วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ธนาคารหม่อนไหม ช่วยเกษตรกรทอผ้าได้ตลอดปี แก้ปัญหาขาดแคลนเส้นไหมคุณภาพดีในชุมชน

  นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินโครงการธนาคารหม่อนไหม ปี 2561 ซึ่งโครงการดังกล่าว กรมหม่อนไหมเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ         มีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร และลดต้นทุนการผลิต โดยกลุ่มเกษตรกรมีแหล่งให้ยืมหรือแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิตด้านหม่อนไหม และให้ชุมชนมีแหล่งเส้นไหมที่มีคุณภาพดีสำหรับทอผ้าอย่างเพียงพอ กำหนดพื้นที่เป้าหมายธนาคารหม่อนไหมในปี 2561 จำนวน 11 แห่ง 11 จังหวัด ได้แก่ พะเยา กำแพงเพชร อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มุกดาหาร สุรินทร์ บุรีรัมย์ เลย อุบลราชธานี และศรีสะเกษ เกษตรกรสมาชิกเป้าหมายจำนวน 445 ราย ระยะเวลาดำเนินโครงการเดือนตุลาคม 2561 - กันยายน 2562  

          การดำเนินโครงการ มีการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่ขาดแคลนเส้นไหมคุณภาพดี และเป็นกลุ่มที่มีความพร้อม                     โดยการจัดเวทีชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการคัดเลือกคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการธนาคาร โดยกรมหม่อนไหมเป็นผู้สนับสนุนเส้นไหม วัสดุอุปกรณ์ และปัจจัยการผลิต ให้กับธนาคารตามความต้องการของกลุ่มเกษตรกรเอง  และจากการติดตามประเมินโครงการฯ ปี 2561 ของ สศก. ทั้ง 11 จังหวัด พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วม 410 ราย คิดเป็นร้อยละ 92 ของเป้าหมาย  โดยธนาคารได้รับการสนับสนุนเส้นไหมจากกรมหม่อนไหม จำนวน 807 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุน เส้นไหม จำนวน 1.40 ล้านบาท และธนาคารยังได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และปัจจัยการผลิต เช่น ฟืม พวงสาว ปูนขาว คลอรีน และ เดทตอล เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกยืมไปใช้ในการประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้า และนำมาชำระคืนเป็นเงินสดรวมดอกเบี้ย หรือ ชำระคืนเป็นเส้นไหม หรือผ้าไหม ตามแต่ข้อตกลงของแต่ละธนาคาร ทั้งนี้ มีเกษตรกรสมาชิกมาใช้บริการธนาคารแล้วคิดเป็นร้อยละ 77 ของเกษตรกรสมาชิก

         นอกจากการให้ความรู้ด้านแนวทางการดำเนินงาน การบริหารจัดการธนาคารแล้ว ยังมีการถ่ายทอดความรู้เพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรสมาชิกด้วย โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการฟอกย้อมเส้นไหมจากวัสดุธรรมชาติ เทคนิคการทอผ้าลวดลายต่างๆ การสาวไหมให้ได้มาตรฐาน จากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ ในพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกนำความรู้ความเข้าใจไปปรับใช้กับการประกอบอาชีพด้านหัตถกรรม เช่น การย้อมสีเส้นไหมจากวัสดุธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมีในการย้อม ซึ่งช่วยลดต้นทุนการทอผ้าได้อีกด้วย

       ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า เกษตรกรสมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นว่า                    การดำเนินงานของธนาคารสามารถช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านหัตถกรรมได้เป็นอย่างดี โดยเกษตรกรสมาชิก ร้อยละ 64 เห็นว่าโครงการฯ ช่วยแก้ปัญหาด้านขาดแคลนเส้นไหมคุณภาพดี  ส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตผ้าไหมได้เพิ่มขึ้น และจำหน่ายได้ราคาดีขึ้นเฉลี่ย 1,181 บาท/เมตร จากเดิมเฉลี่ย 823 บาท/เมตร (เพิ่มขึ้นร้อยละ 44) ทั้งนี้  ภาพรวมเกษตรกรร้อยละ 69 มีความพึงพอใจต่อนโยบายการสนับสนุนให้มีธนาคารในชุมชนในระดับมากที่สุด เพราะเห็นว่าช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต มีเงินทุนสำหรับบริหารจัดการกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร เกิดความคล่องตัวในการประกอบอาชีพหัตถกรรม  มีแหล่งเส้นไหมคุณภาพดีไว้ใช้ในชุมชน ผลิตผ้าไหมได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่เส้นไหมมีราคาสูง เนื่องจากไม่มีใบหม่อนเลี้ยงไหม นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถผลิตผ้าไหมหรือนำผ้าที่ทอได้ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งผลให้มีรายได้เสริมให้กับครอบครัวมากขึ้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...