วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564

เกษตรฯ เผยสถานการณ์ผลผลิตและการเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคตะวันออก ปี’64 ราคาพุ่ง



            กรมส่งเสริมการเกษตร เผยสถานการณ์ผลผลิตและการเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2564 ผลผลิตลดจากปีที่แล้วร้อยละ 10 เหตุเพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน ส่งผลให้ราคาไม้ผลปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น 



            นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากการสำรวจข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ปี 2564 (ข้อมูล ณ 19 เมษายน 2564) โดยฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง มีผลผลิตรวม 900,126 ตัน ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 995,501 ตัน (ลดลง 95,375 ตัน หรือร้อยละ 10) เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย หนาวเย็นนาน สลับกับมีฝนตกในช่วงปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 ทำให้ออกดอกได้น้อย ไม่เต็มต้น โดยทุเรียน ให้ผลผลิต 575,542 ตัน มังคุด 106,796 ตัน เงาะ 197,708 ตัน และลองกอง 20,080 ตัน ทั้งนี้ ผลผลิตทั้ง 4 ชนิดจะออกมากช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 สำหรับประมาณการผลผลิตรายจังหวัดมีดังนี้

             ทุเรียน ได้แก่ จังหวัดระยอง 120,080 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 20,842 ตัน (ร้อยละ 17.36) จันทบุรี 398,618 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 68,898 ตัน (ร้อยละ 17.28 ตัน) ตราด 56,844 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 19,190 ตัน (ร้อยละ 33.76) ภาพรวมทุเรียนภาคตะวันออก ประมาณการผลผลิต 575,542 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 108,930 ตัน คิดเป็นร้อยละ 18.93 โดยทุเรียนเกรด ราคา 113.33 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยรายสัปดาห์ ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 12.25 บาท/กิโลกรัม



            มังคุด ได้แก่ จังหวัดระยอง 12,724 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 472 ตัน (ร้อยละ 3.71) จันทบุรี 71,695 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 1,622 ตัน (ร้อยละ 2.26 ตัน) ตราด 22,377 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 1,198 ตัน (ร้อยละ 5.35) ภาพรวมมังคุดภาคตะวันออก ประมาณการผลผลิต 106,796 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 3,292 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3.08 โดยมังคุดเกรด ราคา 196.67 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 11.94 บาท/กิโลกรัม



            เงาะ (โรงเรียน) ได้แก่ จังหวัดระยองให้ผลผลิต 5,350 ตัน จันทบุรี 99,179 ตัน ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวทั้ง 2 จังหวัด ตราด 93,179 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 8,763 ตัน (ร้อยละ 9.40) ภาพรวมเงาะ (โรงเรียน) ภาคตะวันออก ประมาณการผลผลิต 197,708 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 8,763 ตัน คิดเป็นร้อยละ 4.43 โดยเกรด ราคา 55 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 8.95 บาท/กิโลกรัม

            ลองกอง ประมาณการผลผลิตภาคตะวันออก 20,080 ตัน ขณะนี้ยังไม่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 21.26 บาท/กิโลกรัม

            ขณะที่ลิ้นจี่ (นครพนม 1) ของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ให้ผลผลิต 19,937 ตัน เชียงราย 3,059 ตัน น่าน 3,708 ตัน ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวทั้ง 3 จังหวัด พะเยา 4,012 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 3 ตัน (ร้อยละ 0.07) ภาพรวมลิ้นจี่ภาคเหนือ ประมาณการผลผลิต 30,716 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 3 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.01 โดยเกรด AA ราคา 100 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 17.43 บาท/กิโลกรัม



            สำหรับแนวทางการรับซื้อทุเรียนในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมที่ผ่านมา ล้งและพ่อค้าผู้ส่งออกตั้งราคารับซื้อแบบเหมาสวน ซึ่งมีการจัดแบ่งตามเกรดส่งออกตามมาตรฐาน GAP และ GMPที่ประเทศจีนกำหนด ราคาอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 130 – 190 บาท ทั้งนี้ ราคารับซื้อแบบเหมาสวนล่วงหน้า ทุเรียนเกรดมาตรฐานส่งออกเกรด AB ล้งรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 160 บาท เนื่องจากปีนี้กำลังซื้อจากจีนเพิ่มมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูง เกษตรกรพึงพอใจมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ประกอบกับความต้องการบริโภคทุเรียนในประเทศยังมีต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนล้งที่รับซื้อทุเรียนมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ผลผลิตทุเรียนได้รับความเสียหายเยอะช่วงก่อนเก็บผลผลิต เนื่องจากมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นทำให้ทุเรียนใกล้เก็บเกี่ยวพลัดหล่นจากต้นเสียหายจำนวนมาก จนผลิตไม่พอต่อความต้องการ ส่งผลให้ราคาทุเรียนพุ่งสูงขึ้นและยังคงอยู่ในระดับสูงต่ออีกปี

             อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรและผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับคุณภาพของทุเรียน และไม่ตัดทุเรียนอ่อนหรือด้อยคุณภาพออกจำหน่าย ซึ่งหากมีการลักลอบตัดทุเรียนอ่อนจะมีบทลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการยึดใบ GAP ของเกษตรกร และใบ GMP ของผู้ประกอบการด้วย       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...