วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สวนเมล่อนแห่งเมืองแปดริ้ว สร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรรุ่นใหม่กลับคืนสู่ถิ่นฐานเพื่อทำการเกษตร


         จุดเริ่มต้นของบ้านสวนเมล่อนที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา นางปคุณา บุญก่อเกื้อ หรือคุณแก้ว ซึ่งอีกบทบาทหนึ่ง เธอมีตำแหน่งเป็นเลขานุการสหกรณ์พืชผักผลไม้ (เกษตรปลอดภัยสูง) จำกัด ได้ย้อนถึงที่มาของการเริ่มทดลองปลูกเมล่อนครั้งแรก เกิดขึ้นหลังจากที่สามีเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและซื้อเมล่อนกลับมาฝากลูกละ 3,000 บาท จึงเกิดความคิดที่จะปลูกเมล่อนปลอดสารให้สามีและลูกไว้รับประทาน ในช่วงปลายปี 2558 เริ่มทำโรงเรือนแรกด้วยเงิน 3,000 บาท ทำจากไม้ไผ่ มุ้งและพลาสติกคลุม เพื่อไม่ให้แมลงรบกวนและไม่ใช้สารเคมี จากนั้นได้ซื้อเมล็ดเมล่อนพันธุ์คิโมจิ มาปลูก 30 ต้น และเมื่อผลผลิตออกก็แจกจ่ายให้เพื่อนๆ และคนรู้จัก มีเสียงตอบรับมากขึ้น และชมชอบในรสชาติ จึงได้ลองโพสต์ขายทางเฟสบุ๊ค สร้างเรื่องราวน่าสนใจ ทำให้มีคนสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง จึงต้องขยายโรงเรือนเพิ่มจากโรงเรือนที่  1 เป็น  2 และ 3 จนปัจจุบันมีทั้งหมด 10 โรงเรือน ซึ่งเทคนิคในการปลูกเมล่อนทั้งหมดเธอได้แสวงหาความรู้จากอินเตอร์เน็ต ทางยูทูปและเว็บไซด์ต่างๆ 

       “แก้วเคยทำงานโรงงานมาก่อนที่จะมาทำเกษตร แรกเริ่มไม่ได้ตั้งใจจะเป็นเกษตรกร แต่เมื่อทดลองปลูกเมล่อน ปลูกไปขายไป มีคนสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องขยายพื้นที่โรงเรือนเพื่อปลูกเมล่อนส่งตามออเดอร์ กลายเป็นตลาดนำการผลิต จึงเริ่มสนใจทำเกษตรอย่างจริงจัง ลาออกจากโรงงาน แล้วใช้เวลาทั้งหมดอยู่กับการทำเกษตร และอยากมีที่ดินสักผืน จนมาเจอที่ 4 ไร่ที่ฉะเชิงเทรา มีบ้านหลังเล็กๆ ที่ดินและบ่อน้ำ แต่เดิมที่แถวนี้เป็นนาข้าวและบ่อกุ้งจึงขอซื้อจากเจ้าของแล้วมาปรับสภาพพื้นที่นึกถึงหลักทฤษฏีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะคิดว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงสูง จึงแบ่งที่ดินเป็นสัดส่วน 30/30/ 30/10 โดย 30 แรกสร้างเป็นพื้นที่สำหรับรับผู้คนมาเรียนรู้ดูงานร้านขายผลผลิตจากสวนตัวเอง ส่วน 30 ที่ 2 ปลูกพืชผักสวนครัว เมล่อน มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว อีก 30 สร้างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผสมผสาน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่และบ่อเลี้ยงปลา ส่วนอีก 10 ที่เหลือเป็นบ้านที่อาศัยอยู่กับครอบครัว”
          คุณแก้วเริ่มค้นพบว่าการทำเกษตร ยิ่งทำยิ่งมีความสุข แม้ว่าในช่วงแรกต้องพบกับปัญหาว่าดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา หน้าดินเป็นเกลือ จึงต้องมีเครื่องวัดค่า PH ใช้วัดดิน ปุ๋ยในดิน วัดความชื้น อุณหภูมิ และน้ำ นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสภาพน้ำและดินตลอดทั้งปี และต้องปรับสภาพดิน โดยใช้เครื่องพรวนดินสม่ำเสมอ  ปุ๋ยที่ใส่ในดินทำจากมูลไส้เดือนและปุ๋ยหมักที่ทำเอง โดยนำขุยมะพร้าว กากมะพร้าว แกลบเผา แกลบดิน กระดูกสัตว์ป่น และมูลไส้เดือนมาหมักกับขี้วัวใส่เป็นปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหารในดิน ทำให้ดินค่อยๆ ดีขึ้น 

