วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

CPF หนุน 7 คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดของเสียในกระบวนการผลิต บริหารทรัพยากรคุ้มค่า


 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ส่งเสริมหน่วยธุรกิจในองค์กร นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ดำเนินงาน ชูคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 7 แห่งทั่วประเทศ บริหารจัดการทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด และลดของเสียในกระบวนการผลิต โชว์ความสำเร็จระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่หรือไบโอแก๊ส (Biogas) ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้เอง ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ 85% และในปี 2563 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 113,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  



นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุดรธานี จันทบุรี และสงขลา นอกจากให้ความสำคัญในเรื่องกระบวนการผลิตที่สะอาดและปลอดภัย เพื่อส่งมอบสู่ผู้บริโภคแล้ว ยังนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดห่วงโซ่การผลิต  ลดของเสียในกระบวนการผลิต รวมไปถึงการนำของเสียกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์  ซึ่งในกระบวนการเลี้ยงไก่  มีการจัดการของเสีย ด้วยระบบการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่ หรือไบโอแก๊ส (Biogas) ช่วยลดกลิ่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ และยังได้พลังงานสะอาดจากกระบวนการหมักก๊าซมีเทนเปลี่ยนน้ำเสียเป็นไบโอแก๊ส สามารถนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในคอมเพล็กซ์ ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าถึง 65-85%  โดยในปี 2563  คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 7 แห่ง สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 103 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 113,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  



หลังจากกระบวนการหมักในระบบไบโอแก๊ส จะมีน้ำหลังการบำบัดที่โดยปกติจะไม่มีการปล่อยออกสู่ภายนอก  สามารถใช้หมุนเวียนไปผสมกับมูลไก่ในระบบฯได้อีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ ส่วนกากไบโอแก๊ส ที่เกิดจากกระบวนการหมักและบำบัด มีเกษตรกรที่ขอไปใช้ประโยชน์ในการปรับสภาพดินก่อนที่จะปลูกพืช หรือทำนา ส่วนน้ำหลังการบำบัด ซึ่งเป็นน้ำที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เป็นน้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงนำไปใช้ในไร่ สวน ช่วยให้ผลผลิตเติบโตได้ดี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น และช่วยลดค่าปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ทั้ง 7 แห่ง มีโครงการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ซึ่่งได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยสามารถช่วยลดปริมาณไข่ที่ไม่ได้มาตรฐาน อาทิ ไข่ร้าว ไข่ซีด ไข่บุบ ฯลฯ รวมไปถึงยังช่วยลดต้นทุนและลดของเสียที่เป็นภาระต้องกำจัดได้ 



นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในการจัดการของเสีย อาทิ ไข่ที่แตกจากกระบวนการผลิต  ทั้งน้ำไข่ผสมเปลือก และน้ำไข่เสื่อมสภาพ มีการบริหารจัดการ โดยจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์ หรือนำไปทำเป็นอาหารเลี้ยงปลา เป็นต้น เป็นการช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบ และขยะที่ต้องกำจัดลงได้



 ในส่วนของเปลือกไข่ไก่ที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปไข่  โรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก ได้ดำเนินโครงการ ปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บดนำเปลือกไข่ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตปีละประมาณ 1,000 ตัน มาบดเพื่อแบ่งปันให้เกษตรกรใช้เป็นปุ๋ย ช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร เป็นการสร้างประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ตัดวงจรการนำเปลือกไข่ไปทิ้งสู่หลุมฝังกลบ

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

รมช.มนัญญาสั่งการกรมส่งเสริมสหกรณ์ดึงเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศกระจายเงาะมังคุดช่วยชาวสวนผลไม้ภาคใต้

          


            รมช.มนัญญาสั่งการกรมส่งเสริมสหกรณ์ดึงเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศกระจายเงาะมังคุดช่วยชาวสวนผลไม้ภาคใต้ เปิดจุดรับซื้อราคานำตลาด บรรเทาปัญหาช่วงสถานการณ์โควิด – 19 ระบาด  



            รมช.มนัญญาสั่งการกรมส่งเสริมสหกรณ์ดึงเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศช่วยกระจายเงาะมังคุดของชาวสวนภาคใต้สู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาด หลายพื้นที่มีการล็อกดาวน์ เป็นเหตุให้พ่อค้าไม่สามารถเข้าไปรับซื้อผลไม้จากเกษตรกร เตรียมอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 122 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ สนับสนุนสหกรณ์เปิดจุดรับซื้อผลผลิตในราคานำตลาด พร้อมเร่งจัดส่งให้สหกรณ์ปลายทางจำหน่ายสู่ผู้บริโภค หวังบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรชาวสวนผลไม้ภาคใต้

  นายวิศิษฐ์  ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ในภาคใต้กำลังประสบปัญหาช่องทางจำหน่ายเงาะและมังคุด เนื่องจากในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม เป็นฤดูกาลที่ผลผลิตในภาคใต้ออกมาพร้อมกัน จนเกิดการกระจุกตัวและราคาตกต่ำ โดยเฉพาะในปีนี้สถานการณ์โควิด – 19 กำลังระบาด มีการล็อกดาวน์ทำให้พ่อค้าไม่สามารถเข้าไปตั้งล้งเพื่อรับซื้อมังคุดจากเกษตรกรได้  ซึ่งนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งหาทางช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรโดยด่วน เบื้องต้น จึงได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดประสานเครือข่ายสหกรณ์ในแต่ละพื้นที่ สั่งซื้อเงาะและมังคุดจากสหกรณ์ที่เป็นแหล่งผลิตในภาคใต้ กระจายสู่ผู้บริโภคของแต่ละจังหวัด โดยให้สหกรณ์ต้นทาง 6 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา และยะลา เปิดจุดรวบรวมเงาะ มังคุดจากเกษตรกรและสมาชิก เน้นผลไม้ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP ก่อนนำมาคัดเกรดบรรจุลงกล่อง และเร่งจัดส่งให้สหกรณ์ที่เป็นตลาดปลายทางเพื่อให้ถึงผู้บริโภคโดยเร็ว 



