นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า
กรมปศุสัตว์
เป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในด้านการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะแก่เกษตรกร
โดยแนวทางที่ใช้ในการส่งเสริม ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน
การเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป และการจัดการด้านการตลาด เน้นการตลาดนำการผลิต
ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งวิธีการหนึ่งที่ดำเนินการในด้านการส่งเสริม
คือการจัดงานมหกรรมปศุสัตว์ การจัดงานแพะแห่งชาติ ที่มีกิจกรรมหลัก ได้แก่
การจัดงานประกวดพันธุ์แพะ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันจากนักวิชาการ แกนนำเกษตรกร สถาบันการศึกษา
และผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆ ที่มาพบปะกันในงาน การนำสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากแพะมาจัดแสดงและจำหน่าย
เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรับรู้ในวงกว้าง
ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงแพะ
จึงได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงแพะมาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติในปี 2550
มีแพะที่เลี้ยงรวม 444,774 ตัว เกษตรกร 38,653 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้มีการสำรวจพบว่า มีแพะรวม 832,533 ตัว เกษตรกร 65,850 ครัวเรือน โดยในระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มีแพะเพิ่มขึ้น 387,759 ตัว
เกษตรกรเพิ่มขึ้น 27,197 ราย
ซึ่งกรมปศุสัตว์มีแผนงานโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะ
โดยการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะ ตั้งแต่ปี 2552
ปัจจุบัน มีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงแพะจำนวน 501 กลุ่ม ชมรมแพะระดับจังหวัด
64 ชมรมจังหวัด เครือข่ายระดับเขต 9
เขต และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ งบประมาณจากจังหวัด
งบประมาณจากกลุ่มจังหวัด และงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีแนวทางปรับเปลี่ยนอาชีพการเกษตรที่ผลผลิตมีปัญหาด้านการตลาด
ได้แก่การทำนา การทำสวน ให้ปรับเปลี่ยนเป็นเลี้ยงแพะเป็นอาชีพมากขึ้น
จากการประมาณการพบว่าจำนวนแพะที่ใช้บริโภคในประเทศ ประมาณปีละ 377,000 ตัว โดยมีการส่งออกแพะไปยังตลาดมาเลเชีย ประมาณ 100,000 ตัว/ปี ตลาดลาว และเวียดนาม ประมาณ 40,000 ตัว/ปี
นอกจากนั้น มีการนำเข้าแพะจากประเทศพม่า จำนวน 39,231 ตัว/ปี
จะเห็นว่า โดยสรุปภาพรวมการผลิตแพะในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะได้มีการพัฒนาทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
การลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป
และการจัดการด้านการตลาดตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มและเครือข่ายเกษตรกร
อย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
กรมปศุสัตว์จึงกำหนดให้มีการจัดงานแพะแห่งชาติเป็นประจำทุกปี วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกษตรกรเลี้ยงแพะมีการตื่นตัวในการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาการเลี้ยง
การจัดการฟาร์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้
ประสบการณ์ระหว่างเกษตรกร นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาการแปรรูป
และการตลาดให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ตลาดแพะ
ให้กว้างขวางทั้งตลาดในพื้นที่และตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อส่งเสริมการตลาด
ให้แก่เกษตรกรเลี้ยงแพะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดติดต่อกันมาแล้ว
16 ครั้ง
ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 17 โดยได้ร่วมกับจังหวัดสระบุรี
ซึ่งมีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (ไร่เขาบัวทอง) ร่วมเป็นแม่งาน รวมถึง
ส่วนราชการ และภาคเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะในพื้นที่ ร่วมกันจัดงานแพะแห่งชาติ
ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 ขึ้น ระหว่างวันที่
17 - 19 มกราคม 2563 ณ
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (ไร่เขาบัวทอง) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
และทุกครั้งที่ผ่านมามีการตอบรับจากเกษตรกร นักวิชาการ
ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจที่มาร่วมงานเป็นอย่างดี
สำหรับในปีนี้ กรมปศุสัตว์
ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ
การประกวดแพะ ประเภทแกรนด์แชมเปี้ยน แพะเนื้อ/แพะนม (เพศผู้ และเพศเมีย) รวม 4 รางวัล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรเลี้ยงแพะ
ให้ประกอบอาชีพได้อย่างภาคภูมิใจต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น