ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือด้านการตลาดแก่สมาชิกเท่านั้น แต่ยังเชื่อมประสานธุรกิจระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตในเครือข่ายทั้งในและต่างจังหวัดทั่วไทยและเป็นเวทีเจรจาทางธุรกิจระหว่างเกษตรกรสมาชิกกับพ่อค้านักธุรกิจรายใหญ่อีกด้วย โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและยกระดับสินค้าคุณภาพของเครือข่ายสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น
“ผมวางไว้ 3 สเต็บ เริ่มจากช่วยสมาชิกในพื้นที่ให้มีช่องทางการตลาด จากนั้นเชื่อมเครือข่ายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสหกรณ์ด้วยกันและสุดท้ายเป็นเวทีในการเจรจาทางธุรกิจระหว่างเกษตรสมาชิกสหกรณ์กับนักธุรกิจ นี่เป็นภาพกว้างในการส่งเสริมด้านการตลาดแก่สมาชิกในความคิดของผม”
นายสุริยะ นิลอินจันทร์ ผู้จัดการสหกรณ์นิคมคลองสวนหมากจำกัดเผยแนวคิดในการพัฒนาซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์คลองสวนหมากเพื่อรองรับช่องทางการตลาดผลผลิตของเกษตรกรสมาชิก โดยย้ำว่าเราจะไม่ให้สมาชิกปลูกพืชอย่างไร้ทิศทาง ซึ่งสหกรณ์จะมีหน้าที่วางแผนการผลิตแก่สมาชิกเพื่อไม่ให้ให้สินค้าที่เข้ามาไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เนื่องจากมีสินค้าหลายชนิดในพื้นที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ ที่สำคัญสถานที่ตั้งมีความเหมาะสมอยู่ริมถนน เป็นจุดพักรถผู้สัญจร บุคคลภายนอกเข้าห้องน้ำระหว่างนี้เขาจะได้จับจ่ายใช้สอยสินค้าของเราได้
“จุดเด่นที่ผมตั้งเป้าคนเข้ามาที่สหกรณ์จะต้องได้ทุกอย่างกลับไป คุณอยากเข้าซ่อมรถเรามี คุณอยากเข้ามาซื้อของเรามี คุณอยากเข้ามาพักผ่อน หยุดพักรถพักคน เราก็จัดมุมสบาย ๆ ไว้ให้หรืออยากเข้ามาพูดคุยธุรกิจที่นี่เราเตรียมไว้ให้พร้อม พยายามดึงเขาให้แวะเข้ามาก่อน จากนั้นเขาค่อยมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าเราเอง”
นายสุริยะ เผยกลยุทธ์ทางการตลาดโดยจะต้องหาตลาดก่อน เมื่อตกผลึกในเรื่องตลาดแล้วค่อยมาส่งเสริมสมาชิกทำในสิ่งที่ตลาดต้องการ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ตามฤดูกาล เมื่อเดินข้ามาที่ซูเปอร์มาร์เก็ตคลองสวนหมากก็จะได้ทุกอย่างครบจบในที่เดียว ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าของเครือข่ายสหกรณ์จากทั่วประเทศด้วยเฉกเช่นเดียวกันศูนย์กระจายสินค้าของโมเดิร์นเทรดทั้งหลาย
“คนอยากได้ข้าวสาร เราก็หาข้าวสารมาให้ อยากได้สับปะรด ผลไม้ตามฤดูกาลคุณเข้ามาคลองสวนหมากก็จะได้สินค้าเหล่านี้ทันที เราเป็นศูนย์กระจายสินค้าเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ในอนาคตผมตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นคลังของสหกรณ์ทั่วประเทศ เหมือนคลังสินค้าซีพี บิ๊กซี โลตัส คุณอยากจะขายแต่คุณไม่รู้ว่าจะขายอะไรที่ไหนมาคุยกับผม การขายการกระจายสินค้าเป็นหน้าที่ของผมครับ”ผู้จัดการสหกรณ์นิคมคลองสวนหมาก จำกัด กล่าวย้ำ
เขายังอธิบายรายละเอียดการบริหารจัดการภายในว่าส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปทันสมัยที่ภาคเอกชนมาดำเนินการติดตั้งให้ ขณะเดียวกันยังได้มีการจัดทำแผนแม่บท 5 ปีของสหกรณ์เพื่อให้การดำเนินงานมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนการดำเนินงานเป็นไปตามแผนหรือไม่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของคณะกรรมการฯ ฝ่ายจัดการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“เรามีโปรแกรมสำเร็จรูปทันสมัยควบคู่กับแผนแม่บท 5 ปี ซึ่งการดำเนินกิจกรรมทุกอย่างอยู่ในแผนแม่บทและคิดว่ามีไม่กี่สหกรณ์ในประเทศไทยที่มีแผนแม่บทออกมาใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนแรกการจัดหาสินค้า เราสร้างตัวตลาดเสร็จแล้ว พอเปิดตลาดตอนนี้จะเป็นสินค้าเอกชนร้อยละ 70 เพราะเราต้องดำเนินการกิจการให้ได้ก่อน เพื่อให้สหกรณ์อยู่รอดก่อน หลังจากนั้นก็จะเอาสินค้าของเกษตรกรและของสหกรณ์เข้ามาทดแทนสินค้าของเอกชน”
นายสุริยะให้เหตุผลถึงสาเหตุที่ไม่นำสินค้าของสมาชิกและเครือข่ายสหกรณ์มาวางทั้งหมดในช่วงแรกนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะเราต้องการความอยู่รอดก่อน เนื่องจากความสม่ำเสมอของการส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ยังไม่แน่นอน แต่เมื่อไหร่ทุกอย่างมีความพร้อมก็จะนำสินค้าสหกรณ์และเครือข่ายมาวางจำหน่ายทั้งหมด
