วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

พรรคเศรษฐกิจไทย เตรียมลุยนโยบาย "ส.ป.ก.แผ่นดินทองคำ” พลิก12ล้านไร่ช่วยเกษตรกร

    นางสางสิริณัฐฐาพร​ สิงห์สมบุญ​ รองเลขานุการเเละโฆษกคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคเศรษฐกิจไทยกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯครั้งล่าสุด ที่ประขุมได้มีมติเห็นชอบขับเคลื่อนนโยบาย “เปลี่ยนที่ดิน คทช. เป็น ส.ป.ก.  และพัฒนา ส.ป.ก.เป็นผืนแผ่นดินทองคำ"เเละจะเสนอต่อผู้บริหารพรรคเพื่อบรรจุเป็นนโยบายพรรคเเละนำเสนอประชาชนในขั้นต่อไป เพราะจากการลงพื้นที่หลายจังหวัดของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ พบว่าเกษตรกรได้ทำมาหากินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวร เป็นระยะเวลายาวนานแต่ไม่ได้รับเอกสารสิทธิใด ๆ ประมาณ 12 ล้านไร่ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และไม่สามารถประกอบกอบกิจการอื่น ๆ ที่เป็นการเกื้อหหนุนเศรษฐกิจชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ตลอดจนไม่ได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งน้ำ ถนน คุณภาพดิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนประกอบอาชีพ สิทธิต่าง ๆ ที่จะได้รับจากโครงการของรัฐ



     นางสางสิริณัฐฐาพรกล่าวว่า พรรคเศรษฐกิจไทย จึงมีนโยบายขับเคลื่อนให้โอนที่ดินของรัฐที่ประชาชนได้เข้าถือครองทำประโยชน์ในที่ดิน คทช. หรือระหว่างดำเนินการ คทช. และที่ป่าไม้ถาวรจำนวน 12 ล้านไร่ เปลี่ยนเป็นที่ดิน ส.ป.ก. และจะดำเนินการพัฒนา ส.ป.ก. เป็นแผ่นดินทองคำ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีความมั่นคงด้านที่ดินทำกิน บนผืนดิน ส.ป.ก. สามารถประกอบกิจการอื่น ๆ ที่เกื้อหนุนชุมชน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ตลอดจนเข้าถึงบริการของภาครัฐ อาทิ แหล่งน้ำ ถนน การพัฒนาคุณภาพดิน การพัฒนาอาชีพ แหล่งเงินทุน ตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ที่จะได้รับจากโครงการของรัฐ ให้มีความเท่าเทียมกับที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ทั้งแผ่นดินให้แก่เกษตรกรไทย เชื่อว่านโยบายพรรคนี้จะผลักดันให้ เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยเกษตรกรสามารถใช้สปก.กู้ยืมเงินจากธนาคารธกส.และกองทุนสปก.ของกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ได้ด้วย

    "ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค สมัยท่ีเป็นรมช.เกษตรฯเคยขับเคลื่อนเรื่องนี้เเต่ยังไม่สำเร็จ เเต่ครั้งนี้เชื่อว่าหากประชาชนเเละเกษตรกรได้เห็นความตั้งใจของพรรคเเละร้อยเอกธรรมนัสในเรื่องนี้ท่ีจะบรรจุเป็นนโยบายพรรคในการหาเสียง หากได้รับโอกาสจากสังคม พรรคจะผลักดันนโยบายนี้ให้ลุล่วง ยืนยันว่านโยบายนี้ทำได้จริงเเละจะพลิกฟื้นชุมชนให้เข้มเเข็ง เม็ดเงินไหลเวียนเพิ่มขึ้น ประชาชนมั่งคั่งขึ้นหลายเท่า"นางสางสิริณัฐฐาพรกล่าว

 

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

แม็คโคร ยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกรไทย ช่วยชาวสวนรับมือผลผลิตล้นตลาด ขานรับมาตรการบริหารจัดการผลไม้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์


 

ลำไยออกแล้ว ถึงฤดูกาลที่ชาวสวนต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ล้นตลาดอีกครั้ง แม็คโครพร้อมเคียงข้างเกษตรกรไทย จัดทัพเร่งรับซื้อลำไยกว่า 4,000 ไร่ จากเกษตรกร 650 ครัวเรือน กระจายผ่านทุกสาขาสู่ผู้บริโภค สร้างรายได้มั่นคงให้เกษตรกร พร้อมวางแนวทางรับซื้อผลไม้ฤดูกาลต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขานรับมาตรการบริหารจัดการผลไม้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ผลผลิตลำไยตลอดทั้งปี คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 88,280 ตัน หรือ 5.63%  แม็คโครจึงวางแผนดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รับซื้อลำไยจากเกษตรกรชาวสวนซึ่งคาดว่าในปีนี้จะช่วยระบายผลผลิตจากเกษตรกรกว่า 1,000 ตัน พร้อมกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาล 




