เลขาฯ มกอช. เปิดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2563” เร่งเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร ก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ หนุนองค์ความรู้วางแผนการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยภายหลังเปิดงานกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2563 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังบ้านโคกกรวด (ศูนย์เครือข่าย) ตำบลเฉลียง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมาว่า การดำเนินการของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นกลไกสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และให้ความรู้แก่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ขณะเดียวกันเกษตรกรส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกรรายย่อย ยังมีการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตร ตลอดจนโอกาสการเข้าถึงข้อมูล แหล่งทุน ทรัพยากร และการตลาดได้น้อย และที่สำคัญคือ เกษตรกรยังทำการเกษตรในลักษณะต่างคนต่างทำ ผลิตสินค้าไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ขาดการรวมกลุ่ม จึงทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิต
จากสภาพปัญหาดังกล่าว รัฐบาลมีความตระหนักและเข้าใจในปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่ จึงมีนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสินค้าหลักและเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ หรือ Zoning โดยมีองค์ประกอบของศูนย์ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบ แปลงเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ สำหรับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่หน่วยงานราชการส่งเสริมกับภูมิปัญญาของเกษตรกร และได้มีการประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมอย่างเฉพาะเจาะจงกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ
“กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตของเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเกษตรกร จึงได้จัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ขึ้น โดยมีกำหนดจัดกิจกรรม จำนวน 19 ศูนย์ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่พี่น้องเกษตรกร ก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ในปี 2563 โดยมุ่งเน้นให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ เพื่อวางแผนการผลิต เข้าถึงปัจจัยการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งหากสามารถทำให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และหากมีการขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและองค์ความรู้ต่างๆ จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ก็จะเป็นที่พึ่งพาช่วยเหลือดูแลเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง”เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น