วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565

คณะวิจัยความสัมพันธ์จีน-ไทย ชมกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยของซีพีเอฟ


    ศาสตราจารย์ จาง ซีเจิ้น (Professor Zhang Xizhen) หัวหน้าโครงการจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำคณะวิจัยโครงการวิจัยความสัมพันธ์จีน-ไทย เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพื่อศึกษาปัจจัยความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ในฐานะที่เครือซีพีและซีพีเอฟเป็น องค์กรที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน โดยมี นายเกริกพันธุ์ ดีประเสริฐ  รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงงานอาหารสำเร็จรูปซีพีเอฟ หนองจอก กรุงเทพฯ 



     นายเกริกพันธุ์ ดีประเสริฐ นำเสนอภาพรวมธุรกิจของเครือซีพีและซีพีเอฟ ก่อนนำคณะเข้าชมไลน์การผลิตไส้กรอกคุณภาพและอาหารพร้อมทานของโรงงาน ที่มีกระบวนการผลิตที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีมาตรฐานระดับโลก เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค  ด้วยระบบการผลิตอัตโนมัติแบบต่อเนื่อง (Completely Automation Line) ที่โรงงานอาหารสำเร็จรูปซีพีเอฟ หนองจอก ใช้เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย สร้างความประทับใจแก่คณะะวิจัยความสัมพันธ์จีน-ไทย เป็นอย่างยิ่ง




     ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารอย่างครบวงจร และด้วยวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของ “คุณภาพ” ของผลิตภัณฑ์อาหารทั้งด้านรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ สะอาดถูกสุขอนามัย และปลอดภัยต่อการบริโภค ด้วยมาตรฐานการผลิตในระดับสากล ภายใต้ระบบการผลิตอัตโนมัติแบบต่อเนื่องตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการจัดเก็บสินค้า มีระบบควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่สดสะอาด สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ


 

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยกชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ เป็นต้นแบบสถาบันเกษตรกรพัฒนาคุณภาพผลผลิต จับมือ Big C ส่งผักผลไม้ปลอดภัยขึ้นห้าง คัดสรรคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค


 

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยกชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด เป็นต้นแบบสถาบันเกษตรกรสามารถพัฒนาผลผลิต สามารถพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ผลิตพืชผักปลอดภัย และรวบรวมสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน GAP และ GMP สร้างเครือข่ายการตลาด พร้อมจับมือ Big C นำพืชผักผลไม้จากภาคเหนือขึ้นห้าง หวังกระจายผลผลิตปลอดภัยสู่ผู้บริโภค และช่วยสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสมาชิกสหกรณ์อย่างมั่นคง



นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือจัดซื้อผลผลิตจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ระหว่าง บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด  ณ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาพระราม 4 เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหารบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด และผู้แทนสหกรณ์  ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ มีผู้แทนชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด โดย นายพิศณุ ไชยนิเวศน์ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด และนายเมือง พรหมอย่า เลขานุการ ร่วมลงนามกับ ผู้แทนบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) โดย นายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ นางวิภาดา ดวงรัตน์ รองประธานกรรมการบริหารคนที่ 1 และนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงนามเป็นสักขีพยานฯ



การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องเกษตรกร ในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงเกษตรกรในภาคเหนือทั้ง 9 จังหวัด ให้มีตลาดรองรับสินค้าเกษตรที่แน่นอน สามารถสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความอยู่ดีกินดี ขอชื่นชมรูปแบบการบริหารจัดการ                                และการช่วยเหลือเกษตรกรของผู้บริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ที่เล็งเห็นความสำคัญตลาดปลายทาง และมีช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนในอาชีพให้แก่เกษตรกร และเป็นการสร้างความร่วมมือที่จะสามารถเกิดประโยชน์ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะเป็นการยกระดับสินค้าเกษตร ให้ได้รับการยอมรับ และสร้างการรับรู้ไปยังประชาชน ผู้บริโภคทั่วไป และขอเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรกรปลอดภัย มีคุณภาพ ใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภค และตลาดปลายทางที่รับสินค้าของเกษตรกรไปขาย จะมีสินค้าคุณภาพที่ดี และประชาสัมพันธ์เพื่อขายให้กับลูกค้า และผู้บริโภคได้อย่างมั่นใจรมช.มนัญญา กล่าว



ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ผลิตรวบรวมและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยและมีมาตรฐาน GAP และ GMP รวมถึงประสานช่องทางการตลาดเพื่อพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พร้อมทั้งส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายการตลาดโดยขบวนการสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ยินดีที่จะให้การสนับสนุนสถาบันเกษตรกรเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดซื้อผลผลิต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตและเกิดการต่อยอดไปยังสถาบันเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

จากนั้น รมช.มนัญญา และคณะ เดินเยี่ยมชมบูธแสดงสินค้าของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด ได้แก่ สินค้าผัก ผลไม้ที่มีการซื้อขายกับบิ๊กซี สินค้าเกษตรแปรรูปที่ต้องการเสนอขายเพิ่มเติม เช่น อินทผาลัมแดง/ส้ม/เหลือง แก้วมังกร สับปะรดภูแล ฝรั่งออร์แกนิค เสาวรสพันธุ์หม่าเทียนซิง สับปะรดพันธุ์กรีนปัตตาเวีย และสินค้าผักผลไม้อื่น ๆ  พร้อมทั้งได้เยี่ยมชมสินค้าแปรรูปของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในเขตภาคเหนือที่นำมาร่วมจัดแสดง อาทิ ซอสพริก น้ำพริกเผา พริกป่น จากสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด จังหวัดน่าน   ไส้อั่วปลานิล ปลานิลแดดเดียว จากสหกรณ์ประมงพาน จำกัด จังหวัดเชียงราย สับปะรดกวน เครกเกอร์สับปะรด น้ำยางล้างจาน จาก สหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง จำกัด จังหวัดลำปาง ลำไยอบแห้ง กล้วยหอมอบนุ่ม มะม่วงอบแห้ง จากสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด จังหวัดลำพูน นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมสินค้าแปรรูปที่ได้รับมาตรฐานพร้อมเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดของเครือข่ายสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ กาแฟคั่วเมล็ด กาแฟดริป ของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด นม ยูเอช ที ของสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด ไข่ไก่สด เต้าหู้ไข ไส้กรอกไข่ขาว ของสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และเยี่ยมชมสินค้าของเกษตรกรรุ่นใหม่จากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และลำปางที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร นำมาจัดแสดงเพื่อเชื่อมโยงการตลาด เช่น กระเทียมดอง เคลผง ข้าวออร์แกนิค กล้วยตาก  กล้วยฉาบ และสมุนไพรลูกประคบ และสบู่รังไหม



ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือจัดซื้อผลผลิตจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ระหว่าง บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กับ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด ในครั้งนี้ มีวัตุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำการตลาดนำการผลิตระหว่างคู่ค้า บิ๊กซี และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด เป็นการส่งเสริม พัฒนาผลผลิตและการปรับปรุงคุณภาพของสมาชิกชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อสินค้าทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจน รวมทั้งเป็นการสร้างตลาดซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ โดยบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) มีนโยบายในการสนับสนุนสินค้าของเกษตรกรภายในประเทศ โดยรับซื้อตรงจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร  พร้อมทั้งจะสนับสนุนให้ศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นแหล่งรวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรของเกษตรกรในภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด ได้ดำเนินการรวบรวมผลผลิตผักจัดส่งจำหน่ายให้บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เริ่มตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน จำนวน 7,700 ตัน มูลค่ากว่า 351 ล้านบาท

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565

พบกับความมหัศจรรย์พันธุ์สัตว์น้ำสายมูเตลู ตามศาสตร์แห่งความเชื่อและศรัทธา “ Aquatic of Luck ” ร่วม “เสริมบารมี เสริมราศี เสริมโชคดี เสริมพลัง” ในงาน “วันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 32”


 

กรมประมง ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค ตลอดจนภาครัฐและเอกชน จัดงาน วันประมงน้อมเกล้าฯ  ครั้งที่ 32” วันที่ 1 – 10 กรกฎาคม 2565 ตั้งแต่ เวลา 10.00 – 20.00 น. เนรมิตพื้นที่กว่า 7,000 ตรม. ทั่วบริเวณชั้น จี ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์  ให้เป็นดินแดนของสัตว์น้ำสายมูเตลูตามศาสตร์แห่งความเชื่อและศรัทธา ภายใต้ธีม “Aquatic of Luck” ที่คุณจะได้เติมพลังชีวิตจากสัตว์น้ำกว่า 60 สายพันธุ์ อลังการกับการประกวดปลาสวยงามที่ได้มาตรฐานที่สุดในประเทศไทย มากถึง 7 ชนิด 72 ประเภท  กว่า 1,000 ตู้, และกิจกรรมความรู้ ความสนุกมากมาย ตลอดจนนิทรรศการความรู้ทางการแพทย์ รังสีวิทยา  จากคุณหมอโรงพยาบาลศิริราช



นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์  อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า  งานวันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 32 เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมประมง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ทูลเกล้าถวาย สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ และเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์ เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับพันธุ์สัตว์น้ำและปลาสวยงาม และพรรณไม้น้ำชนิดต่างๆ ให้กับประชาชน เกษตรกร และเป็นการยกระดับการจัดงานก้าวสู่สากล โดยในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานวันประมงน้อมเกล้าฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงโปรดให้นางรสกร  พัฒนศักดิ์ภิญโญ ผู้อำนวยการกองงานในพระองค์ฯ เป็นผู้แทนพระองค์จัดตู้ปลาพระราชทานฯ ในวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00 น. และทรงโปรดให้นายสรุพิทย์  กีรติบุตร  รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีเปิดงานวันประมงน้อมเกล้าฯ ครั้งที่ 32 ในวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00 น. 



สำหรับกรมประมง มีการจัดแสดงนิทรรศการมีชีวิตในธีม Aquatic of Luck สัตว์น้ำสายมูเตลู ตามศาสตร์แห่งความเชื่อและศรัทธา โดยนำเสนอนิทรรศการความรู้และจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตด้วยสัตว์น้ำมงคลเสริมดวง เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในทุกด้าน หมดขวัญกำลังใจ จึงนำเสนอสัตว์น้ำมงคล ในคอนเซป สัตว์น้ำ : เสริมบารมี เสริมราศี เสริมโชคดี เสริมพลังความเชื่ออยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ผู้เข้าชมงานจะได้รับพลังบวกจากสัตว์น้ำมงคลมากมาย : สัตว์น้ำเสริมบารมี  รูปแบบสัตว์น้ำปีขาล อาทิ ปลาเสือตอลายเล็ก ลวดลายคล้ายเสือพาดกลอน มีความเชื่อในการเสริมอำนาจบารมี ปลาออรันดาลายเสือ เป็นปลาทองลวดลายคล้ายเสือพาดกลอน ซึ่งมีความเชื่อว่าช่วยเสริมพลังอำนาจบารมี ความกล้าหาญ ความแข็งแกร่ง เรียกโชคลาภ เสริมทรัพย์สิน  นอกจากนี้ ยังมี ปลาเสือดำ ปลาเสือข้างลาย ฉลามเสือดาว ฯลฯ สัตว์น้ำเสริมราศี รูปแบบสัตว์น้ำชื่อดี ชื่อมีความมงคล เสริมราศีร่ำรวย อาทิ กุ้งมังกร 7 สี ซึ่งคำว่า มังกร ตามความเชื่อของศาสตร์จีน หมายถึง อายุยืนยาว เจริญรุ่งเรือง อีกทั้ง กุ้งมังกร 7 สี ยังเป็นสัตว์น้ำที่มีราคาแพง แสดงถึงความมีฐานะ ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์ ซึ่งคำว่า โกลด์ คือ ทอง ซึ่งแสดงถึงความร่ำรวย นอกจากนี้ยังมี ปลากะพงทอง  ปลาการ์ตูนทอง  ปลาสร้อยขาว ฯลฯ สัตว์น้ำเสริมโชคดี รูปแบบสัตว์น้ำ 7 สี เสริมโชคดีในทุกวัน นำเสนอสัตว์น้ำสีประจำวัน อาทิ ปลาหมอมาลีเหลืองกล้วยหอม ประจำวันจันทร์  ปลาหมอมาลาวีสีชมพู (Pink Malawi) ประจำวันอังคาร  ปลาหมอมาลาวีสีฟ้า ประจำวันศุกร์ ฯลฯ สัตว์น้ำเสริมพลัง  รูปแบบสัตว์น้ำหยินหยาง เสริมพลังสมดุล อาทิ ปลาไหลสวน ปลาสวยงาม แปลกตา มีความหยินหยางขาวดำในตัว   ปลากระเบน Black Diamond  ปลาสวยงาม ลวดลายขาวดำ ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็น ปลาแห่งความโชคดีถูกนิยมนำมาเลี้ยงเพื่อเสริมโชคลาภ นำพาความโชคดี เงินทองมีใช้เสริมความร่ำรวยให้แก่ผู้ครอบครอง  ฯลฯ  สัตว์น้ำเสริมมงคลมหานิยม ในรูปแบบเสริมดวงให้ดี ให้ปัง อาทิ ปลามังกร ซึ่งมีความเชื่อว่าเสริมสร้างบารมีน่าเกรงขาม ก้าวหน้ามั่นคง ปลาหงส์ เสริมบารมี นิยมเลี้ยงคู่ปลามังกร นอกจากนี้ ปลามงคลที่นิยมเลี้ยงอีก อาทิ ปลาคาร์ฟ  ปลาหมอสี (หล่อฮั่น) สัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง และยังมีสัตว์แปลก อาทิ จระเข้หางหาย  จระเข้บอลลูน  เต่าบินเผือก และสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หาชมตามธรรมชาติไม่ได้ เช่น ตะโขง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมไฮไลท์ของปี คือ การปล่อยมังกรคืนถิ่น  ซึ่งเป็นการช่วยต่อชะตาชีวิตให้สัตว์น้ำ มงคล ซึ่งมีความเชื่อว่าการทำบุญสูงสุด คือ การให้ชีวิต โดยจะเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ร่วมบุญสมทบทุนฯ ปลามังกร ราคาตัวละ 1,000 บาท ด้านการประกวดปลาสวยงามชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ปีนี้จะมีการจัดประกวดมากถึง 7 ชนิด 72 ประเภท ได้แก่ ปลากัด  ปลาหางนกยูง  ปลาเงินปลาทอง  ปลาหมอสี  ปลาหมอครอสบรีด ปลาปอมปาดัวร์ และปลาตะพัด โดยไฮไลท์ เป็นการประกวด ปลาทองหยวนเป่า  คู่ไปกับ การประกวดวาดภาพ สัตว์น้ำมงคลของนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น