“การเซ็นเอ็มโอยูเป็นอะไรที่ไม่ได้ประโยชน์ สหกรณ์ผมไม่ทำ แต่จะทำสัญญาซื้อขายที่ชัดเจนเท่านั้น อย่างตอนนี้ผมทำสัญญาซื้อขายข้าวเหนียวสันป่าตองกับสหกรณ์ห้างฉัตร ลำปางจะสั่งเขาในราคาพิเศษ ทุก 45 วันรถสิบล้อจะขึ้นไปรับข้าวครั้งละ 16 ตันตามสัญญา ทุกวันนี้สหกรณ์ขายข้าวเดือนละ 130-200 ตัน”ผู้จัดการสหกรณ์คนเดิมกล่าว
ด้าน นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายที่จะพัฒนาสหกรณ์ที่มีความพร้อมเป็นสถานที่ให้บริการจำหน่ายสินค้าให้แก่สมาชิก โดยจะแตกต่างจากร้านทั่วไปตรงที่สามารถเอาสินค้า ของสมาชิกและเครือข่ายสหกรณ์ต่างภูมิภาคมาวางจำหน่ายในร้านได้ด้วย เป็นการช่วยกันระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ภูมิภาค ระหว่างสมาชิกกับตัวสหกรณ์ โดยสมาชิกผลิตสินค้า ส่วนสหกรณ์จะดูแลเรื่องการตลาดและสถานที่วางจำหน่าย หลังขับเคลื่อนมาได้ปีเศษ สหกรณ์ต้องวางเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้มีความยั่งยืน
“ผมมองว่าซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งต้องปรับตัวให้เกิดความทันสมัย โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ร้านโชว์ห่วยมีเจ้าของคนเดียวมีสภาพคล่องดีก็ยังไปไม่รอด แล้วสหกรณ์จะไปรอดได้อย่างไร ผมฝากโจทย์ให้เขาเมื่อปีที่แล้ว ว่าเราต้องฉีกแนวตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทุกรูปแบบ จุดเด่นเขาอย่างแรกคือความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง สองสมาชิกเห็นความสำคัญแล้วสนับสนุนเต็มที่ ผมสังเหตุเห็นการประชุมใหญ่ใช้ผู้แทนแต่ที่นี่สมาชิกขอมานั่งฟังด้วย อันนี้คือความแตกต่าง”รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผยจุดเด่น
นายอัชฌาย้ำด้วยว่าข้อเสียที่ซูเปอร์มาร์เก็ตมักประสบปัญหาก็คือใช้วิธีการซื้อขาดบางครั้งสินค้าบางอย่างจำพวกพืชผักเก็บไว้ได้ไม่นานเกิดการเน่าเสีย แต่สหกรณ์นี้มีร้านอาหารรองรับ นำพืชผักเหล่านี้มาเป้นวัตถุดิบประกอบหารแทนการทิ้ง
“ซื้อมาสิบบาทมาขายสิบห้าบาท ถ้าขายไม่ได้ก็ขาดทุน เพราะพืชผักพวกนี้จะเก็บไว้ได้ไม่นาน ที่นี่เขาก็มีร้านอาหารรองรับเอาสินค้าพวกนี้มาทำอาหาร เมื่อคนมาเติมน้ำมันในปั้มก็หาซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วก็มาทานอาหารได้ด้วย”นายอัชฌากล่าว
สำหรับสหกรณ์นิคมคลองสวนหมาก จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2515 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 4,000 ราย ได้ดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบมินิมาร์ท ตั้งแต่ปี 2551 และในปี 2563 สหกรณ์ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ตามแนวทางการส่งเสริมของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยได้รับการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะในการขับเคลื่อนการดำเนินซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ตลอดจนเงินทุนในการจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ทำให้สหกรณ์มีมูลค่าการจำหน่ายสินค้ากว่า 35 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2565 สหกรณ์ได้ดำเนินการพัฒนาร้านค้าสหกรณ์จากรูปแบบมินิมาร์ท เป็นร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ โดยก่อสร้างอาคารจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ ขนาด 800 ตารางเมตร งบประมาณ 5,792,000 บาท ภายใต้ชื่อจำหน่ายสินค้าว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์นิคมคลองสวนหมาก จำกัด”
ปัจจุบันนอกจากเป็นช่องทางการตลาดสินค้าให้กับสมาชิกแล้วยังร่วมกับเครือข่ายสหกรณ์จัดจำหน่ายสินค้าสหกรณ์และผลิตภัณฑ์เด่นอีกด้วย อาทิร่วมกับสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด จ.ลำปางในการซื้อขายข้าวเหนียวสันป่าตอง หรือทำธุรกิจร้านกาแฟ ภายใต้ชื่อ Sun Coffee โดยการนำผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่วสายพันธุ์อาราบิก้า จากสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ตพัฒนา จำกัด จ.เชียงใหม่มาแปรรูปเป็นกาแฟสด กาแฟร้อน กาแฟเย็นและกาแฟดริปเพื่อจำหน่ายอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น