เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ กรมประมง ร่วมกับ สำนักเลขาธิการอาเซียน และสหภาพยุโรป เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The 2nd ASEAN Meeting on Combating IUU Fishing in partnership with the EU ระหว่างวันที่ 13 – 14 ธันวาคม 2562 เพื่อหาแนวทางการจัดทำร่างขอบเขตการดำเนินงาน ระเบียบการปฏิบัติ และกรอบการดำเนินความร่วมมือของเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมง IUU ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐของประเทศสมาชิกอาเซียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานกว่า 80 ราย โดยมีนางอุมาพร พิมลบุตร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม
ในโอกาสที่ปี 2562 นี้ ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ซึ่งได้มีการกำหนดแนวคิด “Advancing Partnership for Sustainability” เพื่อสร้างความยั่งยืนของความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อสร้างคุณค่าให้กับอาเซียน โดยอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญ ที่ประเทศไทยได้แสดงถึงการทำหน้าที่ประธานอาเซียน คือ ความมุ่งมั่นในการผลักดันการแก้ไขปัญหาการทำการประมง IUU ในภูมิภาคอาเซียน ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การจัดประชุม The 2nd ASEAN Meeting on Combating IUU Fishing in Partnership with the EU เป็นความร่วมมือระหว่าง ประเทศไทย สำนักเลขาธิการอาเซียน และสหภาพยุโรป ที่จะแสดงถึงเจตนารมย์ร่วมกันในการส่งเสริมความตกลงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและสร้างกลไกการหารือระดับภูมิภาคให้เป็นรูปธรรม ที่สำคัญที่สุด คือ ความพยายามที่จะผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียนปลอดปัญหาการทำประมง IUUโดยล่าสุด ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 41 (SOM-AMAF) ณ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับรองการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมง IUU (ASEAN Network for Combating IUU Fishing : AN-IUU) เพื่อสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและสร้างเครือข่ายที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานและเพิ่มขีดความสามารถเจ้าหน้าที่รัฐในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการประชุมครั้งนี้ จะมีการผลักดันให้เกิดการดำเนินการในทางปฏิบัติของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านการทำประมง IUU อย่างเป็นรูปธรรม โดยประเทศไทยซึ่งดำเนินการปฏิรูปภาคการประมงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการประมงประมงผิดกฎหมายภายในประเทศจนประสบความสำเร็จและ นำไปสู่การปลดใบเหลืองได้สำเร็จ ถือได้ว่ามีความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนแบ่งปันเทคโนโลยี ประสบการณ์ รวมถึงข้อมูลด้านการประมงให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ในระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของการแก้ไขปัญหาประมง IUU ของไทย พบว่าบ่อยครั้งมีเรือประมงของประเทศสมาชิกอาเซียนลักลอบทำการประมงผิดกฎหมาย มีเรือที่นำสัตว์น้ำ IUU มาขึ้นท่า จึงมักเป็นอุปสรรคต่อการแสดงเจตนารมณ์ของความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาประมง IUU ของประเทศสมาชิกอื่นๆ ซึ่งต่อจากนี้ไปประเทศไทยจะไม่ยอมให้ภูมิภาคอาเซียนถูกมองว่าเป็นแหล่งผ่านทางของสัตว์น้ำที่ได้มาจากการทำประมง IUU เด็ดขาด ดังนั้น ประเทศไทยจึงขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ให้ความสำคัญกับการดำเนินการของ AN-IUU ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะจะเป็นก้าวแรกของการขจัดการประมง IUU ในภูมิภาคอย่างจริงจัง โดยนำเทคโนโลยีนำสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความทัดเทียมและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ. อธิบดีกรมประมง กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น