วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ปลูกแตงโมเสริมสร้างรายได้ โมเดลการปลูกพืชใช้น้ำน้อย อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี


   
 กรมส่งเสริมการเกษตรชู “แตงโมหนองโดน” ต้นแบบการปลูกพืชใช้น้ำน้อยจากจังหวัดสระบุรี ในโครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรปลูกแตงโม ในพื้นที่อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี ซึ่งเกษตรกรมีวิธีการให้น้ำแตงโมที่มีความพิเศษและแตกต่างจากที่อื่น คือ ในช่วงหยอดเมล็ดจนถึงระยะต้นกล้า จะรดน้ำด้วยวิธีการตักหาบ ต่อมาในช่วงเจริญเติบโตจนถึงออกผลผลิต เกษตรกรจะใช้สายยางรดน้ำแทน ซึ่งการรดน้ำลักษณะนี้ส่งผลดีต่อแตงโม 3 ด้าน คือ



    1. ลดโรคและแมลงศัตรูพืช เนื่องจากการตักหาบและการรดน้ำแบบใช้สายยาง จะช่วยลดปัญหาการเกิดโรคราน้ำค้าง ที่มักจะมีการระบาดมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่มีความต่างของอุณหภูมิมาก เพราะอุณหภูมิต่ำลงในเวลากลางคืนและอุณหภูมิสูงขึ้นในเวลากลางวัน 



    2. ลดวัชพืช เนื่องจากเกษตรกรให้น้ำบริเวณโคนต้น หรือใกล้เคียงบริเวณรากโดยตรง ทำให้ความชื้นในบริเวณอื่นมีน้อย ส่งผลให้วัชพืชเจริญเติบโตน้อย จึงสามารถกำจัดได้โดยใช้แรงงานคนแทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ช่วยให้ลดต้นทุนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช และเพิ่มความปลอดภัยให้ผลผลิตด้วย



    3. ลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะปลูกแตงโมแบบขุดหลุมหยอดเมล็ด  ที่เน้นการใช้แรงงานของสมาชิก และคนในครัวเรือนเป็นหลัก อีกทั้งไม่มีการคลุมพลาสติกเพื่อป้องกันวัชพืช จึงเป็นการลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานไถ ยกร่อง และวางผ้าพลาสติกคลุมดิน



    ด้วยวิธีการปลูกแตงโมด้วยลักษณะเฉพาะของเกษตรกร โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมานี้ ทำให้แตงโมของอำเภอหนองโดนมีคุณภาพ หวาน กรอบ อร่อย และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมาหลายสิบปีแล้ว อีกทั้งสินค้ายังมีความพิเศษที่ 1 ปีจะมีเพียงครั้งเดียว โดยปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น  ในช่วงเวลาดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตร นายอำเภอหนองโดน พร้อมกับหน่วยงานราชการในอำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี ขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่าน ซื้อ”แตงโมหนองโดน” จากเกษตรกร ซึ่งจะนำแตงโมจากสวนมาตั้งร้านขายบริเวณถนนหนองโดน – บ้านหมอ จ. สระบุรี ระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 นี้

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2565

“ลุงป้อม” เตรียมประชุม กนช.ปลายเดือนนี้ ผลักดันการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน


    
 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีการขับเคลื่อนภารกิจด้านทรัพยากรน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เชื่อมโยงกับแผนแม่บทลุ่มน้ำ แผนจังหวัดและแผนชุมชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญการสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำของชุมชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำของตัวเอง แต่รัฐบาลให้ความสำคัญในการอนุมัติงบประมาณให้กับแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน พัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน พัฒนาน้ำบาดาล เพื่อการเกษตร สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน 



   ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้รับทราบผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำจากพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับจากการลงพื้นที่และกล่าวขอบคุณรัฐบาล ตลอดระยะเวลาที่กำกับดูแลงานด้านน้ำกว่า 44 ครั้ง ใน 42 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 12 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด  ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด และภาคใต้ 9 จังหวัด ซึ่งหลายๆ โครงการเกิดประโยชน์โดยตรงจนเป็นที่พอใจต่อประชาชนและมีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง เช่น การพัฒนาเวียงหนองหล่ม  จ.เชียงราย กว๊านพะเยา จ.พะเยา บึงสีไฟ จ.พิจิตร ขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือในระยะยาวอย่างเป็นระบบ ให้เกิดความมั่นคงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก รวมถึงจัดทำแผนงานและโครงการจัดหาน้ำบนดินและใต้ดิน เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับใช้แก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ในระยะเร่งด่วน การศึกษาโครงการประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม ในแม่น้ำสายหลักพื้นที่ภาคกลาง เร่งขยายผลโครงการพัฒนาน้ำบาดาลในเกษตรแปลงใหญ่ไปทุกพื้นที่อย่างน้อยหนึ่งอำเภอหนึ่งโครงการในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นต้น 



    อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าจะยังคงผลักดันและเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ ซึ่งในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนโครงการด้านทรัพยากรน้ำเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนต่อไป



    ด้าน ดร.สุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิมเติมว่า จากการดำเนินการตามแผนแม่บทน้ำฯ ตั้งแต่ปี 2561 – ปัจจุบัน พบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้านได้ถึง 4,973 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำผิวดินสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 1,189 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรได้ปริมาณน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัย มีพื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 32,005 ไร่ ประชาชนได้รับการป้องกัน 27,364 ครัวเรือน สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน 14 แห่ง และอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำได้ถึง 156,070 ไร่ เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ประชุมใหญ่ฯ 65 สสท. ผลเลือกตั้งคณะกรรมการฯ ชุดที่ 26 ทีมพลังรักษ์สัตตะสหกรณ์ ชนะยกทีม


     (วันที่ 24 ธ.ค. 65)  สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยมีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,500 คน ประกอบด้วยผู้แทนสหกรณ์จากทุกประเภททั่วประเทศ ร่วมรับทราบผลการดำเนินงาน สสท. และพิจารณาตามวาระ พร้อมกันนี้ภายในงาน มีการมอบโล่บุคลากรทรงคุณค่าต่อขบวนการสหกรณ์จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ 1.นายศิริชัย จันทร์นาค ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด  2.พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ ประธานฯ สสจ.จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมถึงเลือกมีการเลือกตั้งคณะกรรมการฯ สสท .ชุดใหม่ (ชุดที่ 26) 




    สำหรับผลการเลือกตั้ง ทีมพลังรักษ์สัตตะสหกรณ์ ชนะยกทีม ประกอบด้วย 1.นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม สหกรณ์ประเภท ออมทรัพย์ 811 คะแนน 2. นายนพดล วรมานะกุล สหกรณ์ประเภทร้านค้า 688 คะแนน 3. นายเจียง นาอุดม สหกรณ์ประเภทนิคม 733 คะแนน 4. นายวงศกร เอการัมย์ สหกรณ์ประเภทประมง 724 คะแนน 5. นายจรัล เอี่ยมสำอางค์ สหกรณ์ประเภทเครดิต ยูเนี่ยน 709 คะแนน 6. นายประภาส งามสงวน สหกรณ์ประเภทเกษตร 704 คะแนนและ 7. นายวงศ์วรัณ แนวพานิช สหกรณ์ประเภทบริการ 701 คะแนน



    นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2562-2565) คณะกรรมการดำเนินการฯ สสท. ชุดที่ 25 บริหารงานมุ่งเน้น พัฒนาส่งเสริมสหกรณ์ทุกประเภททั่วประเทศ ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคมจนสำเร็จเป็นรูปธรรม อาทิ ด้านการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ให้มีขีดความสามารถมากยิ่งขึ้น เช่น ฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้สหกรณ์ได้รับความรู้อย่างทั่วถึง โดย รวมถึงเร่งจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านวิชาการและเชื่อมโยงกระจายสินค้า ปัจจุบันจัดตั้งแล้วจำนวน 73 จังหวัด อยู่ระหว่างการจัดตั้งฯ จำนวน 4 จังหวัด นอกจากนี้  สสท. ยังได้จัดตั้งสำนักงานที่ปรึกษาและช่วยเหลือสหกรณ์ทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือด้านกฎหมายและรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นต้น ด้วยผลงานที่ผ่านมาสร้างความศรัทธาส่งผลให้ทีมได้รับความไว้วางใจจากสหกรณ์ทั่วประเทศให้ได้ทำหน้าที่บริหารงานในฐานะคณะกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนพัฒนาขบวนการสหกรณ์ต่อไป และตามนโยบายที่ว่า เราจะไม่ทิ้งสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งไว้ข้างหลัง"


 

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565

กรมการข้าว นำทีม สื่อมวลชนดูงานโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 มุ่งส่งเสริมเกษตรกรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว


    นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว มอบหมายให้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท นำทีม สื่อมวลชนดูงาน โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566  เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและสร้างการรับรู้แก่เกษตรกร ส่งเสริมเกษตรกรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวในการเพาะปลูก ณ จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดชัยนาท 



    นายสุวิทย์ เผือกจีน ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท กล่าวว่า สำหรับโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท มีพื้นที่ที่รับผิดชอบโครงการ ด้วยกัน 3  จังหวัด คือ จังหวัด ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 4,336 ครัวเรือน คิดเป็นปริมาณเมล็ดพันธุ์ จำนวน 1,734,000 กิโลกรัม โดยวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวนั้น มุ่งเน้นให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชและได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาดกรมการข้าว ซึ่งหากเกษตรกรยังคงใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรเก็บไว้เองหลายรอบซึ่งมีผลทำให้คุณภาพข้าวลดลง จึงเห็นสมควรส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนไปใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ผลิตและจำหน่ายโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ 



    ด้าน นายวินัย จีนจัน  ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโพธิ์เจริญ ตำบลท่าชัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท  กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 ถือว่าเป็นโครงการที่ดีต่อเกษตรกร เพราะว่าเกษตรกรชาวนา การใช้เมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งในแต่ละปีเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ในปริมาณที่มากพอสมควร ต้นทุนก็สูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อมีโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 เข้ามาเกษตรกรก็มีตัวเลือก ช่องทางการซื้อเมล็ดพันธุ์มากขึ้น รวมถึงราคาที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ถูกกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งถ้าตลาดทั่วไปราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณกิโลกรัมละ 10 บาท ก็ถือว่าเป็นผลดีที่เกษตรกรจะสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ และยังได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ  ซึ่งตอนนี้ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาทก็ได้เข้ามาสร้างความรู้ ความเข้าใจในโครงการมากขึ้น ผ่านการประชุมอบรม เรื่องการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ และกลุ่มอยู่ระหว่างการสมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อยกระดับให้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของกลุ่มสามารถพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต  

    ด้านนายอุทัย บัวศรีตัน ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผยว่า ตนมีความสนใจและอยากนำพาเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 เพื่อพัฒนาให้กลุ่มผลิตข้าวได้คุณภาพมาตรฐานมากยิ่งขึ้น มีแหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์ที่ชัดเจน สามารถต่อรองราคากับท้องตลาดได้ อีกทั้งยังสามารถซื้อเมล็ดพันธุ์จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ได้ในราคาที่ถูก ก็ส่งผลให้เกษตรกรมีกำลังในการซื้อมากขึ้น ผลผลิตข้าวก็มีประสิทธภาพ พร้อมทั้งเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย 




    หากเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถรวมกลุ่มและ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท ผู้นำชุมชน อาสาสมัครเกษตรกรหมู่บ้าน (อกม.) เกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) หรือประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)  ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ในเขตจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังนี้ 1. เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี 2564/65 และไม่ได้รับความช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวจากหน่วยงานของกรมการข้าวในปี 2565 – 2566 2.เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือตามพื้นที่ปลูกจริงที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ไร่ละ 15 กิโลกรัม รายละไม่เกิน 450 กิโลกรัม

