วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565

สถาปนา 54 ปี สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย “เราจะไม่ทิ้งสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งไว้ข้างหลัง”

 


สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กำหนดจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 54 ปี ในวันที่ 20มิถุนายน 2565 ณ สันนิบาตสหกรณ์ฯ ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ พร้อม เสวนาร่วมพูดคุยประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานสหกรณ์ ช่องทางที่ก่อให้เกิดการทุจริต และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการป้องกันการทุจริตในสหกรณ์ ภายใต้ชื่อ ถามตรงๆ กับจอมขวัญสหกรณ์เขาทุจริตกันอย่างไร? แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา ผู้เสวนาประกอบด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  สหกรณ์ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ฯ นายไพบูลย์ แก้วเพทาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์ นายสิรวิชญ์ ไพศาสตร์ ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ โดยมี นางสาวจอมขวัญ หลาวเพ็ชร ร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ นอกเหนือจากการเสวนา ภายในงานได้นำนิทรรศการ วันคล้ายวันสถาปนาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย มาจัดตั้งเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ร่วมงาน รวมถึงจัดจำหน่ายผลไม้ตามฤดูกาล เช่นทุเรียน เงาะ มังคุด ส้มโอ รวมถึงข้าวเหนียวมะม่วง อาหารแปรรูปต่างๆ





นับเนื่องเป็นเวลา 54 ปีที่สันนิบาตสหกรณ์สหกรณ์ฯ ได้ก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ซึ่งได้มีการจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ ขึ้น เป็นสหกรณ์ประเภทชุมนุมสหกรณ์เป็นองค์การสูงสุดของขบวนการสหกรณ์ (APEX) ในชื่อว่าสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ จดทะเบียนตามพ.ร.บ.สหกรณ์พ.ศ. 2471 เมื่อวันที่26 กุมภาพันธ์ 2511 นับเป็นองค์การสูงสุดของขบวนการสหกรณ์ไทยในการเชื่อมโยงสหกรณ์ทุกประเภทเข้าด้วยกัน ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เนื่องจาก กิจการของสหกรณ์ ได้ขยายตัวขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ขึ้นใหม่ให้เหมาะสมในการส่งเสริมขบวนการสหกรณ์ จึงเปลี่ยนจากสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ มาเป็น สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (ตามส่วนที่ 6 ของพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 104) ให้มีสถาบันขึ้นสถาบันหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งเป็นสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้า แก่กิจการสหกรณ์ทุกประเภททั่วราชอาณาจักรอันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกันและมีบทบาทหน้าที่ (1) ส่งเสริมและเผยแพร่กิจการสหกรณ์ ตลอดจนทำการวินิจฉัยและรวบรวมสถิติเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์ (2) แนะนำช่วยเหลือทางวิชาการแก่สหกรณ์ และอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานระหว่าง สหกรณ์กับส่วนราชการหรือบุคคล (3) ให้การศึกษาฝึกอบรมวิชาการเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ (4) ส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างสหกรณ์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หรือสันนิบาตสหกรณ์ของต่างประเทศ หรือองค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน (5) ซื้อ จัดหา จำหน่าย ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง หรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ (6) ส่งเสริมธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม หรือบริการของสหกรณ์ (7) สนับสนุนและช่วยเหลือสหกรณ์เพื่อแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องที่เกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ซึ่งเป็น การกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ( เป็นตัวแทนของสหกรณ์ เพื่อรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากการสนับสนุนของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือภาคเอกชนอื่น (9) ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ บรรดาสหกรณ์อย่างแท้จริง และ (10) ดำเนินการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์ แห่งชาติมอบหมาย



ปัจจุบันสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ดำเนินการภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการชุดที่ 25 ซึ่งมีนายประเมศวร์ อินทรชุมนุม ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการ สันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทย ภายใต้แนวคิด สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จะไม่ทิ้งสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งไว้ข้างหลังขับเคลื่อนด้วยนโยบาย 6 ด้านนำไปสู่เป้าหมาย

1. ปฏิรูปสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย : เน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการปฏิรูประบบบริหารจัดการงบประมาณสันนิบาตสหกรณ์ฯให้มีประสิทธิภาพภายใต้ระบบธรรมาภิบาลพร้อมจัดตั้งกองทุนกลางและพัฒนาสู่การเป็นธนาคาร (Coop Bank) ปฏิรูปและยกระดับระบบการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสหกรณ์ โดยมีการจัดตั้ง วิทยาลัยสหกรณ์เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาคน พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของขบวนการสหกรณ์ ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดหลักสูตรฝึกอบรม ฟรี ที่เอื้อต่อการ พัฒนานักสหกรณ์มืออาชีพ ปฏิรูปและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (DATA CENTER ) ด้วยระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัยในยุคสหกรณ์ 4.0 รวมทั้งการปฏิรูประบบการเลือกตั้งของสันนิบาตสหกรณ์ฯเพื่อให้ได้ คนเก่ง คนดี และมีคุณธรรม เข้าสู่ระบบอย่างมืออาชีพ

2. กระจายอำนาจบริหาร : โดยการจัดตั้งสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดหรือเครือข่ายสหกรณ์ระดับจังหวัดตามบริบทของพื้นที่การกระจายอำนาจซึ่งเครือข่ายสหกรณ์จะมีอำนาจในการบริหารจัดการแทนสันนิบาตสหกรณ์ฯ กระจายการจัดการฝึกอบรมตามภูมิภาคเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและสร้างความใกล้ชิดระหว่างพี่น้องสหกรณ์ด้วยกัน

3. จัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม : โดยการจัดสรรงบประมาณร้อยละ 15-30 ให้แก่เครือข่ายสหกรณ์อย่างเป็นธรรมเพื่อใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทำบัญชีรายจ่ายตามความเป็นจริงและสะสมเงินที่เหลือเป็นกองทุนต่างๆเพื่อพัฒนาสันนิบาตสหกรณ์ฯและขบวนการสหกรณ์สู่ความเข้มแข็งและมั่นคง

4. แก้ไขกฎหมายสหกรณ์ : โดยการพัฒนาระบบสหกรณ์ ข้อบังคับ ระเบียบปฏิบัติ เป็นผู้นำขบวนการสหกรณ์ในการแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุงเพิ่มเติมข้อบังคับฯ ประกาศนายทะเบียนที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนาสหกรณ์พร้อมจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่สหกรณ์ทุกประเภท

5. เอื้ออาทรกลุ่มรากหญ้า : เน้นการพัฒนาสู่สากลด้วยระบบการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการของสหกรณ์ให้สามารถเชื่อมโยงทั้งด้านการเงิน ทุน การผลิต การแปรรูป การตลาดและการกระจายสินค้า สร้างตราสินค้า Brand Co-op ที่จะส่งเสริมการสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างสหกรณ์โดยใช้ Brand ตามที่องค์การสัมพันธภาพสหกรณ์สากลหรือ ICA ได้ประกาศรณรงค์ให้สมาชิกองค์กรสหกรณ์ทั่วโลกใช้เครื่องหมายการค้า Coop กระจายสู่ตลาดอย่างครบวงจรให้ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ

6. พัฒนาเครือข่ายสัตตะสหกรณ์: สร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ขยายเครือข่ายสหกรณ์ระดับชาติในรูปแบบ สภาสหกรณ์แห่งชาติผลักดันการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์ เช่น ชุมนุมสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์การยางฯ จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ผู้ใช้น้ำฯ จำกัด หรือการจัดตั้งเป็นประเภทสหกรณ์เอนกประสงค์ สร้างสหกรณ์เครือข่ายระดับจังหวัดให้มั่นคงในรูปแบบ    ชุมนุมสหกรณ์จังหวัด ภายใต้หลักการและแนวคิด สหกรณ์ก้าวไกล ด้วยน้ำพระทัยในหลวง ส่งเสริมความร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทให้มีความเชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...