วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565

ครึ่งศตวรรษแห่งการพัฒนาสหกรณ์ สู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนเกษตรกรไทย

    กว่าครึ่งศตวรรษกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่าง ๆผ่านนโยบายรัฐบาล โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นคงในเรื่องอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์กว่า 12 ล้านครอบครัว จากสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรกว่า 12,000 แห่งทั่วประเทศในวันนี้ ทั้งนี้เพื่อยกระดับภาคการเกษตรให้สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตมากขึ้นและสามารถเชื่อมโยงตลาดได้ด้วยการดำเนินงานก้าวหน้ามาโดยตลอดเห็นได้จากทุนดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มูลค่า 3.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.47 หมื่นล้านบาท ยิ่งกว่านั้นมีปริมาณธุรกิจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวมมูลค่า 2.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.85 หมื่นล้านบาท




    จะเห็นว่าทุกโครงการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรตลอดปี 2565 ตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้กลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด สานต่ออาชีพการเกษตรของครอบครัว  หรือโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ รองรับสินค้าและผลผลิตของสมาชิก รวมถึงเครือข่ายสหกรณ์ต่างภูมิภาคมาวางจำหน่าย เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าและผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์ได้ในราคายุติธรรมนั้นล้วนส่งผลทำให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง และมีความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น      



         

     “พ.ศ.ที่เปลี่ยนไป แต่งานหลักของเราก็ต้องทำต่อไป  วันนี้เราได้มาทำสิ่งที่ตั้งใจ อย่างไรก็แล้วแต่นโยบายเก่าเราต้องทำให้มั่นคง ก่อนจะไปตอกเสาเข็มต้นต่อไป เราต้องหันมามองว่าเสาเข็มที่เราตอกไปนั้นเป็นความมั่นคงถาวรเปรียบต้นไม้ก็ต้องมีรากแก้ว ต้องเจอพายุฝนต่าง ๆ ที่จะถาโถมเข้ามา ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมเราต้องกลับมาดูว่าเกษตรกรสมควรจะต้องมีอะไร อย่างโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน ก็ต้องไม่ให้เขาเคว้งคว้าง  หรือซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ต้องทำหน้าที่กระจายสินค้าที่ดีมีคุณภาพและปลอดภัยให้กับผู้บริโภค เดี๋ยวนี้ทุกกระทรวงต้องหันมามองว่า สหกรณ์มีศักยภาพ สามารถเป็นแหล่งกระจายสินค้าได้ เมื่อมีนโยบายใหม่ ๆ เข้ามาอย่าลืมสานต่อนโยบายเก่าจะได้ไม่ขาดช่วง ไม่ทิ้งเกษตรกรไว้ข้างหลัง”นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 50 ปีกรมส่งเสริมสหกรณ์ วันที่ 1 ตุลาคม 2565   




    อย่างไรก็ตามในปี 2566 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังคงเดินหน้าสนองนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ฉบับที่ 5 ภายใต้วิสัยทัศน์ “สหกรณ์เข้มแข็งและเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก”ในพันธกิจ 5 ด้านที่สำคัญ ประกอบด้วย การพัฒนาบุคลากร เพิ่มสมรรถนะ ทักษะ ความรู้ ด้านดิจิทัลและนวัตกรรม การพัฒนาองค์กร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนหลักธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการ การพัฒนาด้านข้อมูลสารสนเทศ ด้วยการสร้างนวัตกรรม วางระบบข้อมูล ทำให้เข้าถึงได้ง่าย และผู้ใช้มีความเชื่อมั่น การส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ การแข่งขันและการกำกับดูแลสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุนให้ทันต่อสถานการณ์ โดยมีความมุ่งหวังให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นองค์กรด้านการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนงานส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้สามารถใช้ข้อมูลสารสนเทศประกอบการวางแผน การพัฒนาองค์กร ยกระดับสู่องค์กรสมรรถนะสูง ด้วยนวัตกรรม มีความสามารถในการแข่งขัน มีธรรมภิบาล สร้างความกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม พร้อมปรับตัวเพื่อก้าวสู่ “Next Normal” บนพื้นฐานของความสมดุลและยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายตามแผนการพัฒนาประเทศ เพื่อให้“ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”




    นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการสำคัญในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลายส่วนหนึ่งพี่น้องเกษตรกรมีปัญหาเรื่องการจำหน่ายผลผลิต ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเน้นตลาดนำการผลิต จะต้องหาตลาดให้พี่น้องเกษตรกรก่อนเริ่มต้นการผลิตอะไรจะได้ตรงกับความต้องการของตลาด อีกส่วนก็จะเน้นการทำผลิตแบบแปลงใหญ่เพื่อรวมกลุ่มผู้ผลิตให้สามารถลดต้นทุนลง โดยการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรร่วมกัน มีการบริหารจัดการแปลงร่วมกัน ผ่านระบบเศรษฐกิจพอเพียง

