วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต


 


สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย     ขานรับนโยบายรัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ สร้ายรายได้แบบยั่งยืน   อัดฉีดเงินวิจัย  ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก ไข่ผำ หรือ คาเวียร์มรกต ตอบโจทย์กระแสคนรักสุขภาพทั่วโลก



อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เป็นแนวคิดในอุตสาหกรรมอาหารโลกที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปลักษณ์และกระบวนการผลิต โดยมุ่งเน้นกระบวนการผลิตอาหารที่เหมาะสมกับโลกในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดภาวะโลกร้อน และการสร้างระบบอาหารอย่างยั่งยืน แนวคิดด้านสุขภาพและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันกลายเป็นประเด็นที่อุตสาหกรรมอาหารให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างความตื่นตัวต่อการรักษาสุขภาพและสุขอนามัยทั่วโลก การปรับเปลี่ยนของวิถีชีวิต ความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงตามวัยของผู้บริโภค ล้วนส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานอาหารและอาหารแห่งอนาคต โดยผู้บริโภคให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่เสริมสารอาหารและโภชนาการ อาหารประเภท functional ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อระบบย่อยและดูดซึมอาหาร สะท้อนจากมูลค่าตลาดของอาหารกลุ่มดังกล่าวที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง



ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ภายหลังจาก สวก. ได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงผลักดันและขับเคลื่อนพัฒนางานวิจัย โดยการสนับสนุนทุนวิจัย 2 สถาบันการศึกษา คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.ภญ.รัตติรส คนการณ์ โครงการ ผลิตภัณฑ์เม็ดสารสกัดไข่น้ำเพื่อเสริมโปรตีนและกรดไขมันโอเมกา และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.วนิดา ปานอุทัย โครงการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนเสริมสุขภาพจากผำเพื่อเพิ่มมูลค่าและศักยภาพการใช้ทรัพยากรชุมชน เพื่อศึกษาถึงประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งพบว่า ไข่ผำเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ ไข่ผำจึงถูกยกให้เป็น Super Food หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น Super ของ Super เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนชั้นเยี่ยม เพราะกิน 1 ได้ประโยชน์ถึง 3 คือ ประโยชน์ที่ 1 มีโปรตีนสูง ประโยชน์ที่ 2 มีโอเมกา 3 และ 6 สูง และประโยชน์ที่ 3 มีคลอโรฟีลสูง



รศ.ดร.ภญ.รัตติรส คนการณ์(หัวหน้าโครงการวิจัย) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวเสริมถึง คุณประโยชน์ในไข่ผำ  ครั้งนี้ว่า  ในไข่ผำพบกรดอะมิโนที่จำเป็นและไม่จำเป็นครบทุกชนิด โดยกรดอะมิโนจำเป็นที่พบมากสุด 3 อันดับแรก คือ ไลซีน ฟีนิลอะลานีน ลิวซีน (ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันของร่างกายและระบบประสาท) และเมื่อมีการวิเคราะห์กรดไขมันของไข่ผำแห้งพบว่า มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงกว่ากรดไขมันอิ่มตัวประมาณ 2 เท่า และยังพบกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายต้องการอีก 2 ชนิด คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 ในปริมาณที่สูง  ในงานวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการยกระดับวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านสู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต    “ไข่ผำ” สุดยอดของแหล่งโปรตีนทดแทน




ดร.วิชาญ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ไข่ผำ” เป็น 1 ในพืชน้ำที่อยู่ในยุทธศาสตร์นโยบายการขับเคลื่อนใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในด้านอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่มาแรงและถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้าง ภาคอุตสาหกรรมอาหารต่างให้ความสนใจ  และยังได้พูดถึงตลาด Future Food ที่มีตัวเลขน่าสนใจไว้ด้วยว่า เป็นอนาคตที่ดีของเกษตรกรและอุตสาหกรรมอาหาร เพราะจากข้อสรุปของงานวิจัยและแนวโน้มอนาคตการเติบโตด้านการตลาด ของ Future Food โดยการส่งออกของไทย ปี 2564 มีมูลค่า 115,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7 % คิดเป็นสัดส่วน 10 % ของการส่งออกอาหารในภาพรวม ส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 2565 มีมูลค่าส่งออก 95,592 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44 % สัดส่วน 12 % ของการส่งออกอาหารในภาพรวมของไทย ช่วง 7 เดือนแรก ประกอบด้วย อาเซียน สัดส่วน 37 % สหรัฐฯ 18 % สหภาพยุโรป 11 % จีน 10.9 % และออสเตรเลีย 4 %  ซึ่งคาดการณ์อัตราการเติบโตของอาหาร Future Food ในปี 2025 จะมีการเติบโตสูงถึง 51%