 

 

 


 

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2565

อ.ส.ค. เตรียมจัดงาน “เทศกาลโคนมแห่งชาติ ปี2566” อย่างยิ่งใหญ่ อวดโฉมวิทยาการด้านการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมโคนมของประเทศ

 


 อ.ส.ค. เตรียมจัดงาน เทศกาลโคนมแห่งชาติ ประจำปี 2566 อย่างยิ่งใหญ่  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรไทยและชูศักยภาพการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมนมของอาเซียน  พร้อมจัดเสวนาถกสถานการณ์อุตสาหกรรมโคนมภายใต้วิกฤติโลกและแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรกรในอนาคตและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดโยเกิร์ตตอบกรอบ โพรไบโอ ตราไทย-เดนมาร์คที่เตรียมออกตีตลาดในปีหน้า 



  นางสาวมนัญญา   ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์    กล่าวว่า เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(ในหลวงรัชกาลที่ 9) ที่พระองค์ได้พระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมให้แก่ปวงชนชาวไทยและแสดงความก้าวหน้าของวิทยาการด้านการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมโคนมของประเทศ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ไปสู่เกษตรกร โดยกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-29 มกราคม 2566 ณ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค  บริเวณเขาตาแป้น อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี    

โดยปีนี้จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด พัฒนาอุตสาหกรรมโคนมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า”   

             สำหรับการจัดงานเทศกาลโคนมฯ เกิดจากรัฐบาลได้มีมติให้วันที่  17  มกราคมของทุกปีเป็นวันโคนมแห่งชาติ จากนั้นมาวันโคนมแห่งชาติจึงถือเป็นวันสำคัญยิ่งต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย อ.ส.ค.ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างยิ่งใหญ่  โดยปี 2566นี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน  พร้อมทั้งจะเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ ภายในบริเวณงานในวันที่ 20 มกราคม 2566”



           นางสาวมนัญญา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโคนมไทยมีความก้าวหน้าเป็นลำดับโดยประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางข้อมูลอุตสาหกรรมนมของอาเซียน กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้การส่งเสริมโคนมอาชีพพระราชทานและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องจนเกิดความมั่นคง เข้มแข็งในอาชีพ ในขณะที่ อ.ส.ค.ปัจจุบันเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค หรือนมวัวแดงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำนมโคสดแท้100% ของฟาร์มเกษตรกรไทยทำรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า8,700 ล้านบาท มีเกษตรกรในเขตส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอ.ส.ค.และปริมาณการผลิตน้ำนมดิบในปี 2565 จำนวนไม่น้อยกว่า 4,355 ฟาร์ม มีจำนวนโครวม 113,565 ตัว ส่งน้ำนมดิบให้อ.ส.ค. ประมาณ 581.42 ตัน/วัน โดยพื้นที่ภาคกลางมีสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบมากที่สุดคือ จำนวน 14 สหกรณ์ และจำนวนโครีดนม 47,739ตัว นับว่าเป็นองค์กรที่เคียงข้างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมาตลอด 60 ปี   



           จะเร่งผลักดัน อ.ส.ค.ให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมนม ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและตั้งเป้าหมายตลาดสำคัญคือประเทศจีน ประเทศเวียดนาม เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังซื้อสูงและมีสัดส่วนประชากรมาก รวมทั้งเร่งรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการดื่มนมโคแท้ 100% จากน้ำนมโคที่ได้จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประเทศไทย ตลอดจนสืบสาน รักษา ต่อยอด อาชีพการเลี้ยงโคนมซึ่งเป็นอาชีพอันทรงคุณค่า  โดยมอบหมายให้ อ.ส.ค.ให้ความสำคัญในการการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนถึงมือผู้บริโภคต้องได้คุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนจดจำว่านมวัวแดง นมไทย-เดนมาร์ค นมทุกหยดผลิตจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม นางสาวมนัญญา  กล่าว  