     “เราจะเห็นว่าสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่มีที่ดินค่อนข้างน้อยคนละ 5 ไร่ 10 ไร่ เราก็ให้เน้นการผลิตที่พอกินพอใช้ในครัวเรือนก่อนเพื่อให้เขาลดค่าใช้จ่าย เน้นทำบัญชีครัวเรือนเพื่อให้เขารู้รายได้รายจ่ายของเขาแล้วนำส่วนที่เหลือไปขายในตลาด เราก็จัดตลาดให้เขา ทั้งที่เป็นตลาดในท้องถิ่นและซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เน้นให้เขาผลิตสินค้าที่มีรายได้ตลอดทั้งปี   มีทั้งปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ มีรายได้รายวันรายเดือน รวมถึงปลูกไม้ยืนต้นมีรายได้รายปีควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ไปด้วยอาจจะเลี้ยงวัวตัวสองตัวหรือเลี้ยงสัตว์อย่างอื่นเพื่อนำมูลมาทำปุ๋ยใช้สำหรับปลูกพืชต่อไป”อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผย




    นายวิศิษฐ์ยังกล่าวถึงแหล่งทุนที่มาสนับสนุนสมาชิกสหกรณ์ให้มีอาชีพและรายได้ว่ากรมส่งเริมสหกรณ์มีเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 ให้เกษตรกรสมาชิกที่ประสงค์จะกู้เปลี่ยนอาชีพจากเดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้หันมาทำเกษตรผสมผสาน โดยให้สมาชิกสหกรณ์กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาทและ 30,000 บาท มีระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3-5 ปี นอกจากนี้ยังมีโครงการพักชำระหนี้และลดต้นลดดอกจนกว่าเขาจะมีรายได้เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรสมาชิกที่ไม่สามารถชำระหนี้นอกระบบได้  

    “เหตุผลที่เราไม่ให้กู้จำนวนเงินมากมาย ก็เพราะเราจะเข้าไปเสริมและต้องการให้เขาใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการทำการเกษตรเพื่อให้เขามีรายได้ที่สามารถอยู่ได้ เพราะวิถีชีวิตเกษตรกรในปัจจุบันส่วนใหญ่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว มีแต่หนี้ เราก็พยายามพลิกฟื้นกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อให้เขาอยู่ได้ มีรายได้เพียงพอ  ไม่อย่างนั้นครอบครัวของเกษตรกรก็จะล่มสลาย เพราะภาวะหนี้ สุดท้ายก็อพยพโยกย้ายไปที่อื่นก็จะมีปัญหาทางสังคมตามมา”อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์สรุปทิ้งท้าย

 

 


 

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2565

กรมส่งเสริมการเกษตรขอชี้แจงข่าวบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เข้าไปติดต่อรับซื้อกระท่อมจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้


   
 กรมส่งเสริมการเกษตรขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับข่าวบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปติดต่อรับซื้อกระท่อมจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ดังนี้



    ตามที่มีกระแสข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับพฤติการณ์ของบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปติดต่อรับซื้อต้นกระท่อมจากเกษตรกรในหลายจังหวัด ทั้งในจังหวัดชุมพร ตรัง และอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีผู้เสียหายหลายคน ซึ่งได้รวมตัวกันเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเอาผิดกับบุคคลดังกล่าวแล้ว โดยผู้เสียหายระบุว่า บุคคลดังกล่าวใช้ชื่อในการติดต่อว่า "ผู้กองเดียร์" และมีการแนะนำกันมาเป็นทอดๆ นั้น

กรมส่งเสริมการเกษตรขอเรียนว่า จากการตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว บุคคลดังกล่าวมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมแต่อย่างใด และกรมส่งเสริมการเกษตรมิได้มีโครงการในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งมิใช่ภารกิจของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรทั่วประเทศเฝ้าระวัง และเตือนภัยเกษตรกรให้ระมัดระวังการติดต่อซื้อขายในลักษณะดังกล่าวแล้ว และหากพบบุคคลที่มีพฤติการณ์แอบอ้างหรือสร้างความเสียหายใดๆ ต่อกรมส่งเสริมการเกษตร จะพิจารณาดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายต่อไป 




    สำหรับเกษตรกรและประชาชนที่สนใจและต้องการคำแนะนำด้านพืชเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรที่ประจำอยู่ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2565

กรมประมง...จัดยิ่งใหญ่ งานครบรอบ 96 ปี ชูนิทรรศการ “9 ทศวรรษ 6 รัชกาล สืบสานพัฒนา การประมงก้าวหน้า ทรัพยากรยั่งยืน”


   
 วันที่ 21 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมงกำหนดจัดงาน “วันสถาปนากรมประมงครบรอบปีที่ 96” และ “วันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2565” โดยในโอกาสนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานการเปิดงานฯ และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออนไลน์ จำนวนกว่า 1,200,000 ตัว ลงสู่ 4 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญของไทย พร้อมมอบโล่รางวัลแก่เกษตรกรดีเด่น ข้าราชการดีเด่น และแสดงความยินดีกับกรมประมงที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 และรางวัลองค์กรเสริมสร้าง คนดี คนเก่ง คนกล้า และโอกาสสู่สังคมเพื่อพัฒนาชาติไทยอย่างยั่งยืน จากวุฒิสภา



    นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเพื่อนำไปสู่ภาคการประมงของประเทศที่มีความเข้มแข็ง ผลิตสัตว์น้ำ สินค้าประมงที่ได้มาตรฐาน ป้องกันและปราบปรามการทำประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างอาชีพประมงให้เกิดความมั่นคง และสร้างวิถีความอยู่ดีมีสุขให้แก่เกษตรกรชาวประมงและประชาชนมาโดยตลอด ถึงแม้ที่ผ่านมาการประมงของไทยต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ทั้งจากภัยธรรมชาติ ราคาผลผลิตสัตว์น้ำตกต่ำ รวมถึงผลกระทบจากโรคระบาดโควิด - 19 แต่การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการประมงของไทยไม่หยุดนิ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรชาวประมง จึงได้มีนโยบายและให้แนวทางการปฏิบัติแก่กรมประมง ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทด้านการประมง ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกรมประมงได้นำนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อนเป็นโครงการต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานทางวิชาการและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน การขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรด้านการประมง บูรณาการการมีส่วนร่วมของภาครัฐและชุมชนด้วยการเพิ่มความรู้ พัฒนา และปลูกจิตสำนึกรักหวงแหนในทรัพยากรสัตว์น้ำในชุมชนพื้นถิ่นบริหารจัดการผลผลิตสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยการพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ผ่านโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมทั่วประเทศ  โครงการบริหารจัดการประมงทะเลอย่างยั่งยืน ยกระดับการผลิตด้านการประมง ในรูปแบบ“การตลาด นำการผลิต” ผ่านโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าประมงให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค สร้างมาตรฐานสินค้าประมงให้อยู่ในระดับสากล รวมไปถึงร้าน Fisherman shop จุดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้กับพี่น้องชาวประมงและเกษตรกรส่งตรงถึงผู้บริโภค ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มช่องทางในการกระจายผลผลิตสัตว์น้ำสู่ผู้บริโภค โดยการันตีคุณภาพด้วยตราสัญลักษณ์ “ประมงธงเขียว” ซึ่ง รับประกัน ความสด สะอาด ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค 





    จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน ทำให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา กรมประมงสามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐ เป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานที่มีความเป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ ที่มีการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร และเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งในปีนี้ กรมประมงได้รับรางวัลเลิศรัฐถึง 8 รางวัล ด้วยกัน อาทิ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับก้าวหน้า (Advance) / รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม รางวัลดีเด่น ประเภทเลื่องลือขยายผล : ห้วยถ้ำมด - หนองพัง แหล่งน้ำฝั่งโขง เชื่อมโยงเครือข่ายขยายผลธนาคารสัตว์น้ำฯ / รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทร่วมใจแก้จน : กุ้งก้ามกรามสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ก้าวข้ามความจนคนเขื่อนอุบลรัตน์ / รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ : การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์โดยประยุกต์ใช้หลักบริหารจัดการความเสี่ยง (Smart FSW) / รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนารบริการ : White list hatchery เพื่อสนับสนุนลูกกุ้งทะเลปลอดโรค รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม รางวัลดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม : เพาะพันธุ์ปลาปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ (ชุมชนประมงท้องถิ่นกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชังเขื่อนขุนด่าน) / รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม รางวัลดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม : หนองต่าย ร่วมใจลดรายจ่าย สร้างรายได้จากธนาคารสัตว์น้ำชุมชน / รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทร่วมใจแก้จน : จากนาข้าวเป็นบ่อปลาสร้างมูลค่าสินค้าประมงสร้างชีวิต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาภาคการประมงของประเทศได้เป็นอย่างดี และรางวัลจากวุฒิสภา ในฐานะที่กรมประมงเป็นองค์กรที่เสริมสร้าง คนดี คนเก่ง คนกล้า และโอกาสสู่สังคมเพื่อพัฒนาชาติไทยอย่างยั่งยืน ประจำปี 2565 





    อธิบดีกล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการจัดงานในวันนี้ กรมประมงได้จัดกิจกรรมของวันสถาปนากรมประมงครบรอบปีที่ 96 และกิจกรรมวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2565 ขึ้นพร้อมกัน โดยมีพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออนไลน์ใน 4 พื้นที่ ประกอบด้วย 1. บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ 2. กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา 3. หนองหาร จังหวัดสกลนคร และ 4. เขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมจำนวนกว่า 1,200,000 ตัว โดยพันธุ์สัตว์น้ำที่ปล่อย ประกอบด้วย ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลายี่สกเทศ ปลาสวาย ปลาสร้อยขาว และปลากาดำ นอกจากนี้ ได้มีการมอบโล่รางวัลให้กับผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการประมงไทย อาทิ เกษตรกรดีเด่น  ข้าราชการดีเด่น และการมอบโล่รางวัลงานวิจัยประกาศเกียรติคุณให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมประมง ผู้เกษียณอายุซึ่งมีคุณูประการต่อกรมประมง มอบเกียรติบัตรและเครื่องหมายเชิดชูเกียรติสืบสานเกษตรกรรมยั่งยืน ประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการตรวจการประมง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรชาวประมงและเจ้าหน้าที่ทุกคนอีกด้วย