นอกจากนี้ เพื่อเสริมพลังมู ยังได้มีการเนรมิตงานตามความเชื่อต่างๆ อาทิ เรื่องราวความเชื่อชาวประมงในการไหว้แม่ย่านางเรือ เรือไม้โบราญ  เครื่องมือประมงดักทรัพย์  ตรวจวิเคราะห์ดวงชะตากับสมาคมลิขิตฝ่ามือ และการแสดงโชว์จับจระเข้ด้วยมือเปล่าซึ่งตามความเชื่อต้องเป็นผู้มีวิชาอาคมแกร่งกล้าในการที่จะกำราบจระเข้ให้สงบ และจุดถ่ายภาพวิถีชาวมูเตลู ฯลฯ และอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ คือ การยกร้าน Fisherman Shop เสมือนซุปเปอร์มาร์เกตขนาดย่อม ที่รวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงคุณภาพดีจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย มาจำหน่ายภายในงาน อีกทั้ง ในส่วนของความรู้ทางวิชาการในปีนี้ อาทิ เรื่อง ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมงคล เสริมดวงชะตา นำพาสุขภาพดี มีเครื่องหมายรับรอง” “ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ คำโบราณ คือ ตำนานความอุดมสมบูรณ์สินกับวิถีชีวิตริมน้ำ” “Color Feed for Art of Life” เสวนา สัตว์น้ำมงคลก้าวไกลไปทั่วโลก  เราได้อะไรจากการทำให้ขยะทะเลกลับมามีคุณค่า” “คนเลี้ยงปลา..ปลาเลี้ยงคน  ครอบครองหรือค้าสัตว์น้ำอย่างไรโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย  ความลับของประมง...ในดงสายมู” “สัตว์น้ำดัดแปลงพันธุกรรมฯลฯ และกิจกรรมให้ได้ร่วมสนุกอีกมากมาย อาทิ โชว์แล่ ชวนชิมปลากะพงยักษ์  ชมชิมปลานิลพระราชทาน  อาหารจากปลาคู่บ้านคู่เรือน  บิงโกสัตว์น้ำนำโชค  และตอบปัญหาชิงรางวัล ฯลฯ



ในส่วนของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รศ.พญ.เบญจาภา  เขียวหวาน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังจากที่งดจัดกิจกรรมงานวันประมงน้อมเกล้าฯ ในช่วงสถานการณ์โควิด 2 ปีที่ผ่านมา  ธีมงานสำหรับปีนี้ คือ หมอรังสีมีเรื่องเล่า  เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของแพทย์ และบุคลากรทางกาแพทย์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่หลากหลาย ได้แก่ สาขาวิชารังสีวินิจฉัย ทำการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพ เช่น ภาพเอกซเรย์ (plain radiograph) ภาพถ่ายเอกซเรย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (CT scan) ภาพเอ็มอาร์ไอ (MRI) และการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) เป็นต้น สาขาวิชารังสีรักษา ทำการรักษาโรคด้วยการฉายรังสีหรือการใส่แร่ บทบาทของรังสีรักษาส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ติดตั้งเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคอิเล็คตรอนพร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MR-Linac (Magnetic Resonance Image Guided Linear Accelerator) เมื่อ พ.ศ. 2563  นับเป็นเครื่องแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีที่ทันสมัยที่สามารถทำการถ่ายภาพ MRI ก่อนและระหว่างฉายรังสีในแต่ละวันได้ แพทย์สามารถปรับแผนการรักษาให้เหมาะสมก่อนการรักษาในแต่ละวันของการฉายรังสี ทำให้การรักษามีความแม่นยำสูง และช่วยลดปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงโดยรอบ สาชาวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ มีบทบาทหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาด้วยสารเภสัชรังสี มีส่วนสำคัญในการช่วยประเมินระยะโรคมะเร็งและการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด นอกจากนี้ยังมีบทบาทในโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) เป็นต้น สาขาวิชารังสีร่วมรักษา ทำหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษาอย่างแม่นยำโดยใช้ภาพรังสีนำทาง เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อ (CT-guided biopsy) เป็นต้น

นอกจากนี้ รังสีแพทย์ยังมีหน้าที่ในการดูแลและให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางรังสี  ผู้ร่วมงานจะได้เรียนรู้เครื่องมือทางรังสีวิทยา บทบาททางรังสีวิทยา และการป้องกันอันตรายทางรังสี ผ่านนิทรรศการ หมอรังสีมีเรื่องเล่าและสามารถร่วมสนุกในการเล่นเกมส์เพื่อจำลองบทบาทการเป็นรังสีแพทย์ อีกทั้งยังมีกิจกรรมอีกหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การเสวนาทางการแพทย์ เรื่อง รังสีล้ำสมัย ก้าวไกลเพื่อการรักษา Part 1 และ 2”  ในวันที่ 2 และวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 เวลา 16.00 – 17.00 น. ณ บริเวณลานสปอร์ตไลท์ ชั้น G สเปลล์ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสามารถรับชมผ่านช่องทางออนไลน์การถ่ายทอดสด Facebook Live “sirirajpr”  วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 รศ.พญ. วลัยลักษณ์ ชัยสูตร และผศ.พญ. สุวิมล วงศ์ลักษณะพิมล และ รศ.พญ.เบญจาภา  เขียวหวาน  อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา จะมาบอกเล่าเรื่องราว การวินิจฉัยภาพจากฟิล์ม X-ray ไขข้อสงสัย ว่าหมอจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งรวมไปถึงการวางแผนการรักษาแก่ผู้ป่วยต่อไป และในวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 อ.พญ. อชิรญา เตยะธิติ และ ผศ.พญ. นันทกานต์ อภิวโรดมภ์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา พร้อมผู้ป่วย มาร่วมพูดคุยเล่าถึงประสบการณ์การรักษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางรังสี เครื่อง MR-Linac (Magnetic Resonance Image Guided Linear Accelerator)