  ด้านนายสมพร ศรีเมืองผู้อำนวยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวถึงรายละเอียดการจัดงานเพิ่มเติมว่า เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในงานดังกล่าวจะเป็นเวทีสำคัญในการพบปะระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ภาครัฐและเอกชนด้านอุตสาหกรรมนม  ได้จัดเวทีแสดงความก้าวหน้าของวิทยาการด้านการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมโคนมของประเทศผ่านนิทรรศการและการเสวนาร่วมกัน อาทิ นิทรรศการด้านนวัตกรรมการจัดสัดส่วนอาหารสมดุลหน้าฟาร์มโดยใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มสมรรถนะการผลิตและคุณภาพน้ำนมในฟาร์มโคนมรายย่อย การศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกินในแม่โครีดนมต่อสมรรถนะการผลิต คุณภาพน้ำนมและสุขภาพโคนมของฟาร์มโคนมรายย่อย การเฝ้าระวังและควบคุมระดับเซลล์โซมาติกในถังรวมนมของฟาร์มโคนมที่ผลิตน้ำนมดิบมาตรฐานพรีเมี่ยม การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมปรุงแต่ง ยูเอชที รสมัลเบอร์รี มัลติวิตามินและผลิตภัณฑ์นมสเตอริไลซ์สำหรับปรุงอาหารและเบเกอรี่  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาวิชาการโคนม ประจำปี 2566  โดยมีนักวิชาการชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมนมระดับประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเสวนา อาทิ  บรรยายพิเศษเรื่อง "สถานการณ์อุตสาหกรรมโคนมภายใต้วิกฤติโลก และแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรกร:กรณีศึกษาจากนิวซีแลนด์",ฟาร์มโคนม BCG  สู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจยั่งยืน, การยกระดับฟาร์มโคนมรุ่นใหม่, การผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพสูงจากโคนม  เป็นต้น  

  “ในงานเทศกาลโคนมแห่งชาติในปี 2566 นี้ อ.ส.ค. มีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดภายใต้ชื่อโยเกิร์ตอบกรอบ โพรไบโอ ตราไทย-เดนมาร์ค (Freeze-Dried Yoghurt Probio(Thai-Denmark Brand) อีกด้วย  สำหรับโยเกิร์ตอบกรอบ โพรไบโอผลิตจากโยเกิร์ตแท้ที่มาจากน้ำนมโค 100% หมักโดยจุลินทรีย์โยเกิร์ตชนิดโพรไบโอติกผ่านกระบวนการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งจึงรักษาคุณค่าทางอาหารได้อย่างดีมีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต โพรไบโอติกมากกว่า 1 ล้านตัว ต่อถุง เป็นสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงช่วยรักษาสมดุลของลำไส้และระบบขับถ่าย เชื่อมั่นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดจะตอบโจทย์ตลาดคนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพอย่างแน่นอน” นายสมพร  กล่าว

 

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565

กรมส่งเสริมสหกรณ์เดินหน้าคัดสรรสินค้าสหกรณ์กลุ่มเกษตรกร จัดลงกระเช้ามอบเป็นของขวัญเทศกาลปีใหม่ พร้อมยกระดับสู่การเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมเพื่อสร้างรายได้ให้สมาชิกอย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมสหกรณ์ชูแนวคิด “ส่งความสุข ส่งความห่วงใย จากใจสินค้าสหกรณ์” คัดสรรสินค้าสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรรุ่นใหม่ในโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ จัดลงกระเช้าของขวัญและตกแต่งสวยงาม ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อเป็นของขวัญของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเน้นสินค้าหลากหลายและมีประโยชน์ พร้อมบริการส่งฟรีในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เมื่อซื้อสินค้าครบ 5,000 บาท หวังใช้โอกาสปีใหม่ช่วยขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ไปสู่ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยเปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2565  15 มกราคม 2566