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2565

แม็คโคร ร่วมมือภาครัฐและหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย นำทีมพนักงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยถึงพื้นที่น้ำท่วม


     “แม็คโคร” ย้ำจุดยืนคนไทยไม่ทิ้งกัน ระดมทีมพนักงานจิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐตั้ง “โรงครัว” แจกจ่ายอาหารและน้ำดื่ม ถึงพื้นที่ประสบอุทกภัยใน จ.ระยอง ส่วนจังหวัดภาคกลาง อยุธยา อ่างทอง และสระบุรี ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งมอบของใช้จำเป็น และน้ำดื่ม ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ในทุกจังหวัด




    บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  เดินหน้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจเคียงข้างชุมชน สังคม และประเทศชาติ เมื่อเกิดอุทกภัยรุนแรงจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในหลายพื้นที่ จึงระดมพนักงานจิตอาสา ผนึกกำลังกับหลายหน่วยงาน ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็น แม็คโคร ระยอง ที่เปิดพื้นที่ในสาขาเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลักของจังหวัด โดยได้ทำงานร่วมกับ สภากาชาดไทย มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก และกองทัพเรือ เปิดพื้นที่ทำโรงครัวและร่วมลงพื้นที่ส่งมอบอาหาร น้ำดื่ม-สิ่งของจำเป็น  รวมถึงสนับสนุนพื้นที่จอดรถให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อน  ซึ่งจากรายงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีประชาชนได้รับผลกระทบ 25,123 ครัวเรือน จาก 6 อำเภอ รวม 9 ตำบล 25 หมู่บ้าน ส่วนพื้นที่ประสบภัยจังหวัดภาคกลาง แม็คโครได้ส่งมอบน้ำดื่ม ให้แก่ นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ในจังหวัด อยุธยา อ่างทอง และสระบุรี ที่มีผู้ประสบภัยเกือบ 30,000 ครัวเรือน




    ไม่เพียงเท่านั้น แม็คโคร ยังได้ร่วมมือ กับกรมการค้าภายใน จัดเตรียมสินค้าอุปโภค-บริโภค และสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และกระจายสินค้าอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัย ไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน รวมถึงการดูแลลูกค้ากลุ่มผูประกอบการรายย่อย โชห่วย และร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้ ให้ฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว


 

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2565

“บันได3ขั้น”สู่ธุรกิจซื้อขายสินค้าครบวงจร สูตรสำเร็จ”ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์คลองสวนหมาก”


   
 การดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบ”ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์”ของสหกรณ์นิคมคลองสวนหมาก จำกัด ต.สักงาม อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ภายใต้แนวคิด”สดจากฟาร์มถึงมือคุณ” ตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดธุรกิจร้านค้าสหกรณ์สู่ความเป็นมืออาชีพให้สามารถรองรับการให้บริการสมาชิก และบุคคลทั่วไปได้อย่างทั่วถึงในราคายุติธรรม



    ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือด้านการตลาดแก่สมาชิกเท่านั้น แต่ยังเชื่อมประสานธุรกิจระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตในเครือข่ายทั้งในและต่างจังหวัดทั่วไทยและเป็นเวทีเจรจาทางธุรกิจระหว่างเกษตรกรสมาชิกกับพ่อค้านักธุรกิจรายใหญ่อีกด้วย โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและยกระดับสินค้าคุณภาพของเครือข่ายสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น       

     “ผมวางไว้ 3 สเต็บ เริ่มจากช่วยสมาชิกในพื้นที่ให้มีช่องทางการตลาด จากนั้นเชื่อมเครือข่ายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสหกรณ์ด้วยกันและสุดท้ายเป็นเวทีในการเจรจาทางธุรกิจระหว่างเกษตรสมาชิกสหกรณ์กับนักธุรกิจ นี่เป็นภาพกว้างในการส่งเสริมด้านการตลาดแก่สมาชิกในความคิดของผม”




    นายสุริยะ นิลอินจันทร์ ผู้จัดการสหกรณ์นิคมคลองสวนหมากจำกัดเผยแนวคิดในการพัฒนาซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์คลองสวนหมากเพื่อรองรับช่องทางการตลาดผลผลิตของเกษตรกรสมาชิก โดยย้ำว่าเราจะไม่ให้สมาชิกปลูกพืชอย่างไร้ทิศทาง ซึ่งสหกรณ์จะมีหน้าที่วางแผนการผลิตแก่สมาชิกเพื่อไม่ให้ให้สินค้าที่เข้ามาไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เนื่องจากมีสินค้าหลายชนิดในพื้นที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ ที่สำคัญสถานที่ตั้งมีความเหมาะสมอยู่ริมถนน เป็นจุดพักรถผู้สัญจร บุคคลภายนอกเข้าห้องน้ำระหว่างนี้เขาจะได้จับจ่ายใช้สอยสินค้าของเราได้ 