นิทรรศการทางการแพทย์  (ตลอดการจัดงาน) 

 - นิทรรศการ หมอรังสีมีเรื่องเล่าให้ความรู้ทางรังสีวิทยา เช่น การเอกซเรย์ปอดกับ COVID - 19 โรคภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเมมโมแกรม โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

- นิทรรศการให้ความรู้เรื่อง COVID - 19 จากพิพิธภัณฑ์ศิริราช มีการจัดแสดงหุ่นสาธิตการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อโควิดโดยผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการสามารถทดลองทำ Swab test ได้ด้วยตนเอง และนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะ LONG COVID - 19 

- การจัดแสดงโมเดลอวัยวะดอง (Specimen) การแสดงชิ้นส่วนอวัยวะของร่างกายในรูปแบบภาพตัดขวาง (Topo Cross Section) ของอวัยวะต่าง ๆ พร้อมภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ของอวัยวะนั้น ๆ รวมถึงจัดแสดงชิ้นส่วนอวัยวะดองที่หาชมได้ยาก โดยเฉพาะไฮไลท์บริเวณทางเข้างานที่จัดแสดงภาพเอ็มอาร์ไอของเด็กแฝดที่มีตัวติดกันเป็นครั้งแรก

  - การจัดโซนกิจกรรม SIRAD Play Zone ถือเป็นอีกไฮไลท์ของงาน ผู้ร่วมงานสามารถร่วมเล่นเกมส์จากเทคโนโลยีเครื่อง Kinect โดยภาพแสดงบนจอ LED ที่มีความละเอียดสูง ผู้ร่วมชมนิทรรศการสามารถเรียนรู้เรื่องรังสีวิทยา และทดลองเป็นหมอรังสีวิทยาผ่านการเล่นเกมส์ตอบคำถามแบบง่าย ๆ

- การจัดแสดงอุปกรณ์ทางการแพทย์ โซนการจัดแสดงเครื่อง 3D Printer Makerbot พร้อมการให้ความรู้ในรูปแบบของ VDO Presentation และการจัดแสดงโมเดลทางการแพทย์ที่ได้จากเครื่อง Makerbot

บริการให้คำปรึกษาปัญหาและแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยา ตลอดจนการจำหน่ายยาตำรับศิริราช และผลิตภัณฑ์จากร้านศิริราชฉลาดคิด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในการดูแลสุขภาพด้านต่าง ๆ เช่น ชุดเครื่องนอนกันไรฝุ่น แว่นตากรองแสง เป็นต้น



คุณณัฐรินทร์  พยุงวงศ์  รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ  ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค   กล่าวถึงความร่วมมือการจัดงานครั้งนี้ว่า งานประมงน้อมเกล้าฯ เป็นงานใหญ่ประจำปีที่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปต่างเฝ้ารอชมความงดงามของสัตว์น้ำหลากสายพันธุ์  เพราะเป็นงานประกวดปลาสวยงามและแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่ยิ่งใหญ่  โดยทางศูนย์การค้าได้ทุ่มงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท  เนรมิตพื้นที่จัดงานทั้งหมดกว่า 7,000 ตารางเมตร บริเวณ ชั้น จี ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค และสเปลล์  ให้เป็นอาณาจักรสัตว์น้ำที่ยิ่งใหญ่ ภายใต้ธีม“ Aquatic of Luck ” ร่วม เสริมบารมี เสริมราศี เสริมโชคดี เสริมพลังพร้อมกันนี้ได้จัดพื้นที่จอดรถทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคารรองรับ 9,000 คัน  เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เว้นช่วงเวลาการจัดงานไปถึง 2 ปี และในปีนี้ทางศูนย์การค้าฯ ได้กลับมาจัดงานพร้อมกับความยิ่งใหญ่อีกครั้ง แล้วพบกันได้ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ ร่วมรับพลังบวก พลังมู เสริมดวง ตลอดจนความรู้ คำแนะนำดี ๆ กลับไปดูแลสุขภาพกันด้วย ในงาน วันประมงน้อมเกล้าฯครั้งที่ 32 ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 - 10 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค ค่าบัตรผ่านประตูเพียง 20 บาท โดยรายได้ทั้งหมดในงานจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์

CP-CPF รวมพลังฟื้นฟูป่าชายเลน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน


 

เครือซีพี และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ คิกออฟปลูกป่าชายเลนที่ ต.ท่าพริก จ.ตราด กว่า 1,300 ไร่ ปล่อยปลา-ปูดำ ร่วมสร้างแหล่งอาหารของชุมชนอย่างยั่งยืน สานต่อโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลนเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทย พร้อมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน โชว์ความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง จ.ตราด และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลปากน้ำประแส จ.ระยอง ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น



วันนี้ (22 มิถุนายน 2565) นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ ซีพี-ซีพีเอฟ นำคณะผู้บริหารในเครือฯ อาทิ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ เขตประเทศอินเดีย น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ พร้อมด้วย นายศิริชัย มาโนช ที่ปรึกษาอาวุโสเครือซีพี นายเบญจมินทร์ เจียรวนนท์ ที่ปรึกษาโครงการคณะทำงานปฏิบัติการป่าชายเลนภาคตะวันออก (ตราด) และ มล.อนุพร เกษมสันต์ รองกงสุลกิตติมศักดิ์รัสเซีย เยี่ยมชมความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง จ.ตราด และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น พร้อมทั้งปลูกป่าชายเลน ปล่อยปลาและปูดำ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่ ต.ท่าพริก อ.เมือง จ.ตราด ภายใต้การดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลนโดยได้รับเกียรติจาก นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ร่วมด้วย

