วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

EASYRICE สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ประกาศวิสัยทัศน์พลิกโฉมเกษตรไทยสู่สากล โชว์ระบบ AI ตรวจสายพันธุ์ข้าวและตรวจคุณภาพข้าวสาร


    วันนี้ ( 27 ก.พ.66) EASYRICE (อีซีไรช์) บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในเกษตรกรรม ได้จัดงานแถลงข่าวครั้งแรกขึ้น ภายใต้ชื่อ EASYRICE Press Conference 2023 เพื่อประกาศความสำเร็จ วิสัยทัศน์ และเปิดแผนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ประจำปี 2565 พร้อมเผยหน่วยงานพันธมิตร นักลงทุน และผู้สนับสนุนในการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ และสนับสนุนเทคโนโลยีของ EASYRICE ให้เป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง มีคุณภาพ และสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างเต็มศักยภาพ



    นายภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จํากัด ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการต่อตั้ง EASYRICE โดยมีที่มาจากการพบปัญหาในขณะการทำโปรเจควิจัยเกี่ยวกับข้าวในมหาวิทยาลัย ว่าด้วยเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ต้องใช้ “คน” ที่มีความเชี่ยวชาญในเมล็ดข้าวโดยเฉพาะ ตลอดเวลาที่ผ่านมาส่วนมากจะทำการตรวจสอบด้วยตาเปล่า ซึ่งอาจมีปัจจัยทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการตรวจสอบคุณภาพข้าว จึงทำให้เกิดไอเดียในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial-Intelligence (AI) แก้ไขจุดบกพร่องในการตรวจสอบ ลดโอกาสผิดพลาด เพิ่มความเสถียรและแม่นยำ รวมถึงยกระดับการตรวจสอบให้มีมาตรฐาน 



    “การตรวจสอบคุณภาพอาหารหลัก ต้องการให้เกิดการยกระดับแบบการเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ และต้องการโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อทำให้ประชาชนโลกมีความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ของ EASYRICE จะมีบทบาทอย่างมากในการยกระดับนี้” นายภูวินทร์ กล่าว 



    ในแง่ของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี นายวิษุวัต ซันเฮม ประธานฝ่ายปฏิบัติการ หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมและผู้ร่วมก่อตั้ง และ นางสาวสุจิตรา สุทธิธาทิพย์ ประธานฝ่ายดูแลและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด ได้กล่าวสมทบว่า ในปัจจุบัน EASYRICEได้เปิดตัว AI ไปแล้ว 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ AI ตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวเปลือกและระบบ AI ตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร ซึ่งเป็นเป็นเทคโนโลยี AI แรกที่ลงสู่อุตสาหกรรมข้าว โดยหลังจากที่ AI ทั้ง 2 ระบบเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบ ได้ช่วยให้การตรวจเป็นไปอย่าง ง่ายดาย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยลดต้นทุน ลดเวลาและลดความผิดพลาดในกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งในอนาคต ทาง EASYRICE มีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เข้าถึงผู้ใช้งาน และผลผลิตที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจสอบที่มากยิ่งขึ้นในระดับสารอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในตลาดข้าวและตลาดอาหารอื่นๆ ที่ผันแปรไปตามกระแส



    ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีหลัง EASYRICE เปิดตัวผลิตภัณฑ์ ต่างได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งานตั้งแต่ระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โรงสี และผู้ส่งออกข้าว มากกว่า 250 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้ทำการประยุกต์ใช้ระบบ AI ของ EASYRICE ทั้งในส่วนของ การรับซื้อรับขาย หรือในกระบวนการปรับปรุง ผลิต ไปจนถึงแพ็คถุงเพื่อขายในประเทศหรือส่งออก ทำให้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีการใช้งาน AI เพื่อตรวจสอบไปมากกว่า 300,000 ครั้ง ครอบคลุมข้าวไปมากถึง 6 ล้านตัน โดยลูกค้ามากกว่า 90% พึงพอใจในการใช้งาน AI ของ EASYRICE จากการส่งแบบสอบถามประเมินทั้งในด้านความแม่นยำ ความเร็ว และวิธีการใช้งานระบบ ทำให้ EASYRICE เล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี AI จึงได้ทำการขยายตลาดไปยังประเทศผู้ผลิตข้าวรายหลักของโลก โดยตอนนี้ได้มีกลุ่มผู้ทดลองใช้งาน (Trial User) ระบบ AI ของ EASYRICE ในประเทศเวียดนามไปแล้วกว่า 25 รายในระดับโรงสี และผู้ส่งออก อีกทั้งยังมีแผนขยายต่อไปในประเทศกัมพูชา และประเทศอินเดียในอนาคต

