วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565

กรมชลฯ เดินหน้าโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม แก้น้ำท่วม


 
       กรมชลฯ เผยความก้าวหน้างานจ้างสำรวจ ออกแบบโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม ชี้แก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา รวมค่าก่อสร้างประกอบโครงการกว่า 7 พันล้านบาท




นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า งานจ้างสำรวจ ออกแบบโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) จังหวัดนครปฐม เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทาน ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามกลุ่มแผนงานที่ 4 จาก 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ระบายน้ำทั้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา และบริหารจัดการน้ำเพื่อการกักเก็บกักน้ำ นำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง





โครงการนี้เริ่มปรึกษาหารือกันและประชุมปฐมนิเทศโครงการมาตั้งแต่ปี 2564 ถัดมาในปี 2565 
ได้ประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ตรวจติดตามความก้าวหน้าครั้งที่ 1 ในเดือนมิถุนายน และประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ล่าสุดคือตรวจติดตามความก้าวหน้าครั้งที่ 2 ในวันที่ 14 กันยายนนี้ ก่อนจะประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการในเดือนพฤศจิกายน รวมระยะเวลาปฏิบัติงานประมาณ540 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 - วันที่ 22 ธันวาคม 2565





องค์ประกอบโครงการได้แก่ 1) งานขุดลอกคลองระบายน้ำ 10.617 กม.และงานอาคารประกอบคลองระบายน้ำรวมทั้งสิ้น 97 อาคาร มูลค่าก่อสร้าง 3,968.33 ล้านบาท 2) งานอุโมงค์ระบายน้ำ 6.998 กม. และอาคารประกอบในแนวอุโมงค์ระบายน้ำรวม 4 อาคาร ราคา 3,500.44 ล้านบาท รวมสององค์ประกอบโครงการกว่า 7,468.77 ล้านบาท




สรุปรายละเอียดเบื้องต้น งานขุดลองคลองระบายน้ำและอาคารบังคับน้ำตามแนวคลองจะมี 4 แบบ ส่วนงานอุโมงค์และสถานีสูบน้ำ อุโมงค์จะระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต ความยาว 6.998 กิโลเมตร วางตัวใต้แนวคลองอ้อมน้อยและคลองแนวลิขิต 1 รับน้ำจากอาคารรับน้ำคลองฉาง อาคารรับน้ำคลองอ้อมน้อย อาคารรับคลองแนวลิขิต 1 และสูบน้ำจากสถานีปลายอุโมค์ลงสู่คลองภาษีเจริญ ส่วนนี้จะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 8.141 ไร่ ซึ่งมีมาตรการผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมแนวทางการชดเชยที่ดินทรัพย์สิน ตั้งแต่ช่วงก่อสร้างตลอดจนช่วงดำเนินการ




โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มีขอบเขตการศึกษาอยู่ในจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาคร ประกอบด้วย อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน และอำเภอกระทุ่มแบน มี 7 ตำบล คือ ต.ศาลายา 
ต.บางกระทึก ต.บางเตย ต.กระทุ่มล้ม ต.ไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และต.อ้อมน้อย ต.สวนหลวง จังหวัดสมุทรสาครกลุ่มเป้าหมายได้แก่ หน่วยงานอำเภอ ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่การพัฒนาโครงการ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผลประโยชน์ของโครงการคลองถนนและอุโมงค์ระบายน้ำ (Street canal) 1.จะช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง-ตอนบน ตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์ถึงคลองภาษีเจริญ 
2.จะช่วยพร่องน้ำในคลองมหาสวัสดิ์เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำหลากตอนบนด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 3.ช่วยในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและการกักเก็บน้ำด้วย

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...