นายก่อพงษ์ โกมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดงานและปลูกต้น “กัญชา” ปฐมฤกษ์ ใน “โครงการขับเคลื่อนการปลูกกัญชานำร่องเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โดย นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้การต้อนรับ ร่วมด้วยผู้แทนจาก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกษตรกร ผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ เข้าร่วมงานกว่า 300 คน
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวภายหลังพิธีเปิดโครงการดังกล่าว ว่า จากการพยายามผลักดันของสภาเกษตรกรแห่งชาติให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษและกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ยังผลให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพร “กัญชา” เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ดังนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จึงขอความร่วมมือให้สภาเกษตรกรแห่งชาติผลิตพืชสมุนไพร “กัญชา” เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่
โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติพิจารณาและมีมติเห็นชอบให้สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติกำหนดพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด จังหวัดลำปาง เป็น 1 ใน 4 จังหวัดกลุ่มเป้าหมาย สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางจึงได้พิจารณาและกำหนดให้ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา” ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม เป็นผู้ผลิตพืชสมุนไพร “กัญชา” ให้กับกรมการแพทย์แผนไทยฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนหรือกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์เรียบร้อยแล้ว จึงดำเนินการทำการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการปลูกกัญชาภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ระหว่างสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนาขึ้น เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เพื่อผลิตพืชสมุนไพร “กัญชา” ให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2,000 กิโลกรัมสด
“วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา” ได้ดำเนินการขออนุญาตผลิตและครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือในประเภทที่ 5 จากคณะกรรมการอาหารและยา โดยได้รับใบอนุญาตครอบครองตามหนังสือที่ 36/ 2562 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และใบอนุญาตผลิตหรือปลูกตามหนังสือที่ 12/ 2562 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 โดยได้มีการเตรียมความพร้อมด้านโรงเรือนเพาะปลูก แปลงปลูกในพื้นที่ทั้งหมด 4 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา ตามมาตรฐานภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับ และกรอบกฎหมายที่ถูกต้อง
“ถือเป็นปฐมฤกษ์ “กัญชา” ต้นแรกลงสู่ดินโดยเกษตรกรอย่างแท้จริง จากวันนี้ไปเราจะทำแปลงปลูกให้ดีที่สุดทั้งนอกโรงเรือน จำนวน 1,200 ต้น และในโรงเรือน 800 ต้น รวม 2,000 ต้น ให้ได้กัญชาแบบเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพทางยาสูงที่สุดจนสังคมไทยและแพทย์ได้เชื่อมั่นในความรู้ของเกษตรกรไทย” นายประพัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การปลูกครั้งนี้จะเป็นการปลูกเชิงวิจัยที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน เพราะนอกจากจะปลูกในเชิงวิจัยทางการแพทย์แล้ว ยังวิจัยในเชิงพันธุกรรม สายพันธุ์ต้นทุนการผลิตและระบบการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะร่วมทำการวิจัยไปจนถึงการใช้พืชสมุนไพร“กัญชา” เพื่อเป็นสารบำรุงสุขภาพให้กับภาคปศุสัตว์ เช่น สุกร ไก่ เป็นต้น จนนำไปสู่เอกสารที่ผ่านการปฏิบัติจริงเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะภายในปี 2563 ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น