      EASYRICE เล็งเห็นถึงความสำคัญในโอกาสและการขยายธุรกิจ โดยได้รับการหนุนจากหน่วยงานชั้นนำในอุตสาหกรรม ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายแขนง ได้แก่ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) และ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด  (VARUNA) บริษัทในเครือของ ปตท.สผ. ซึ่งมีเทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมในการประเมินปริมานและกิจกรรมทางด้านการเกษตร และบริษัท ยิบอินซอยและแย็คส์ จำกัด ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวกับปุ๋ยและเทคโนโลยีการเกษตร อีกทั้งยังมีบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด (InnoSpace) และ Accelerating Asia Pte Ltd. จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเน้นลงทุนเพื่อส่งเสริมธุรกิจทางด้าน Deep Tech นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่มอบทุนให้ในโครงการ Open Innovation และทุนสนับสนุนจาก TEDFund ในโครงการ Youth Startup Fund ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

    จากวิสัยทัศน์ของอีซีไรช์ “นำเทคโนโลยีดิจิทัลสู่กระบวนการผลิตอาหารหลักของประชากรโลก เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่และเปลี่ยนกระบวนการทำงานและมอบความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรม” เป็นเป้าหมายที่ EASYRICE ยึดมั่นในการมุ่งมั่นวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ โดยจะไม่หยุดเพียงแค่ข้าว แต่ยังพร้อมก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต กาแฟ เป็นต้น รวมถึง AI ในการตรวจสอบเชิงลึกแบบต่างๆ เพื่อมอบความสะดวก รวดเร็ว และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยสู่ระบบที่ทำให้ทั้งห่วงโซ่อุปทานอยู่ได้อย่างยั่งยืน

 

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

"ธุรกิจห้าดาว" 38 ปี บนเส้นทางสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทย เคียงข้างเติบโตอย่างยั่งยืน


    

ธุรกิจห้าดาว” ผู้นำธุรกิจจุดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน สร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ร่วมลงทุนมากว่า 38 ปี บนเส้นทางการสร้างธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีแฟรนไชส์กว่า 5,000 รายในประเทศไทย สานฝันมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ด้วยเงินลงทุนที่เหมาะสมและคืนทุนเร็ว

              นายสุนทร จักษุกรรฐ์ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจห้าดาวและร้านอาหาร เปิดเผยว่า ธุรกิจห้าดาว (Five Star) เป็นธุรกิจจุดจำหน่ายอาหารในรูปแบบแฟรนไชส์สัญชาติไทย ดำเนินการภายใต้ บริษัท ซีพีเอฟเรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยตลอดการดำเนินงาน 38 ปี มุ่งมั่นสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ ให้มีโอกาสเติบโตบนเส้นทางธุรกิจอย่างมั่นคง ปัจจุบันมีแฟรนไชส์จำหน่ายอาหารหลากหลาย ตั้งแต่ ซุ้มไก่ย่าง-ไก่ทอดห้าดาว กระทะเหล็ก Hi Pork เป็ดเจ้าสัว ข้าวมันไก่ไห่หนาน และ STAR COFFEE รวม 5,000 รายในประเทศไทย



ธุรกิจห้าดาวให้ความสำคัญกับการสานต่อความสำเร็จให้คนที่อยากมีธุรกิจ เพื่อสร้างเถ้าแก่โดยมีบริษัท เป็น “เพื่อนทางธุรกิจ” ที่ช่วยสนับสนุนในทุกด้าน สร้างโอกาสที่จับต้องได้ บนพื้นฐานความน่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจของห้าดาวมาอย่างยาวนาน ด้วยกลยุทธ์ที่โดดเด่นซึ่งสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการเป็นเถ้าแก่ที่มีการเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคง ด้วยระบบบริหารจัดการแบบครบวงจร ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้แบบเทิร์นคีย์ (Turn Key) คือ สามารถดูแลร้านของตนเองได้อย่างมืออาชีพ ด้วยเงินลงทุนที่ต่ำกว่าในอุตสาหกรรมใกล้เคียงกัน เป็นการลดความเสี่ยงของผู้ลงทุน สามารถคืนทุนได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ที่แน่นอน เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน




