ผืนดินที่เคยว่างเปล่าของ
โรงเรียนบ้านคลองเรือ หมู่ 11 ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร
ถูกพลิกฟื้นให้กลายเป็นฐานเรียนรู้อาชีพเกษตร หลังจากผู้อำนวยการโรงเรียนฯ
ประจักสิน บึงมุม มีแนวคิดที่จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มาดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
โรงเรียนแห่งนี้จึงไม่เพียงเน้นให้นักเรียนรู้หลักวิชาการเท่านั้น
แต่ต้องเรียนรู้พื้นฐานอาชีพเป็นทักษะชีวิตสำหรับใช้ในอนาคตของพวกเขาด้วย
ผอ.ประจักสิน เล่าว่า
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ว่าต้องทำอย่างไร
แต่ไม่มีใครนำมาปฏิบัติจริง เมื่อครูและชุมชนมาหารือร่วมกัน
จึงพบว่าแทบทุกบ้านทำอาชีพเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ทำให้ต้องประสบปัญหาราคาพืชผลการเกษตรที่ผันผวนแทบทุกปี
และเมื่อพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้
ทุกคนเชื่อว่าจะกลายเป็นทางรอดของคนในชุมชน อย่างน้อยก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน
และยังมีอาหารปลอดภัย พืชผักปลอดสารให้รับประทาน เกิดภูมิต้านทานทั้งแง่เศรษฐกิจ
สุขภาพ และสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนและชุมชนได้ ปลายปี 2562 พื้นที่ 16 ไร่ของโรงเรียน
จึงถูกแบ่งเป็นบ่อน้ำสำหรับเลี้ยงปลา มีสวนผักผลไม้ เพาะเห็ด และทำเกษตรปศุสัตว์
เริ่มต้นจากการเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา แต่ทั้งหมดยังเป็นไปอย่างไม่มีแบบแผนชัดเจน
จนกระทั่งโรงเรียนได้เข้าร่วม “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”
ที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
หรือซีพีเอฟ และ บมจ.สยามแม็คโคร เข้ามาสนับสนุนนักเรียนให้เลี้ยงไก่ไข่จำนวน 150 ตัว
เพื่อผลิตไข่ไก่อาหารโปรตีนคุณภาพดีสำหรับปรุงเป็นอาหารกลางวันได้ด้วยตนเอง
โดยเริ่มจากการวางแผนการเลี้ยง มีระบบการจัดการที่ดี
มีการถ่ายทอดความรู้และเทคนิควิชาการที่ถูกต้อง ทำให้ครู นักเรียน
และชาวชุมชนเข้าใจเรื่องการจัดการที่เป็นมาตรฐาน เข้าใจการลงทุนและจุดคุ้มทุน
เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากนั้นเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนบ้านคลองเรือ
โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนอยู่ 27 คน ในระดับชั้นอนุบาล 1- ประถมศึกษาปีที่ 6 ก็ถูกประยุกต์ให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี
โดยใช้โมเดลการเลี้ยงไก่ไข่ฉบับย่อที่มีการจัดการที่ดี มีหลักวิชาการ
ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวคิดที่ซีพีเอฟและมูลนิธิฯให้ไว้
ต่อยอดสู่การบริหารกิจกรรมเกษตรอื่นๆอย่างเป็นระบบ มีวิธีคิด รู้ต้นทุน รู้ตลาด
นำไปสู่ธุรกิจเล็กๆของโรงเรียนที่สามารถดำเนินงานต่อได้อย่างมั่นคง
เด็กๆได้เรียนรู้ มีทักษะชีวิต และทักษะอาชีพจากการลงมือปฏิบัติจริง
เมื่อโครงการในโรงเรียนเข้มแข็ง จึงขยายผลสู่การสร้าง “ศูนย์ดาวล้อมเดือน”
บนพื้นที่อีกแปลงของโรงเรียน จำนวน 20 ไร่
เพื่อให้เป็นทั้งคลังอาหารของชุมชนและเป็นธุรกิจที่ดำเนินการโดยชาวชุมชนอย่างแท้จริง
โดยยกรูปแบบของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จแล้ว มาสานต่อในผืนดินนี้
ทั้งฐานเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 200 ตัว
การปลูกผักปลอดสารพิษ (ผักออร์แกนิค) เพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงปลา เลี้ยงวัว
เลี้ยงแพะ และเพาะเลี้ยงไส้เดือน
โดยมีครูและผู้ปกครองของนักเรียนร่วมกันเป็นคณะกรรมการศูนย์ฯ
และดำเนินการโดยผู้ปกครองและน้องๆนักเรียน
เพื่อให้ศูนย์มีรายได้ต่อยอดกิจการในรุ่นถัดไปได้
จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียนที่มูลนิธิฯ
ซีพีเอฟ และแม็คโคร ส่งมอบให้ เมื่อผนวกเข้ากับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นพื้นฐานอันเข้มแข็ง