ที่ผ่านมา แม็คโครได้ช่วยระบายผลผลิตจากเกษตรกรทั่วประเทศ ทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียน จนมาถึงลำไย ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ โดยแม็คโครมีโครงการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม ลำไย ปันสุขคืนสุข สู่ชุมชนชวนคนไทยซื้อลำไย คืนกำไรสู่สังคม ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยทุก 1 กิโลกรัม จะบริจาค 1 บาท เป็นทุนการศึกษาและอาหารกลางวันให้โรงเรียนในจังหวัดลำพูนจำนวน 3 แห่ง นอกจากกระตุ้นการบริโภคลำไยช่วยเกษตรกรแล้ว ยังสร้างโอกาสให้เยาวชนในท้องที่ห่างไกล ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคมด้วย



ทั้งนี้นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เข้าเยี่ยมชมและติดตามแผนระบายผลผลิตลำไยตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ของกระทรวงพาณิชย์ ที่แม็คโคร สาขาแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565

 

 

กรมชลประทาน ปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาฯ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จ.เพชรบุรี


 

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเล และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วย นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี และผ่านระบบ Zoom



วัตถุประสงค์การประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก กรมชลประทานได้ดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี รวมถึงการปรับปรุงคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำต่างๆ ได้แก่ D1 D9 D18 เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง ระบบนิเวศและการไหลวนของกระแสน้ำ กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อจัดทำรายงานโครงการศึกษาจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการในพื้นที่ชลประทานออกสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และเป็นที่ยอมรับของชุมชนในพื้นที่โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



ในการนี้ ผู้แทนจากกรมชลประทานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา จึงได้นำเสนอผลสรุปการศึกษาความเหมาะสม ลักษณะโครงการด้านวิศวกรรม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้กับกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมปัจฉิมนิเทศได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับปรุงผลการศึกษาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของกรมชลประทานในการพัฒนาทรัพยากรน้ำควบคู่ไปกับความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน



สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 200,000 ไร่ ในเขตอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอชะอำ อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยของจังหวัดเพชรบุรี ได้กว่า 40,000 ครัวเรือน ลดความเสียหายของพื้นที่เกษตรกรรม ได้กว่า 12,000 ไร่ อีกทั้งช่วยรักษาระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง ช่วยผลักดันน้ำเค็มไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของเกษตรกร นอกจากนี้มีการสร้างถนนคันคลอง เลียบคลองระบายน้ำทั้ง 3 (D1 D9 D18) ความยาวประมาณ 20-30 กิโลเมตร ช่วยทางด้านการคมนาคม สร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนให้กับชาวเพชรบุรีต่อไป

ชป.ลงพื้นที่นำสื่อสัญจรดูงานโครงการศึกษาฯ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จ.เพชรบุรี


 

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี โดยมีหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้องร่วมพบปะหารือ ณ คลองระบายน้ำ D1 ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ และคลองระบายน้ำ D9 ตำบลหนองขนาน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี



นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ ดำเนินโครงการจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง ในเขตอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอชะอำ อำเภอเมือง อำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม โดยมีแผนการระบายน้ำออกสู่ทะเลเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังต่อไปนี้



1.ระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ จำนวน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

2.การปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

3.ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D9 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (มีการก่อสร้างและใช้งานแล้ว)

4.ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D18 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที



อย่างไรก็ตาม การเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง ระบบนิเวศ และการไหลวนของกระแสน้ำ กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานออกสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และเป็นที่ยอมรับของชุมชนในพื้นที่ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง



สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากอุทกภัยของจังหวัดเพชรบุรี ได้กว่า 40,000 ครัวเรือน สามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรได้กว่า 10,000 ไร่ อีกทั้งช่วยรักษาระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง ช่วยผลักดันน้ำเค็มไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของเกษตรกร นอกจากนี้มีการสร้างถนนคันคลอง เลียบคลองระบายน้ำทั้ง 3 (D1 D9 D18) ความยาวประมาณ 20-30 กิโลเมตร ช่วยทางด้านการคมนาคม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของชาวเมืองเพชรบุรีต่อไป

CPF เดินหน้า “Greenfarm” ฟาร์มรักษ์โลก ดันใช้ “ไบโอแก๊ส-โซลาร์ฟาร์ม” เป็นพลังงานทดแทน



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผลักดันมาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม (CPF Greenfarm) ฟาร์มสุกรรักษ์โลกเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม สู่เกษตรกรคอนแทรคฟาร์ม ต่อยอดความสำเร็จฟาร์มสุกรทุกแห่งใช้ระบบไบโอแก๊ส (Biogas) เป็นพลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ ควบคู่โซลาร์ฟาร์ม ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ใช้พลังงานธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด



นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับฟาร์มเลี้ยงสุกรของซีพีเอฟทั้ง 98 แห่ง และฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรกับบริษัท หรือคอนแทรคฟาร์ม ได้ดำเนินการตามมาตรฐาน Greenfarm มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552 ทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรฐานฯเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการจัดการของเสียภายในฟาร์มสุกรด้วยระบบ Biogas ที่ส่งผลดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ควบคู่กับการทำระบบฟอกอากาศท้ายโรงเรือนเลี้ยงสุกร จึงช่วยลดกลิ่นรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการปลูกไม้ยืนต้นในบริเวณฟาร์มและพื้นที่ว่างระหว่างโรงเรือน ที่ช่วยเพิ่มความร่มรื่นและลดความร้อนให้กับโรงเรือนสุกรช่วยลดการใช้พลังงานในระบบ EVAP สำหรับทำความเย็นในโรงเรือน



ที่สำคัญซีพีเอฟ ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการต่อยอดความสำเร็จจากระบบ Biogas ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของกรีนฟาร์ม ที่สามารถผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าได้ถึง 50-80% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 370,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เป็นผลดีทั้งในด้านการประหยัดพลังงานและลดภาวะโลกร้อน



นอกจากนี้ บริษัทยังนำระบบโซล่าเซลล์ มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับส่วนต่างๆของฟาร์ม เกิดผลประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ : SOLAR CELL” ในรูปแบบ โซลาร์ฟาร์มโดยฟาร์มนำร่องที่ได้ติดตั้งและเดินระบบจ่ายไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ ฟาร์มกาญจนบุรี ฟาร์มวิเชียรบุรี ฟาร์มศรีเทพ ฟาร์มเพชรบูรณ์ และฟาร์มท่าจะหลุง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1.3 เมกะวัตต์ และขยายสู่โครงการเฟส 2 อีก 6 ฟาร์มซึ่งกำลังเตรียมพื้นที่ติดตั้ง ได้แก่ ฟาร์มจันทบุรี1 ฟาร์มหนองคาย ฟาร์มโคกปี่ฆ้อง ฟาร์มคลองอุดม ฟาร์มศิลาทิพย์ และฟาร์มลพบุรี รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1.25 เมกะวัตต์ โดยในอนาคตจะขยายไปยังฟาร์มอื่นๆต่อไป




ซีพีเอฟมุ่งพัฒนาฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีฟาร์มของบริษัทเป็นต้นแบบ แล้วจึงถ่ายทอดความสำเร็จไปสู่ฟาร์มของเกษตรกร ทั้งมาตรฐานกรีนฟาร์ม การนำระบบ Biogas และโซลาร์ฟาร์ม จากพลังงานธรรมชาติที่กลายเป็นขุมพลังสำคัญสามารถป้อนไฟฟ้าเข้ากระบวนการเลี้ยง เป็นพลังงานสะอาดที่ฟาร์มสามารถผลิตใช้เองได้ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า บางฟาร์มสามารถทดแทนการใช้พลังงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ 100% และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดีนายสมพร กล่าว



            ขณะเดียวกัน ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทุ่งแห่ง มุ่งพัฒนากระบวนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่การผลิต ด้วยหลักการ 3Rs คือ “Reduce” ลดปริมาณการใช้น้ำ “Recycle” นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านกระบวนการบำบัดแล้ว และ “Reuse” นำน้ำมาใช้ซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น การนำน้ำที่ออกจากระบบ Biogas และผ่านการบำบัดจนเป็นน้ำที่มีคุณภาพนำกลับมาใช้ ช่วยลดการใช้น้ำดิบจากแหล่งธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ที่เรียกว่า น้ำปุ๋ยกลับไปใช้ประโยชน์ ทั้งรดสนามหญ้า ต้นไม้ และแปลงปลูกผักปลอดสารสำหรับบุคลากรในฟาร์ม และยังนำน้ำมาผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้งสำหรับใช้ล้างโรงเรือน พร้อมทั้งจัด โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่ชุมชนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เพื่อแบ่งปันน้ำให้แก่เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง ช่วยให้พืชเจริญเติบโตเร็ว ได้ผลผลิตคุณภาพดีและมีปริมาณเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ ที่ขอเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ช่วยลดใช้พลังงาน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรชุมชน 

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ส.ป.ก. แถลงข่าว!!! ประเด็นเรื่องผลกระทบของการเพิกถอนสิทธิ์ที่ ส.ป.ก. พร้อมเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน



   จากกรณีกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้เร่งรีบตรวจสอบ การดำเนินการเอากฎหมายป่าไม้ มาครอบลงไปบนที่ดินอยู่อาศัย และที่ทำกินของชาวบ้าน 5 จังหวัด บนเส้นทางแร่ทองคำ ซึ่งตกอยู่ใต้คำขอและอาชญาบัตรพิเศษ ของบริษัทเหมืองทองคำข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ได้ระบุที่ดินประเทศไทย 5 จังหวัด (พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร ลพบุรี และสระบุรี)  เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ  

    ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าว ด้วยความห่วงใยในปัญหาของพี่น้องประชาชน รมว.กษ. จึงได้สั่งการให้ สปก. เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่ง ส.ป.ก. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า กรณีที่พื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด (พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร ลพบุรี และสระบุรี) ที่มีการกล่าวอ้างว่าได้มีการออกอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำบนพื้นที่ ส.ป.ก. นั้น ขอเรียนว่า ส.ป.ก. ไม่เคยเห็นชอบให้มีการอนุญาตให้ทำการสำรวจหรือทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ส.ป.ก. กับ บมจ.อัครา รีซอสเซส แม้แต่จังหวัดเดียว ซึ่งหากจะมีการดำเนินการจะต้องขออนุญาตจาก ส.ป.ก. ก่อนทุกกรณี และกรณีพื้นที่ 150,000 ไร่ ใน จ.ลพบุรี ที่ได้มีการกล่าวอ้างว่ามีการนำกฎหมายป่าไม้มาบังคับใช้ในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. นั้น ข้อเท็จจริงพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่ ส.ป.ก. แต่เป็นพื้นที่ในความดูแลของกรมป่าไม้มาแต่เดิม (ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขอเช่าจากกรมป่าไม้เพื่อจัดตั้งนิคมสหกรณ์ชัยบาดาลและหมดสัญญาเช่าเมื่อปี 2560) และปัจจุบันกรมป่าไม้กำลังจะนำมาดำเนินการให้สิทธิ์แก่ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวในรูปแบบของ คทช. นอกจากยังมีกรณีที่ราษฎรกล่าวอ้างว่ามีเอกสาร สค.1 มาตั้งแต่ปี 2495-2498 และต้องการออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถติดต่อขอเข้าสู่กระบวนการได้ที่ สนง.ที่ดินจังหวัดลพบุรี เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) เพื่อพิจารณาออกเอกสารสิทธิ์ต่อไป



         โอกาสนี้ นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ แกนนำกลุ่มผู้ร้องเรียนได้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงในครั้งนี้ด้วย พร้อมกับได้พูดคุย แลกเปลี่ยน และรับฟังปัญหาด้วยความเข้าใจอย่างดี ซึ่ง ส.ป.ก. และแกนนำกลุ่มผู้ร้องเรียนจะได้ตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกลุ่มผู้ร้องเรียนและเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก. ที่เกี่ยวข้อง ขึ้นมาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งนี้ ส.ป.ก. โดย ผู้อำนวยการสำนักจัดการปฏิรูปที่ดินและผู้อำนวยการสำนักกฎหมายจะได้ลงพื้นที่ จ.สระบุรี และ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วต่อไป ซึ่งทางแกนนำกลุ่มผู้ร้องเรียนรู้สึกพอใจและขอบคุณ ส.ป.ก. มา ณ โอกาสนี้   

“ส.ป.ก.จะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้คลายความวิตกกังวล โดยจะนำปัญหาของพี่น้องประชาชนไปนำเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนผลักดันให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้ง 5 จังหวัด ได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด” เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าว.

 

กลุ่มเกษตรกร“ศูนย์ข้าวชุมชน” บุกทำเนียบ และกระทรวงเกษตรขอบคุณลุงตู่ และ รมว.เกษตร


   
 นายจารึก กมลอินทร์ ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ พร้อมด้วย นายพชร พูลเจริญภักดี ประธานเครือข่ายธรรมภิบาลไทย  ในฐานะประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวนาเพื่อการพาณิชย์ การท่องเที่ยว และการอุตสาหกรรมแห่งชาติพร้อม นำทัพสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน กว่า 100 คน เดินทางป้าย มายื่นหนังสือ ขอบคุณนายกรัฐมนตรีใส่ใจทุกข์สุข สนับสนุนงบประมาณเพื่อชาวนา ยื่นหนังสือ ประทับตราลับ ล้างขบวนการทุจริตเครื่องนับเมล็ดพันธุ์ข้าว ปราบคนโกง



    นายจารึก กมลอินทร์ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ เผย ว่า ได้มายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการต่อไปวันนี้มีหลายเรื่อง เรื่องแรก ได้มาขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ใส่ใจทุกข์สุขของชาวนา และสนับสนุนงบประมาณเพื่อชาวนา และได้ว่า เงินที่ช่วยเหลือชาวนาผ่านศูนย์ข้าวชุมชน 1.5 หมื่นล้านบาท และอยากฝากท่านนายกรัฐมนตรี ช่วยตรวจสอบเรื่องศูนย์ข้าวชุมชนได้รับผลกระทบจากการทุจริตเครื่องนับเมล็ดพันธุ์ข้าว จึงได้มาขอความเป็นธรรมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับขบวนการทุจริต โดยให้กรมการข้าวกำลังดำเนินการตามกฎหมายและได้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงตามนโนบายของนายกรัฐมนตรี และเครือข่ายทุจริตนี้มีทั้งนักการเมืองบางคน, และข้าราชการประจำบางคน และ สมาชิกวุฒิสภาบางคนอยู่เบื้องหลัง ทำให้พยานและชาวนารู้สึกหวาดกลัว . จึงกราบเรียนมาเพื่อขอความเป็นธรรม และคุ้มครองพยาน เมื่อจบจากศูนย์ดำรงธรรมแล้ว 



