นายธีระ วงษ์เจริญ
ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์แล้งในขณะนี้ต้องยอมรับว่า
ภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรที่ทำการเกษตรทุกด้าน จังหวัดจันทบุรีขึ้นชื่อเรื่องเมืองผลไม้ขณะนี้
ต้นลำไยกำลังจะยืนต้นตายที่กำลังตามมาคือ ทุเรียน มังคุด เงาะ
ถึงแม้ค่าเฉลี่ยปริมาณฝน 3,200 มิลลิเมตร/ปี แต่ในบางพื้นที่ เช่น
อ.โป่งน้ำร้อน อ.สอยดาว ซึ่งมีสวนลำไยค่อนข้างมากเป็นพื้นที่มีปริมาณฝนน้อย
ถึงแม้มีอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธแต่ระบบการกระจายน้ำยังไม่สมบูรณ์
รวมทั้งมีการขยายพื้นที่ทำการเกษตรปริมาณน้ำจึงไม่เพียงพอ
ซึ่งขณะนี้ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยประทังต้นลำไยของเกษตรกรอยู่รอดให้ได้ก่อนและจังหวัดควรประกาศภัยพิบัติจากนั้นจึงเริ่มดำเนินการแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธโครงการ
1 ไปสู่โครงการ 3
จะแบ่งปันน้ำกันอย่างไรต้องให้เกษตรกร ประชาชนมาหารือร่วมกันเพื่อให้ทุกคนรอดให้ได้
ซึ่งคาดหวังว่าภายในระยะช่วงสิ้นเดือนต้นลำไยจะต้องรอดเพราะหากเริ่มปลูกใหม่ต้องรอเติบโต
3 - 6 ปี จึงจะได้ผลผลิต
ทั้งนี้
สภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีได้ลงไปดูพื้นที่ทั้งหมดแล้วว่าสามารถที่จะกระจายน้ำเข้าไปช่วยให้ต้นลำไยเลี้ยงตัวเองได้
ซึ่งระยะแรกต้องไม่หวังผลผลิต เกษตรกรต้องตัดใบเพื่อลดการคายน้ำรวมทั้งผลทิ้งให้หมดพร้อมด้วยการคลุมโคนต้นเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในดินป้องกันความชื้นระเหย
“ไม่เชื่อว่าความแห้งแล้งจะมีแค่เดือนสองเดือนถ้ามันยาวนาน
3 เดือน หรือกว่านั้น เราอาจจะตายไปพร้อมๆกับเขาก็ได้
เพราะฉะนั้นพี่น้องเกษตรกรต้องพยายามหาแหล่งน้ำมาเพิ่มเติมในพื้นที่เกษตรให้ได้
ทุกวันนี้เรามองการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าการเกษตรไปแล้ว และสภาเกษตรกรคงยอมไม่ได้หากปล่อยให้เกษตรกรล้มตายไปแล้วหันไปเชิดชูภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตเพื่อให้ได้เงินเข้าประเทศมากๆซึ่งเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาด”
นายธีระ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีได้เสนอแนวทางไปยังจังหวัดจันทบุรีให้ชาวสวนทุกส่วนในขณะนี้ต้องมีแหล่งน้ำสำรองของตัวเองอย่างน้อย
10 เปอร์เซ็นต์ของสวน ต้องปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ซับความชื้นอย่างน้อย
10 เปอร์เซ็นต์ของทุกสวน ทำระบบกระจายน้ำคลองส่งน้ำให้ทั่วถึง
ซึ่งสามารถทำได้เลยไม่ต้องรอการออกแบบ เงินทุนปลอดดอกเบี้ย
3 ปี เพื่อให้เกษตรกรขุดสระน้ำในพื้นที่ 10% ของสวนจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยปกติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น