   เบื้องต้น มีสหกรณ์ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ เปิดรับพรีออเดอร์เงาะและมังคุด ซึ่งมีผู้บริโภคให้ความสนใจทยอยสั่งซื้อผ่านเครือข่ายสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีสหกรณ์หลัก ๆ ที่เป็นตัวกลางรวบรวมผลผลิต เช่น สหกรณ์การเกษตรพระพรหม จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.นครศรีธรรมราช จำกัด สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด จ.นครศรีธรรมราช สหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี กลุ่มเกษตรกรทำสวนปากจั่น อ.กระบุรี จ.ระนอง สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส.พังงา จำกัด จ.พังงา สหกรณ์รวมใจการเกษตร จำกัด สหกรณ์การเกษตรหลังสวน จำกัด  จ.ชุมพร และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรยะลา จำกัด สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ยะลา จำกัด จังหวัดยะลา โดยมีสหกรณ์ปลายทางอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ยโสธร ราคามังคุดขายส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 25 – 35 บาท และเงาะ ราคาขายกิโลกรัมละ 30 บาท  



   ทั้งนี้  กรมฯได้ตั้งเป้าหมายกระจายมังคุดผ่านเครือข่ายสหกรณ์ไม่น้อยกว่า 5,216 ตัน และกระจายเงาะไม่น้อยกว่า  3,329 ตัน พร้อมจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 122  ล้านบาทเพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมเป็นทุนหมุนเวียนรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกและเกษตรกรในราคานำตลาด  เพื่อดึงราคาผลไม้ในพื้นที่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่พี่น้องเกษตรกร  ส่วนการขนส่งผลไม้ ในปีที่ผ่าน ๆ มา กรมฯได้อุดหนุนงบประมาณจัดซื้อตะกร้าบรรจุผลไม้และรถบรรทุกสินค้าให้เครือข่ายสหกรณ์ ใช้ในการขนส่งผลผลิตการเกษตร ทำให้การจัดส่งสินค้าในเครือข่ายสหกรณ์เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วทันใจและช่วยยืดอายุของผลผลิตให้ยาวนานก่อนถึงมือผู้บริโภค ผู้ที่สนใจจะอุดหนุนผลไม้สหกรณ์ภาคใต้ สามารถสั่งซื้อผ่านเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดของท่าน  สำหรับส่วนกลางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล สามารถสั่งซื้อกับทางชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด โทร. 081-823 3639


วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

กรมการข้าว เร่งเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอ ตั้งเป้าผลิตให้ได้ 152,000 ตัน/ปี

 


     นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่องและรุนแรง เป็นปีที่ 2 และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะคลี่คลายลงเมื่อใด ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนักหน่วงและกว้างขวาง ซึ่งพี่น้องชาวนาไทยก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน กรมการข้าวจึงตระหนักต่อปัญหาที่พี่น้องชาวนากำลังเผชิญโดยเฉพาะเรื่องของความต้องการเมล็ดพันธุ์ดีที่ยังไม่เพียงพอ โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 70 ล้านไร่ มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีเพาะปลูกปีละประมาณ 1,364,800 ตัน



 แต่ในขณะเดียวกันกรมการข้าว รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร ศูนย์ข้าวชุมชน และภาคเอกชนร่วมกันจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ดีได้ประมาณ 537,000 ตัน จำแนกเป็น กรมการข้าว 95,000 ตัน สหกรณ์การเกษตร 30,000 ตัน ศูนย์ข้าวชุมชน 112,000 ตัน และภาคเอกชน 300,000 ตัน หรือประมาณ 40% ของปริมาณเมล็ดพันธุ์ดีต้องการใช้ในการยกระดับคุณภาพและปริมาณการผลิตข้าวของประเทศไทย ถึงแม้ต่อมากรมการข้าวจะได้รับงบประมาณเงินกู้เพื่อใช้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพการผลิตและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวไป จนสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ได้ส่วนหนึ่งจากเดิมที่เคยมีกำลังการผลิต 85,00095,000 ตัน/ปี เป็น 120,000 ตัน/ปี




รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ดีให้ให้กับพี่น้องชาวนา กรมการข้าวจึงเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตและประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้น เพื่อรองรับเป้าหมายการผลิตเมื่อดำเนินการโครงการเดิมเสร็จสิ้น 120,000 ตัน/ปี และเพิ่มกำลังการผลิตอีก 32,000 ตัน/ปี รวมเป็น 152,000 ตัน/ปี ซึ่งจะก่อให้เกิดอาชีพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กรมการข้าว จำนวน 4,400 ราย กระตุ้นการจ้างแรงงานภาคการเกษตรในชุมชน สนับสนุนและส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเข้าไปในระบบการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ ยกระดับ ปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าวของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการ คือการเพิ่มศักยภาพโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โดยการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อทดแทนของเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน และประสิทธิภาพการทำงานต่ำ ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ปัจจุบัน จำนวน 9 ชุด และจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยการก่อสร้างอาคารโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ ปรับอากาศพร้อมครุภัณฑ์ประกอบ จำนวน 15 แห่ง สำหรับใช้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวระยะยาวเพื่อ รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเกิดโรคและศัตรูข้าวระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การผันผวนของความต้องการ พันธุ์ข้าว ราคาข้าวเปลือก เศรษฐกิจครัวเรือนและสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ



สำหรับแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน มีกระบวนการเริ่มจากกรมการข้าว โดยกองวิจัยและพัฒนาข้าวเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์คัดและเมล็ดพันธุ์หลัก กองเมล็ดพันธุ์ข้าวรับข้าวพันธุ์หลักจากกองวิจัยและพัฒนาข้าวมาผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย และหลังจากนั้นสมาคมผู้รวบรวม ศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์ เป็นผู้รับเมล็ดพันธุ์ขยายต่อไป ซึ่งหากพบความเสียหายของเมล็ดพันธุ์ข้าวผู้แทนจำหน่ายให้ชาวนา จะต้องแสดงหลักฐานบาร์โค้ดที่มาของเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าว


วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟทั่วไทย เดินหน้าส่งอาหารจากใจ หนุนบุคลากรสาธารณสุข สู้วิกฤตโควิด-19



   จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง มีจำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เป็นอีกหนึ่งองค์กร ที่ร่วมเดินเคียงข้างคนไทย ทั้งโรงงานและฟาร์มซีพีเอฟในจังหวัดต่างๆ ทั่วไทย จับมือพันธมิตร เดินหน้าส่งมอบอาหารคุณภาพปลอดภัยและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ให้บุคลากรด้านสาธารณสุข ที่กำลังปฏิบัติภารกิจในโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ ภายใต้การดำเนินโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19" เสริมกำลังนักรบด่านหน้าได้มีกำลังใจและแรงกายต่อสู้กับไวรัสโควิดอย่างเต็มที่



   ล่าสุด ซีพีเอฟ โดยผู้บริหาร พนักงานจิตอาสา โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกราชบุรี นำไข่ไก่สดและน้ำดื่ม มอบให้แก่ ทีมแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุข ที่ โรงพยาบาลสนามของ จ.ราชบุรี ด้านโรงงาน ซอส พรีมิกซ์ เครื่องปรุง ไปมอบบะหมี่เกี๊ยวกุ้งพร้อมทาน เพื่อเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลสนาม จ.พระนครศรีอยุธยา และยังนำอาหารแห้งและข้าวสารตราฉัตร ช่วยเหลือประชาชนใน ชุมชนหมู่บ้านเจษฎา 7 ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 400 ครัวเรือน

   ขณะที่ โรงงานอาหารสัตว์บกบางนา กม.21 มอบอาหารพร้อมทานคุณภาพ ปลอดภัย เมนูข้าวมันไก่ ไก่ย่างห้าดาว น้ำดื่ม และหน้ากากอนามัยซีพี แก่ ศูนย์ฉีดวัคซีน ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สนับสนุนภารกิจการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแก่ประชาชน ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศ 



   ธุรกิจสุกร ร่วมกับซีพี-เมจิ  มอบผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพปลอดภัยและนมพาสเจอร์ไรส์ B-Complex และโยเกิร์ตพร้อมดื่ม PRO-C แก่ทีมแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พื้นที่ภาคใต้ โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกหาดใหญ่ สนับสนุนอาหารพร้อมทาน และน้ำดื่ม แก่ศูนย์ฉีดวัคซีนในพื้นที่เทศบาลตำบลน้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงงานชำแหละสุกรหนองบัวลำภู ได้นำอาหารพร้อมทาน น้ำดื่ม และชุด PPE มอบให้ศูนย์บริการฉีดวัคซีน ของ รพ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู เพื่อเป็นกำลังใจและแทนคำขอบคุณทีมแพทย์ -พยาบาล  

   นอกจากการส่งมอบอาหารคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อเป็นเสบียงหนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละทุ่มเทช่วยดูแลผู้ป่วยและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดแล้ว ซีพีเอฟ ยังสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ได้แก่ โรงงานอาหารสำเร็จรูปหนองจอก ได้นำหน้ากากอนามัยซีพีและสิ่งของจำเป็น อาทิ รองเท้าบู๊ท และโลชั่นทากันยุง มอบให้แก่โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่เขตหนองจอก รวมทั้ง มอบหน้ากากอนามัยซีพีและห้องอาบน้ำเคลื่อนที่ ให้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 44  กรุงเทพมหานคร 



   ในส่วนโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ สระบุรี สนับสนุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์บาร์โค้ด 12 ชุด แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการตรวจโควิดเชิงรุก ในพื้นที่ 70 อำเภอใน 8 จังหวัดของพื้นที่ภาคกลาง

   ซีพีเอฟ ได้ดำเนิน โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงอาหารคุณภาพปลอดภัยในทุกสถานการณ์ ตามนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้โครงการ "ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19"  จากวันแรก… ถึงวันนี้ ซีพีเอฟได้ร่วมมอบอาหารจาก แก่ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนพี่น้องคนไทยแล้วเป็นจำนวนหลายล้านแพ็ค รวมถึงน้ำดื่มและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพหลายล้านขวด ตลอดจนสนับสนุนวัตถุดิบอาหารสดและเครื่องปรุงรสให้แก่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม แรงงานต่างชาติ และ กลุ่มคนเปราะบาง ศูนย์บริการฉีดวัคซีน จุดตรวจโควิดเชิงรุก และหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ สะท้อนความมุ่งมั่นของซีพีเอฟที่พร้อมยืนหยัดเคียงข้างคนไทย ร่วมเป็น “ทีมประเทศไทย” เพื่อช่วยให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

'CPF' จับมือ 'เมเจอร์' ส่งอาหารเสริมทัพนักรบชุดขาว ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

   บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ผนึกกำลังคู่ค้าและพันธมิตร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เดินหน้ามอบอาหารพร้อมทานบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง นมซีพี-เมจิ และป๊อปคอร์นหลากรสชาติ ในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ตามนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้แก่ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เพื่อแทนคำขอบคุณและแบ่งเบาภาระการจัดเตรียมอาหารแก่ทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่และจิตอาสา ในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไปด้วยกัน ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลาง สถานีกลางบางซื่อ





