มกอช. จับมือ CFIA จัดสัมมนา “รู้ทันข้อกฎหมาย…ส่งออกแคนาดาปลอดภัยจากจุลินทรีย์”
เสริมความรู้การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทยุณภาพ
สอดรับเกณฑ์มาตรฐานของแคนาดา
นายพิศาล พงศาพิชณ์
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ร่วมกับองค์การตรวจสอบอาหารแคนาดา (Canadian Food Inspection Agency : CFIA) ได้จัดการสัมมนา
“รู้ทันข้อกฎหมาย…ส่งออกแคนาดาปลอดภัยจากจุลินทรีย์”
ผ่านระบบการประชุมทางไกลอิเล็กทรอนิกส์ Zoom Teleconference ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบเฝ้าระวังและปฏิบัติงานกำกับดูแลห้องปฏิบัติการทดสอบอ้างอิง
(Reference Laboratory) ผู้ประกอบการผลิต แปรรูป
และส่งออกอาหารไปยังแคนาดา พร้อมทั้งสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐ จำนวนประมาณ 170 คน เข้าร่วมสัมมนา
การสัมมนาในครั้งนี้
เป็นการให้ข้อมูลเกณฑ์ปฏิบัติ แนวทางพัฒนามาตรฐานการเฝ้าระวัง
ตลอดจนถึงความพร้อมทางห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านการตรวจสอบความปลอดภัยด้านจุลชีววิทยาของแคนาดาเพื่อสนับสนุนการกำกับดูแลตามกฎหมายแม่บทและระเบียบ
Safe Food for Canadians ที่เป็นกฎหมายแม่บทความปลอดภัยอาหารของแคนาดาที่ได้รับการปรับปรุงข้อบทให้มีความทันสมัย
โดยเฉพาะการใช้หลักการควบคุมเชิงป้องกัน (Preventive Controls) อันตรายที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ที่ถือเป็นมาตรฐานระบบคุณภาพที่โครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ
(CODEX) กำลังผลักดันให้เป็นมาตรฐานระดับสากล ในปัจจุบัน
นอกจากนี้
ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของกรมวิชาการเกษตรและกรมปศุสัตว์ให้การบรรยายโครงสร้างความพร้อมและแนวทางบริการตรวจสอบสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก
เพื่อให้ผู้ประกอบการ
มีความเชื่อมั่นในแนวทางปฏิบัติเพื่อตรวจสอบและรับรองของประเทศไทย
โดยเฉพาะในการพัฒนาห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านความปลอดภัยทางจุลชีววิทยาของรัฐที่ประเทศคู่ค้าสำคัญทั่วโลกให้การยอมรับ
มกอช. ได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงาน CFIA ของแคนาดา มาเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ของทั้งภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานของรัฐสามารถปฏิบัติด้านมาตรฐานระบบคุณภาพและการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารให้สอดคล้องกับข้อกำหนดภายใต้กฎหมาย Safe Food for Canadians ตลอดจนถึงมาตรการและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ซึ่งส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีคุณภาพ สามารถขยายตลาดเข้าถึงผู้บริโภคของแคนาดาได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าประมงที่ไทยมีความร่วมมือในการจัดทำความตกลงความเข้าใจร่วมด้านการยอมรับความเท่าเทียมในระบบการตรวจสอบรับรอง (MRA) ที่ดำเนินการโดยกรมประมงตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งทำให้โรงงานภายใต้ MRA ได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นพิเศษ และยังสามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในกลุ่มไก่แปรรูปได้อย่างเป็นทางการด้วย
“แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเข้าสินค้าพืช
ประมง และปศุสัตว์ของไทย
และยังเป็นประเทศเป้าหมายที่ไทยจะพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าโดยจัดทำความตกลงการค้าเสรีพหุภาคี
อาเซียน-แคนาดา จึงถือเป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตทางการค้าสูง
การจัดสัมมนาในครั้งนี้ จึงถือเป็นการสร้างเสริมความรู้
ความเข้าใจต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการแปรรูป
จนถึงหน่วยงานรับรอง ตรวจสอบ และให้คำปรึกษา
ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพห่วงโซ่การผลิตของไทย
โดยเฉพาะความปลอดภัยทางจุลชีววิทยาที่ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความปลอดภัยที่สำคัญในการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างประเทศ”
เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น