วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562

มก.วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เก็บเกี่ยวดอกกัญชาล็อตแรก

          มก.วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เก็บเกี่ยวดอกกัญชาล็อตแรก เผยคุณภาพสมบูรณ์ดี พร้อมนำไปผลิตยาแผนไทย 7 ตำรับ 

        ดร.ณธกร ทัศนัส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาและพืชเสพติดสมุนไพรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดำเนินโครงการว่า การปลูกกัญชาในรอบแรกนี้ได้ถูกวางแผนเพื่อให้ได้วัตถุดิบสำคัญ 4 ส่วนคือ ดอก ใบ ก้านใบและราก นับตั้งแต่เพาะเมล็ดเมื่อวันที่ 6 กันยายน จนถึงวันนี้รวมระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ต้นกัญชามีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ดี 

         ดอกกัญชามีลักษณะที่พร้อมเก็บเกี่ยวตามความต้องการของตำรับยาแผนไทยคือเกสร (Pistil) เปลี่ยนจากสีขาวใสเป็นสีน้ำตาลมากกว่า 50% ทีมงานเก็บเกี่ยวดอกกัญชาล็อตแรก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 จำนวน 99 ต้น มีน้ำหนักสดรวม 103 กก.พร้อมส่งต่อให้โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อนำไปผลิตเป็นยาแผนไทยต่อไป
      ดร.หทัยรัตน์  โชคทวีพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานและความหลากหลายของพืชคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์กัญชาที่ปลูก ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ในล็อตนี้ ประกอบด้วยกัญชาสายพันธุ์หางกระรอกและสายพันธุ์หางเสือ ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์มีทั้งดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกกะเทย โดยต้นที่ปรากฏดอกเพศผู้ และดอกกะเทยได้ถูกกำจัดไปแล้ว เนื่องจากทางทีมผลิตต้องการช่อดอกเพศเมียที่ไม่ถูกผสมเกสร เป็นวัตถุดิบส่งให้แก่โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เนื่องจากมีรายงานว่าช่อดอกเพศเมียมีการสะสมของสารสำคัญมากกว่าดอกเพศผู้และกะเทย ทั้งนี้กัญชาสายพันธุ์หางกระรอก และสายพันธุ์หางเสือ มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่ใกล้เคียงกัน และความสูงไม่แตกต่างกัน แต่สามารถจำแนกได้โดยใช้ลักษณะช่อดอก คือ กัญชาสายพันธุ์หางกระรอก ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก เรียงชิดและอัดกันแน่นเป็นช่อดอกขนาดใหญ่ หากเมื่อสัมผัสช่อดอกจะได้กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะม่วง ในขณะที่กัญชาสายพันธุ์หางเสือ ประกอบด้วยดอกย่อย เรียงชิดกัน แต่กระจายเป็นหย่อมๆ ตามก้านช่อดอก ส่วนปลายจะอัดกันแน่น และหากเมื่อสัมผัสช่อดอกจะได้กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นเลม่อน อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีโครงการที่จะพัฒนาเทคนิคทางเครื่องหมายโมเลกุล เพื่อช่วยในการจัดจำแนกกัญชาทั้งสองสายพันธุ์ให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

      ในส่วนของโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร โดย พญ.กัญญาภัค ศิลารักษ์ กล่าวว่า สำหรับวัตถุดิบช่อดอกกัญชาที่ได้รับไปในวันนี้จำนวนทั้งสิ้น 103 กิโลกรัมนั้น จะถูกนำไปคัดแยกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นช่อดอก หรือ กะหลี่กัญชา และนำไปแปรรูปโดยวิธีการพึ่งแดดให้แห้ง ก่อนจะนำไปทำการสะตุและนำไปเข้าตำรับยาแผนไทยเข้ากัญชาจำนวน 7 ตำรับที่โรงพยาบาลจะดำเนินการผลิตจากวัตถุดิบล๊อตนี้ได้แก่ ตำรับยาทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาไฟอาวุธ ตำรับยาอัมฤตยโอสถ ตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูงและตำรับน้ำมันสนั่นไตรภพ นอกจากนี้ พญ.กัญญาภัค ศิลารักษ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า จากการที่โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้นำวัตถุดิบประเภทใบกัญชาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปผลิตตำรับยาศุขไสยาศน์เพื่อให้บริการกับผู้ป่วยนั้นพบว่าผลการตรวจวัตถุดิบใบกัญชาดังกล่าวไม่มียาฆ่าแมลง โลหะหนักหรือเชื้อจุลชีพที่เป็นอันตรายปนเปื้อนแต่อย่างใด รวมทั้งผลการรักษาในผู้ป่วยที่ได้รับยาศุขไสยาศน์ ก็มีผลการรักษาที่ดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจ


CR. งานประชาสัมพันธ์ มก.ฉกส.
นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ / 27 ธันวาคม 2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...