     “จุดเด่นที่ผมตั้งเป้าคนเข้ามาที่สหกรณ์จะต้องได้ทุกอย่างกลับไป คุณอยากเข้าซ่อมรถเรามี คุณอยากเข้ามาซื้อของเรามี คุณอยากเข้ามาพักผ่อน หยุดพักรถพักคน เราก็จัดมุมสบาย ๆ ไว้ให้หรืออยากเข้ามาพูดคุยธุรกิจที่นี่เราเตรียมไว้ให้พร้อม พยายามดึงเขาให้แวะเข้ามาก่อน จากนั้นเขาค่อยมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าเราเอง”     



 

    นายสุริยะ เผยกลยุทธ์ทางการตลาดโดยจะต้องหาตลาดก่อน เมื่อตกผลึกในเรื่องตลาดแล้วค่อยมาส่งเสริมสมาชิกทำในสิ่งที่ตลาดต้องการ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ตามฤดูกาล เมื่อเดินข้ามาที่ซูเปอร์มาร์เก็ตคลองสวนหมากก็จะได้ทุกอย่างครบจบในที่เดียว ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าของเครือข่ายสหกรณ์จากทั่วประเทศด้วยเฉกเช่นเดียวกันศูนย์กระจายสินค้าของโมเดิร์นเทรดทั้งหลาย




     “คนอยากได้ข้าวสาร เราก็หาข้าวสารมาให้ อยากได้สับปะรด ผลไม้ตามฤดูกาลคุณเข้ามาคลองสวนหมากก็จะได้สินค้าเหล่านี้ทันที เราเป็นศูนย์กระจายสินค้าเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ในอนาคตผมตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นคลังของสหกรณ์ทั่วประเทศ เหมือนคลังสินค้าซีพี บิ๊กซี โลตัส คุณอยากจะขายแต่คุณไม่รู้ว่าจะขายอะไรที่ไหนมาคุยกับผม การขายการกระจายสินค้าเป็นหน้าที่ของผมครับ”ผู้จัดการสหกรณ์นิคมคลองสวนหมาก จำกัด กล่าวย้ำ

    เขายังอธิบายรายละเอียดการบริหารจัดการภายในว่าส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปทันสมัยที่ภาคเอกชนมาดำเนินการติดตั้งให้ ขณะเดียวกันยังได้มีการจัดทำแผนแม่บท 5 ปีของสหกรณ์เพื่อให้การดำเนินงานมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนการดำเนินงานเป็นไปตามแผนหรือไม่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของคณะกรรมการฯ ฝ่ายจัดการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

    “เรามีโปรแกรมสำเร็จรูปทันสมัยควบคู่กับแผนแม่บท 5 ปี ซึ่งการดำเนินกิจกรรมทุกอย่างอยู่ในแผนแม่บทและคิดว่ามีไม่กี่สหกรณ์ในประเทศไทยที่มีแผนแม่บทออกมาใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนแรกการจัดหาสินค้า เราสร้างตัวตลาดเสร็จแล้ว พอเปิดตลาดตอนนี้จะเป็นสินค้าเอกชนร้อยละ 70 เพราะเราต้องดำเนินการกิจการให้ได้ก่อน เพื่อให้สหกรณ์อยู่รอดก่อน หลังจากนั้นก็จะเอาสินค้าของเกษตรกรและของสหกรณ์เข้ามาทดแทนสินค้าของเอกชน” 




    นายสุริยะให้เหตุผลถึงสาเหตุที่ไม่นำสินค้าของสมาชิกและเครือข่ายสหกรณ์มาวางทั้งหมดในช่วงแรกนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะเราต้องการความอยู่รอดก่อน เนื่องจากความสม่ำเสมอของการส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ยังไม่แน่นอน แต่เมื่อไหร่ทุกอย่างมีความพร้อมก็จะนำสินค้าสหกรณ์และเครือข่ายมาวางจำหน่ายทั้งหมด       

     “การเซ็นเอ็มโอยูเป็นอะไรที่ไม่ได้ประโยชน์ สหกรณ์ผมไม่ทำ แต่จะทำสัญญาซื้อขายที่ชัดเจนเท่านั้น อย่างตอนนี้ผมทำสัญญาซื้อขายข้าวเหนียวสันป่าตองกับสหกรณ์ห้างฉัตร ลำปางจะสั่งเขาในราคาพิเศษ ทุก 45 วันรถสิบล้อจะขึ้นไปรับข้าวครั้งละ 16 ตันตามสัญญา ทุกวันนี้สหกรณ์ขายข้าวเดือนละ 130-200 ตัน”ผู้จัดการสหกรณ์คนเดิมกล่าว

    ด้าน นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายที่จะพัฒนาสหกรณ์ที่มีความพร้อมเป็นสถานที่ให้บริการจำหน่ายสินค้าให้แก่สมาชิก โดยจะแตกต่างจากร้านทั่วไปตรงที่สามารถเอาสินค้า ของสมาชิกและเครือข่ายสหกรณ์ต่างภูมิภาคมาวางจำหน่ายในร้านได้ด้วย เป็นการช่วยกันระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ภูมิภาค ระหว่างสมาชิกกับตัวสหกรณ์ โดยสมาชิกผลิตสินค้า ส่วนสหกรณ์จะดูแลเรื่องการตลาดและสถานที่วางจำหน่าย หลังขับเคลื่อนมาได้ปีเศษ สหกรณ์ต้องวางเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้มีความยั่งยืน