     หลังจากนั้นได้เดินทางไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินมายื่นหนังสือต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยมีใจความในหนังสือว่า ขอขอบคุณพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีความห่วงใยพี่น้องชาวนาทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน ที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าใจถึงปัญหา พร้อมใส่ใจทุกข์สุขของชาวนา พร้อมได้มีการผลักดันสนับสนุนงบประมาณ ในการพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนและเครือข่ายชาวนา เป็นจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท   นอกจากนี้ได้มีการขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดในการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง กับขบวนการทุจริต ในการจัดซื้อเครื่องนับเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยเร่งด่วน โดยการนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้มารับหนังสือด้วยตนเอง พร้อมกล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเป็นห่วงเป็นใย ชาวนาทั่วประเทศ จะไม่มีการทอดทิ้ง และให้การดูแลชาวนาและเครือข่ายชาวนาอย่างทั่วถึงยั่งยืน โดยระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีมาตรการในการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ให้กับชาวนาและเครือข่ายชาวนาได้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตลอดไป พร้อมย้ำถ้าทำไม่ดีต้องลงโทษ ถ้าทำดีต้องปกป้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร และชาวนา

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สสท. จัดงาน วัน “ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ”ประจำปี 2565


 สสท. จัดงาน วัน  พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ประจำปี 2565



​​    นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการฯ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย(สสท.) เปิดเผยว่า สสท. ร่วมกับขบวนการสหกรณ์ไทย และเครือข่าย 7 ชุมนุมสหกรณ์ระดับชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดงานวันพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ประจำปี 2565 เนื่องในโอกาสครบรอบวันสิ้นพระชนม์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ” ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 77 ปี โดยสันนิบาตสหกรณ์ฯ กำหนดให้วันที่ 23 กรกฎาคม ของทุกปี ถือเป็นวันพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย สำหรับปีนี้ถือเป็นการจัดงานวันพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ครั้งที่ 3 กำหนดจัด ในวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565  ณ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยมีกิจกรรมต่างๆ ได้แก่  พิธีสวดบำเพ็ญกุศลทางศาสนาเพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ พิธีถวายเครื่องสักการะอนุสาวรีย์พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงให้ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่พระประวัติพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และวิวัฒนาการของขบวนการสหกรณ์ไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจัดจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ราคาประหยัด ตั้งแต่วันที่ 21 -23 กรกฎาคม 2565 นอกเหนือจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นคณะกรรมการฯ สสท.กำหนดเดินทางไปมอบเงินบริจาคสมทบค่าอาหารกลางวันเด็ก ณ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี จำนวน 50,000 บาท



​​    นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม กล่าวเพิ่มเติม ว่าการจัดงานวันพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย  เพื่อให้บุคลากรในขบวนการสหกรณ์ไทย ได้ร่วมกันรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยทรงมีต่อขบวนการสหกรณ์ไทย ซึ่งจากอดีตถึงปัจจุบัน การสหกรณ์ในประเทศไทย มีอายุกว่า 100 ปี  มีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ  ตามความหลากหลายทางธุรกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งมีด้วยกัน 7 ประเภทครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วทั้ง  77 จังหวัดของประเทศไทย   ในมุมมองด้านเศรษฐกิจของภาคสหกรณ์ไทยปี 2564   สหกรณ์นั้นดำเนินธุรกิจสร้างมูลค่าสูงถึง  2.17 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะปรับตัวลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 4.50 แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจของประเทศ ที่ปรับตัวลดลง  การดำเนินงานของภาคสหกรณ์นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ การสหกรณ์นอกจากจะช่วยเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมแล้วในภาคสังคม สหกรณ์ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชุมชนนั้นๆ ให้มีการส่งเสริมอาชีพ พัฒนางานฝีมือ ปลูกฝังความรู้และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจรรโลงวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์มีการสร้างรายได้เสริมในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ อีกด้วย

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

กรมส่งเสริมสหกรณ์ยันกฎกระทรวงกำกับดูแลสหกรณ์ช่วยเสริมความเข้มแข็งและป้องกันทุจริต


 

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีสันบิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศว่า  ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวสืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2562  ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเสนอร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ ต่อมาในการหารือร่วมกันกฤษฎีกาได้พิจารณาและรวมเหลือเพียงฉบับเดียวและแก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวงเป็น ร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ... ทั้งนี้ขบวนการหารือทั้งหมด                  ในชั้นกฤษฎีกาได้มีการประชุมหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 10  ครั้งร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย

