กรมประมง
หวั่นอากาศแปรปรวนส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เตือนเกษตรกรระมัดระวัง
พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำแนวทางป้องกันควบคุมโรคแก่เกษตรกร
นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทย
โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน มีอากาศที่หนาวเย็นลง
แต่บางพื้นที่ก็ยังมีฝนตกสลับกับอากาศร้อน
ทำให้อุณหภูมิของน้ำในรอบวันแตกต่างกันมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณสมบัติน้ำ ผลให้คุณภาพน้ำลดต่ำลงทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และเคมีภาพ
ลักษณะเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพปลาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น
อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งในการปรับตัวนี้จำเป็นต้องนำพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหารมาใช้
ทำให้พลังงานที่จะนำไปใช้ในการเจริญเติบโตหรือสร้างระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยลง
ด้วยเหตุนี้ทำให้ปลาอ่อนแอ ป่วย และติดโรคได้ง่าย
โรคอียูเอส |
ทั้งนี้ ในช่วงต้นหนาว
ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม
น้ำจะมีอุณหภูมิต่ำเป็นเหตุทำให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี
โดยเฉพาะโรคอียูเอส โรคตัวด่าง และโรคไวรัสเคเอชวี
ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
กรมประมงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานประมงจังหวัดต่างๆ
ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรแล้ว โดยเบื้องต้น
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการควบคุมโคระบาดในช่วงฤดูหนาว
ขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง ดังนี้
1.
เกษตรกรควรวางแผนระยะเวลาการเลี้ยงปลาให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม หรือ
ควรงดเว้นการเลี้ยงปลาในช่วงฤดูหนาว
2.
ควรมีบ่อพักน้ำใช้เพื่อใช้ในฟาร์มได้เพียงพอตลอดฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว
3.
เลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงให้เหมาะสมกับฤดูกาล โดยในช่วงฤดูหนาว
ควรเลือกปลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดน้อย เช่น ปลานิล ปลาจีน
และปลาไม่มีเกล็ด ที่สำคัญ
ควรลดความหนาแน่นของปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงและหมั่นเอาใจใส่
ตรวจสุขภาพปลาอย่างสม่ำเสมอ
โรคตัวด่าง |
4. ควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม
ลดปริมาณอาหารที่จะให้ลง 10 – 15 %
เนื่องจากช่วงอุณหภูมิต่ำปลาจะกินอาหารได้น้อยลง
ถ้าหากมีปริมาณอาหารเหลือจะสะสมตามพื้นบ่อ ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย เกิดก๊าซพิษ
และมีผลกระทบต่อสุขภาพปลา ทั้งนี้ อาจมีการเสริมวิตามินซีในอาหารตามอัตราการใช้ที่ระบุในลาก
โดยน้ำหนัก จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ต้านทานโรคและลดความเครียดของปลาได้
5.
ควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อ โดยใช้เกลือแกงมาละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ ประมาณ 100-150
กิโลกรัมต่อไร่
6. หากพบว่ามีปลาที่เลี้ยงป่วยหรือมีอาการผิดปกติ
ควรแยกออกไปเลี้ยงและรักษาต่างหาก
กรณีป่วยหนักควรทำลายทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง หรือ
หากพบปลาตายในบ่อเลี้ยงให้กำจัดโดยการฝังหรือเผา ทั้งนี้
หากกรณีปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีความผิดปกติ
ให้รีบปิดทางน้ำเข้าและหยุดการเติมน้ำจากธรรมชาติเข้ามาในบ่อทันที
7. หากไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้
ในช่วงระหว่างการเลี้ยง ให้ควบคุมปริมาณการให้อาหาร
8. หากพบว่าน้ำในบ่อเริ่มเน่าเสีย
โดยสังเกตว่ามีก๊าซผุดขึ้นมาจากพื้นบ่อ ให้ใช้เกลือสาดบริเวณดังกล่าว ประมาณ 200 – 300
กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่
เพื่อลดความเป็นพิษของก๊าซพิษ เช่น แอมโมเนีย เป็นต้น
9.
เมื่ออากาศเริ่มเข้าสู่สภาวะที่เหมาะสม (อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น)
และพบว่าปลาในธรรมชาติเป็นปกติ ไม่มีอาการป่วย ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำตามความเหมาะสม
และให้อาหารปลาได้ตามปกติ
ทั้งนี้
เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกตและดูแลสัตว์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด
หากพบมีปลาป่วยหรือมีอาการผิดปกติ สามารถแจ้งหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่
สำนักงานประมงจังหวัด หรือ ศูนย์วิจัยฯ สัตว์น้ำชายฝั่ง/น้ำจืด
ของกรมประมงในพื้นที่นั้นๆ หรือ กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพฯ โทร.0
2579 4122
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น