ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์การบริโภคเนื้อหมูในท้องตลาด
พบการจับจ่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ลดลง เนื่องจากใกล้เข้าสู่เทศกาลกินเจ
ในระหว่างวันที่ 17-25
ตุลาคมที่จะถึงนี้ ผนวกกับภาวะฝนตกชุกในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
โดยอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติชี้ว่าทั้งสองปัจจัยมีผลกระทบกับตลาดสุกรเพียงช่วงเวลาสั้นๆ
ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือเผยสามารถควบคุมโรคเพิร์ส (PRRS) ให้อยู่ในวงจำกัด แม้ว่าจะต้องมีต้นทุนสูงขึ้นตัวละกว่า 200 บาทก็ตาม
แต่เกษตรกรยังพร้อมใจกันดูแลภาวะการผลิตให้มีปริมาณเพียงพอกับการบริโภค
ด้านกรมปศุสัตว์ย้ำหมูไทยปลอดภัย ปลอดสาร ปลอดโรค สามารถบริโภคได้อย่างมั่นใจ
แนะสังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”
น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
เปิดเผยถึงภาพรวมอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในปัจจุบันว่า
การผลิตสุกรยังคงเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ ที่ปริมาณความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลงานบุญกฐินในช่วง 1
เดือนหลังจากออกพรรษา แม้ว่ากำลังซื้อผู้บริโภคจะไม่มากเหมือนปีก่อนๆ
จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงภาวะฝนตกชุกในหลายพื้นที่
ที่อาจกระทบกับการจับจ่ายบ้าง ตลอดจนเทศกาลกินเจที่จะเริ่มต้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้
แต่เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะไม่กระทบกับตลาดสุกรในภาพรวม
หรือหากกระทบก็ไม่นานนักก็น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม
ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศ
นอกจากนี้ จากการบริหารจัดการปริมาณสุกรภายในประเทศของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำให้มีสุกรเพื่อการบริโภคของคนไทยอย่างเพียงพอ
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
จึงเตรียมเสนอกรมปศุสัตว์ในการเปิดด่านด่านศุลกากรเชียงแสน จ.เชียงราย
เพื่อให้สามารถส่งออกสุกรไปยังตอนใต้ของประเทศจีน ที่ยังมีความต้องการบริโภคเนื้อสุกรอีกเป็นจำนวนมาก
“เชื่อว่าเทศกาลกินเจอาจกระทบกับราคาหมูในช่วงสั้นๆเท่านั้น
คาดว่าแนวโน้มสถานการณ์หมูของไทยหลังจากนี้น่าจะสดใส
จากความต้องการหมูของชาวจีนที่ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ภาวะโรคสำคัญอย่าง ASF
ที่เกิดขึ้นในจีน ยังคงกระทบกับปริมาณการผลิตหมูของจีน
ทำให้มีหมูไม่เพียงพอกับการบริโภค และประเทศไทยที่ปลอดจากโรค ASF ประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชีย หมูไทยจึงเป็นที่ต้องการของจีนเป็นอย่างมาก
นับเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยในการส่งหมูคุณภาพดี ปลอดโรค
ไปป้อนตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ และประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน
กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตหมูของเกษตรกรในภาคเหนือขณะนี้
ยังคงสามารถประคับประคองการเลี้ยงและการจำหน่ายได้อย่างเหมาะสม
โดยเฉพาะการควบคุมและป้องกันโรคเพิร์ส ที่ระบาดในช่วงก่อนหน้านี้
ซึ่งสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้
จากความร่วมมือของเกษตรกรในการดำเนินการตามมาตรการของภาครัฐอย่างเข้มงวด
ขณะเดียวกัน เกษตรกรในพื้นที่ที่ยังไม่พบการระบาดต่างเร่งป้องกันโรคอย่างเข้มแข็ง
จนสามารถป้องกันโรคนี้ได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค
แม้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึงตัวละกว่า 200 บาทก็ตาม
“ขณะนี้โรค PRRS ที่เป็นปัญหาในช่วงก่อนหน้า เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
อย่างไรก็ตามพบว่าหลายพื้นที่มีปัญหาปริมาณหมูลดลง ไม่มีหมูออกขาย
หรือบางฟาร์มต้องขายหมูตัวเล็กลง ขณะที่ช่วงกินเจอาจมีการบริโภคลดลงบ้างในช่วงสั้นๆ
และปริมาณหมูก็ยังพอดีกับการบริโภค” นายสุนทราภรณ์ กล่าว
ส่วนมาตรฐานการผลิตสุกรที่ปลอดภัยนั้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์ น.สพ.สรวิศ ธานีโต ให้ข้อมูลว่า
การผลิตสุกรของไทยมีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการป้องกันโรคที่ถือเป็นแนวหน้าของภูมิภาคเอเชีย
ตัวอย่างเช่นความสามารถในการป้องกันโรค ASF ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย จากความร่วมมือกันทุกภาคส่วน
หมูไทยจึงเป็นหมูปลอดภัย ปลอดสาร ปลอดโรค
ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หมูเพื่อการบริโภคได้อย่างมั่นใจ และแนะนำว่าควรเลือกซื้อจากสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีตราสัญลักษณ์
"ปศุสัตว์ OK" ทั้งในตลาดสด ร้านค้าเนื้อสัตว์
และห้างโมเดิร์นเทรด ซึ้งได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์
ว่าจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะที่ดี มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน
ยิ่งช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น