วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564

สกัดทุเรียนอ่อนต่อเนื่อง พร้อมเข้มมาตรการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นทุเรียนไทยปลอดโควิด-19 สู่ตลาดโลก

 



นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าทุเรียนภาคตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง เมื่อปลายเดือนมีนาคม ถึง ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ปี 2564 ทุเรียนให้ผลผลิต 575,542 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อยร้อยละ 5 ขณะนี้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดแล้วเป็นทุเรียนพันธุ์เบา เช่น พันธุ์กระดุม พวงมณี ซึ่งเป็นพันธุ์ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น (90 – 95 วัน) และจะให้ผลผลิตออกสู่ตลาดก่อนพันธุ์หมอนทองที่มีอายุเก็บเกี่ยวยาวกว่า  (110 – 120 วัน) ทั้งนี้ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้  ขณะเดียวกันภาครัฐได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกนอกแหล่งผลิตอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก มีการประกาศให้วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็นวันเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทองในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ซึ่งล่าสุด จากการสุ่มตรวจ  พบว่า จันทบุรี พบทุเรียนอ่อน 30%  ระยอง พบทุเรียนอ่อน 37% และ ตราด ยังไม่พบทุเรียนอ่อน



ปี 2564 นับเป็นปีแรกที่กระทรวงเกษตรฯ มีการประกาศวันทุเรียนแก่ คือวันที่ 10 เมษายน เพื่อให้เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หมอนทองภาคตะวันออก โดยไม่แยกรายจังหวัด และกำหนดมาตรฐานทุเรียนแก่ จะต้องมีเปอร์เซ็นต์เนื้อแป้งมากกว่า 32 เปอร์เซ็นต์  โดยหลังวันที่ 10 เมษายน เป็นต้นมา เกษตรกร สามารถที่จะตัดทุเรียนขายได้ตามปกติ แต่แน่นอนว่าภาครัฐก็ยังคงเฝ้าระวังการตัดทุเรียนอ่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจได้เข้าตรวจสอบโรงคัดบรรจุที่มีการรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ พบว่ามีการตัดทุเรียนอ่อนและมีการจับกุมดำเนินคดีแล้วหลายราย โดยผู้จำหน่ายทุเรียนอ่อนจะได้รับโทษตามกฎหมาย รองเลขาธิการ สศก. กล่าว




ทั้งนี้ ยังได้เน้นมาตรการควบคุมการส่งออกทุเรียนปลอดเชื้อโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผลผลิตทุเรียนไทยซึ่งมีมูลค่าซื้อขายทั้งในและต่างประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท ด้วย 3 มาตรการที่ครอบคลุม คือมาตรการสำหรับเกษตรกรชาวสวน มาตรการสำหรับผู้ประกอบการ สถานประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) และมาตรการสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตร (ผลไม้) ตั้งแต่การพ่นยาฆ่าเชื้อต้นทางจากสวนทุเรียน จนถึงระบบขนส่ง พร้อมกันนั้นก็ได้จัดทำคลิปวีดีโอทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน และเอกสารประชาสัมพันธ์ภาษาเกาหลี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผลผลิตทุเรียนไทยต่อประเทศคู่ค้าสำคัญต่าง ๆ โดยในส่วนของผู้บริโภคในประเทศสามารถที่จะเลือกซื้อทุเรียนรวมทั้งผลไม้ตามฤดูกาลคุณภาพดีและปลอดเชื้อได้อย่างสะดวกสบายผ่านแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ อาทิ ไปรษณีย์ไทย www.thailandpostmart.com ที่มีบริการส่งผลไม้สดถึงบ้าน ในราคาเหมาจ่ายตามน้ำหนัก เริ่มต้นไม่เกิน 3 กก. ราคาเพียง 50 บาท รองรับน้ำหนักสูงสุดถึง 20 กก. รวมถึงโปรโมชั่นรับเทศกาลผลไม้ ส่งผลไม้ด้วยบริการ EMS จะได้รับส่วนลด 20% ของค่าบริการแบบเหมาจ่ายตามพิกัดน้ำหนัก ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 สิงหาคม 2564 อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...