        กฎกระทรวงที่เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในขณะนี้ เป็นร่างที่ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย      ประธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด  ประธานชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด ได้รับรู้รับทราบมาโดยตลอด โดยมีการประชุมร่วมกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 10  ครั้ง และในการประชุมเมื่อ 26 มีนาคม  2564 การหารือได้เห็นพ้องต้องกันทุกประเด็นแล้ว จึงได้นำร่างกฎกระทรวงเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ร่างดังกล่าวกำหนดให้มีผลบังคับใช้แบบผ่อนคลาย บางเกณฑ์ 5 ปี บางเกณฑ์ 10 ปี เพื่อให้ระยะเวลาสหกรณ์ปรับตัว อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว



    ทั้งนี้ กสส.ขอชี้แจงสาระสำคัญและเหตุผลในการกำหนดร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ...ดังนี้  1. การนับเงินฝากที่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง 1.1การกำหนดให้เงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ นับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ร้อยละ 50 เพราะว่าในระบบเงินฝากระหว่างสหกรณ์นั้นมีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย หากเกิดปัญหาสภาพคล่องในสหกรณ์บางแห่งย่อมกระทบต่อสหกรณ์แห่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยปริยายเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมการเงินเดียวกัน 1. 2 การกำหนดให้เงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยชุมชุนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯนับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ร้อยละ 100 เนื่องจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีสภาพคล่องส่วนเกินจะนำเงินมากฝากชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯเป็นหลัก โดยมีจำนวนเงินฝากต่อแห่งมีปริมาณไม่สูง และชุมนุมฯไม่ได้นำเงินไปลงทุนแต่ละนำไปให้สมาชิกกู้ยืมเป็นหลัก จึงมีความเสี่ยงต่ำ 1.3 ผ่อนปรนการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่ไว้ 5 ปี  

2.การไม่นำค่าหุ้นมาพิจารณาก่อนประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญนั้น  เนื่องจากเงินค่าหุ้นเป็นทุนของสหกรณ์จึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เมื่อไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันได้ จึงมาสามารถนำมาหักจากจำนวนหนี้ในการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้ อย่างไรก็ตามเมื่อสมาชิกพ้นสภาพก็สามารถนำค่าหุ้นของสมาชิกรายดังกล่าวมาหักชำระหนี้ได้

3. หลักเกณฑ์และอัตราการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นสถาบันการเงิน มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันดังนั้นวิธีปฏิบัติทางบัญชีควรเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินกิจการของสหกรณ์นั้น ๆ ในอนาคตหากไม่ได้รับการชำระหนี้ตามกำหนด ก็จะไม่กระทบต่อผลการดำเนินการหรือกำไรในอนาคต เนื่องจากได้ตัดเป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในปีปัจจุบันไว้แล้ว ซึ่งเป็นหลักความระมัดระวังให้เพียงพอต่อความเสียหายทางเงินที่เกิดขึ้น และจะเป็นผลดีในการส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงในการบริหารจัดการของสหกรณ์ในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้กฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้สหกรณ์มีเวลาปรับตัว 10 ปี  4.การไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญของสมาชิก เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์เกิดจากการดำเนินกิจกรรมระหว่างสมาชิกของสหกรณ์เป็นหลักการ กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์นั้น เนื่องจากสหกรณ์จะทราบศักยภาพของสมาชิกผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมกิจการภายในของสหกรณ์ ดังนั้นข้อเสนอให้เพิ่มบุคคลภายนอกและบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ค้ำประกัน จึงอาจเกิดความเสี่ยงต่อศักยภาพและการติดตามการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกัน 5.การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ เพื่อคุ้มครองปริมาณเงินฝากในระบบสหกรณ์ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะตลาดการเงิน และเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกผู้กู้ เนื่องจากต้นทุนเงินให้กู้ลดลงส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง  6.การนำข้อมูลเครดิตมาประกอบการพิจารณาให้เงินกู้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้กู้ในการพิจารณาให้สินเชื่อได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงความเหมาะสมในการกำหนดวงเงินให้กู้แก่สมาชิก ทั้งนี้ในการอนุมัติเงินกู้ ยังอยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจให้กู้ 7.การไม่อนุญาตให้นำเงินฌาปนกิจสงเคราะห์มาเป็นหลักประกันเงินกู้สามัญของสมาชิก เนื่องจากหลักประกันด้วยทรัพย์สินนั้นเป็นการเอาทรัพย์สินของตนวางไว้เพื่อเป็นหลักประกันชำระหนี้ จึงต้องมีอยู่ขณะทำสัญญากู้ด้วย เมื่อเงินประกันชีวิตหรือเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากเสียชีวิตจึงเกิดสิทธิ์เมื่อเกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไข ดังนั้นจึงไม่อาจนำมาเป็นหลักประกันได้