วันนี้ (19 ธ.ค. 65) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการส่งความสุขในเทศกาลปีใหม่ด้วยสินค้าสหกรณ์ ประจำปี 2566พร้อมเยี่ยมชมสินค้าและกระเช้าของขวัญภายในห้องจัดแสดงกระเช้าสินค้าสหกรณ์ นอกจากนี้ ได้ร่วมสาธิตการจัดกะเช้าของขวัญปีใหม่ด้วยสหกรณ์  โดยนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตสินค้าของเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และขยายช่องทางการตลาดให้ถึงมือผู้บริโภค และใช้กลไกระบบสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตให้กับเกษตรกรทำหน้าที่ในการส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อจัดหาตลาดในการจำหน่ายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันสหกรณ์ภาคการเกษตรมีศักยภาพในการผลิตสินค้าได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภค ทั้งกลุ่มสินค้าด้านพืช เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ นม  ไข่ไก่ และสินค้าแปรรูปต่าง ๆ เช่น กาแฟ อาหารแปรรูป และในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 นับเป็นโอกาสดีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้คัดสรรสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศหลากหลายชนิด ทั้งอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากผ้า เครื่องจักสานและงานหัตถกรรม ได้นำผลิตภัณฑ์และสินค้าของชุมชนจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจากทุกจังหวัดทั่วประเทศมานำเสนอและจัดวางในรูปแบบของกระเช้าของขวัญปีใหม่



“ในปีที่ผ่าน ๆ มา ทราบว่ามีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจติดต่อและสั่งซื้อกระเช้าของขวัญปีใหม่และสินค้าของสหกรณ์กันอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยส่งเสริมและรณรงค์ให้คนไทยช่วยกันซื้อของไทยและใช้ของไทยที่เป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน และเป็นการสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน มีทั้งสินค้าและผลผลิตจากเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรมาร่วมจำหน่ายด้วย ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเสริมอาชีพให้เกษตร/สมาชิกสหกรณ์ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ     ปลูกพืชผักปลอดภัย ได้มาตรฐาน GAP และ GMP นอกจากนี้ ได้ขออนุมัติงบประมาณเพื่ออุดหนุนสหกรณ์นำไปจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์การตลาด เพื่อนำมารองรับผลผลิตและรวบรวมพืชผลต่างๆ ของสมาชิก ทั้งข้าว ผัก ผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป ทั้งโคเนื้อ   โคนม ไข่ไก่ เพื่อพัฒนาและยกระดับสินค้าสหกรณ์ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้สหกรณ์ร่วมมือกันเป็นเครือข่าย      เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าและผลผลิตการเกษตรของสมาชิกและสามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทำให้คนไทยได้มีโอกาสบริโภคผักอินทรีย์ ผลไม้ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อสุขภาพ และราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ยกระดับไปสู่การเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมเพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้นต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว



ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำ “โครงการส่งความสุขในเทศกาลปีใหม่ด้วยสินค้าสหกรณ์ ประจำปี 2566” เป็นการนำสินค้าของสหกรณ์มาตกแต่งและจัดเป็นกระเช้าของขวัญเพื่อเป็นการมอบความสุขและความปรารถนาดีให้แก่กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 และในปีนี้นับเป็นปีที่ 20 โดยเปิดจำหน่ายแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2565 เป็นต้นมา ตอนนี้มียอดสั่งซื้อเข้ามาแล้ว 249 กระเช้า มูลค่าประมาณ 3.2 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำที่ติดตามอุดหนุนกระเช้าปีใหม่ของสหกรณ์ทุกปี     มีทั้งลูกค้าที่เป็นประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน ทำให้ในแต่ละปีเราสามารถสร้างยอดจำหน่ายกระเช้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 1.3  ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการผลิต การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์ และการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การซื้อสินค้าสหกรณ์ นอกจากพี่น้องประชาชนจะได้สินค้าคุณภาพกลับไปแล้ว ทุกท่านยังมีส่วนสนับสนุนรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศอีกด้วย

