วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

เกษตรฯ เร่งหาตลาดและแนวทางรองรับผลผลิตช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19



            กรมส่งเสริมการเกษตรเผยวิกฤติสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะไม้ผลอย่างมะม่วงผลผลิตส่วนใหญ่จะทยอยออกช่วงเมษายนแต่ส่งตลาดต่างประเทศไม่ได้ เร่งหาแนวทางรองรับผลผลิตและตลาดช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมประสานหน่วยงานต่าง ๆ ในการกระจายสินค้าเกษตรให้อยู่รอด


         นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อเศรษฐกิจโลก การดำรงชีวิต รวมถึงการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรของเกษตรกร ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยจึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าและการบริหารสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการติดตามแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และมอบหมายให้จัดเตรียมมาตรการรองรับ วางแผนกระจายผลผลิต และจัดหาช่องทางการตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วน ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 กรมส่งเสริมการเกษตรขึ้น เพื่อประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ และจัดทำแผนรองรับความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบต่อภาคการเกษตรในครั้งนี้


    กลุ่มสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวมี 4 กลุ่ม เป็นผลผลิตสดเน่าเสียง่ายและกำลังจะทยอยออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ประกอบด้วย 1) ผลไม้ ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน และมังคุด โดยเฉพาะมะม่วงเข้าสู่ช่วงผลผลิตออกมากในหลายจังหวัด ผู้รับซื้อมะม่วงเกรดคุณภาพเพื่อการส่งออกหยุดรับซื้อ เนื่องจากไม่สามารถส่งออกได้ทั้งตลาดเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งต้องส่งทางเครื่องบินแต่ขณะนี้ไม่มีเที่ยวบินไปยังประเทศเหล่านี้ รวมทั้งตลาดในประเทศชะลอตัวเนื่องจากผู้บริโภคเดินตลาดน้อยลง และเน้นการซื้อสินค้าที่จำเป็นมากกว่า ส่วนทุเรียนและมังคุด ผลไม้ภาคตะวันออกขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลที่ผลผลิตออกมาก ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นต้นไป และผลไม้ภาคใต้ จะเข้าสู่ฤดูการผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน ขนส่งทางรถเป็นหลักยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การรับซื้อเพื่อการส่งออกยังดำเนินการได้ ส่วนตลาดภายในประเทศ หากในช่วงที่ผลผลิตออกมากและประชาชนยังไม่สามารถออกมาจับจ่ายซื้อหา หรือจัดงานเทศกาลบริโภคผลไม้ได้ จะทำให้ผลไม้เกรดเพื่อการบริโภคในประเทศมีปัญหาล้นตลาดได้
            2) พืชผัก โดยกลุ่มพืชผักแปลงใหญ่ที่ผลิตภายใต้ข้อตกลงกับห้างค้าปลีก เพื่อวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ แม้ลูกค้าจะมาซื้อไม่บ่อยเหมือนเดิม เนื่องจากบริษัทมีระบบห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิ สามารถเก็บรักษาคุณภาพได้นาน ส่วนพืชผักทั่วไปที่ขายส่งตามตลาดได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้รวบรวมซึ่งไม่มีห้องเย็นเก็บรักษาจะซื้อในปริมาณน้อยลง และเน้นการซื้อสินค้าที่จำเป็นมากกว่า พืชผักเช่น กะหล่ำปลี ที่ผลิตตามข้อตกลงกับร้านอาหาร บาบิคิวพลาซ่า ขณะนี้ร้านอาหารปิดบริการ ทำให้มีสินค้าในมือเกษตรกรจำนวนมาก 3) ไม้ดอก สินค้าไม้ดอก ไม้ประดับ ได้แก่ ดาวเรือง กล้วยไม้ มะลิ กุหลาบ เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือสักการบูชาบรรพบุรุษ และประดับตกแต่งตามโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ได้มีการวางแผนให้ออกในช่วงฤดูร้อน ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลวันหยุด เช่น สงกรานต์ เชงเม้ง ไม่สามารถจำหน่ายได้ตามแผน เนื่องจากหลายวัดปิดหรืองดกิจกรรมรวมทั้งการงดการเดินทางของประชาชน และ 4) สมุนไพร หลายชนิดกำลังเป็นที่ต้องการของประชาชน เช่น ฟ้าทะลายโจร ขิง ขมิ้นชัน เป็นต้น แต่ประชาชนส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ประโยชน์


            สำหรับแนวทางและมาตรการที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแผนรองรับในส่วนของผลไม้ คือ 1) ประสานบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้เข้าไปรับกระจายผลผลิตมะม่วงผ่านระบบของไปรษณีย์ไทย (ThailandPostmart) 2) การให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่ได้รับการพัฒนาถ่ายทอดการขายแบบออนไลน์ เข้าไปคัดเลือกสินค้าและแนะนำเกษตรกรให้สมัครเปิดขายสินค้าเกษตรออนไลน์ในทุกช่องทางบน Platform ต่าง ๆ 3) ประชาสัมพันธ์สินค้าของเกษตรกรที่ขายผ่านระบบออนไลน์ให้ประชาชนได้รับรู้ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ 4) จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมสินค้าไม้ผล ภายใต้แนวคิดให้ส่วนราชการ และประชาชน ช่วยกันซื้อมะม่วงคุณภาพดีเพื่อเป็นของขวัญ กำลังใจ หรือฝากคนที่รักและห่วงใย เช่น จัดกิจกรรม CSR ส่งผลไม้ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ หรือซื้อผลไม้ฝากครอบครัวที่อยู่ห่างไกลกันให้ได้บริโภคมะม่วงสดคุณภาพดีในช่วงนี้
            นอกจากนี้ จะสนับสนุนการกระจายผลผลิตจากสวนไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ด้วยระบบของรถเร่ ภายใต้โครงการ “รถเร่ผลไม้ไทยน่าช้อป” ซึ่งจะให้ผู้มีรถเร่รับซื้อผลไม้มาขึ้นทะเบียนแจ้งความจำนงในการรับซื้อผลไม้ไว้กับสำนักงานเกษตรจังหวัด พร้อมอบรมแนะนำขั้นตอนในการขนส่ง ดูแลรักษาคุณภาพผลไม้ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดหรือศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจผลไม้ระดับเขตจะคอยเชื่อมโยงระหว่างรถเร่กับกลุ่มเกษตรกรเจ้าของสวนให้เกิดการรับซื้อให้ทั่วถึง ไม่เกิดการตัดราคา และควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานสู่ผู้บริโภค 
            “ในส่วนของพืชผักจะประสานกับหน่วยงานราชการที่มีการประกอบอาหารเลี้ยง เช่น โรงพยาบาล ค่ายทหาร เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร หรือเตรียมหาตลาดใหม่รองรับโดยประสานโรงงานแปรรูป กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อแปรรูปและจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ด้านไม้ดอกจะประชาสัมพันธ์สินค้าของเกษตรกรที่ขายผ่านระบบออนไลน์ให้ประชาชนได้รับรู้ผ่านช่องทางต่างๆ และช่วยประชาสัมพันธ์การใช้ดอกไม้สดส่งให้คนที่รัก เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกันในยามวิกฤติ สำหรับสมุนไพรจะมีแนวทางในการให้ความรู้ คำแนะนำการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขผ่านช่องทางต่างๆ และใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสที่ตลาดมีความต้องการในขณะนี้ แนะนำการผลิตสมุนไพรที่ได้คุณภาพแก่เกษตรกร เพื่อเข้าสู่ตลาดสมุนไพรในอนาคต” อธิบดีกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...