            ทั้งนี้ กระบวนการมีส่วนร่วมของกระบวนการสหกรณ์ต่อร่างกฎกระทรงนั้น กรมได้มีการดำเนินการหารือด้วยกันหลายครั้งต่อเนื่อง ทั้งก่อนยกร่างและภายหลังที่ครม.เห็นชอบในหลักการ อาทิ การประชุมรับฟังความเห็นก่อนยกร่างฯในวันที่ 2 พ.ค. 62 การเปิดรับฟังทางเวบไซด์ของกสส.ระหว่างวันที่ 3-31 พ.ค. 62 และการเปิดประชุมทางไกลผ่านระบบVideo Conference ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 14-15  พ.ค. 62 และ 5 ก.พ. 63 กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดประชุมหารือ  ร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับระหว่างขบวนการสหกรณ์ และจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 เมื่อ 6 ต.ค. 63   สำหรับภายหลังที่ครม.เห็นชอบหลักการได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ประธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ประธานชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 8  ครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 วันที่ 9 พ.ย.                        ครั้งที่ 2 วันที่17 พ.ย. ครั้งที่ 3  วันที่24  พ.ย. ครั้งที่ 4 วันที่ 1 ธ.ค. ครั้งที่ 5วันที่ 14  ธ.ค. ครั้ง 6 วันที่15 ธ.ค. 2563 และครั้งที่ 7 วันที่14 ม.ค.64  ครั้งที่ 8 วันที่ 26 มี.ค. 64 และเมื่อ 26 มี.ค. 64 ที่ประชุมได้เห็นพ้องต้องกันในทุกประเด็น  จากนั้นกสส.ได้หารือกับขบวนการสหกรณ์อีกครั้งวันที่ 9 มิ.ย. 64  นอกจากนั้นยังได้มีการหารือร่วมกันทุกฝ่ายต่อเนื่องอีก 4 ครั้งผ่านการประชุมสื่ออิเลกทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาข้อสังเกตเพิ่มเติมที่ได้รับจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 19  และ 26 ต.ค. และในวันที่ 11 และ 18  พ.ย. 64

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท หนุนโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ต่อเนื่อง ชู “ทุเรียนป่าละอู” ผลผลิตคุณภาพสหกรณ์ฯห้วยสัตว์ใหญ่


 

ทุเรียนป่าละอูจากทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในพื้นที่ ป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน พื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุจากดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ กลายเป็นสายพันธุ์ทุเรียนที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ด้วยเนื้อหนาสีเหลืองอ่อน กลิ่นไม่ฉุน รสชาติมันมากกว่าหวาน เนื้อแห้งเนียนละเอียด ไม่มีเส้นใย เนื้อเยอะ เมล็ดเล็ก  เมื่อปี 2554 ทุเรียนป่าละอูจึงได้รับการขึ้นทะเบียน Geographical Indication (GI) เป็นแบรนด์สินค้าท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า



ปัจจุบันทุเรียนป่าละอูเป็นที่รู้จักของผู้ที่ชื่นชอบทุเรียน และถือเป็นผลผลิตขึ้นชื่อของ สหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่บริหารงานโดยโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ โดย นายพรไชย บัวคล้าย ประธานสหกรณ์ฯ ผู้นำที่มีความเข้มแข็ง มุ่งสร้างการถ่ายทอดงานและเชื่อมโยงให้เกิดความต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ปัจจุบันมีชาวสวนทุเรียนขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก 50 ราย มีจำนวนต้นทุเรียนกว่า 15,000 ต้น เกษตรกรสมาชิกส่งให้กับสหกรณ์ในฐานะธุรกิจรวบรวมผลผลิตและเป็นผู้จำหน่าย โดยมีกระบวนการการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ มีการควบคุมคุณภาพสินค้า อาทิ การตัดทุเรียนที่ความสุก 80% และติดบาร์โค้ดไว้ทุกผลเพื่อรับประกันผลผลิต โดยปี 2564 สามารถจำหน่ายผลผลิตรวม 44 ตัน มูลค่า 7.7 ล้านบาท และในปี 2565 นี้  คาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิตทั้งหมด จำนวน 60 ตัน

การรวมกลุ่มของเกษตรกร โดยมีสหกรณ์รับซื้อผลผลิตและจัดจำหน่าย ทำให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด เกษตรกรจึงมีรายได้ที่ดี มีผลประกอบการเพิ่มสูงขึ้น สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานที่มีคุณภาพของสหกรณ์ฯ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ต่อยอดเสริมสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมความรู้และพัฒนาอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงประสานความร่วมมือโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าตามแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาช้างป่าให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งมูลนิธิฯ เป็นผู้ประสานหน่วยธุรกิจของเครือซีพี มอบตู้คอนเทนเนอร์ 3 ตู้ ให้กับสหกรณ์ฯ ไว้ใช้เก็บผลผลิตในฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะทุเรียนป่าละอู เพื่อรอส่งจำหน่าย ช่วยป้องกันปัญหาช้างป่าได้นายพรไชย กล่าว