คุณจิรวัฒน์ จารุวัฒน์ภาคิน กรรมการผู้จัดการบริษัท บริษัท เดอะ พอสสิเบิ้ล จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการ กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรองรับจากผลงานวิจัยทำให้สามารถสร้างตัวตนทางการตลาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค เช่นงานวิจัยไข่ผำ ที่ตนสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนชงพร้อมดื่มจากผำซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มรักสุขภาพ / กลุ่มผู้สูงอายุ / กลุ่มผู้ป่วยพักฟื้น ที่ต้องการเสริมโปรตีนที่เป็น Vegan หรือ Plant Based  “ไข่ผำ” ถือว่าตอบโจทย์เป็นอย่างมาก และคาดว่าในปีนี้จะสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์เติบโตได้ถึง 10%  และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สวก.ยังมีงานวิจัยต่างๆ ที่ภาคเอกชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องของพืชผัก พืชไร่ สมุนไพร ข้าว ประมง หรือปศุสัตว์ ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรให้เพาะเลี้ยงผำคุณภาพสูงโดยการทำ Contact Farming กับเกษตรกรผู้ผลิตอีกด้วย  ถือได้ว่าเป็นงานวิจัยที่มีการเชื่อมโยงผู้ผลิตวัตถุดิบต้นทางเติบโตไปด้วยกัน

“ไข่ผำ” จึงถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งโปรตีน สวก. เล็งเห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยังผู้ประกอบการในระดับ SME ซึ่งได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์จากไข่ผำในงาน THAIFEX– Anuga Asia 2023 ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

งานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก ไข่ผำ” พืชน้ำโปรตีนสูง หรือ Super Food แนวคิดเรื่องอาหารด้านสุขภาพและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อุตสาหกรรมอาหารสำคัญ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการเกษตรของประเทศ สู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงตามวัยของผู้บริโภค ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานอาหารและอาหารแห่งอนาคต  สามารถสร้างรายที่ยั่งยืนให้เกษตรกร ตามแนวคิดของ สวก. ที่สนับสนุนการสร้างมูลค่าอาหารด้วยงานวิจัย...สร้างโอกาสใหม่ในตลาดโลก

สนใจสามารถติดตามข่าวสาร ผลงานวิจัย เพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนา หรือขอรับทุนวิจัยได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.  https://www.arda.or.th/ ช่องทางการติดต่อเพิ่มเติม เฟซบุคแฟนเพจ :            www.facebook.com/ardathai www.facebook.com/kasetkaoklaiARDA2017

Youtube : www.youtube.com/@ardathailand

บล็อกองค์ความรู้ด้านการเกษตรอย่างง่าย ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย: http://blog.arda.or.th/

วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2566

แม็คโคร - โลตัส จับมือ กรมการค้าภายใน ผนึกกำลังช่วยชาวสวนไทย รับซื้อผลไม้ตามฤดูกาลกว่า 54 ล้านกิโลกรัม สร้างเม็ดเงินสู่เกษตรกรกว่า 2,200 ล้านบาท


 