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด  เปิดเผยว่า  ความร่วมมือกันของภาครัฐ ชุมชน และภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟ  ทำให้ชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง เป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนร่วมกันที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาหลายปี กระทั่งเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะเรื่อง Eco-Print เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุน ด้วยการทำผ้า 3 ป่า จากป่าภูเขา ป่าสมุนไพร และป่าชายเลน นำมาทำผ้ามัดย้อมจากวัสดุธรรมชาติ ตามเป้าหมายคือ การทำขยะให้เป็นทองคำ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด ด้านบริหารจัดการและอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตราดรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดจนสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง การทำปุ๋ยนาโน และน้ำดื่มชุมชน ขณะเดียวกัน ยังดำเนินกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ฟื้นฟูธรรมชาติ ปลูกป่าในหัวใจคน ให้คนตราดรักธรรมชาติเพราะจังหวัดตราดขายธรรมชาติให้นักท่องเที่ยว การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนมีส่วนสำคัญยิ่ง ขณะที่องค์ความรู้ที่ได้รับจากซีพีเอฟ ช่วยสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จ กลายเป็น Best Practice และสามารถขยายผลออกไปได้กับชุมชนอื่นๆต่อไป



ด้าน นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการยุทธศาสตร์ป่าชายเลน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้วิสัยทัศน์ ครัวของโลกโดยกำหนดกลยุทธ์ 3 เสาหลัก ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมดูแลสมดุลระบบนิเวศ เพิ่มพื้่นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน ภายใต้แนวคิด จากภูผา สู่ป่าชายเลน

ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนรวม  2,388 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สองของโครงการ และในวันนี้ ท่านประธานกรรมการซีพี-ซีพีเอฟ ได้นำคณะผู้บริหารมาร่วมกันปลูกป่าชายเลนที่ ต.ท่าพริก จ.ตราด อาทิ ต้นถั่วขาว ต้นประสักดอกแดง ต้นโกงกางใบเล็ก ต้นโกงกางใบใหญ่ ต้นแสมขาว ต้นแสมดำ ต้นลำแพน เป็นต้น มีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ารวมมากกว่า 1,300 ไร่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน ในพื้นที่ที่เราเข้าไปอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อให้ชุมชนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนอีกด้วยนายไพโรจน์ กล่าว




นอกจากการร่วมกันปลูกป่าชายเลนแล้ว กิจกรรมครั้งนี้ ยังมีการปล่อยปลาและปล่อยปูดำ เป็นการช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ รวมถึงเยี่ยมชมความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง จ.ตราด ได้แก่ การทำผลิตภัณฑ์ผ้าสามป่า น้ำดื่มชุมชน ปุ๋ยนาโน ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะ และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลปากน้ำประแส จ.ระยอง มีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ อาทิ กะปิ น้ำปลา ชาใบขลู่ เป็นต้น ซึ่ง ซีพีเอฟให้การสนับสนุน เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่



ทั้งนี้  ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน เข้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2562-2566) มีเป้าหมายอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนอีก 2,900 ไร่ ในพื้นที่ จ.ตราด ระยอง และสมุทรสาคร โดยที่ผ่านมา ประสบผลสำเร็จจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทยไทยสอดรับนโยบายของรัฐบาล ผ่านการดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ในระยะที่หนึ่ง ปี 2557-2561 อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า พื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา รวม 2,388 ไร่ ช่วยฟื้นระบบนิเวศป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ และชุมชนโดยรอบสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟู ส่งเสริมให้คนในพื้นที่อยู่ร่วมกับป่าและพึ่งพาตนเอง ยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืน

เปิดยิ่งใหญ่! ฤดูกาลท่องเที่ยวเทศกาลผลไม้ “ทุเรียนเมืองชุมพร” ยกทัพสวนผลไม้มาให้เลือกเที่ยว ชม และชิมกันจุใจสไตล์ “ชุมพรมหานครแห่งทุเรียน”



นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ “ฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลผลไม้ ทุเรียนเมืองชุมพร” ระหว่าง 16 – 26 มิถุนายน 2565 ณ สนามกีฬากลางจังหวัดชุมพร ถนนพิศิษฐพยาบาล ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร โดยมี นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร พร้อมด้วยสื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง



นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จังหวัดชุมพรเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีผลิตผลด้านเกษตรอุดมสมบูรณ์ ผลิตไม้ผลและไม้ยืนต้นที่สำคัญหลายชนิด มีการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ระบบจำนวน 84,859 ไร่ โดยมีทุเรียนหมอนทอง เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร สามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ในปี 2564 รวมมูลค่าได้ถึง 42,643,600,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 37.78  โดยจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 246,580 ไร่ คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1,658 กิโลกรัมต่อไร่ และคาดว่าในปี 2565 จะมีผลผลิตทุเรียนจำนวน กว่า 200,000 ตัน  โดยในฤดูกาลนี้ประเทศไทยได้ส่งออกผลไม้ทุเรียนไปประเทศจีนได้แล้ว กว่า 500,000  ตัน ซึ่งเมื่อเทียบในเวลาเดียวกันของปี 2564 จำนวนสูงถึง 68% คิดเป็นยอดจำหน่ายกว่า 150,000 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาทแน่นอนพร้อมส่งเสริมสินค้าเกษตรจังหวัดชุมพร เข้าสู่ตลาดยุโรป เช่น ทุเรียน กาแฟโรบัสต้า นอกจากจะเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดชุมพรด้านการเกษตรทันสมัยและเกษตรมูลค่าเพิ่ม ด้านการท่องเที่ยว ด้านการคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร ด้านสังคมและความมั่นคง และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมผลไม้เมืองชุมพร และส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นให้แพร่หลายอีกด้วย

            ด้าน นายสมพร  ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพรมีรายได้จากภาคการเกษตรคิดเป็น 57% จากรายได้ของจังหวัด รายได้เกินครึ่งมาจากภาคการเกษตร และเฉพาะ 57% นี้มีรายได้จากทุเรียนมากถึง 33% โดย 30% มาจากทุเรียนอย่างเดียวปี ในปีที่แล้วมีผลผลิตทุเรียนกว่า 300,000 ตัน สร้างรายได้กว่า 37,000 ล้านบาท จากทุเรียนอย่างเดียว โดยในปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนประมาณ 260,000 ตัน เฉพาะของจังหวัดชุมพรแหล่งเดียว แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ จังหวัดชุมพรเป็นตลาดผลไม้ ทั้งผลิตและส่งออก ทั้งในและต่างประเทศ โดยในปีที่แล้วส่งออกกว่า 600,000 กว่าตัน ดังนั้นผลไม้ในจังหวัดภาคใต้ทั้งหมดโดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะมาบรรจุและส่งออกที่จังหวัดชุมพร นับเป็นฮับและตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้