         “เราต้องแสวงหาความรู้เรื่องดิน การปลูก การป้องกันแมลง การทำโรงเรือนจากอินเตอร์เน็ต หาข้อมูลทุกอย่างมารวมกัน แล้วนำมาปรับใช้ ค่อยๆทดลองทำไปทีละน้อย  ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง นำกำไรจากเมล่อนโรงเรือนแรกมาขยายเป็นโรงเรือนที่ 2 และขยายมาเรื่อย ๆ ซึ่งรายได้จากเมล่อน 1 โรงเรือน ใช้เวลาปลูก 70-90 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 300 ลูก/โรงเรือน ขายลูกละ 100 บาท ตัดผลผลิตทุก ๆ สัปดาห์ รายได้ 30,000 บาท/สัปดาห์ และเดือนละ 120,000 บาท เป็นวิธีการทำเกษตรแบบทำน้อยแต่ได้มาก ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่อมาตลาดจึงค่อย ๆ ขยายและเริ่มโตมากขึ้น 
    นอกจากนี้ คุณแก้วยังหาวิธีในการประหยัดแรงงานและเวลาในการดูแลแปลงปลูกพืชผัก  ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแบ่งเบาในการทำการเกษตร โดยใช้ระบบแอปพลิเคชัน ควบคุมการให้น้ำ คุมอุณหภูมิในโรงเรือน และแสงอาทิตย์ หากมีสิ่งผิดปกติ เช่น น้ำและอุณหภูมิในโรงเรือนสูงหรือต่ำเกินไป ก็จะมีการแจ้งเตือนเข้ามาทางมือถือและสามารถสั่งการรดน้ำภายในโรงเรือนได้ทันที ซึ่งอุปกรณ์ควบคุมทั้งหมดเรียกว่า Sunoff สามารถหาซื้อได้จากอินเตอร์เน็ต ในราคาเพียงหลักร้อยเท่านั้น ช่วยทำให้ไม่ต้องใช้เวลาในสวนตลอดทั้งวันอยู่ที่ไหนก็สามารถสั่งการได้

   ผลผลิตในแปลงของคุณแก้วได้ผ่านการรับรองว่าได้ตามมาตรฐาน GAP และปลอดจากสารเคมี ขณะที่เมล่อนจะมีความหวานกำลังพอดีที่ประมาณ  12-13 บริค และเมื่อถึงช่วงผลผลิตออก จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมและตัดผลเมล่อนเอง สร้างความน่าสนใจและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร  หลังจากเมล่อนเริ่มติดตลาด สามารถดึงนักท่องเที่ยวมายังบ้านโพธิ์  ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่เริ่มขายได้ และตลาด Modern Trade เริ่มสนใจและติดต่อขอซื้อผลผลิตไปจำหน่ายในห้าง  จึงเริ่มหามองหาเครือข่ายและรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้ปลูกผักปลอดภัยสูงฉะเชิงเทรา จำกัด เมื่อ  11 กันยายน 2561 สมาชิกแรกเริ่ม  34 คน  ทุนจดทะเบียนเพียง  34,000  บาท ปัจจุบันสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 106 คน โดยสหกรณ์จะให้ปัจจัย วัสดุในการปลูกพืชและทำการเกษตร รวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ และร่วมวางแผนการผลิตพืชผักและสินค้าการเกษตร เพื่อให้สมาชิกผลิตและจำหน่ายผ่านสหกรณ์ ทั้งเมล่อน ผักสวนครัว ซึ่งเกษตรกรที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของสหกรณ์แห่งนี้ ยังได้รับการช่วยเหลือให้เงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับนำไปสร้างโรงเรือนขนาด 8X16 เมตร  ราคาไม่เกิน  3 หมื่นบาท ซึ่งเกษตรกรแต่ละรายจะสามารถกู้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท และสหกรณ์จะช่วยวางแผนการผลิตให้สมาชิก  ว่าสวนไหนจะปลูกเมล่อนในช่วงไหน และทยอยปลูกไล่กันไป เพื่อป้องกันผลผลิตล้นตลาด ส่วนหนึ่งสมาชิกสามารถส่งขายกับลูกค้าได้เอง และแบ่งผลผลิตส่วนหนึ่งส่งให้กับสหกรณ์ตามที่ได้ตกลงกันไว้


  ขณะนี้สหกรณ์มีคู่ค้า โดยทำข้อตกลงส่งเมลล่อนไปขายในห้าง Tops Supermarket  5  สาขา ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี  สัปดาห์ละ 500  ลูก ส่งครัวการบินไทยสัปดาห์ละ 600 ลูก และบริษัทพัทยาปาร์ค บีช ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงแรมในจังหวัดชลบุรี สั่งซื้อสัปดาห์ละ 200-300  ลูก ส่วนผักสวนครัวทั้งคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ใบมะกรูด ผักชี พริกและแตงกวาญี่ปุ่น สมาชิกจะปลูกและนำมาส่งให้สหกรณ์รวบรวมเพื่อนำไปขายให้โรงพยาบาลในจังหวัดฉะเชิงเทรา และยังมีตลาดอื่น ๆ ที่มีการสั่งจองเมล่อนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

      คุณแก้วทิ้งท้ายว่า  เดิมทำการเกษตรไม่เป็น คิดว่ายาก แต่พอลงมือทำ จึงรู้ว่าทุกอย่างสามารถเรียนรู้ได้ ขอแค่มีความตั้งใจ ซึ่งความผิดพลาดแต่ละครั้งคือการเรียนรู้จากความมุ่งมั่นและลงมือทำอย่างจริงจัง ทำให้คุณแก้วประสบผลสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะรู้จักการวางแผนและศึกษาหาข้อมูล หาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาอาชีพ แม้หลายคนจะบอกว่ากลับมาทำเกษตรแต่มีปัญหาเรื่องเงินทุน แต่การทำเล็กๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป เท่าที่กำลังพอจะทำไหว ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน และความตั้งใจสุดท้ายของคุณแก้ว คือการสร้างพื้นที่ 4 ไร่นี้เป็นภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัว มีรายได้ไว้เลี้ยงดูลูก และเปิดต้อนรับคนที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานได้ทุกวัน และนี่จึงเป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่เป็นต้นแบบให้ใครอีกหลายๆ คนมองเห็นโอกาสในการกลับคืนสู่ถิ่นฐานเพื่อสานต่ออาชีพการเกษตรจากรุ่นพ่อแม่ เพื่อในวันข้างหน้าสามารถบอกใครๆ ได้อย่างเต็มปากว่ามีความสุขและความภาคภูมิใจที่ได้เป็น “เกษตรกร” 











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...