            แม็คโคร - โลตัส ขานรับนโยบาย กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รวมพลังสนับสนุนผลผลิตจากเกษตรกรช่วงฤดูกาลผลไม้ออกสู่ตลาด โดยปี 2566 นี้ ตั้งเป้าหมายการรับซื้อรวมกันกว่า 54 ล้านกิโลกรัม หรือ 54,000 ตัน กระจายผ่านสาขาของแม็คโครและโลตัส กว่า 2,800 แห่งทั่วไทย รวมถึงช่องทางออนไลน์ คาดสร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 2,200 ล้านบาท พร้อมจับมือกันกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่อง รับการท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยมี นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ให้เกียรติเปิดงาน



นายสมนึก ยอดดำเนิน ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารสินค้าอาหารสด แม็คโคร กล่าวว่า แม็คโครและโลตัส ได้ผนึกกำลังครั้งสำคัญ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย และสนับสนุนนโยบายการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2566 ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น มะม่วง เงาะ ลำไย มังคุด ลิ้นจี่  ทุเรียน ลองกอง สละ ฯลฯ  โดยทั้งแม็คโคร และโลตัส เป็นช่องทางกระจายสินค้าให้กับเกษตรกรได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี สำหรับปีนี้แม็คโคร ได้วางแผนการรับซื้อผลไม้ฤดูกาลกว่า 36 ล้านกิโลกรัม หรือ 36,000 ตัน เพิ่มขึ้น 20 % จากปีก่อน พร้อมจัดโปรแกรมส่งเสริมการขายต่อเนื่องทุกเดือน ภายใต้คอนเซ็ปต์ Amazing Thai Taste ตั้งแต่ เมษายน – สิงหาคม เพื่อกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่องกับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่มีความต้องการวัตถุดิบไปใช้ในการสร้างสรรค์เมนู รับกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังคึกคัก ตามนโยบาย ‘แม็คโคร เคียงข้างเกษตรกรไทย’ ที่มุ่งส่งเสริม พัฒนาและสร้างโอกาสการเติบโตให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน



ด้าน นางสาวจิราภรณ์ เลาหะรัตนะวิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสดและอาหารพร้อมปรุงพร้อมทาน โลตัส กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ โลตัสได้วางแผนการรับซื้อผลไม้จากชาวสวนตลอดทั้งปี ประมาณ 18 ล้านกิโลกรัม หรือ 18,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 20 % เช่นกัน โดยจะกระจายสินค้าไปยังทุกสาขาทั่วประเทศและช่องทางออนไลน์ ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้ นับว่าเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญของธุรกิจเพื่อช่วยเกษตรกรไทยระบายผลผลิตสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนคนไทยได้บริโภคผลไม้คุณภาพดีแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรอีกด้วย





สำหรับความร่วมมือระหว่าง แม็คโคร - โลตัส และ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในครั้งนี้ จะช่วยระบายผลไม้ตามฤดูกาลให้เกษตรกรชาวสวนมากกว่า 101,850 ราย เพื่อลดปัญหาผลิตล้นตลาดหรือราคาตกต่ำ ซึ่งผลไม้ยอดนิยมของไทย อาทิ มะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด สละ นอกจากจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทยแล้ว ผลไม้ไทยเหล่านี้ ยังถือเป็นหนึ่งในแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เข้ามาท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งการกระจายผลไม้คุณภาพจากเกษตรกรไทย ไปยังสาขาต่างๆ ของทั้งแม็คโครและโลตัสทั่วประเทศ ก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกระแสการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคัก ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาว ที่คาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 1.25 แสนล้านบาทด้วย

วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566

ทส. เปิดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “รวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำบาดาล” รำลึกและสืบสานพระราชปณิธานร่วมดูแล รักษา ปกป้องน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืน



กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล จัดงาน “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” ภายใต้แนวคิด “รวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำบาดาล” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากร  น้ำบาดาล สร้างการรับรู้ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของวันที่ 3 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันน้ำบาดาลแห่งชาติ พร้อมจัดกิจกรรมเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านน้ำบาดาล รวมถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศ



วันที่ 3 เมษายน 2566 ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล รัชดา กรุงเทพฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2566โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายน้ำบาดาล รวมถึงข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง

จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 ให้วันที่ 3 เมษายนของทุกปี เป็น “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” (National Groundwater Day) สืบเนื่องจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2565 เวลา 17.00 น. เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านปากชัดหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการร่วมกันดูแล รักษา ปกป้องทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า น้ำบาดาล มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จากข้อมูลแหล่งน้ำบาดาลในประเทศไทยมีแอ่งน้ำบาดาลทั่วประเทศ จำนวน 27 แอ่ง รวมปริมาณน้ำบาดาลกว่า 1.1 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ถือได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลปริมาณมากเพียงพอ สามารถนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ตอบสนองความต้องการใช้น้ำบาดาลของประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของชุมชน การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 


นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล   ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล และบริหารจัดการน้ำบาดาล ได้กำหนดนโยบายจัดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติในวันที่ 3 เมษายนของทุกปี โดยวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2566 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมใจภักดิ์ รักษ์น้ำบาดาล” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล สร้างการรับรู้ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญของวันน้ำบาดาลแห่งชาติ พร้อมจัดกิจกรรมเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านน้ำบาดาล รวมถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศ อาทิ การนำเสนอนิทรรศการด้านน้ำบาดาล การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การเสวนาทางวิชาการ และการบรรยายผลงานวิชาการด้านน้ำบาดาล

สำหรับผลการตัดสินเพื่อมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น 4 ประเภท มีดังนี้

1) ประเภทสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จำนวน 5 จังหวัด

​​- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดในพื้นที่เขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร

​​- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล 10,000,001 บาท ขึ้นไป ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี

​​- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล 5,000,000-10,000,000 บาท ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน

​​- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล 2,000,000-5,000,000 บาท ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตราด

​​- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่จัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลและ ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล น้อยกว่า 2,000,000 บาท ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล

2) ประเภทพื้นที่ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำบาดาลดีเด่น จำนวน 12 พื้นที่ ได้แก่

​​- โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สนับสนุนการอุปโภคบริโภค ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

​​- โครงการศึกษานำร่องรูปแบบระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนน้ำในพื้นที่ขอบแอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ 300 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง ตำบลทะเลวังวัด อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ตำบลโบสถ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ (โครงการตามมาตรการสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/2564) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่หาน้ำยาก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

​​- โครงการศึกษาพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ในฤดูฝน ปี 2563 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตำบลหนองเป็ด อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร

​​- โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ตำบลเขามีเกียรติ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

3) ประเภทกลุ่มผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาลภาคเอกชน จำนวน 3 บริษัท

​​- ธุรกิจขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำตามใบอนุญาต ตั้งแต่ 5,000 ลบ.ม./วัน ขึ้นไป ได้แก่ บริษัท ปทุมธานี บริวเวอรี่ จำกัด

​​- ธุรกิจขนาดกลาง มีปริมาณน้ำตามใบอนุญาต ตั้งแต่ 1,000 ถึง 5,000 ลบ.ม./วัน ได้แก่ บริษัท ทีทีซี น้ำดื่มสยาม จำกัด

​​- ธุรกิจขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำตามใบอนุญาต น้อยกว่า 1,000 ลบ.ม./วัน ได้แก่ บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด

4) ประเภทช่างเจาะน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจำนวน 12 ราย ได้แก่ นายทองสุข คานจันทึก ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4/หัวหน้า สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 (ลำปาง)นายสุธินทร์ ศรีจันทร์ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี)นายปรีชา สีหอม ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 (สระบุรี) นายวิชัย หาญรบ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4/หัวหน้า สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4 (ขอนแก่น) นายเกียรติศักดิ์ ไกรมณี ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 (นครราชสีมา)นายทวิชัย จันทร์เลื่อน ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 6 (ตรัง) นายมงคล บุญสืบ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 (กำแพงเพชร) นายไชยา วงษ์เอี่ยม ช่างเจาะบ่อบาดาล ช3 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) นายเสน่ห์ แก้วคำมี ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 (ระยอง) นายประจักษ์ พิมสะกะ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 (อุดรธานี) นายคมเพชรรัตน์ พันธ์พิบูลย์ ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 (อุบลราชธานี) และนายนิพัฒนะสุวรรณโน ช่างเจาะบ่อบาดาล ช4 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 12 (สงขลา)