“จังหวัดชุมพรมีอากาศดี จุดเด่นสำคัญคือเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา มีทั้งน้ำตกและทะเล ผลไม้มีตั้งแต่มังคุด สละ ลางสาด ลองกอง เงาะ กาแฟ และทุเรียน ถ้าใครมาเยือนชุมพรในช่วงงานฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลผลไม้ ทุเรียนเมืองชุมพร จะสามารถสัมผัสถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรต่างๆ ของชุมพร ได้เป็นอย่างดี งานฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลผลไม้ ทุเรียนเมืองชุมพร มีทั้งการประกวด Miss Durian ชุมพร การแข่งขันชกมวย เพราะจังหวัดชุมพรมีค่ายมวยถึง 51 ค่าย การเดินแบบผ้าไทยพื้นถิ่น การแสดงผลงานทางวิชาการ ชุมพรโมเดล และกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย จึงขอเชิญชวนมาเที่ยวชมและอุดหนุนชาวสวนจังหวัดชุมพรกันได้ถึง 26 มิถุนายนนี้” รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวเชิญชวน

            ขณะที่ นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ทุเรียนของจังหวัดชุมพรจัดได้ว่ามีคุณภาพเป็นลำดับต้นของประเทศ และจังหวัดชุมพรก็ยังปลูกทุเรียนมากเป็นลำดับแรกๆ ของประเทศเช่นกัน ดังนั้นในระยะเวลาอีกไม่นานนี้คาดหมายว่าชุมพรจะเป็นจังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดและมีผลผลิตทุเรียนมากที่สุด โดยสิ่งสำคัญที่ชาวสวนทุเรียนชุมพรเน้นย้ำคือการลดเคมีทุกชนิด ควบคู่กับการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ โดบใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน มีการจัดทำแอปพลิเคชันบันทึกประวัติของทุเรียนทุกต้นในแปลงใหญ่ โดยแอปพลิเคชันของชาวสวนจะบันทึกไว้ว่าระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยว 120 วันเป็นมาตรฐานของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และก้านยาว ความแก่อยู่ที่ 75 ถึง 85% และจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งอยู่ที่ 32% สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สามารถควบคุมคุณภาพของทุเรียน และที่สำคัญไปกว่านั้นเกษตรทันสมัยจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถตรวจย้อนได้ว่าซื้อทุเรียนมาจากที่ไหน เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคด้วย



            “งานฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลผลไม้ ทุเรียนเมืองชุมพร จัดขึ้นระหว่าง 16 - 26 มิถุนายน 2565 ภายในงานมีทั้งการเจรจาซื้อขายผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน นิทรรศการเมืองจำลองขึ้นมา 5 เมือง ทุเรียน ผลไม้ กัญชา กระท่อม และกาแฟ มีนักวิชาการมาคอยให้ความรู้ คำแนะนำให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยงานครั้งนี้ถือเป็นการจัดกิจกรรมซีซั่นสอง ซีซั่นแรกจัดในช่วงสงกรานต์ในงานกระท่อมไทยของดีเมืองชุมพร และต่อไปมีอีกสองซีซั่นรวมเป็นสี่เทศกาลในปีนี้ จึงขอเชิญชวนมาเที่ยวจังหวัดชุมพรกันได้ตลอดทั้งปี” เกษตรจังหวัดชุมพร กล่าวเชิญชวน 

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ณศร ออสุวรรณ" กับแนวคิด นักบริหารรุ่นใหม่ ตำแหน่ง ประธานฯ ชสท.


 

             นายณศร ออสุวรรณ นักบริหารรุ่นใหม่ผู้นั่งตำแหน่งประธานกรรมการฯ ชุดที่ 45 ของ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย(ชสท.) หลัง ได้รับความไว้วางใจจากการเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2564  เปิดใจถึงแนวคิดและแผนอนาคตในการทำหน้าที่ดูแลส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศซึ่งเป็นสมาชิกของชุมนุมฯ รวมถึงการสร้างเครือข่ายกระจายผลผลิตทางการเกษตรให้แข็งแกร่งเติบโตเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของการก่อตั้ง นั้นคือส่งเสริมให้สหกรณ์สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามวิธีการสหกรณ์ที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สหกรณ์และสังคมส่วนรวมทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรฯ เจริญเติบโตอย่างมั่นคง ผลงานเป็นที่ยอมรับของทั้งภาครัฐและสหกรณ์ และตั้งเข็มทิศชัดเจนในการมุ่งทำให้ ชสท.เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของสหกรณ์การเกษตรที่ให้บริการแก่สมาชิกอย่างครบวงจร



       นายณศร ออสุวรรณ เปิดเผยถึง บทบาทด้านต่างๆ ที่จะนำพาชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้นรวมถึงเป็นที่พึ่งพาของสมาชิก ประกอบด้วยภารกิจหลายด้าน

1.บทบาทการส่งเสริมสหกรณ์เกษตร โดยหยิบยกเอาเครื่องมือ ที่เรียกว่า ปฏิทินผลไม้มาใช้เป็นตัวกำหนดแผนในการกระจายผลผลิต รวมถึงวางแผนการตลาดให้เหมาะสมในแต่ละภูมิภาคที่มีผลผลิตต่างกันไปและลักษณะเฉพาะตัว ปฏิทินผลไม้ทำให้รู้ ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวและเตรียมแผนงานการกระจายได้อย่างทันท่วงทีและเหมาะสม นอกเหนือจากนั้น ทางชุมนุมฯ กำหนดการตลาดที่ชัดเจน นั่นคือระบบการสั่งแบบ พรีออเดอร์ Pre-Order เพื่อให้สหกรณ์ผู้ผลิตสามารถวางแผนได้ตรงกับปริมาณความต้องการของลูกค้า และง่ายต่อการขนส่ง

2. ด้านการศึกษา อย่างที่ทราบว่าสหกรณ์สมาชิกของชุมนุมฯ  กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย จึงเกิดแนวคิดการอบรมหมุนเวียนในแต่ละเขต เป็นการอบรมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ในปี 2565 จะเน้นการให้อบรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลังวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 เช่นต้องเน้นตลาด ออนไลน์มากขึ้น ตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าหรือผู้บริโภค

 3.ด้านการช่วยเหลือสมาชิกและสังคม เช่นกรณี ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำเป็นที่มาของการตั้งศูนย์กระจายสินค้าให้เป็นฟันเฟืองในการระบายสินค้า หลักการคือเคลื่อนย้ายสินค้าออกจากต้นทางให้ไวที่สุดเพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ่อนไหว เน่าเสียเร็ว ทาง ชสท. จึงมีบทบาทหลักในการช่วยกระจายสินค้าออกจากพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงการทำประชาสัมพันธ์ นอกจากการช่วยสมาชิกยัง มีส่วนช่วยเหลือประชาชนทั่วไป สังคม นั่นคือโครงการข้าวแกงสหกรณ์ ราคา 10 บาท ซึ่งเริ่มมาหลายปีและได้รับการตอบรับมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 