ธุรกิจห้าดาวภูมิใจที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จ ในการสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ที่แน่นอนแก่เถ้าแก่ และยังคงเดินหน้าพัฒนารูปแบบร้านให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ทั้งรูปแบบ Five Star Glass House และ Five Star Shop รวมถึงสนับสนุนการทำ Food Delivery สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และการใช้จ่ายผ่าน TrueMoney Wallet ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในยุคของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และยังส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน QSC และประเมินการรักษามาตรฐานของร้านอยู่เสมอ ตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นเจ้าของธุรกิจอาหารที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นด้านคุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้า และมีความเป็นเลิศในการบริการ เพื่อให้เถ้าแก่เติบโตอย่างยั่งยืน” นายสุนทร กล่าว



ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา ห้าดาวมุ่งมั่นสนับสนุนให้คนไทยได้เป็นเถ้าแก่ ด้วยการมีกิจการเป็นของตนเอง และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษกิจฐานรากด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพ ทำให้ธุรกิจห้าดาว ได้รับรางวัล “แฟรนไชส์ไทยอาหารยอดเยี่ยม” (BEST FOOD FRANCHISE) ประจำปี 2022 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และรางวัล “Most Popular Investment Franchise In Thailand 2022” ธุรกิจแฟรนไชส์นิยมลงทุนอันดับ 1 จากการจัดอันดับและคัดเลือกโดยเว็บไซต์ ThaiFranchiseCenter เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน  ผู้ที่สนใจร่วมสร้างงานสร้างอาชีพ ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.fivestars-allfranchises.com หรือสอบถามที่ โทร. 02-800-8000./

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เปิดหน่วยปฏิบัติการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย


  

 

 

 

    กรมการข้าวร่วมมือกับกรมการค้าต่างประเทศ เปิดหน่วยปฏิบัติการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย ณ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี เพื่อสร้างความมั่นใจช่วยสนับสนุนการส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คุมเข้มคุณภาพมาตรฐาน และผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำตลาดข้าวคุณภาพของโลก 



    เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวได้เดินทางมาเปิดหน่วยปฏิบัติการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทยอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพานิชย์ สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวไทย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร โรงสี และผู้ประกอบการค้าข้าว สามารถเข้าถึงบริการตรวจสอบการปลอมปนพันธุ์ข้าวด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอที่ทันสมัยและแม่นยำสูง ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว



    อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าว เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” การจัดตั้ง ‘หน่วยปฏิบัติการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย’ ณ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรมการข้าว ในการยกระดับมาตรฐาน และสร้างความน่าเชื่อถือในการส่งออกข้าวไทย ด้วยการนำองค์ความรู้พื้นฐานจากงานวิจัยเกี่ยวกับฐานข้อมูลเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมข้าวไทย (DNA Fingerprint) มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้วางแนวทางและเตรียมความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรและห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ในการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกมูลค่าสูงของไทย 




    สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อ ดร.พัณณ์ชิตา เวชสาร ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี หรือส่งคำขอรับบริการผ่านทางเว็บไซต์ https://dna-testing.ricethailand.go.th/ และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ E-mail : ricednatesting@gmail.com Tel : 093-5925056

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ ออกโรงดันรัฐทบทวนเพิ่ม “พืชยางพารา” เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 ตามในแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)


    ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องยางพารา โดยที่ประชุมนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอให้รัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ รวมทั้งปัญหาที่สหรัฐอเมริกาแบนถุงมือยางจากประเทศไทยที่อาจส่งผลกระทบในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งได้ยื่นหนังสือ ที่ สยท. 009/2566  ลงวันที่  31 มกราคม  2566 เพื่อขอให้บรรจุเพิ่มยางพาราพืชเศรษฐกิจไว้ในแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (
EEC) พ.ศ. 2566 – 2570 สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 มีมติ เห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 - 2570 ซึ่งมีเป้าหมายคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและดำเนินการได้ทันที ซึ่งประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1. ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ในพื้นที่จังหวัดระยอง และฉะเชิงเทรา 2. ประมงเพาะเลี้ยง เน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและสร้างเศรษฐกิจใหม่ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และระยอง 3. พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพเน้นยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังให้มีคุณภาพ และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้า ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี  4. พืชสมุนไพร เน้นการพัฒนาสนสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี  และ5. เกษตรมูลค่าสูง เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 

    โดยทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยขอเสนอให้ยางพาราอยู่ในเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6  ทั้งนี้เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศทั้งในรูปผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่มีการแปรรูปจากวัตถุดิบน้ำยางจากต้นยาง เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า ถือว่าเป็นพืชที่มีศักยภาพมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 555,401 ล้านบาทต่อปี (กรมวิชาการเกษตร 2565) และพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกมีจำนวนมากเป็นลำดับ 2 รองจากภาคใต้ และอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)เช่นเดียวกับพืชอื่นๆใน 5 คลัสเตอร์ดังกล่าวข้างต้นด้วย ซึ่งหากได้บรรจุยางพาราเป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6  จะช่วยเป็นการยกระดับรายได้เกษตรกรและมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในสาขาเกษตรเพิ่มสูงขึ้น

