้อคิดเห็นต่อ (ร่าง) ระเบียบย่อยว่าด้วยการเก็บบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับอาหารบางชนิด (Requirements for Additional Traceability Records for Certain Foods) ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและสมาคมผู้ส่งออกผักและผลไม้ไทย เพื่อพิจารณาผลกระทบของ (ร่าง) ระเบียบย่อยฯ ต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทย และร่วมจัดทำความเห็นต่อร่างระเบียบย่อยดังกล่าว



ทั้งนี้ การจัดทำความเห็นต่อร่างระเบียบย่อยดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่สหรัฐอเมริกา โดยหน่วยงานองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S.FDA) ได้ประกาศร่างระเบียบย่อยภายใต้ Section 204 (d): Additional Recordkeeping Requirements for High Risk Foods ของกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยอาหารให้ทันสมัย (Food Safety Modernization Act (FSMA) ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานของอาหารที่มีความเสี่ยงสูงภายใต้ Food Traceability List (FTL) ได้แก่ ผู้ผลิต (ระดับฟาร์ม) ผู้แปรรูป ผู้บรรจุหีบห่อ และผู้เก็บรักษา ต้องบันทึกและจัดเก็บขอมมูลตามสอบกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารในรายการที่สหรัฐฯ พิจารณาว่ามีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในอาหาร เช่น ผักผลไม้สด สินค้าประมงสด เป็นต้น เพื่อให้สามารถตามสอบ หรือติดตามตรวจสอบย้อนกลับได้ในกรณีที่พบการระบาดของเชื้อก่อโรคในอาหารไปจนถึงระดับผู้ผลิตระดับฟาร์ม โดยเบื้องต้น มกอช. คาดว่าระเบียบดังกล่าวจะประกาศฉบับสมบูรณ์ (Final regulation) ภายในปี 2564 - 2565 ซึ่งจะมีการกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อการปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (Small business) และขนาดเล็กมาก (Very-small business) เป็นเวลา 1 และ 2 ปี ตามลำดับ หลังจากประกาศให้ร่างระเบียบย่อย มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย (Effective date)

ปัจจุบันสหรัฐฯ นำเข้าอาหารเพื่อการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 และประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่สำคัญ โดยมีมูลค่าส่งออกถึงปีละกว่า 1.2 แสนล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการจัดทำข้อมูลตามสอบที่ต้องอยู่ในรูปแบบดิจิทัล และการเก็บรักษาข้อมูลจนถึงระดับแหล่งผลิตขั้นปฐมภูมิ ซึ่งที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นที่เป็นประโยชน์ เช่น ความพร้อมด้านฐานข้อมูลตามสอบและใบอนุญาตของเรือประมงพื้นบ้าน โดยกรมประมงได้ให้ความสำคัญต่อการยกระดับการควบคุมและป้องกันปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ภายใต้พระราชกำหนดการประมงอย่างต่อเนื่อง ประเด็นการตีความรายสินค้าและสถานประกอบการที่จะได้รับผลกระทบ หากกฎระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ตลอดจนถึงแนวทางเตรียมความพร้อมเกษตรกรรายย่อยที่เข้าเกณฑ์ต้องให้ข้อมูลตามสอบ โดยมีต้นแบบการปฏิบัติจากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น

มกอช. ในฐานะหน่วยงานผู้ประสานงานหลักด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของไทยจะรวบรวมจัดทำข้อคิดเห็นเพื่อแจ้งต่อ U.S.FDA พร้อมทั้งติดตามสถานะของการประกาศร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางเตรียมความพร้อมอย่างมีส่วนร่วมต่อไป



สหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของไทย มีมูลค่าเฉพาะ        การนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศไทย การปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการจัดทำข้อมูลตามสอบกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความเสี่ยงสูง ถือเป็นความท้าทายในการยกระดับฐานข้อมูลตามสอบสินค้าเกษตรและอาหารของผู้ประกอบการภายในประเทศ เข้าสู่การจัดทำข้อมูลตามสอบผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งจะทำให้มีความรวดเร็วในการติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งภายในประเทศและสินค้าส่งออก และเป็นการการันตีความน่าเชื่อถือในการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศไทยตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงสินค้าแปรรูปว่า มีทั้งคุณภาพและความปลอดภัย มีความพร้อมต่อตลาดส่งออกมาตรฐานสูง ซึ่งนอกจากการส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตแล้ว

"ปัจจุบัน มกอช.ได้ยกระดับขีดความสามารถของหน่วยรับรองระบบงาน หรือ Accreditation สินค้าเกษตรและอาหารของ มกอช. จนเป็นที่ยอมรับของ U.S.FDA ภายใต้กฎหมายการปรับปรุงความปลอดภัยอาหารให้ทันสมัย (Food Safety Modernization Act: FSMA) และกำลังขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมทั้งอาหารทะเล อาหารที่มีความเป็นกรดต่ำ และน้ำผลไม้ จากเดิมที่ได้รับการรับรองความเท่าเทียมในขอบข่ายการควบคุมเชิงป้องกันสำหรับอาหารมนุษย์ หรือ Preventive Controls for Human Food จากสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศแรกของโลกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2561" เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...