สู่โมเดลธุรกิจของชุมชนในนามศูนย์ดาวล้อมเดือน ที่พัฒนาจนกระทั่งได้รับการรับรอง GAP วันนี้ยังต่อยอดความสำเร็จไปสู่อีกกว่า 20 ครอบครัว ที่เริ่มเลี้ยงไก่ไข่ 20-25 ต่อครอบครัว
ควบคู่กับการเลี้ยงปลาและปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง เมื่อได้ผลผลิตไข่ไก่ ปลา
และผักได้เก็บเกี่ยว ทำให้แต่ละครัวเรือนมีอาหารไว้บริโภคโดยไม่ต้องซื้อหา
ที่เหลือก็แบ่งปันญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน หรือนำไปแปรรูป
เมื่อมีมากเกินจากบริโภคจึงนำไปจำหน่ายในตลาดชุมชน
กลายเป็นธนาคารอาหารที่ทุกคนร่วมกันสร้างด้วยตนเอง บรรลุเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนที่ได้ตั้งไว้
และชาวชุมชนภูมิใจที่ชุมชนเล็กๆของพวกเขา
ได้รับการประเมินให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อันดับที่ 2
ของจังหวัดกำแพงเพชร
และยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมและดูงานให้กับคณะบุคลากรทางการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ
“ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้
ควบคู่กับองค์ความรู้ที่ทุกคนได้รับจากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ
ทำให้ทุกครัวเรือนไม่มีปัญหาเรื่องอาหารการกิน ทุกบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้
ลดการไปตลาด จึงไม่เสี่ยงกับโรคโควิด และไม่เสี่ยงกับสารเคมีในพืชผัก
ไข่ไก่ก็สะอาดปลอดภัย เพราะทุกคนดูแลผลผลิตด้วยตัวเอง โครงการฯนี้
จึงตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง” ผอ.ประจักสิน
กล่าว
ขณะที่ มนัส แสงเมล์ ผู้ปกครองของ
ด.ญ.ณัฐนิชา หรือน้องปาล์ม และด.ญ.ณัฐชยา หรือน้องปอย
สองฝาแฝดที่กำลังช่วยกันเลี้ยงไก่ไข่ 20 ตัว ให้อาหารปลา และดูแลแปลงผักในบ้าน บอกว่า
โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน
แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับโรงเรียนและชุมชน แต่กลับสร้างประโยชน์มากมายให้กับทุกคน
เด็กๆก็ได้บริโภคไข่ไก่ทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง รวมทั้งได้เรียนรู้และมีทักษะอาชีพ
ทั้งการเลี้ยงสัตว์และการปลูกพืชผัก แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับพ่อแม่
ยิ่งเมื่อผู้ปกครองได้เข้าไปเรียนรู้ว่าโรงเรียนประสบความสำเร็จในการสร้างแหล่งอาหารของตนเอง
ชุมชนก็ตัดสินใจต่อยอดสร้างคลังอาหารชุมชนในศูนย์ดาวล้อมเดือน
ที่วันนี้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของชุมชนรอบข้างและผู้ค้าในท้องถิ่น
โดยจำหน่ายผ่านออนไลน์ ที่สำคัญคือ ผู้ปกครองนำสิ่งที่ลูกๆบอกมาทำต่อที่บ้าน
กลายเป็นคลังอาหารของบ้านช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้โดยเฉพาะในวิกฤตโควิดเช่นนี้
ส่วนน้องปาล์มและน้องปอย บอกว่า
ดีใจมากที่ความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลา และปลูกผักปลอดสารที่ได้รับ
ได้นำมาปฏิบัติจริงทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เกิดเป็นทักษะชีวิต
ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมตามฐานต่างๆ
ที่โรงเรียนและที่ศูนย์ฯ
ที่สำคัญคือความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตอาหารปลอดภัยให้กับเพื่อนๆในโรงเรียน
พ่อแม่พี่น้องชาวชุมชน และผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปบริโภค
โรงเรียนบ้านคลองเรือ
นอกจากจะเป็นหนึ่งในความสำเร็จของ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน
ที่มุ่งพัฒนาทักษะวิชาชีพควบคู่กับทักษะวิชาการ
โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวตั้ง เพื่อปลูกฝังเด็กๆให้เข้มแข็ง
มีองค์ความรู้และวิชาชีพติดตัว แม้ไม่มีหน่วยวัดผลความสำเร็จ
แต่เด็กๆจะซึมซับและก่อเกิดทักษะชีวิตติดตัวพวกเขา
และโรงเรียนนี้ยังเป็นตัวอย่างของการสร้างความสามัคคีและความเข้มแข็งในชุมชน
เพื่อร่วมกันสามารถสร้างแหล่งอาหารมั่นคงและยั่งยืน