ชมคลิป>> https://youtu.be/M1vsjUmABUw

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

กรมประมง...เพาะพันธุ์ “ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล” สำเร็จ เพิ่มเปอร์เซ็นต์เพศเมีย เลี้ยงง่าย โตไว ให้น้ำหนักดี ตอบโจทย์เกษตรกร สนองความต้องการของตลาด


 

กรมประมงโชว์ผลงานเพาะพันธุ์ ปลาตะเพียนขาวนีโอเมลได้สำเร็จ สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์ ลูกปลาเพศเมีย ตอบโจทย์เกษตรกรที่ต้องการเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่าย แก้ไขปัญหาพันธุ์ปลาไม่ได้ขนาด ให้ตรงความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพิ่มรายได้ในอาชีพ ตลอดจนสร้างความมั่งคั่งให้กับชุมชน



นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงผลสำเร็จครั้งนี้ว่า ปลาตะเพียนขาวนีโอเมลเป็นปลาตะเพียนขาวที่นำปลาตะเพียนขาวเพศผู้ที่มีโครโมโซม XX เมื่อนำไปผสมกับปลาตะเพียนขาวเพศเมียปกติจะสามารถผลิตได้ลูกปลาตะเพียนขาวเพศเมียทั้งหมด ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาการเลี้ยงปลาตะเพียนขาวที่มีขนาดแตกต่างกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ปลาตะเพียนขาวเพศเมียมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าและมีขนาดใหญ่กว่าปลาเพศผู้ สอดรับกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบนโยบายให้กรมประมงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาการเพาะหรือปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประชาชนประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ด้าน นางวิระวรรณ ระยัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง เสริมในรายละเอียดว่า ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ให้ลูกดก สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้เกือบตลอดปี ประชาชนนิยมนำมาแปรรูปเป็นปลาส้มที่มีรสชาติดีที่สุด โดยในปี 2550 ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ปลาตะเพียนขาวสายพันธุ์แม่น้ำโขง (Silver 2K) จนประสบความสำเร็จและมีการกระจายพันธุ์อย่างแพร่หลายในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางศูนย์ฯ จึงนำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิต ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล ที่ให้ผลผลิตเป็นลูกปลาเพศเมียทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนของการผลิตพันธุ์ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล เริ่มต้นจากการนำพ่อแม่พันธุ์ปลาตะเพียนขาวสายพันธุ์แม่น้ำโขง (Silver 2K) มาทำลายสารพันธุกรรมในน้ำเชื้อแล้วเหนี่ยวนำด้วยขบวนการไจโนจีนีซีสให้มีโครโมโซมเป็น 2 ชุด (2n) ได้ผลผลิตเป็นปลาตะเพียนขาวไจโนจีนีซีสเพศเมีย (XX-Female) หลังจากนั้น ทำการแปลงเพศโดยการให้กินอาหารผสมฮอร์โมนจะได้ปลาตะเพียนขาวนีโอเมลเพศผู้ (Neomale, XX-male) สำหรับใช้เป็นพ่อพันธุ์ในการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาวนีโอเมลครั้งนี้



โดยเมื่อปี พ.ศ. 2562 ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ ได้แจกจ่ายปลาตะเพียนขาวพ่อพันธุ์นีโอเมล (พันธุ์ขยาย) จำนวน 1,030 ตัว ให้แก่เกษตรกร 8 รายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีเกษตรกรผลิตลูกปลาตะเพียนขาวเพศเมีย จำนวน 5 ราย สามารถผลิตลูกปลาตะเพียนขาวได้ปีละไม่ต่ำกว่า 2.1 ล้านตัว จากการติดตามผลการเลี้ยงปลาตะเพียนขาวนีโอเมล พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะการเลี้ยงเชิงเดี่ยวเป็นอาชีพเสริม ทั้งในบ่อดินและในนาข้าว อัตราความหนาแน่นเฉลี่ย 1,960 ตัวต่อไร่ อาหารที่ใช้เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปร่วมกับอาหารธรรมชาติ ระยะเวลาเลี้ยง ราว 5 – 7 เดือน ผลผลิตที่ได้มีขนาด 200 – 250 กรัมต่อตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปลาตะเพียนขาวพบว่า ปลาตะเพียนขาวนีโอเมลใช้ระยะเวลาเลี้ยงสั้นกว่าประมาณ 1 เดือน ให้ผลผลิตที่สูงกว่า 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ และผลผลิตปลาที่ได้มีขนาดสม่ำเสมอ จากการประเมินผลความพึงพอใจของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจระดับมากที่สุดในประเด็นคุณภาพของปลา อัตราการรอดตาย อัตราการเจริญเติบโต เปอร์เซ็นต์เพศ ราคาพันธุ์ปลา ระยะเวลาการเลี้ยง และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด




รองอธิบดีกล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ สามารถผลิตปลาตะเพียนขาวพ่อพันธุ์นีโอเมล (พันธุ์หลัก) ปลาตะเพียนขาวพ่อพันธุ์นีโอเมล (พันธุ์ขยาย) และลูกปลาตะเพียนขาวเพศเมีย เพื่อสนับสนุนให้แก่เกษตรกรนำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อไป นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของกรมประมงในการพัฒนา ปรับปรุง และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เกษตรกร ตลอดจนผู้บริโภค ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดมีความสนใจ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ หรือกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข 0 4463 4861 ได้ในวันและเวลาราชการ

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ ช่วยดูแลน้องๆ "รร.ตชด." ฝ่าวิกฤตโควิด มีคลังเสบียง จาก"โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ" ให้อิ่มท้อง


