เนื่องจากเนื้อหมูและชิ้นส่วนผิดกฎหมายเหล่านี้ นำเข้ามาจากหลายประเทศทั้ง สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน บราซิล อิตาลี เบลเยียม และเกาหลีใต้ แต่สำแดงเท็จว่าเป็น สินค้าประเภทอาหารทะเล หรือวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งที่เนื้อหมูลักลอบไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบโรคสัตว์ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ของกรมปศุสัตว์ และยังไม่มีเอกสารใบอนุญาตนำเข้า และหลักฐานแสดงที่มาของแหล่งกำเนิด ซึ่งหากชิ้นส่วนหรือเนื้อหมูเหล่านี้ มาจากสัตว์ที่เป็นโรค หรือพาหะของโรคระบาด ย่อมมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคระบาดที่สร้างความเสียหายให้กับการเลี้ยงหมูไทยได้ ถือเป็นการซ้ำเติมวิกฤตที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกำลังเผชิญอยู่ให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ที่สำคัญเนื้อหมูลักลอบเหล่านี้ยังมาจากหลายประเทศที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยงได้ ต่างจากประเทศไทยที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการผลิตสัตว์มาตั้งแต่ พ.ศ.2545 ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปี พ.ศ. 2546 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น เนื้อหมูลักลอบนำเข้าที่นำมาจำหน่ายปะปนกับเนื้อหมูไทย นอกจากผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการบ่อนทำลายความปลอดภัยทางอาหารของคนไทยอีกด้วย
ในประเด็นนี้ นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ให้ข้อมูลว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนผิดกฎหมาย ถือเป็นความเสี่ยงที่ทำลายระบบการป้องกันโรคที่เกษตรกรผู้เลี้ยงและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสร้างขึ้นมา เพราะเป็นปัจจัยที่นำพาทั้งโรคและสารอันตรายเข้ามาทำลายเกษตรกรไทย ทั้งจากโรคระบาด การถูกบิดเบือนตลาดจากปริมาณที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้งยังทำให้ผู้บริโภคคนไทยต้องตายผ่อนส่งจากสารอันตรายที่แฝงมากับเนื้อหมูเถื่อน ส่งผลให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลการเจ็บป่วยจากการได้รับสารเหล่านั้น และยังสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยจึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมปศุสัตว์ กรมศุลากร เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เร่งตรวจตราและกวาดล้างขบวนการลักลอบนำเข้าไม่ให้เข้ามาทำลายวงการสุกรไทยเด็ดขาด เพราะที่ผ่านมา เกษตรกรได้ลงทุนปรับวิธีการเลี้ยงการจัดการป้องกันโรคที่เข้มงวด เพื่อไม่ให้โรค ASF มาทำอันตรายกับสุกรในฟาร์ม ดังนั้น จึงขอให้เร่งปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูให้สิ้นซาก และคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ
สุดท้าย วอนขอให้ใช้กลไกตลาดจัดการสมดุลราคา เพื่อให้เกษตรกรบริหารจัดการผลิตและการตลาดให้ผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม ไม่ถูกบิดเบือนกลไกราคา เป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่กำลังตัดสินใจกลับเข้าสู่ระบบการผลิต หลังจากต้องหยุดพักไป ช่วยเพิ่มปริมาณสุกรในอุตสาหกรรมให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น