นายวิโรจน์ ยุทธยงค์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพ ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมรูปแบบการเลี้ยงที่เรียกว่า CARE Aquaculture Model โดยรูปแบบประกอบด้วย C-Consumer Need คือ การผลิตที่ใส่ใจความต้องการของผู้บริโภค A-Achieve easily and consistently ระบบที่ง่ายต่อการเลี้ยง สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง R- Reliable System ผลผลิตมีคุณภาพ และแน่นอน และ E-Environmental Friendly ระบบการเลี้ยงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมีการจัดการฟาร์มภายใต้ระบบ Bio-security สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
ในฟาร์มรูปแบบ CARE Aquaculture Model ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ออกแบบฟาร์มโดยใช้หลักการ “Gravity Flow” จัดผังฟาร์มให้มีการลดหลั่นกัน ตั้งแต่บ่อน้ำพร้อมใช้ บ่อเลี้ยง บ่อตกตะกอน และบ่อปรับปรุงน้ำให้สะอาดด้วยพืช จึงทำให้ประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ สามารถหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ ง่ายต่อการบริหารจัดการฟาร์ม และยังใช้ระบบโปรไบโอติก ฟาร์มมิ่ง คือ การนำจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มาใช้ในการเลี้ยงปลา ทำให้ปลามีสุขภาพแข็งแรง เติบโตได้ดี ลดการใช้ยาและสารเคมี ปลอดภัยจากสารตกค้างต่างๆ ในเนื้อปลา ยกระดับความปลอดภัยของอาหารและช่วยรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำภายใต้การเลี้ยงจากรูปแบบดังกล่าว ยังผ่านการคัดขนาดด้วยเครื่องอัตโนมัติ และมีขั้นตอนตัดแต่งแปรรูปอย่างพิถีพิถัน อยู่ในบรรจุภัณฑ์สูญญากาศที่ทันสมัย ช่วยรักษาความสดและคุณภาพของเนื้อปลาได้นานขึ้นจนถึงมือผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงที่มา และนำไปปรุงเมนูได้หลากหลายตามต้องการ
“ซีพีเอฟ มุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงปลาน้ำจืด ตามหลักวิชาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย คัดเลือกสายพันธุ์ปลา ที่มีคุณลักษณะโดดเด่น เติบโตดี ต้านทานโรคสูง ภายใต้รูปแบบการเลี้ยงที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรค ทำให้ได้เนื้อปลาคุณภาพดี สะอาดและปลอดภัย ช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง" นายวิโรจน์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น