 

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด -19 นอกจากทำให้ต้องมีวินัยในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ใส่ใจกับความสะอาด ความปลอดภัย แม้แต่การกินอยู่  ผลกระทบไปถึงรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปสู่ระบบออนไลน์ จากการที่สถานศึกษาไม่สามารถเปิดทำการสอนได้ตามปกติ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หรือ โรงเรียน ตชด. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล น้องๆนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตโควิด -19  น้องหลายคนไม่ได้มีโอกาสเรียนออนไลน์ เพราะที่บ้านไม่มีโทรศัพท์มือถือ เป็นหน้าที่ของคุณครู ที่ต้องนำใบงานไปส่งให้น้องๆที่บ้าน เพื่อที่จะได้ทบทวนบทเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง ขณะเดียวกัน คุณครูต้องทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของเด็กๆ รวมไปถึงครอบครัวของเด็กๆด้วย

ผลผลิตไข่ไก่ที่ได้จาก "โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" จากรร.ตชด.ที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นอาหารมื้อสำคัญของเด็กๆในแต่ละวัน ซึ่งปีนี้ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่มี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกันดำเนินการ เพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชน เข้าถึงโปรตีนคุณภาพ และภาวะโภชนาการที่ดี ดำเนินการเป็นปีที่ 32 แล้ว มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ 880 รร.ทั่วประเทศ และส่วนหนึ่งเป็นรร. ตชด. ที่ร่วมด้วย



ด.ต.หญิงสำรวย อินอุ่นโชติ ครูผู้ช่วยครูโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน รับผิดชอบกิจกรรมด้านปศุสัตว์  การเลี้ยงไก่ไข่  รร.ตชด. บ้านเขาสารภี  ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เล่าว่า โรงเรียนมีนักเรียนที่เป็นเด็กไทยและกัมพูชา 74 คน เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เป็นปีที่ 24 แล้ว โดยปกติเด็กๆ จะได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารมื้อกลางวัน แต่ในช่วงโควิด -19 เด็กๆไม่ได้มาโรงเรียน เราก็ห่วงเรื่องสุขอนามัย  ครูใหญ่จึงมอบหมายให้คุณครูประจำชั้น นำไข่ไก่ไปแจกจ่ายให้กับนักเรียนถึงที่บ้าน ให้ได้บริโภคไข่คนละ 15 ฟองทุกสัปดาห์ รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ทั้งผักและปลา ที่คุณครูนำไปให้ผู้ปกครองทำให้เด็กๆได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะเด็กส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด อาหารที่นำไปให้นักเรียน จึงช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้  นอกจากนี้ โรงเรียนยังอนุญาตให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงกับโรงเรียนเข้ามาเก็บผัก แบ่งเมล็ดพันธุ์ผักของโรงเรียนไปปลูกที่บ้าน หรือในช่วงที่ปลดระวางแม่ไก่ทุกรุ่น ผู้ปกครองจะขอซื้อแม่ไก่ไปเลี้ยงต่อ บ้านละ 5-10 ตัว ทำให้มีไข่ไก่ได้บริโภคทุกวัน ผลผลิตไข่ไก่อีกส่วนหนึ่ง ก็ส่งเข้าสหกรณ์เพื่อจำหน่ายให้ชุมชนในราคาย่อมเยา แผงละ 30 ฟอง ราคา 85 บาท



ด.ญ. ณัฐณิชา เวหาด หรือน้องกัน นักเรียนชั้น ป.1 รร.ตชด.บ้านเขาสารภี เล่าว่า อาศัยอยู่กับย่า 2 คน พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด พอมีโควิด ย่าไม่ค่อยได้ไปทำงานรับจ้าง ก็ยิ่งลำบากกว่าเมื่อก่อน มีคุณครูมาช่วยดูแล เอาไข่ไก่ ปลา กับผักมาให้ทุกอาทิตย์ รู้สึกดีใจมากที่ครูมาเยี่ยมและนำอาหารมาให้ด้วย เพราะย่าก็ได้กินด้วย น้องกันชอบทำไข่เจียว เพราะทำง่ายและอร่อยด้วย ที่บ้านยังเอาเมล็ดพันธุ์ผักที่ครูให้มาปลูกไว้ด้วย  ผลผลิตช่วยลดรายจ่ายได้มากๆ  ขอขอบคุณโรงเรียนและคุณครูที่เป็นห่วงนักเรียน ถึงแม้จะไม่ได้ไปโรงเรียนก็ยังมาดูแล ทำให้ได้กินไข่ ผัก ปลา เหมือนตอนที่ไปโรงเรียน



ที่โรงเรียน ตชด.บ้านควนตะแบก ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ซึ่งเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เป็นปีที่ 13 ด.ต.วีรพงศ์ สังข์แก้ว ครูผู้รับผิดชอบโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน บอกว่า ช่วงนี้ทั้งครูและนักเรียนต้องปรับตัวตามสถานการณ์โควิด ถึงแม้เด็กนักเรียนทั้ง 110 คน มาเรียนไม่ได้ แต่คุณคณูพร้อมเติมพลังกายให้พวกเขา นำผลผลิตไข่ไก่ไปให้ ปัจจุบันโรงเรียนเลี้ยงแม่ไก่ 200 ตัว ผลผลิตที่ได้แต่ละวัน สามารถนำไปให้กับนักเรียนได้ทุกคน คนละ 15 ฟองต่อสัปดาห์ อีกส่วนจำหน่ายให้ชุมชน มีการสั่งจองล่วงหน้า วันละ 150-160 ฟอง ส่วนพืชผักที่ปลูกในโรงเรียน ครูจะแจ้งให้ผู้ปกครองและนักเรียนเข้ามารับได้ฟรี พร้อมสนับสนุนให้นำเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูกเองที่บ้าน เพื่อสร้างอาหารที่ยั่งยืนในครัวเรือน