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมผู้ปลูกกาเเฟให้แก่สมาชิกกลุ่มสหกรณ์ฯ เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ที่มั่นคงเเละยั่งยืน รุ่นแรกมีเกษตรกร เข้าร่วม 50 คน โดยอบรมในหัวข้อ การคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่  วิธีการเตรียมแปลงและขั้นตอนในการปลูกพร้อมการดูแลบำรุงต้น และการเก็บเกี่ยว  นอกจากนั้นยังถ่ายทอดให้เห็นถึงประโยชน์ เเละแนวโน้มทิศทางการตลาดของกาแฟ ซึ่งเกษตรกรมีทั้งผู้ที่ปลูกกาแฟอยู่แล้ว และไม่เคยปลูกกาแฟเลยแต่มีความสนใจ โดยส่วนมากเป็นการปลูกแซมไม้ผลชนิดอื่น เช่น ทุเรียน มะนาว มะม่วง สำหรับผู้ที่ปลูกกาแฟมีทั้งที่ได้ผลผลิต และยังไม่ได้ผลผลิต  สิ่งที่เกษตรกรกังวลจะเป็นห่วงเรื่องการดูแลรักษา และด้านการตลาด  การอบรมครั้งนี้จะทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้เทคนิคการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพการเกษตร



สหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นหนึ่งในความสำเร็จของโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ ที่ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ภาคภูมิใจ จากวัตถุประสงค์ในระยะแรกเน้นด้านความมั่นคงของชาติเป็นหลัก และปรับสู่การดำเนินโครงการฯ ตามแนวพระราชดำริ โดยใช้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และพัฒนาสมาชิกให้รู้รักสามัคคี ยึดหลักช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป สะท้อนความสำเร็จตามแนวพระราชดำริอย่างแท้จริง



นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ บอกถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จด้านการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรว่า เกิดจากการพัฒนาผู้นำสหกรณ์ฯ ให้มีความรู้อย่างต่อเนื่อง และสร้างชุมชนมีความเข้มแข็ง มีความมุ่งมั่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จะพัฒนาท้องถิ่นชุมชนให้มีความเป็นอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การที่มูลนิธิฯ ส่งเสริมทักษะความรู้ สนับสนุนให้คนในชุมชนเกิดการทำงานร่วมกัน เชื่อมต่อถ่ายทอดการดำเนินงานจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้นำสามารถส่งไม้ต่อคนรุ่นถัดไปได้อย่างดี นำไปสู่ผลดำเนินงานที่เกิดความคล่องตัว

มูลนิธิฯ มุ่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาของสรกรณ์ฯอย่างบูรณาการ ทำให้ชุมชนและหน่วยงานต่างๆ มีทัศนคติที่ดี สามารถพัฒนาโครงการได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมปลูกฝังให้เยาวชนลูกหลานสหกรณ์มีแนวคิดที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม สร้างจิตสำนึกรักแผ่นดินถิ่นเกิด ผ่านการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้พวกเขาได้ให้เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มระบบสหกรณ์ และสร้างสมาชิกผู้นำรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นต่อไป ส่วนเรื่องอาชีพ มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์มีทางเลือกอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ด้วยการจัดหลักสูตรการปลูกกาแฟ โดยมีแผนที่จะสร้างอาชีพนี้ให้ยั่งยืน โดยมีสหกรณ์เป็นผู้รวบรวม นำไปสู่การแปรรูป และเพิ่มมูลค่าผลผลิตในอนาคตด้วยนายจอมกิตติ กล่าว

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของหมู่บ้านสหกรณ์ฯอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่สมาชิกสหกรณ์ ควบคู่กับกิจกรรมด้านสังคม ในโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์จำนวน 7 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา และเชียงใหม่ โดยเน้นรูปแบบการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพและผู้นำสหกรณ์ ผ่านการฝึกอบรมศึกษาดูงาน และส่งเสริมอาชีพเสริม อาทิ การปลูกไม้ผลผสมผสาน การเลี้ยงไก่พื้นเมือง และการเลี้ยงแพะ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างชุมชนเข้มแข็ง ดำเนินการคู่ขนานไปกับการพัฒนาผู้นำและสมาชิกสหกรณ์ โดยการส่งเสริมการทำธุรกิจเกษตร สนับสนุนให้ผู้นำและสมาชิกมีความรู้ความเข้าใจการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันผลิตและจำหน่าย ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการตลาด ควบคู่กับการจัดค่ายสร้างเสริมคุณธรรม สืบสานและต่อยอด โครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อปลูกจิตสำนึกสร้างทัศนคติเยาวชนลูกหลานสหกรณ์ รักแผ่นดินถิ่นเกิด



ความสำเร็จของ สหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นภาพสะท้อนความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชดำริ ในด้านการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต อยู่ดีกินดี มีความสุข นับเป็นอีกผลลัพธ์ของเป้าหมายสร้าง 4 ดี คนดี พลเมืองดี อาชีพดี และสิ่งแวดล้อมดีที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ร่วมสานต่อความมุ่งมั่นเพื่อขจัดความยากจนอย่างยั่งยืนแก่ชาวไทย

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...