     “ผมมองว่าซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งต้องปรับตัวให้เกิดความทันสมัย โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ร้านโชว์ห่วยมีเจ้าของคนเดียวมีสภาพคล่องดีก็ยังไปไม่รอด แล้วสหกรณ์จะไปรอดได้อย่างไร ผมฝากโจทย์ให้เขาเมื่อปีที่แล้ว ว่าเราต้องฉีกแนวตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทุกรูปแบบ จุดเด่นเขาอย่างแรกคือความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง สองสมาชิกเห็นความสำคัญแล้วสนับสนุนเต็มที่ ผมสังเหตุเห็นการประชุมใหญ่ใช้ผู้แทนแต่ที่นี่สมาชิกขอมานั่งฟังด้วย อันนี้คือความแตกต่าง”รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยจุดเด่น

     นายอัชฌาย้ำด้วยว่าข้อเสียที่ซูเปอร์มาร์เก็ตมักประสบปัญหาก็คือใช้วิธีการซื้อขาดบางครั้งสินค้าบางอย่างจำพวกพืชผักเก็บไว้ได้ไม่นานเกิดการเน่าเสีย แต่สหกรณ์นี้มีร้านอาหารรองรับ นำพืชผักเหล่านี้มาเป้นวัตถุดิบประกอบหารแทนการทิ้ง

    “ซื้อมาสิบบาทมาขายสิบห้าบาท ถ้าขายไม่ได้ก็ขาดทุน เพราะพืชผักพวกนี้จะเก็บไว้ได้ไม่นาน ที่นี่เขาก็มีร้านอาหารรองรับเอาสินค้าพวกนี้มาทำอาหาร เมื่อคนมาเติมน้ำมันในปั้มก็หาซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วก็มาทานอาหารได้ด้วย”นายอัชฌากล่าว   



   

    สำหรับสหกรณ์นิคมคลองสวนหมาก จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2515 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 4,000 ราย ได้ดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบมินิมาร์ท ตั้งแต่ปี 2551 และในปี 2563 สหกรณ์ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ตามแนวทางการส่งเสริมของกรมส่งเสริมสหกรณ์  โดยได้รับการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะในการขับเคลื่อนการดำเนินซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ตลอดจนเงินทุนในการจัดหาสินค้ามาจำหน่าย                    ทำให้สหกรณ์มีมูลค่าการจำหน่ายสินค้ากว่า 35 ล้านบาท

     นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2565 สหกรณ์ได้ดำเนินการพัฒนาร้านค้าสหกรณ์จากรูปแบบมินิมาร์ท เป็นร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ โดยก่อสร้างอาคารจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ ขนาด 800 ตารางเมตร งบประมาณ 5,792,000 บาท ภายใต้ชื่อจำหน่ายสินค้าว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์นิคมคลองสวนหมาก จำกัด”

     ปัจจุบันนอกจากเป็นช่องทางการตลาดสินค้าให้กับสมาชิกแล้วยังร่วมกับเครือข่ายสหกรณ์จัดจำหน่ายสินค้าสหกรณ์และผลิตภัณฑ์เด่นอีกด้วย อาทิร่วมกับสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด จ.ลำปางในการซื้อขายข้าวเหนียวสันป่าตอง หรือทำธุรกิจร้านกาแฟ ภายใต้ชื่อ Sun Coffee โดยการนำผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่วสายพันธุ์อาราบิก้า จากสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ตพัฒนา จำกัด จ.เชียงใหม่มาแปรรูปเป็นกาแฟสด กาแฟร้อน กาแฟเย็นและกาแฟดริปเพื่อจำหน่ายอีกด้วย

 

 

 

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2565

เกษตรสุดปลื้ม คว้ารางวัลส่งเสริมคนดีคนเก่งฯ จากวุฒิสภาเพิ่ม

    กรมส่งเสริมการเกษตร เข้ารับรางวัลองค์กรส่งเสริมคนดี คนเก่ง คนกล้า จากวุฒิสภา ด้านอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุรางวัลสร้างขวัญและกำลังใจอย่างดีให้กับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ที่จะมุ่งมั่นทำงานเพื่อเกษตรกรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 




    นายเข้มแข็ง ยุติธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ารับมอบรางวัลองค์กรส่งเสริมคนดี คนเก่ง คนกล้า จากคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วุฒิสภา โดยมีศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นผู้มอบ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภา ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นผลมาจากที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทุ่มเททำงานเพื่อพี่น้องเกษตรกรมาตลอด โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทั่วประเทศมีองค์ความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่ครบทุกมิติ ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคตามนโยบายตลาดนำการผลิตของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการพัฒนาให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรมีศักยภาพในการพัฒนาอาชีพของตนเอง โดยมีเป้าหมายให้ภาคการเกษตร เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จนเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของรางวัลดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรทุกระดับมีขวัญกำลังใจ และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อพัฒนาชีวิตของเกษตรกรต่อไป 