ทางด้านโรงเรียนชายขอบติดพรมแดนประเทศลาว โรงเรียนตชด.บ้านห้วยเป้า ต.ปากชม อ.ปากชม จ.เลย  ด.ต. ภูวนาท แสนคำอ้วน ครูผู้ดูแลโครงการฯ เล่าว่า ตลอด 10 ปีที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เด็กๆได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ที่่นำไปใช้เป็นพื้นฐานอาชีพติดตัว หลายครอบครัวซื้อไก่ที่ปลดระวางไปเลี้ยง ได้บริโภคไข่ไก่ ลดรายจ่ายของที่บ้าน ช่วงการระบาดของโควิด  นักเรียน 142 คน ไม่ได้มาโรงเรียน แต่ยังได้บริโภคไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกสัปดาห์คุณครูจะร่วมกันทำอาหารจากไข่ไก่ ไข่เป็ด ปลาดุก ผักสวนครัว ไปมอบให้นักเรียน พร้อมกับไข่ไก่อีกคนละ 5 ฟอง เพื่อดูแลสุขอนามัยของเด็กๆ  ขณะเดียวกัน โรงเรียนยังกลายเป็นแหล่งอาหารของชุมชน มีไข่ไก่จำหน่ายในราคาย่อมเยา ช่วยลดค่าจ่าย เรียกได้ว่าเป็นสวัสดิการชุมชนในช่วงโควิด



โรงเรียนมีแนวคิดว่าเด็กของเรา ต้องอิ่มท้อง อิ่มสมอง เหมือนตอนที่มาโรงเรียน เพราะบางครอบครัวอาจไม่สามารถดูแลให้เด็กได้รับอาหารครบ 5 หมู่ บางคนพ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น ต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย บางคนต้องดูแลผู้ปกครองที่เข้าสู่วัยชรา การเข้าไปหาเด็กๆเพื่อมอบอาหาร เช่น  ไข่ไก่ เป็นการเปิดโอกาสให้ครูได้พบปะและได้ดูแลพวกเขา ต้องขอบคุณซีพีเอฟ และมูลนิธิฯ ที่สนับสนุนตลอดมา ทั้งพันธุ์สัตว์และอาหารรุ่นแรก แนะนำการดูแลสัตว์ ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพสัตว์ เรื่องบัญชีและการบริหารสต๊อก ทำให้โครงการมีความต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน" ด.ต.ภูวนาท กล่าว

"โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" ภายใต้การสนับสนุนของซีพีเอฟและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน ตอบโจทย์การเข้าถึงอาหารและการบริโภคอย่างพอเพียง ได้ ทั้งในภาวะปกติและวิกฤต

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"Circular Meal...มื้อนี้เปลี่ยนโลก" ซีพีเอฟ จัดการอาหารส่วนเกิน สร้างโอกาสให้ผู้ขาดแคลน


 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำอาหารปรุงพิเศษจากอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) กว่า 7,600 ชุด ส่งถึงมือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้ยากไร้และผู้ได้รับกระทบจากวิกฤตโควิด 19 สร้างความมั่นคงทางอาหารและโอกาสในการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียมกัน

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ มูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS และบริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP ส่งมอบอาหารในโครงการ “Circular Meal...มื้อนี้เปลี่ยนโลกกว่า 7,600 ชุด ให้กับมูลนิธิเด็ก ผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค 19 จำนวน 6 แห่ง มีสมาชิกกว่า 5,000 คน ประกอบด้วย ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ชุมชนคลองส้มป่อย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนมักกะสัน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสวนรื่น ศูนย์สร้างโอกาสพระราม 8 และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เพื่อส่งต่อให้กับชุมชนดวงแข ตรอกสลักหิน  รวมทั้งชุมชนกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยอีก 7 ชุมชน ผ่านการปรุงอาหารจากครัวรักษ์อาหาร เพื่อมอบให้แก่ชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนคลองส้มป่อย ครัววัดแข ครัววัดโสม ครัววัดภาชี ชุมชนจักรพรรดิพงศ์ และชุมชนมาชิม ซึ่งเป็นการนำอาหารส่วนเกินไปสร้างสรรค์เมนูที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนต่อการบริโภค บนพื้นฐานมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ถูกหลักอนามัย



นอกจากนี้ โครงการฯ ยังให้ความสำคัญกับการรณรงค์ให้องค์กรพันธมิตรและผู้บริโภคเก็บและคัดแยกบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงพลาสติกจากการมอบอาหารของโครงการฯ แล้วกว่า 3,000 ชิ้น ซึ่ง GEPP เป็นผู้รับผิดชอบนำไปส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สู่การบริหารจัดการตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การนำไปสร้างประโยชน์ใหม่ (Upcycling) รวมทั้งการนำไปใช้เป็นพลังงาน เพื่อตัดวงจรขยะลงสู่หลุมฝังกลบ ตามเป้าหมายของโครงการฯ ที่มุ่งเน้นลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งโครงการฯสามารถลดขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบได้มากกว่า 1.8 ตัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,441 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า



นายวุฒิชัย กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสนับสนุนการนำอาหารส่วนเกินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน ด้วยการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน (Food Surplus Management)) สอดคล้องกับเป้าหมายของ ซีพีเอฟ ที่มุ่งมั่นลดขยะอาหารเป็นศูนย์ในปี 2573 (Zero Waste to Landfill) ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อความมั่นคงทางอาหารให้กับคนทุกกลุ่ม ซึ่งโครงการนี้ มีเป้าหมายส่งมอบอาหารตลอดปี 2564 จำนวน 10,000 ชุด ให้กับผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนอาหารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำ ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตที่ยั่งยืนและการบริโภคด้วยความรับผิดชอบ เพื่อร่วมมือกับประชาคมโลกในการขจัดความหิวโหย การขาดแคลนอาหาร และสร้างสมดุลธรรมชาติให้คืนกลับมา จากการบริโภคอย่างรู้คุณค่าโดยไม่เหลือเป็นขยะอาหารหรืออาหารส่วนเกินนายวุฒิชัย กล่าว