              ก่อนจบการสัมภาษณ์ นายณศร ออสุวรรณ ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์การพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ชสท. วางแนวคิดที่จะสร้างความเติบโตของสหกรณ์ภาคการเกษตร โดยมุ่งเน้นยกระดับมาตรฐานสินค้าสหกรณ์ให้อยู่ในระดับสากล โดยหาผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ สอนการพัฒนาด้านการผลิต การเก็บเกี่ยว การบรรจุ ให้ได้มาตรฐานยอมรับระดับโลก รองรับแผนส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศให้สำเร็จในที่สุด พร้อมทั้งกล่าวฝากบริการของ ชสท. ไม่ว่าจะเป็น 1.ศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์ข้าวสหกรณ์ไทย  รวบรวมสินค้าเกษตรมีทั้ง ออฟไลน์ ออนไลน์ Coop Click รวมถึงร้านใน Lazada Shopee   2. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรฯ  3. สินค้า TJC เคมี จำกัด เกิดจากการร่วมทุน กับ ชสท. และชุมนุมสหกรณ์เกษตรแห่งประเทศญี่ปุ่น จำหน่ายสินค้าด้านการเกษตร เช่น ยากำจัดศัตรูพืช 

ปีนี้ต้องเป็นปีแห่งความหวังคือวลีสั้นๆ "ณศร ออสุวรรณ" ฝากไว้ให้กำลังใจกับสหกรณ์สมาชิก รวมถึงทุกคนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังที่ต่างผ่านจุดสิ้นหวังอันเป็นผลกระทบจากโรคระบาดโควิด 19 มาหลายปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในฐานะประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยยินดีจะจุดประกายความหวังเพื่อให้ทุกคนผ่านห้วงเวลาแห่งความกลัวความสิ้นหวังมาสู่ความสำเร็จ ดังนั้น ชสท.จะมุ่งมั่นทำงาน สานงานต่อก่องานใหม่เพื่อประโยชน์ของสมาชิก และของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นความหวังให้เกษตรกรไทยต่อไป

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

สสท. เสวนา ถกประเด็นร้อน ทุจริตในสหกรณ์ ชี้ทางรู้เท่าทันและป้องกัน


         (วันที่ 20 มิถุนายน 2565)  สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัดเสวนา หัวข้อ  “ถามตรงๆกับจอมขวัญ สหกรณ์เขาทุจริตกันอย่างไร? แนวทางแก้ไขปัญหา ” เนื่องในวันครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา 54 ปี ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส ถนนพิชัย เขตดุสิต สันนิบาต สหกรณ์ฯ เพื่อร่วมถกประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานสหกรณ์ รวมถึงหาแนวทางป้องกันแก้ไข ปัญหาการบริหารจัดการสหกรณ์ที่เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตในสหกรณ์มาตรการควบคุมภายในด้านป้องกันการทุจริตและด้านตรวจสอบความเสี่ยงและสัญญาณเตือนภัยเมื่อเกิดการทุจริตในองค์กรผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย  นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย  นายไพบูลย์ แก้วเพทาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์ และนาย สิรวิชญ์ ไพศาสตร์ ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ โดยมี นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร ร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ รวมถึงคณะกรรรมการฯ สสท. ร่วมเป็นเกียรติ 



            นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า แม้ว่าสหกรณ์จะไม่ใช่องค์กรทุนนิยมที่แสวงหาผลกำไรแต่มีการเติบโตต่อเนื่องมียอดเงินรวมสหกรณ์ทั่วประเทศที่  3.58 ล้านๆบาท ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตในสหกรณ์ปัจจุบัน  ณ วันที่ 1 มิ.ย. 65 กว่า 18,000 ล้านบาท รวมสหกรณ์ได้รับความเสียหาย คงเหลือ 252 แห่ง เทียบกับสหกรณ์ทั่วประเทศไทย คิดเป็น 0.5% โดยการทุจริตมักเกิดใน 3 รูปแบบ 1. ทุจริตด้านเงินฝากเกิดจากการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตกแต่งตัวเลขเงินฝาก เช่นยอดเงินในสมุดฝากของสมาชิกไม่ตรงกับในระบบ การป้องกันที่ดีคือ กรรมการสหกรณ์ต้องมีระบบสอบทานเงินฝากให้กับสมาชิกรับทราบโดยตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบ 2. ทุจริตด้านเงินกู้สมาชิก การปลอมแปลงสัญญา ซึ่งสมาชิกไม่ได้กู้จริง 3. ทุจริตเชิงนโยบาย เช่น จัดทำโครงการแล้วอาศัยช่องว่าง เช่นโครงการตั๋วปุ๋ยเป็นร้อยล้านแต่ไม่มีปุ๋ยเข้ามาจริง ซึ่งภาครัฐพยายามสร้างความตระหนักรู้รวมถึงสร้างกลไกที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นปรับกฎหมาย  ระเบียบ ไม่เปิดโอกาสให้มีการทุจริต อย่างไรก็ตามการตรวจสอบภายในของสหกรณ์เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดก่อนถึงผู้สอบบัญชี อีกทั้ง ปัจจุบันสหกรณ์มีโปรแกรมบัญชีของเอกชนที่มีมาตรฐานหลากหลายสหกรณ์สามารถนำมาใช้ได้ ช่องว่างคือ ฝ่ายจัดการที่รู้ระบบสามารถแก้ไขตัวเลขได้หากไม่มีระบบ IT AUDIT และให้เชิญชวนสมาชิกตรวจสอบเงินตัวเองด้วยการใช้ Mobile Application



            นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ระบบสหกรณ์คือธุรกิจฐานรากจะเกิดการทุจริตแม้จะเพียงแค่ครึ่งเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ควรเกิดขึ้นภาค รัฐต้องให้ความสำคัญ หาวิธีเตือนให้สหกรณ์รู้เท่าทัน โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบายเริ่มเข้ามาในขบวนการสหกรณ์ สิ่งจำเป็นสุดตอนนี้คือ กำกับที่บุคคลเน้นระบบธรรมาภิบาล สร้างอุดมการณ์สหกรณ์เพราะคนคือกลไกสำคัญซึ่งทำงานควบคู่กับระบบการ สร้างธรรมาภิบาลในองค์กร ยังเป็นตัวที่ช่วยในการสร้างจิตสำนึกในการบริหารสหกรณ์ ผมมั่นใจว่าคนเก่งนั้นหาไม่ยาก แต่ที่ยากคือคนดี ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องติดอาวุธทางปัญญาเพื่อลดการทุจริตในสหกรณ์ และให้ทุกคนทราบถึงระบบการเตือนภัยการทุจริต ที่เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบได้ไม่ยาก ซึ่งสันนิบาตสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดกิจกรรมเสวนา เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนาสันนิบาตสหกรณ์ เพื่อช่วยลดการทุจริต พร้อมทั้งกล่าวว่า หากคณะกรรมการ ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์มีความรู้อ่านงบฯได้ เข้าใจถึงสัญญาณเตือน ความผิดปกติในการบริหารจัดการสหกรณ์ ก็จะทำให้เกิดการตรวจสอบภายในสหกรณ์ที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ และขอยืนยันว่า สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจะไม่ทิ้งสหกรณ์ไทยสหกรณ์ข้างหลัง"



