วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563

พลิกวิกฤติโควิด-19 หันมาเป็นเกษตรกรปลูกสมุนไพรกันเถอะ



 ปัจจุบันขมิ้นชันเป็นพืชสมุนไพรเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงของอุตสาหกรรมยาแผนโบราณยาแผนปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ข้อมูลปี 2560 ระบุตลาดอุตสาหกรรมสารสกัดขมิ้นชันมีมูลค่ารวม 49  ล้านบาท ในขณะที่ปริมาณผลผลิตหัวสดซึ่งยังผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมขมิ้นชันในประเทศ


                  ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตรได้รับการติดต่อจากองค์การเภสัชกรรมเพื่อขอซื้อพันธุ์ขมิ้นชันคุณภาพปลอดโรคเพื่อนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรในเครือข่ายปลูกเชิงการค้าเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมขมิ้นชันหลายแขนงที่กำลังขยายการเติบโต ซึ่งในเบื้องต้นองค์การฯมีความต้องการใช้ขมิ้นชันตากแห้ง ประมาณปีละ 90 ตัน ปัจจุบันได้มีการนำสารเคอร์คูมินอยด์ที่สกัดจากขมิ้นขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรแผนปัจจุบันรายการแรกของประเทศไทยสำหรับใช้บรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แคปซูลสารสกัดขมิ้นชันทดแทนยาแผนปัจจุบัน    สำหรับสรรพคุณของขมิ้นชันมีสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ 2 กลุ่มคือ กลุ่มน้ำมันระเหย (Volatile  oil)และกลุ่มสารสีเหลือส้มหรือที่เรียกว่าสารเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoid) 


                 ทั้งนี้   เพื่อเป็นการรองรับการขยายการเติบโตของตลาดขมิ้นชัน   กรมวิชาการเกษตรกำลังเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหัวพันธุ์ขมิ้นชันปลอดโรคระบบวัสดุปลูก (Substrate  Culture) หรือการปลูกที่ใช้วัสดุอื่นที่ไม่ใช่ดินในขมิ้นชัน 2 สายพันธุ์  คือสายพันธุ์ตรัง1และสายพันธุ์ตรัง 84-2  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาโรคระบาดและการปนเปื้อนจากสารเคมีตกค้างในดินที่อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตและสารเคมีตกค้างในผลผลิตขมิ้นชันซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้นกว่าการปลูกในดิน ส่วนการขยายพันธุ์ได้ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแทนการใช้หัวและแง่ง เพื่อเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ได้มากขึ้นสามารถรองรับความต้องการเกษตรกรที่จะนำขมิ้นชันพันธุ์นี้ไปปลูกเชิงการค้าในอนาคตโดยการวิจัยดังกล่าวดำเนินการในศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560และจะแล้วเสร็จในปี 2564นี้และหากสำเร็จก็พร้อมแจกจ่ายขมิ้นชันสายพันธุ์ปลอดโรคไปยังกลุ่มเกษตรกรต่างๆต่อไป       


               ปัจจุบันมีสายพันธุ์ขมิ้นชันได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมวิชาการเกษตรแล้วมีจำนวนแล้ว 5 สายพันธุ์ด้วยกันคือ ขมิ้นชันทับปุก (พังงา) ขมิ้นชันตาขุน (สุราษฏร์ธานี) ขมิ้นชันแดงสยาม ขมิ้นชันส้มปรารถนาและขมิ้นชันเหลืองนนทรีและมีสายพันธุ์ที่ผ่านการรับรองจำนวน 2 พันธ์ด้วยกัน คือขมิ้นชันสายพันธ์ตรัง1และขมิ้นชันสายพันธุ์ตรัง 84-2  


           จากกระแสความต้องการของตลาดสมุนไพรดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้เร่งพัฒนางานวิจัย และการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย และทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ และการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง เพื่อเพิ่มมูลค่าและผลักดันให้ขมิ้นชันเป็นสินค้าส่งออกของประเทศไทย ในอนาคตด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานGAPและอินทรีย์ในทุกพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ตลอดจนเร่งกระจายขมิ้นชันพันธุ์ปลอดโรคระบบวัสดุปลูกหรือไม่ใช้ดินให้กว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งเร่งวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเนื้อเยื่อเพื่อให้ได้ปริมาณต้นพันธุ์คุณภาพมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมขมิ้นชันและเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปปลูกเพื่อการค้าป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...