โครงการ “Circular Meal…มื้อนี้เปลี่ยนโลกเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงอาหารทุกสถานการณ์ สอดคล้องตามเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 บริษัทฯมีการดำเนินงานควบคู่ไปกับกิจกรรมการส่งมอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย ในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19  ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ตามนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้โครงการ "ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19" ร่วมรับผิดชอบสังคมและสนับสนุนการทำงานของบุคลากร อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลรัฐและภาคสนาม

ภายใต้โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19ยังได้ส่งอาหารให้แก่ผู้กักตัว ผู้ป่วย กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง รวมส่งอาหารไปแล้วหลายล้านแพ็ค และทำโครงการ ลดจริง..ไม่ทิ้งกันโดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ลดราคาสินค้าอาหารและจำหน่ายข้าวกล่องๆ ละ 20 บาท จำนวน 1 ล้านกล่อง  โครงการ Food Truck นำข้าวกล่องไปแจกเป็นอาหารกลางวันให้กับชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ดูแลส่งอาหารให้แก่โรงพยาบาลสนาม ศูนย์ฉีดวัคซีน กลุ่มเปราะบาง จุดตรวจโควิด และหน่วยงานต่างๆมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

กรมประมง ขนย้ายปลาเทโพพระราชทานเพื่อขยายพันธุ์และปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ


 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ณ วัดกุฎิทอง ตำบลพิตเพียน อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานปฏิบัติงานการขนย้ายปลาเทโพพระราชทานเพื่อขยายพันธุ์และปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ครั้งที่ 2 จำนวน 477 ตัว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจำนวน 2 แห่งได้แก่ 1.วัดพนัญเชิงวรวิหารจำนวน  142  ตัว 2.วัดกุฎิทอง จำนวน 335 ตัว เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรปลาไทยบริเวณพื้นที่โดยรอบให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยมีนายสุชาติ พิลาเดช ประมงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายพศิน วีระสัย เกษตรกรผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลาเทโพ นางวัฎฐวัฒน์ บรรจงพินิจ นายกเทศมนตรีตำบลโรงช้าง นายเศรษฐสิทธิ์ สารากรบริรักษ์ ปลัดอำเภอมหาราช พร้อมเจ้าหน้าที่กองโครงการพระราชดำริอันเนื่องมาจากกิจกรรมพิเศษเข้าร่วมการเคลื่อนย้ายพันธุ์ปลาพระราชทานดังกล่าว






      ทั้งนี้  กรมประมงได้กำหนดการดำเนินโครงการฯ ครั้งที่ 3 ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  28 กรกฎาคม 2564

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ซีพีเอฟ ต่อยอดเยาวชน "ศูนย์เรียนรู้ อา โยน อู" เลี้ยงไก่ไข่ สร้างแหล่งอาหารมั่นคง


 

ยอดผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้ติดเชื้อจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาสร้างความวิตกกังวลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย  ภาครัฐต้องเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่นเดียวกับสถานศึกษา โรงเรียน ที่ยังต้องปิดทำการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ และใช้ระบบออนไลน์แทน

ที่ ศูนย์การเรียนรู้ อา โยน อู ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โรงเรียนชายขอบซึ่งมีทั้งเด็กนักเรียนไทยและเด็กชาติพันธุ์ เผชิญกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถกลับมาทำการสอนตามปกติได้ ต้องเรียนทางออนไลน์ และนักเรียนที่สามารถเรียนผ่านออนไลน์ได้  ก็มีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนนักเรียนทั้งหมด เฉพาะเด็กที่ผู้ปกครองมีโทรศัพท์มือถือใช้เท่านั้น   



อย่างไรก็ตาม ที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ .... ยังเดินหน้าโครงการดีๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กด้อยโอกาสและเด็กชาติพันธุ์  คือ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน  เพื่อสร้างแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืน โดยมีเยาวชนในศูนย์ฯ ร่วมรับผิดชอบโครงการ และยังเป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะอาชีพเพื่อนำไปใช้ได้ในอนาคต 

นายจ่อซาน ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ อา โยน อู เล่าว่า บนพื้นที่ 5 ไร่ของศูนย์ฯ ด้านหน้าถูกแบ่งเป็นส่วนของอาคารเรียน ส่วนด้านหลังเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียน ด้วยการทำสวนผัก ที่เต็มไปด้วยพืชผักสำหรับปรุงเป็นอาหารกลางวันให้กับน้องๆเยาวชนในศูนย์ทั้ง 100 คน และคุณครู 9 คน พื้นที่ตรงนี้ถูกจัดสรรให้เป็นแปลงปลูกพืชหมุนเวียน พืชผักสวนครัว ทั้งผักบุ้ง ข้าวโพดหวาน มะเขือม่วง กระเจี๊ยบ ฟักทอง มะนาว และกล้วยน้ำว้า ถัดไปเป็นสระน้ำสำหรับเก็บน้ำและเลี้ยงปลาให้นักเรียนได้บริโภคด้วย



