วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ชื่นชมผลสำเร็จ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” เพิ่มปริมาณปูม้า รักษาทรัพยากร พร้อมสร้างรายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน


ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้า #โครงการธนาคารปูม้า คืนปูม้าสู่ทะเลไทยณ ศูนย์เรียนธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 โดยมี ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยนักวิจัยในโครงการ นำเยี่ยมชม พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยชุมชน เครือข่ายวิจัยภูมิภาคภาคใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)



ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ได้กล่าวชื่นชม วช. และ ม.วลัยลักษณ์ ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาโครงการธนาคารปูม้าชุมชน โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยยังได้กล่าวถึงแง่คิดจากการทำงานจนประสบความสำเร็จในครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากการที่ อว.เชื่อมต่อกับชาวบ้านและประชาชน ด้วยการนำ องค์ความรู้และ งานวิจัยมามอบให้ แทนการมอบสิ่งของ โดยมีนักวิจัยทำงานให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์ และพัฒนาให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวิจัย แลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่น เปรียบเสมือนกับการสอนให้ตกปลาหรือปลูกข้าว แทนการแจกปลาหรือแจกข้าว ซึ่งส่งผลให้เกิดการสร้าง วัฒนธรรมวิจัยให้แก่ชุมชน ที่ทำแล้วเห็นผลจับต้องได้จริง

นอกจากนี้ รมว.อว.ยังขอให้ทุกหน่วยงานภายใต้ อว. มีความสามัคคี ช่วยเหลือ และชื่นชมในผลงานของหน่วยงานอื่นๆ มีการศึกษางานซึ่งกันและกันโดยยกตัวอย่างงานพัฒนาผ้าพื้นถิ่นที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สนับสนุน มรภ.นครศรีธรรมราช กับงานธนาคารปูม้าชุมชน ของ วช. ซึ่งทั้ง บพท. และ วช. สามารถศึกษางานของกันและกันและหาแนวทางการเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาการทำงานต่อไปได้ เป็นต้น



"การพัฒนาให้ชาวบ้านสามารถผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมกับองค์ความรู้สมัยใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนกลายเป็น นักวิจัยสมัครเล่นที่สร้างผลงานตอบโจทย์ปัญหาในชุมชน สร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง อย่างกรณีธนาคารปูม้าชุมชนที่ชาวบ้านรับถ่ายทอดองค์รวมรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้เป็นธนาคารปูม้า สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ชุมชน ทำให้จับปูม้าได้มากขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น รักษาสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ก็เป็นตัวอย่างให้คณะทูตต่างประเทศมาเยี่ยมชม เกิดเป็นความภูมิใจ และความสุขใจในชุมชน" รมว.อว. กล่าว



โครงการธนาคารปูม้าเพื่อ คืนปูม้าสู่ทะเลไทยเป็นโครงการที่ขับเคลื่อนโดย #สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ 12 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ชุมชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ให้ขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีอยู่ไปสู่ชุมชนอื่นๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และสภาวะชุมชนในทุกจังหวัดชายทะเล



ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ การถ่ายทอดและขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยและต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG Economy ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีโดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดย วช. สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม

ศาสตราจารย์ นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ..."วช. ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานบูรณาการหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำเอาองค์ความรู้จากผลการวิจัยและนวัตกรรมมาต่อยอด หรือวิจัยเพิ่มเติม ขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีอยู่ไปสู่ชุมชนอื่นๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และสภาวะชุมชน จำนวน 500 แห่ง ใน 20 จังหวัด ทั้งในพื้นที่ชายฝั่งด้านอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามัน เพื่อเพิ่มทรัพยากรปูม้า คืนความสมบูรณ์ให้ท้องทะเลไทย รวมทั้งขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตธนาคารปูม้า และกำหนดวิธีการหรือมาตรการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การอนุรักษ์ การฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วช. กรมประมง และหน่วยงานความร่วมมือ ได้มีการขยายผลธนาคารปูม้าไปแล้ว จำนวน 543 แห่ง ครอบคลุมในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง 20 จังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และกรมประมง ดำเนินการจัดตั้งธนาคารปูม้าทั้งหมด จำนวน 41 แห่ง ใน 6 อำเภอชายฝั่งทะเล ได้แก่ อำเภอเมือง 6 แห่ง อำเภอขนอม 6 แห่ง อำเภอท่าศาลา 12 แห่ง อำเภอปากพนัง 4 แห่ง อำเภอสิชล 4 แห่ง และอำเภอหัวไทร 9 แห่ง

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวได้ทำให้เกิดธนาคารปูม้าและศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับปูม้า การผลิตลูกปูม้า และองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดทำธนาคารปูม้า ซึ่งสามารถต่อยอด ขยายผลสู่การสร้างรายได้ของชุมชนตามแนวทาง BCG Economy และการใช้ประโยชน์ปูม้าอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...