สำหรับรางวัลองค์กรส่งเสริมคนดี คนเก่ง คนกล้า มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจในการประพฤติ การปฏิบัติตนให้เป็นคนดี คนเก่ง คนกล้า ในชุมชน สังคม และประเทศ เป็นตัวอย่างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเพียบพร้อมทั้งความดี ความเก่ง และความกล้าควบคู่กันไป ตลอดจนเพื่อให้องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้ความสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาคนไทยให้เป็นคนดี คนเก่ง และคนกล้า ในสัดส่วนที่อัตราเชิงปริมาณและคุณภาพสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงาน 74 แห่ง เข้าร่วมรับมอบรางวัลในครั้งนี้ด้วย




    อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ กรมส่งเสริมการเกษตรกร เพิ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2565 ถึง 13 รางวัล จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประกอบด้วย รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น จำนวน 4 รางวัล จากผลงาน “มังคุดแก้จนคนทำแปลงใหญ่ มังคุดคิชฌกูฏ” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี, “วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ อ.บ้านโฮ่งจ.ลำพูน” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูนและสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำพูน, “ฟักทองเงินล้าน@สุพรรณบุรี” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี และ “โครงการหนองเม็กโมเดล พลิกวิถีผักอินทรีย์ ร่วมใจแก้จน คนอำนาจเจริญ” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ 

    สำหรับ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี จำนวน 8 รางวัล แบ่งเป็น 1) รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดี จำนวน 4 รางวัล จากผลงาน “วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผู้ปลูกไผ่ ร่วมใจแก้จน ชุมชนบ้านอ่างเตย” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา, “จิ้งหรีดแปลงใหญ่แก้จนแบบคนบุรีรัมย์” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์, “หนองค้าพารวย ด้วยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ และ “ท่องเที่ยวเกษตรวิถีใหม่ ขจัดภัยยากจนสู่ชุมชนบ้านปรก” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม และ 2) รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี จำนวน 4 รางวัล จากผลงาน การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ขนุน ต.หนองเหียง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี, โครงการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ไม้ดอกบ้านตาติด ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี, การควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าวแบบมีส่วนร่วม ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนต้นแบบการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ยั่งยืน ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้ง รางวัลบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ ระดับดี อีกจำนวน 1 รางวัล จากผลงาน “กรมส่งเสริมการเกษตรแก้วิกฤตศัตรูพืชอุบัติใหม่ใบด่างมันสำปะหลัง” โดย กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย และกองขยายพันธุ์พืช




    อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้ายว่า รางวัลที่ได้รับทั้งหมดในปี 2565 นี้ นับเป็นกำลังใจที่ดีเยี่ยมของพวกเราชาวกรมส่งเสริมการเกษตร และในปีต่อๆ ไป กรมส่งเสริมการเกษตรยังคงมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ให้มีความรู้ สามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป ดังวิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ว่า “กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน”

 

สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด แปรรูปผลผลิตยางพารา พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

    จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งมีผลมาจากปัจจัยความต้องการยางพาราของตลาดโลก และปัญหาต้นทุนการผลิต จึงส่งผลกระทบกับเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทำให้มีรายได้ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพ มีภาระหนี้สิน และส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด ตำบลเขาซก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เป็นสหกรณ์ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ 



    ซึ่งจากเดิมเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวส่วนใหญ่นำส่งขายให้กับโรงงานในเขตพื้นที่อำเภอใกล้เคียงในลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านราคา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายจากปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และค่าจ้างแรงงานมีราคาสูง ประกอบกับเกษตรกรได้รับผลกระทบในเรื่องราคาอ้อย และมันสำปะหลังตกต่ำ จึงมีเกษตรกรบางรายมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามาทดแทน จึงได้มีการนำยางพาราเข้ามาทดลองปลูกในพื้นที่ซึ่งได้ผลดี จนกระทั่งในปี 2534 มีการรวมตัวกันของเกษตรกร โดยหันมาทำยางแผ่น แทนการขายน้ำยางสด และรวมกันขายเป็นกลุ่ม จากการร่วมมือช่วยเหลือกันของสมาชิกภายในกลุ่ม จึงได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ ในการสร้างโรงอบยาง เพื่อปรับปรุงคุณภาพยาง และได้ก่อตั้งเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2537 สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด 




