ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้รับทราบผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำจากพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับจากการลงพื้นที่และกล่าวขอบคุณรัฐบาล ตลอดระยะเวลาที่กำกับดูแลงานด้านน้ำกว่า 44 ครั้ง ใน 42 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 12 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด และภาคใต้ 9 จังหวัด ซึ่งหลายๆ โครงการเกิดประโยชน์โดยตรงจนเป็นที่พอใจต่อประชาชนและมีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง เช่น การพัฒนาเวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย กว๊านพะเยา จ.พะเยา บึงสีไฟ จ.พิจิตร ขับเคลื่อนแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือในระยะยาวอย่างเป็นระบบ ให้เกิดความมั่นคงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก รวมถึงจัดทำแผนงานและโครงการจัดหาน้ำบนดินและใต้ดิน เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับใช้แก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ในระยะเร่งด่วน การศึกษาโครงการประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม ในแม่น้ำสายหลักพื้นที่ภาคกลาง เร่งขยายผลโครงการพัฒนาน้ำบาดาลในเกษตรแปลงใหญ่ไปทุกพื้นที่อย่างน้อยหนึ่งอำเภอหนึ่งโครงการในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าจะยังคงผลักดันและเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ ซึ่งในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนโครงการด้านทรัพยากรน้ำเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนต่อไป
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิมเติมว่า จากการดำเนินการตามแผนแม่บทน้ำฯ ตั้งแต่ปี 2561 – ปัจจุบัน พบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้านได้ถึง 4,973 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำผิวดินสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 1,189 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรได้ปริมาณน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัย มีพื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 32,005 ไร่ ประชาชนได้รับการป้องกัน 27,364 ครัวเรือน สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน 14 แห่ง และอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำได้ถึง 156,070 ไร่ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น