วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563

กรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้าพัฒนาความสำเร็จ “เกษตรเชิงพื้นที่” ดันเกษตรกรปลูกผักปลอดภัยขายได้ปีละ 6 แสน



           กรมส่งเสริมการเกษตรปลื้ม หลังดันเกษตรกรเข้าโมเดล “เกษตรเชิงพื้นที่”ทำรายได้กลุ่มปลูกผักปลอดภัยสามโคกพุ่งเฉลี่ยปีละ 5-6 แสนบาท พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพสินค้าชุมชนสู่เกรดพรีเมี่ยม  รุกขยายพื้นที่ครอบคลุม 77 จังหวัด  มุ่งกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างความมั่นคง ยั่งยืนระยะยาว
              นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า หลังจากปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ผลักดันงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่เป็นโมเดลนำร่องใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย 1.แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 2.แปลงใหญ่ผัก อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ 3.วิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ต.ดอนมะโนรา อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม 4.วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมบางตลาด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา 5.แปลงใหญ่มังคุด อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช และ6.กลุ่มผู้ปลูกอโวคาโดแบบครบวงจร อ.พบพระ จ.ตาก


              ทั้งนี้  จากผลดำเนินการในปี 2562 ปรากฏว่าช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าของชุมชนสู่ระดับพรีเมี่ยมมากขึ้น  ทำให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น   ตลอดจนมีการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจและแนวทางกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชน จากการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ และร่วมรับผลอันจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน จากผลความสำเร็จดังกล่าว ในปี 2563นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีแผนในการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ขยายไปยัง 77 จังหวัดทั่วประเทศ   
               โดยรูปแบบแนวทางการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่จากการถอดบทเรียนความสำเร็จในปีที่ผ่านมา เกิดเป็นรูปแบบส่งเสริมการเกษตร 3 รูปแบบหลัก คือ 1.รูปแบบผัก ซึ่งเกิดแนวทางการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจและแนวทางกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชน 2.รูปแบบมะพร้าว ซึ่งเกิดแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามความต้องการของตลาด ตลอดจนแนวทางจัดการกระบวนการผลิตแบบไม่เหลือทิ้งหรือขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) และ 3.รูปแบบไม้ผล (มังคุดและอโวคาโด) ซึ่งเกิดแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ระดับพรีเมี่ยม โดยล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดเป็นนโยบายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรพิจารณาพื้นที่เพื่อดำเนินการตามรูปแบบโมเดลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่แล้ว จังหวัดละ 1 จุด เพื่อเป็นต้นแบบในจังหวัดของตน ในการต่อยอดโมเดลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ 6 จุดนำร่อง สู่พื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในการวิเคราะห์คน พื้นที่ สินค้า ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนา (Area Base) โดยบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกลไกการทำงานส่งเสริมการเกษตรในลักษณะรายบุคคล (Individual Approach) การส่งเสริมแบบกลุ่ม (Group Approach) และการส่งเสริมรายสินค้า (Commodity Approach) เพื่อกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชน


              ด้านนายวิรัช แม่นสุวรรณ เกษตรกรแปลงใหญ่ผักปลอดภัย ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ตนเองได้หันมาปลูกผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP ภายใต้โครงการแปลงใหญ่มา 2 ปี จากนั้นได้รับการส่งเสริมการทำเกษตรเชิงพื้นที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านกลุ่มผักแปลงใหญ่ตำบลบางเตย โดยกลุ่มตนจะมีสมาชิก 40 ราย โดยมีการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกลุ่มการขายตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ด้านผลิตที่ได้คุณภาพ มาตรฐานโดยจะมีเจ้าหน้าที่จากเกษตรอำเภอเข้ามาอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง  


              สำหรับตนเองปลูกผัก 25 ไร่ อาทิ ผักกาดหอม ตั้งโอ๋ โหระพา กะเพรา มีตลาดรับซื้อ 2 ช่องทางคือ ช่องทางแรกจำหน่ายผ่านกลุ่มกลุ่มผักแปลงใหญ่ตำบลบางเตย  ซึ่งจะมีโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐาน และอีกช่องทางจะมีพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดไทและตลาดสี่มุมเข้ามารับซื้อถึงแปลง โดยราคาจำหน่ายผลผลิตในช่วงฤดูกาลปกติเฉลี่ย 10-15บาท/กก. เดือนหนึ่งจะมีรายได้ประมาณ 30,000-50,000 บาท หรือเฉลี่ยปีละ360,000-600,000บาท  และในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายนราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากเข้าหน้าร้อนผลผลิตจะออกน้อยลง โดยบางปีสามารถขายได้เฉลี่ย 90-100 บาท/กก. กระบวนการผลิตจะทำแปลงเป็นร่องๆ ในหนึ่งร่องมีความกว้างประมาณ 5 เมตร ยาว 40 วา ปัจจุบันมี 30 ร่อง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเฉลี่ย 1,200 กก./ร่อง และใช้เวลาในการผลิต 45 วันถึงจะเก็บเกี่ยวได้ สำหรับแปลงของตนยังใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกอร์  ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ระดับหนึ่งเนื่องจากไม่ต้องใช้แรงงานในการรดน้ำหรือดูแลแปลง 


              “ความสำเร็จในการปลูกผักปลอดภัยภายใต้แนวทางการทำเกษตรเชิงพื้นที่ อันดับแรกคือกระบวนการผลิต ทำเลที่ตั้งของจังหวัดซึ่งอยู่ใกล้ตลาดและกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวต้องได้คุณภาพมาตรฐาน GAP ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจแปลงเป็นระยะๆ เราจะใส่ใจตั้งแต่การปรับปรุงดิน เพาะพันธุ์กล้าเอง ใช้เทคโนโลยีระบบให้น้ำในแปลงที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและแรงงาน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้กับกลุ่มเพื่อใช้สำหรับซื้อปัจจัยการผลิต โดยปี 2562 ตนทำรายได้จากการปลูกผักปลอดภัยขายประมาณ 600,000 บาท  คิดเป็นกำไรประมาณ  300,000 บาท  ซึ่งการปลูกผักปลอดภัยถือเป็นจุดแข็งของกลุ่มผักแปลงใหญ่ตำบลบางเตย ชุมชนเราจะได้เปรียบในเรื่องแหล่งน้ำที่มีใช้ตลอดปีเนื่องจากติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งปัจจุบันถือเป็นชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตผักปลอดภัยที่สำคัญของตลาดค้าส่งระดับประเทศ” นายวิรัช  กล่าว    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...