สำหรับรูปแบบของกระเช้าสินค้าสหกรณ์ที่จะนำมาจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ได้คัดสรรสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพของสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ มาจัดตกแต่งลงกระเช้าของขวัญหลากหลายรูปแบบและหลายขนาด พร้อมห่อหุ้มด้วยผ้าขาวม้า และผ้าปาเต๊ะที่มีสีสันสวยงาม โดยจะคัดสรรเฉพาะสินค้าคุณภาพทั้งอุปโภคบริโภค เน้นผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสุขภาพเป็นหลัก อาทิ ผลิตภัณฑ์ประเภทข้าวเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าว กข 43 นาขวัญ จากสหกรณ์การเกษตรสว่างอารมณ์ จำกัด จังหวัดอุทัยธานี ข้าวสายน้ำแร่แจ้ซ้อน จากสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และที่พิเศษสุดสำหรับกระเช้าสินค้าสหกรณ์ในปีนี้ เราได้คัดเลือกสินค้าและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร และสินค้าของสมาชิกสหกรณ์จากโครงการซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์มาร่วมจัด ซึ่งสินค้าทุกชนิด    ที่จะนำมาจัดลงกระเช้าของขวัญจะเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ภายใต้แนวคิด “ส่งความสุข ส่งความห่วงใย จากใจสินค้าสหกรณ์”



            นอกจากนี้ยังมีสินค้าประเภทสมุนไพรชงดื่ม ขิงผง เก๊กฮวยผง ดอกคำฝอย ชาใบหม่อนอินทรีย์ ชาดอกกาแฟ กระเทียมผงและพริกไทยดำ พันธุ์ปะเหลียน จากสหกรณ์การเกษตรปะเหลียน จำกัด จังหวัดตรัง สินค้าประเภทนมและเครื่องดื่ม นม UHT น้ำผลไม้ น้ำส้มแขก กาแฟชงพร้อมดื่ม กาแฟดริป  และโกโก้ผงบรรจุกระป๋อง ของสหกรณ์การเกษตรห้วยคต จำกัด จังหวัดอุทัยธานี สินค้าประเภทอาหารแปรรูปและผลไม้แปรรูป อาทิ กล้วยตากเคลือบช๊อคโกแล็ต กล้วยตากรสทุเรียน กล้วยหนึบหนับ ขิงกรอบแก้วรสน้ำผึ้ง หมี่กรอบสามรส ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง เนื้อทุบ เนื้อกระจก เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลูกหยีกวนหยาบไม่มีเมล็ด ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมและผ้าฝ้าย เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าขาวม้า ผ้าห่ม ผ้าพันคอ รวมทั้งสินค้าและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร เช่น คุกกี้มะม่วง น้ำผึ้งมะนาว มะเขือเทศแช่อิ่ม กระเทียมโทนดองน้ำผึ้ง กระเทียมโทนดองสามรส

สำหรับช่องทางการสั่งซื้อกระเช้าสินค้าสหกรณ์เนื่องในเทศกาลปีใหม่ มีทั้งกระเช้าสำเร็จรูปที่จัดสินค้าและตกแต่งไว้เรียบร้อยแล้ว และยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาเลือกสินค้าที่ต้องการจะให้จัดกระเช้าได้ด้วยตัวเองด้วย ซึ่งมีหลายราคาตั้งแต่    599 - 2,000 บาท และมีบริการส่งฟรีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  สำหรับยอดสั่งซื้อครบ 5,000 บาท ขึ้นไป โดยเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2565 – 15 มกราคม 2566 จำหน่ายทุกวัน ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันจันทร์ – ศุกร์       เปิดจำหน่ายตั้งแต่เวลา 08.30 – 18.30 น. และวันเสาร์ – อาทิตย์ จำหน่ายตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. ณ ห้องจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ท่าน้ำเทเวศร์ กรุงเทพฯ หน่วยงานต่าง ๆ หรือประชาชนที่สนใจจะสั่งซื้อกระเช้าสินค้าสหกรณ์ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สามารถดูรายละเอียดสินค้าและรูปแบบของกระเช้าสินค้าสหกรณ์ได้ทางเพจ Facebook : COOP  Market หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 628 5512 , 089 891 5912

 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...