วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ชป.ลงพื้นที่นำสื่อสัญจรดูงานโครงการศึกษาฯ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จ.เพชรบุรี


 

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี โดยมีหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้องร่วมพบปะหารือ ณ คลองระบายน้ำ D1 ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ และคลองระบายน้ำ D9 ตำบลหนองขนาน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี



นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ ดำเนินโครงการจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง ในเขตอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอชะอำ อำเภอเมือง อำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม โดยมีแผนการระบายน้ำออกสู่ทะเลเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังต่อไปนี้



1.ระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ จำนวน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

2.การปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

3.ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D9 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (มีการก่อสร้างและใช้งานแล้ว)

4.ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D18 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที



อย่างไรก็ตาม การเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง ระบบนิเวศ และการไหลวนของกระแสน้ำ กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานออกสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และเป็นที่ยอมรับของชุมชนในพื้นที่ ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง



สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากอุทกภัยของจังหวัดเพชรบุรี ได้กว่า 40,000 ครัวเรือน สามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรได้กว่า 10,000 ไร่ อีกทั้งช่วยรักษาระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง ช่วยผลักดันน้ำเค็มไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของเกษตรกร นอกจากนี้มีการสร้างถนนคันคลอง เลียบคลองระบายน้ำทั้ง 3 (D1 D9 D18) ความยาวประมาณ 20-30 กิโลเมตร ช่วยทางด้านการคมนาคม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของชาวเมืองเพชรบุรีต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...