ส่วนในช่วงของการเสวนา เรื่อง บทบาทของน้ำบาดาลในการพัฒนาประเทศและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสิทธิศักดิ์ มั่นอยู่ หัวหน้าสำนักงานผู้เชี่ยวชาญ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นางศศิพร ปานิกบุตร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมพิเศษและวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายธันยพัฒน์ มั่นณิชนันทน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เลขาธิการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ศ.ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อดีตคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม และนายศศิน เฉลิมลาภประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยในภาคบ่ายเป็นการบรรยายเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการน้ำบาดาลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากผู้บริหารของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566

ต่อยอดอาชีพโคนม นวัตกรรมยกระดับมูลโค เป็นวัสดุธรรมชาติ สินค้าเศรษฐกิจหมุนเวียนจากฟาร์มโคนม ธุรกิจกระแสใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


 

โครงการนวัตกรรมการผลิตอิฐบล็อกประสานและกระถางต้นไม้จากมูลโคเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นโครงการที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. ได้สนับสนุนทุนวิจัยในปีงบประมาณ 2565 โดยมี ดร.ณัฐภร แก้วประทุม นักวิชาการ 7 ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับนักวิจัยจาก 3 สถาบัน ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ได้ดำเนินงานวิจัยมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งทำวิจัยร่วมกับฟาร์มโคนมในอำเภอมวกเหล็กจังหวัดสระบุรี มีนายสุกิจ สิงห์กลาง เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าร่วมโครงการกับคณะนักวิจัย ความก้าวหน้าของโครงการได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยคณะนักวิจัยให้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้



ผศ.ดร.ประชุม คำพุฒ นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อธิบายว่า การนำมูลโคนมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับชุมชนและสอดคล้องกับ BCG นั้นมีแนวคิดหลากหลายในการนำไปใช้ประโยชน์ โดยในโครงการนี้ เลือกเทคโนโลยี (1) อิฐบล็อกประสานที่ใช้ก่อสร้างผนังอาคารประหยัดพลังงาน ซึ่งในอดีตชาวบ้านใช้มูลสัตว์ร่วมกับฟางข้าวเป็นส่วนผสมในการทำยุ้งฉางเก็บเมล็ดพืช ใช้ทำที่อยู่อาศัย ทำบ้านดิน มีข้อดีที่ต้นทุนต่ำ เป็นธรรมชาติ ช่วยรักษาอุณหภูมิในห้องได้ดี นักวิจัยจึงได้นำมาพัฒนาสูตรใหม่ ให้มีความทันสมัย น่าใช้งาน แข็งแรง สวยงาม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (2) กระถางต้นไม้โดยนำมาผสมกับสารเชื่อมประสานและขึ้นรูปด้วยเครื่องอัด สามารถทำส่วนผสมได้ทั้งแบบย่อยสลายได้เพื่อใช้เพาะกล้าต้นไม้ทดแทนถุงเพาะพลาสติกที่เป็นขยะหลังจากใช้งานแล้ว เมื่อปลูกต้นไม้ในกระถางย่อยสลายได้จากมูลโคได้ระยะเวลาการเติบโตที่พอเหมาะแล้วก็สามารถนำไปปลูกลงดินได้ทันที และกระถางต้นไม้แบบไม่ย่อยสลายเพื่อเป็นกระถางปลูกต้นไม้ตกแต่งขนาดต่าง ๆ ที่นิยมใช้ในท้องตลาด สามารถนำไปปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก เช่น แคคตัส ไม้อวบน้ำ และไม้ประดับอื่น ๆ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยยังมีเป้าหมายทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากมูลโคเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม



ด้าน ผศ.ดร.ชุติมา ไวศรายุทธ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้รับผิดชอบในการออกแบบโซ่คุณค่า พัฒนาแบรนด์ และโมเดลธุรกิจร่วมกับทีมนักวิจัยอีก 3 ท่าน คือ  ผศ. ดร. ศศรส  ใจจิตร์ (วิศวะอุตสาหการ) ดร. พิธาลัย ผู้พัฒน์ (การออกแบบอุตสาหกรรม) และ ผศ.ดร.อภิญญา ลีลาวณิชกุล (การสร้างช่องทางตลาดออนไลน์) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ได้ประยุกต์ใช้หลักการออกแบบโครงสร้างธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทำให้สามารถลงทุนต่อขยายโซ่คุณค่าของกิจการขายน้ำนมดิบของกลุ่มสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลมิตรภาพ เพื่อเป็นฟันเฟืองให้นวัตกรรมอิฐและกระถางจากมูลโคเติบโตเป็นธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการวางตำแหน่งแบรนด์ ให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแรก ที่อายุอยู่ในช่วงวัยทำงาน มีวิถีชีวิตคนเมือง ใช้บริการคาเฟ่ ปลูกพืช ท่องเที่ยว ทำครัวและถ่ายรูปบนสื่อสังคมออนไลน์ (กลุ่ม Y2K) โดยกลุ่มเป้าหมายนี้ มีพฤติกรรมสร้างสมดุลการใช้ชีวิต สนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีอัตลักษณ์หรือเป็นสัญลักษณ์เชิงพื้นที่ จึงเป็นเครือข่ายเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้เป็นระบบลูกค้าสัมพันธ์ ที่ช่วยสื่อสารเพื่อขยายตลาด เป็นตัวแทนในการหาประเด็นนวัตกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งอาจสนใจร่วมหลักสูตรจากศูนย์เรียนรู้ และยกระดับเป็นผู้ร่วมลงทุนในกิจการ ที่เกิดจากนวัตกรรมการผลิต อิฐกระถาง และกิจการต่อขยายจากคาเฟ่  โดยนักวิจัยได้ร่วมทำงานกับ หัวหน้าโครงการ และเกษตรกรเจ้าของฟาร์มโคนม ในการออกแบบโรงงานต้นแบบการผลิตอิฐกระถางที่ใช้พลังงานโซล่าเซล และก๊าซชีวภาพจากมูลโค รวมทั้งใช้วัสดุหมุนเวียนทั้งอิฐก่อผนังและวัสดุมุงหลังคาซึ่งเป็นส่วนประกอบของโรงงานต้นแบบ  รวมทั้งการออกแบบระบบผลิตร่วมกับนักวิจัยด้านวัสดุและสูตรอิฐกระถางที่มีมูลโคเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหลังจากโรงงานต้นแบบและกระบวนการผลิตเริ่มผลิตต่อเนื่อง ต้นแบบโมเดลธุรกิจและการสร้างช่องทางการตลาดออนไลน์จะถูกพัฒนาและทวนสอบต่อไปเพื่อให้ธุรกิจเกิดเป็นวงจรหมุนเวียนและประเมินการเติบโตต่อไป




ผศ.ดร.สุทธิจิตต์ เชิงทอง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ให้ข้อมูลว่า กากมูลโคเป็นผลพลอยได้จากการใช้เทคโนโลยีเครื่องแยกกาก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้จัดการน้ำทิ้งและมูลโคของฟาร์มโคนมตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ก่อให้เกิดผลพลอยได้หลักสองชนิดคือก๊าซชีวภาพ และกากมูลโค จากลักษณะของโครงสร้างที่มีเนื้อละเอียดของกากมูลโคที่ได้ จึงเหมาะแก่การนำไปเป็นกระถางปลูกพืชและอิฐบล็อกประสาน ผลประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มที่เหนือกว่าการจำหน่ายในรูปแบบของปุ๋ยมูลโคมากน้อยเพียงใด  จะถูกนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มตามโมเดลต้นแบบที่ออกแบบในรูปของระบบธุรกิจที่เหมาะกับกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรในการผลิตผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกประสานและกระถางจากมูลโค ตลอดจนการสร้างตราสินค้าของวิสาหกิจชุมชน เพื่อทราบถึงความคุ้มค่าในการลงทุนในภาพรวมของระบบการผลิตและการตลาดที่ออกแบบเพื่อการศึกษาครั้งนี้ ความคุ้มค่าของโมเดลต้นแบบในการผลิตผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกประสานและกระถางจากมูลโค จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในเชิงพาณิชย์ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจต่อไป

วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2566

สศก. แถลง จีดีพีเกษตร ไตรมาส 1 ระบุ น้ำดี อากาศอำนวย บวกเศรษฐกิจฟื้นตัว ดันจีดีพีโต 5.5%

 


    นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2566 (มกราคม – มีนาคม 2566) ว่า ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 เนื่องจากปริมาณฝนตกสะสมตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มการผลิต ประกอบกับการสนับสนุนการนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการพัฒนา อาทิ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และชนิดสินค้า การบริหารจัดการน้ำและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติอย่างทันท่วงที การเฝ้าระวังโรคพืชและสัตว์ การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และการขยายช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากกิจกรรมการผลิต การค้า และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การผลิตทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยสาขาพืช ยังคงเป็น



    สาขาหลักที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะข้าวนาปรังและอ้อยโรงงาน ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญ ในไตรมาส 1 ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเช่นกัน ส่วนสาขาประมง หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผู้ประกอบการประมงออกเรือจับสัตว์น้ำลดลง 

    สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 พืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และ เงาะ ภาพรวมเนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้นเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ประกอบกับราคาที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงดูแล อีกทั้งการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราลดลง ส่งผลให้ผลผลิตยางเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มไม้ผล นอกจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผลแล้ว ทุเรียนที่ปลูกแทนในพื้นที่ยางพาราและไม้ผลอื่น เมื่อปี 2561 และลำไยที่ปลูกแทนในพื้นที่ลิ้นจี่ มะนาว และไม้ผลอื่น เมื่อปี 2563 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ อย่างไรก็ตาม พืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนลดการบำรุงดูแลรักษาจากต้นทุนด้านราคาปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรที่สูงขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน ขณะที่มันสำปะหลัง ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2565 บางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมีฝนตกหนักและประสบอุทกภัย ทำให้น้ำท่วมขัง  พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังบางส่วนได้รับความเสียหาย ทำให้ผลผลิตในไตรมาสนี้ลดลง 



    สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.8 สินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ มีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และประเทศผู้ผลิตหลายประเทศประสบปัญหาโรคไข้หวัดนก สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการป้องกันและควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพภายในฟาร์มสุกรมากขึ้น ทำให้มีจำนวนแม่พันธุ์สุกรเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไข่ไก่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการปริมาณการผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการบริโภคและ น้ำนมดิบ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลโคนมที่ดีขึ้น ประกอบกับการควบคุมโรคลัมปีสกินที่ดี ส่งผลให้มีจำนวนแม่โคให้นมเพิ่มขึ้น 

    สาขาประมง หดตัวร้อยละ 0.5 โดยสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีปริมาณลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลปรับตัวสูงขึ้น ปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจากภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์ ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง และลดปริมาณการปล่อยลูกปลา ส่วน กุ้งขาวแวนนาไม เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายเนื้อที่เพาะเลี้ยง และปรับเพิ่มจำนวนลูกพันธุ์และลงลูกกุ้งมากกว่าช่วงที่ผ่านมา  



    สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.0 ของปี 2565 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช ประกอบกับในปีที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกและดูแลเอาใจใส่การผลิตมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  

    สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดย ไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นและจีน ครั่ง เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย รวมถึงมีการส่งเสริมการเลี้ยงภายในประเทศเพิ่มขึ้น รังนก เพิ่มขึ้นตามความต้องการเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก และยังมีการส่งออกไปยังจีนอย่างต่อเนื่อง ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคบริการ ทั้งธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และมีการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น  

    ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยทุกสาขาการผลิต มีแนวโน้มขยายตัว จากปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำประมง การดำเนินนโยบายของภาครัฐและความร่วมมือ

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...