    ด้าน นายธวัชชัย สุระประเสริฐ รองประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกจำนวน 902 ราย ควบคุมการรวบรวมผลผลิตทุกอำเภอในจังหวัดชลบุรี รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง โดยมีการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นสหกรณ์ดำเนินธุรกิจครบวงจรมุ่งพัฒนาบุคลากร ตอบสนองมวลสมาชิก ผลิตยางแท่งสู่มาตรฐานสากล” ซึ่งมีการดูแลและบริการเกษตรกรสมาชิก ได้แก่ จัดหาสินค้าทางการเกษตรมาจำหน่าย (ปุ๋ย,เคมีการเกษตร,วัสดุอุปกรณ์) รวบรวมผลผลิตยางพารา (ยางแผ่น,ยางก้อนถ้วย) แปรรูปผลผลิตยางพารา (ยางแท่ง STR 20) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการมส่งเสริมสหกรณ์ ได้แก่ โครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร (ASPL) ได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน เพื่อนำมาจัดซื้อเครื่องชั่งรถบรรทุกพร้อมหลังคาคลุมขนาด 80 ตัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการรวบรวมยางขายให้สหกรณ์ และสหกรณ์แห่งนี้จึงสามารถเดินหน้าการดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงปัจจุบัน





    นอกจากนี้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่ทำให้ดำเนินธุรกิจไปอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการดำเนินงานในรูปแบบการตลาดนำการผลิต สามารถรับซื้อยางพาราในราคา 52.09 บาท ผลผลิตที่ได้ประมาณ 54 ตันต่อวัน หรือ ประมาณ 1,400 ตันต่อปี รวบรวมผลผลิตจำหน่ายให้กับบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ สร้างรายได้ถึง 72 ล้านบาท โดยแผนการพัฒนาของสหกรณ์ในอนาคตจะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราในแบรนด์สหกรณ์อย่างครบวงจร ทำให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้ที่มั่นคง มีอาชีพทางการเกษตรที่ยั่งยืน ที่สำคัญไม่เป็นหนี้สินทางด้านการเกษตร


 

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565

กรมชลฯ เดินหน้าโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม แก้น้ำท่วม


 
       กรมชลฯ เผยความก้าวหน้างานจ้างสำรวจ ออกแบบโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม ชี้แก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา รวมค่าก่อสร้างประกอบโครงการกว่า 7 พันล้านบาท




นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า งานจ้างสำรวจ ออกแบบโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทาน ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามกลุ่มแผนงานที่ 4 จาก 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ระบายน้ำทั้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา และบริหารจัดการน้ำเพื่อการกักเก็บกักน้ำ นำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง





โครงการนี้เริ่มปรึกษาหารือกันและประชุมปฐมนิเทศโครงการมาตั้งแต่ปี 2564 ถัดมาในปี 2565 
ได้ประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ตรวจติดตามความก้าวหน้าครั้งที่ 1 ในเดือนมิถุนายน และประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ล่าสุดคือตรวจติดตามความก้าวหน้าครั้งที่ 2 ในวันที่ 14 กันยายนนี้ ก่อนจะประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการในเดือนพฤศจิกายน รวมระยะเวลาปฏิบัติงานประมาณ540 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 - วันที่ 22 ธันวาคม 2565





องค์ประกอบโครงการได้แก่ 1) งานขุดลอกคลองระบายน้ำ 10.617 กม.และงานอาคารประกอบคลองระบายน้ำรวมทั้งสิ้น 97 อาคาร มูลค่าก่อสร้าง 3,968.33 ล้านบาท 2) งานอุโมงค์ระบายน้ำ 6.998 กม. และอาคารประกอบในแนวอุโมงค์ระบายน้ำรวม 4 อาคาร ราคา 3,500.44 ล้านบาท รวมสององค์ประกอบโครงการกว่า 7,468.77 ล้านบาท




สรุปรายละเอียดเบื้องต้น งานขุดลองคลองระบายน้ำและอาคารบังคับน้ำตามแนวคลองจะมี 4 แบบ ส่วนงานอุโมงค์และสถานีสูบน้ำ อุโมงค์จะระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต ความยาว 6.998 กิโลเมตร วางตัวใต้แนวคลองอ้อมน้อยและคลองแนวลิขิต 1 รับน้ำจากอาคารรับน้ำคลองฉาง อาคารรับน้ำคลองอ้อมน้อย อาคารรับคลองแนวลิขิต 1 และสูบน้ำจากสถานีปลายอุโมค์ลงสู่คลองภาษีเจริญ ส่วนนี้จะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 8.141 ไร่ ซึ่งมีมาตรการผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมแนวทางการชดเชยที่ดินทรัพย์สิน ตั้งแต่ช่วงก่อสร้างตลอดจนช่วงดำเนินการ




โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มีขอบเขตการศึกษาอยู่ในจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาคร ประกอบด้วย อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน และอำเภอกระทุ่มแบน มี 7 ตำบล คือ ต.ศาลายา 
ต.บางกระทึก ต.บางเตย ต.กระทุ่มล้ม ต.ไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และต.อ้อมน้อย ต.สวนหลวง จังหวัดสมุทรสาครกลุ่มเป้าหมายได้แก่ หน่วยงานอำเภอ ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่การพัฒนาโครงการ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผลประโยชน์ของโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) 1.จะช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง-ตอนบน ตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์ถึงคลองภาษีเจริญ 
2.จะช่วยพร่องน้ำในคลองมหาสวัสดิ์เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำหลากตอนบนด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 3.ช่วยในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและการกักเก็บน้ำด้วย

 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...