    “ผมเสนอแนวทางเพิ่มเติมว่าควรให้มีการพัฒนาพืชยางพารา ให้สอดรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน  ซึ่งควรเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูงเช่นเดียวกับผลไม้  รวมทั้งเน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและสร้างเศรษฐกิจใหม่เช่นเดียวกับประมงเพาะเลี้ยง  และยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพและมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้าเช่นเดียวกับพืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ นอกจากนี้ควรมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษตะวันออก  (EEC) เช่นเดียวกับพืชสมุนไพร  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูงเช่นเดียวกับเกษตรมูลค่าสูง  ดังนั้นผมขอวิงวอนให้รัฐบาลทบทวนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพิ่ม “พืชยางพารา” เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 โดยให้มีการทบทวนแผนปฏิบัติการ รวมทั้งยุทธศาสตร์และกรอบวงเงินในการดำเนินโครงการต่อไป”ดร.อุทัย กล่าวทิ้งท้าย  




    ทั้งนี้ ทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง สถาบันการสร้างชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้  จะได้ร่วมมือกันจัด งานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ระหว่างวันที่ 22 - 26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง  เพื่อให้เห็นศักยภาพ ความพร้อมยางพาราของไทยในพื้นที่เขต EEC สู่การผลักดันให้เพิ่ม “พืชยางพารา” เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 โดยมีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานในการเปิดงานครั้งนี้

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

“วิศิษฐ์” มอบนโยบาย สกจ. ติวเข้มอาชีพสมาชิก หวังสร้างรายได้เพิ่ม สู่การแก้หนี้สหกรณ์ทั้งระบบ


อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์รุกนโยบายปีกระต่ายเดินหน้าส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ทั่วไทย หวังมีรายได้เพิ่ม    สู่การแก้ปัญหาหนี้สินสหกรณ์ทั้งระบบ พร้อมนำร่องสหกรณ์ในพื้นที่นิคมฯ เป็นต้นแบบ



นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวในที่ประชุมผู้บริหารกรมตอนหนึ่ง โดยหยิบยกประเด็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่สมาชิกให้มีรายได้เพิ่ม อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของสหกรณ์ทั้งระบบ ซึ่งได้มอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำนักงานสหกรณ์แต่ละจังหวัดไปดำเนินการอย่างเร่งด่วนทั้งสหกรณ์ภาคการเกษตรและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน  

“เราได้เห็นถึงภาวะหนี้สินครัวเรือนของสมาชิกสหกรณ์ทั้งสองกลุ่มที่จะมีปัญหาและจะมีผลกระทบต่อการชำระหนี้ของสหกรณ์โดยเฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งเราจะไปทำเรื่องการเร่งรัดชำระหนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ มีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จค่อนข้างน้อยมาก”



อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวในเบื้องต้นจะมุ่งเน้นพื้นที่นิคมสหกรณ์แต่ละแห่งในการส่งเสริมอาชีพให้แก่สมาชิกสหกรณ์นิคมฯ โดยการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ เน้นไปที่เกษตรกรรุ่นใหม่ในโครงการนำลูกหลานกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้มีการต่อยอดอาชีพไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี 

“เท่าที่ดูมีหลายหลักสูตรน่าสนใจ เช่น การปลูกข้าว การปรับปรุงดิน การเลี้ยงปลา การเลี้ยงโคนม การเลี้ยงแพะ   ที่ผ่านมาเราจัดแบบออนไลน์ใช้เงินแค่ 5 หมื่นกว่าบาท เกษตรกรกลุ่มนี้ อาจจะหัวก้าวหน้านิดนึงใช้เทคโนโลยีได้ แต่ถ้าทำกับเกษตรกรหรือสมาชิกสหกรณ์อาจต้องใช้การอบรมในชั้นเรียนมากกว่า”

นายวิศิษฐ์ เผยอีกว่า สำหรับในส่วนของงบประมาณที่ใช้ดำเนินการนั้น ระยะแรกใช้งบของทางราชการหรือเงินรายได้ของนิคมสหกรณ์ฯ ในการดำเนินการ แต่ในระยะต่อไปก็จะต้องให้สหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยนำเงินงบประมาณในส่วนการศึกษาอบรมของสหกรณ์ฯ มาใช้ประโยชน์ในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น 