ไม่ไกลจากสวนผักเป็นที่ตั้งของโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ผู้อำนวยการบอกว่า โครงการนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีผู้ใหญ่ใจดีอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรที่มีความมุ่งมั่นเดียวกัน ในการร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และผลักดันให้ชุมชนมีแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืนเป็นของตนเอง โดยเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ปี 2559 มีซีพีเอฟดูแลรับผิดชอบด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมทั้งมอบแม่พันธุ์ไก่ไข่ อาหารสัตว์ และอุปกรณ์การเลี้ยงมาตรฐานสำหรับการเลี้ยงไก่รุ่นแรก ทั้งหมดนี้บริษัทให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมกับส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ด้านการเลี้ยงไก่ การดูแลสุขภาพสัตว์ การจัดการโรงเรือน ตลอดจนการบริหารสต๊อกและการเงิน เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ และมีผลประกอบการที่ดีสำหรับการลงทุนเลี้ยงเองในรุ่นถัดไป         



ที่ศูนย์ฯเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 120 ตัว โดยสามารถบริหารจัดการผลผลิต  ด้วยการนำไข่ไก่ไปเป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ ในภาวะปกติ รวมถึงในช่วงโควิดระบาด ที่ต้องหยุดการเรียนการสอนและสอนผ่านออนไลน์แทน ศูนย์ฯนำไข่ไก่ ข้าวสารและน้ำมันพืช แจกให้ผู้ปกครองนำไปปรุงอาหารให้กับนักเรียนได้รับประทานที่บ้าน ขณะเดียวกัน ยังจำหน่ายไข่ไก่ให้ผู้ปกครองในราคา 80-85 บาทต่อแผง 30 ฟอง ราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ รวมถึงจำหน่ายให้กับศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่อื่นๆ ทำให้สามารถบริหารการผลิตและการตลาดเพื่อให้มีผลกำไรเป็นทุนต่อไปได้  



นางสาว เตนเตน เหว่ คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ของศูนย์ฯ เล่าว่า เป็นโอกาสที่ดีของเยาวชนต่างด้าวในพื้นที่ชายขอบ ที่มีซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท  สนับสนุนโรงเรียนทำโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ช่วยดูแลโภชนาการของเด็กๆ ที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต การได้รับประทานไข่ไก่ที่เป็นโปรตีนคุณภาพดีอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับผักปลอดสารต่างๆที่พวกเขาปลูกเอง  ส่งผลดีต่อสุขภาพ ร่างกาย พัฒนาการทางสมอง และจิตใจ จากการได้ดูแลเลี้ยงไก่ และการได้ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันช่วยเสริมทักษะทางสังคมให้เด็กๆ

ด้านน้องๆที่รับผิดชอบดูแลเก็บผลผลิตไข่ไก่ ทั้ง ด.ญ. นวยนวยนันดามน, ด.ญ. เอตอดาข่าย และด.ช. กองเหว่หยั่นโก่โก่  ขะมักเขม้น ช่วยเหลือกันให้อาหารไก่ เก็บไข่ ทำความสะอาดโรงเรือน นำมูลไก่ทำเป็นปุ๋ย เพื่อใส่แปลงผักที่ช่วยกันปลูก พวกเด็กๆสนุกกับการทำงาน ได้มาดูแลไก่ที่พวกเขารัก และยังภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในผลผลิตไข่ไก่ทุกฟองสำหรับทุกคนในโรงเรียนและคนในชุมชน 

ครูปีเตอร์ ครูสอนภาษาไทยของศูนย์ฯ บอกว่า ถึงจะเป็นช่วงที่นักเรียนไม่ได้มาเรียน แต่หลายๆคนยังได้บริโภคไข่ไก่เพื่อเสริมสุขภาพที่ดี  โดยผลผลิตไข่ไก่ในแต่ละวัน  จะถูกจัดสรรครึ่งหนึ่งเพื่อจำหน่ายให้ชุมชนและอีกครึ่งหนึ่งเก็บไว้  ในแต่ละสัปดาห์คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ จะนำผลผลิตไข่ไก่ไปแจกตามบ้านนักเรียน  เท่าที่จะมีโอกาสนำไปให้ได้   ไกลสุดห่างจากศูนย์ฯ ประมาณ  10 กิโลเมตร  ช่วยดูแลสุขภาพเด็กๆในช่วงที่ไม่ได้มาเรียนที่ศูนย์ฯ แต่ก็ยังได้บริโภคไข่ไก่     

ครูปีเตอร์ เล่าอีกว่า   สิ้นเดือนกรกฎาคมนี้จะมีการปลดแม่ไก่ไข่ เพื่อเตรียมรับไก่ไข่ชุดใหม่  ซึ่งผู้อำนวยการและครูทุกคนเห็นตรงกันว่า ควรต่อยอดความสำเร็จของโครงการนี้ไปยังชุมชน ด้วยการมอบแม่ไก่ไข่ที่ยังคงให้ผลผลิตไข่ไก่อย่างสม่ำเสมออยู่ ให้กับชาวชุมชนที่มีอยู่ประมาณ 50 ครัวเรือน นำไก่ไปเลี้ยงต่อ ครัวเรือนละ 2 ตัว โดยสามารถนำไก่ไปเลี้ยงปล่อยร่วมกับไก่พื้นบ้านที่ทุกบ้านเลี้ยงไว้อยู่แล้ว เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน ช่วยลดรายจ่ายช่วงโควิด-19 และทางศูนย์ฯยังมีแผนที่จะขยายการเลี้ยงไก่ เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น จากการขยายหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 8 (Grade 1-8) ในปีนี้ และสอดคล้องกับการบริโภคในชุมชนและตลาดที่ต้องการไข่ไก่คุณภาพ

โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนดำเนินการต่อเนื่องสู่ปีที่ 32 ส่งมอบโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนไปแล้ว 880 โรงเรียนทั่วประเทศ ตามเป้าหมายส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร เป็นแหล่งผลิตอาหารของโรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...