             นาย สิรวิชญ์ ไพศาสตร์ ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ สิ่งที่ผู้บริหารสหกรณ์ต้องทำคือ วางระบบการป้องกันระบบการค้นพบการทุจริตให้ได้ การทุจริตในสหกรณ์เกิดได้ตั้งแต่ สมาชิก ฝ่ายจัดการ ฝ่ายบริหาร ส่วนการทุจริตเชิงนโยบายสามารถป้องกันได้ เช่นการไม่ให้กรรมการที่มีส่วนได้เสียพิจารณาและระบบ สหกรณ์ขาด ระบบ IT AUDIT หรือที่เรียกว่าการตรวจสอบการควบคุมการจัดการภายในหรือการตรวจสอบข้อมูลระบบ และตั้งข้อสังเกต ว่า ระบบการจ่ายค่าตอบแทนในสหกรณ์ค่อนข้างต่ำอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตการพิจารณาค่าตอบแทนจึงควรเป็นไปอย่างเหมาะสม และระบบผู้ตรวจสอบในสหกรณ์ ถูกคัดเลือกจากคณะกรรมการในเบื้องต้น ผู้ตรวจสอบอาจจะไม่มีความอิสระพอทางความคิดและเกิดระบบความเกรงใจ ไม่สร้างผู้ตรวจสอบระดับมืออาชีพ

              นายไพบูลย์ แก้วเพทาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์ กล่าวว่า คน ,ระบบ ,การกำกับตรวจสอบ  คือ 3 องค์ประกอบการทุจริต จึงควรต้องมีระบบที่ดี 3 ระบบ 1. ธรรมาภิบาล 2.การบริหารความเสี่ยง 3.ระบบการตรวจสอบภายใน เช่น สหกรณ์ต้องมี ระบบ Check and Balance หรือระบบตรวจสอบตรวจทาน เช่น Mobile App สามารถตรวจได้ว่าเงินในสมุดคู่ฝากตรงกับในระบบ  วางระบบให้สมาชิกตรวจสอบได้



ดังนั้นการจัดเสวนาทางวิชาการ เรื่องถามตรงๆกับจอมขวัญสหกรณ์เขาทุจริตกันอย่างไรฯ จึงเป็นการนำเนื้อหาสาระและข้อสรุปของการหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหา  ทั้งภาครัฐ สันนิบาตสหกรณ์ฯ และขบวนการสหกรณ์ ที่ต้องจับมือต้านทุจริต ส่งเสริมคนดี และสร้างความเป็นธรรมให้สมาชิกสหกรณ์ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนทั้งประเทศต่อไป




วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กรมชลฯ ลุยแก้น้ำท่วมเดินหน้าโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ จ.นครปฐม


    กรมชลประทานเดินหน้า งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม เป็นแผนงานที่ 4 ใน 9 แผนงานบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพิ่มการระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยแก้น้ำท่วม 



    นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเมื่อมีฝนตกต่อเนื่องบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มักเกิดปัญหาน้ำหลากท่วมในพื้นที่ตลอด เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขาอื่น ๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยไม่ทัน กรมชลประทานมีโครงการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดคือโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก (ปี 2557-2560) ได้เสนอแผนรวมการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ




    ในปี 2564 ได้มอบหมายให้ กิจการร่วมการค้าหรือ PYPC JV ทำการสำรวจโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแผนงานที่ 4 ใน 9 แผนงานบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ดังนี้ 

1. โครงการปรับปรุงระบบชลประธานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 

2.โครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงคลองชัยนาท-ป่าสัก และ ช่วงคลองป่าสัก 

3.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 

4. โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 

5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 

6.โครงการบริหารตัดการน้ำพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 

7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 

8.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีนและ 

9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง




    โดยการสำรวจ ออกแบบ โครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ จังหวัดนครปฐม เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเล โดยระบายน้ำทั้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเล ร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เกินกว่าศักยภาพของสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่ และสามารถเพิ่มการระบายน้ำได้ดีขึ้น มีความต่อเนื่องออกสู่อ่าวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตอนบน ตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์จนถึงคลองภาษีเจริญ โดยการปรับปรุง/ขุดคลองระบายน้ำและอุโมงค์ปริมาณน้ำ 30 ลบ.ม./วินาที ช่วยพร่องน้ำในคลองมหาสวัสดิ์เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำหลากตอนบนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ของโครงการ ตลอดจนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง



    นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า  องค์ประกอบของโครงการนี้มีดังนี้ 1.งานปรับปรุง/ขุดคลอกคลองระบาย 10.552 กม. เป็นอาคารประกอบคลองระบายน้ำรวมทั้งสิ้น 60 อาคาร และปรับปรุงคลองใต้สะพาน 5 แห่ง มีพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการประมาณ 0.75 ไร่ 2.งานอุโมงค์ระบายน้ำ 6.998 กม. เป็นอาคารประกอบของอุโมงค์ระบายน้ำรวม 4 อาคาร พื้นที่ผลกระทบประมาณ 7.935 ไร่ โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ และรับทราบข้อวิตกกังวลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แล้ว ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อโครงการได้เป็นอย่างดี โดยมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้แล้ว

    สำหรับแผนการดำเนินงานแบ่งเป็น ศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงข่ายชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างปี 2557-2560 ถัดมาคือ สำรวจออกแบบโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (2564-2565) ระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน เริ่มปฏิบัติงาน 1 ก.ค. 2564 สิ้นสุดสัญญา 22 ธ.ค. 2565 และนำเสนอโครงการ ในภาพรวม กนช. อนุมัติหลักการ 9 แผนหลักและในระยะเวลาปี 2560-2572 ก่อนเสนอเปิดโครงการต่อคณะรัฐมนตรี เตรียมงานก่อสร้างและงานจัดเตรียมเอกสาร ประกวดราคา ก่อสร้างโครงการประมาณปี 2567-2569 รวมถึงจ้างที่ปรึกษาบริการโครงการต่อไป


 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...