“ทุกปีสหกรณ์จะจัดงบการศึกษาดูงานก็เอาเฉพาะแต่กรรมการ ประธานกลุ่มไป ซึ่งผมว่าการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ตรงนี้มันไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก เพราะไม่ได้ลงถึงตัวสมาชิก”

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแต่ละจังหวัดดูแลรับผิดชอบ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสหกรณ์ด้วย โดยมีมาตรการสำคัญ            2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการแรกการช่วยเหลือสมาชิกเรื่องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การไกล่เกลี่ยหนี้ 

มาตรการที่สองมีการเติมสินเชื่อใหม่เข้าไปให้กับสมาชิกสหกรณ์ โดยมีกองทุนพัฒนาสหกรณ์เป็นตัวช่วยให้การสนับสนุน เพื่อให้สมาชิกนำเงินส่วนนี้ไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ ในขณะที่กรมฯ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯ คอยเป็นพี่เลี้ยงด้านการประกอบอาชีพของสมาชิกให้ด้วย 

“สมาชิกส่วนใหญ่เขาจะทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นหลัก เช่น ทำนาก็ได้แค่ครั้งเดียว ในสินเชื่อใหม่ที่เราให้ไป       ก็จะเป็นในเรื่องของการขุดสระน้ำหรือการสร้างโรงเรือนอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อให้เขาเอานำไปประกอบอาชีพให้เขามีรายได้เป็นรายวัน รายเดือน รายปี ไม่ใช่ว่ารอเฉพาะฤดูกาลเดียว”



นายวิศิษฐ์ยังชี้ให้เห็นความสำคัญของโครงการสร้างสระน้ำในไร่นาให้กับเกษตรกร โดยใช้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์เข้ามาร่วมโครงการประมาณ 5,800 คน และมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,100 แห่ง จากนี้ไปพยายามจะขยายผลต่อไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อที่จะให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ของสมาชิกได้อย่างยั่งยืน    

“ถ้าทำแล้ว ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องของหนี้ลดลงหรือรายได้ของสมาชิกเพิ่มขึ้น ถ้าสองเรื่องนี้สามารถทำได้สำเร็จมันจะตอบโจทย์ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของสหกรณ์ทั้งระบบได้เป็นอย่างดี” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ย้ำทิ้งท้าย  


วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายและการสร้างคุณค่าร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์อย่างยั่งยืน


   
 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายและการสร้างคุณค่าร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี นางสุวรรณี ศรีสุวรรณ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้า นางสาวอัจฉรา สุขเสวก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาสหกรณ์ร้านค้า ผู้แทนสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และ 2 วิทยากร และเจ้าหน้าที่โครงการ รวมจำนวน 125 คน ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ ปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร 



    โอกาสนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เป็นโครงการที่กรมให้ความสำคัญ และเป็นนโยบายหลักที่ต้องการใช้ “ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์” เป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร หรือร้านค้าภายใต้โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตรให้เป็นที่รู้จักในตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ตลาดค้าปลีกมีการแข่งขันอย่างสูง ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์จะมีส่วนช่วยสังคมและชุมชนในบทบาทของผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อบริการแก่สมาชิกและชุมชน  เป็นการสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคได้เห็นคุณค่าของสินค้าที่มาจากสมาชิกเกษตรกรผู้ผลิตด้วยการใช้ศักยภาพของเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตและความร่วมมือของร้านค้าสหกรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกเกษตรกร รวมถึงชุมชนและสังคมได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม ตามแนวคิด Fresh From Farm by CO-op สดจากฟาร์ม สู่มือท่าน ร่วมปันสุขสู่ชุมชน อันจะเป็นการส่งเสริมให้สหกรณ์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของสมาชิกเกษตรกร ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ และขยายโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าสหกรณ์ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์จะเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นความรู้ ทักษะในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจการตลาดสมัยใหม่ในปัจจุบัน 



    สำหรับโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายและการสร้างคุณค่าร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ 2566 เป็นโครงการที่กองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้า จัดขึ้นเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ที่รับผิดชอบร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจประเภทเดียวกันได้ และสามารถช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้ที่ได้รับไปขับเคลื่อนซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ให้สร้างคุณค่าในสินค้าและบริการให้มีอัตลักษณ์ตามแนวคิด “สดจากฟาร์มสู่มือท่าน ร่วมปันสุขสู่ชุมชน” โดยการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้นับเป็นรุ่นที่ 2 มีกำหนดจัดอบรมระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ ปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...