วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

CPF ร่วมฟื้นทะเลสะอาด เก็บ -คัดแยก-รีไซเคิล เพิ่มมูลค่าขยะจากทะเล

   


      

    บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  เสริมทัพแก้ปัญหาขยะในทะเล ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายพันธมิตร เรือประมง และชาวประมง คืนท้องทะเลสะอาด รักษาสมดุลระบบนิเวศ สร้างความมั่นคงทางอาหาร  ร่วมปลูกฝังจิตสำนึก  เก็บขยะ คัดแยกขยะ จนถึงการแปรรูปขยะรีไซเคิล  เพื่อเพิ่มมูลค่าและนำกลับมาใช้ประโยชน์ สอดรับแนวทาง SDGs มุ่งมั่นอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

    นายไพโรจน์  อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำครบวงจร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำของไทย ซีพีเอฟ ตระหนักดีว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เป็นต้นทางของวัตถุดิบที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร บริษัทฯจึงให้ความสำคัญกับการทำประมงอย่างรับผิดชอบผ่านการใช้วัตถุดิบปลาป่นที่ยั่งยืนมาจากผลพลอยได้จากการแปรรูปสัตว์น้ำ  การร่วมอนุรักษ์ ปกป้องและฟื้นฟู ผืนป่าชายเลน  สนับสนุนการบริหารจัดการขยะในทะเลที่มีประสิทธิภาพตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  และที่ผ่านมา ยังได้ร่วมสนับสนุนโครงการทะเลสะอาด (Catch the Trash Project) นำโดยกรมประมงและสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมและรณรงค์ให้ชาวประมงลดการทิ้งขยะลงสู่ทะเล  เก็บขยะจากกิจกรรมประมง ทั้งขยะจากการบริโภคบนเรือ และขยะที่ติดมากับเครื่องมือประมงกลับขึ้นฝั่ง โดยขยะที่รีไซเคิลได้ จะถูกคัดแยกและส่งขายให้กับโรงรับซื้อขยะต่อไป  



    ซีพีเอฟ  ต่อยอดโครงการทะเลสะอาด โดยมีแนวคิดขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมตั้งแต่การเก็บขยะ การคัดแยก การจัดการ  จนถึงการนำขยะมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling เพื่อสร้างมูลค่า โดยเดินหน้าโครงการนำร่อง (Pilot  Project) ประสานความร่วมมือกับโรงงานปลาป่นเจดีพี ในจังหวัดตรังและชาวประมงเก็บขยะจากทะเลคืนฝั่ง  จากการรวบรวมขยะจากเรือประมงที่มาขึ้นท่าพบว่ามีขยะที่รีไซเคิลได้  อาทิ ขวดพลาสติก PET  ขยะประเภทขวดแก้ว  เศษแห เศษอวน  ที่สามารถเพิ่มมูลค่าขยะเหล่านี้ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งบริษัทฯ สนใจทดลองนำขยะพลาสติกขวด PET ที่เก็บจากทะเล นำมาแปรรูปเป็นเส้นใยพลาสติก ผลิตเป็นเสื้อโปโล            รีไซเคิล ซึ่งขณะนี้การผลิตล็อตแรก 500 ตัวจะเตรียมแจกให้พนักงานซีพีเอฟล็อตแรกเดือนกรกฏาคมนี้      


    

   "ซีพีเอฟนำขยะที่ชาวประมงเก็บกลับขึ้นฝั่งมารีไซเคิลและนำกลับมาใช้ประโยชน์อีก เป็นโครงการที่ดำเนินการตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหาปริมาณขยะในทะเล  ร่วมรักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเล สนับสนุนภารกิจของซีพีเอฟในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)  ทั้งในเรื่องของอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางอาหาร " นายไพโรจน์ กล่าว 

   นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า  ซีพีเอฟมุ่งมั่นมีส่วนร่วมในการจัดการด้านทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรตลอดกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการพัฒนาโมเดลการเลี้ยงกุ้งระบบรีไซเคิลน้ำเพื่อหมุนเวียนใช้ในฟาร์มโดยไม่มีการปล่อยน้ำจากฟาร์มสู่สิ่งแวดล้อม  (Zero Discharge) ลดปริมาณการดึงน้ำจากแหล่งน้ำภายนอกมาใช้ในกระบวนการผลิตและลดการปล่อยน้ำเสีย นอกจากนี้  ซีพีเอฟยังได้ดำเนินโครงการร่วมอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูผืนป่าชายเลนของประเทศ ดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" โดยผลดำเนินงานระยะที่หนึ่ง (ปี 2557-2561) สามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัดได้รวม 2,388 ไร่ ในพื้นที่ จ.ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา และอยู่ระหว่างดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน เข้าสู่ระยะที่ 2 มีเป้าหมายอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ระยอง และตราด เพื่อร่วมคืนสมดุลระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

แผนโลจิสติกส์-โซ่อุปทานภาคเกษตรระยะเร่งด่วนฉลุย เกษตรฯเร่งเดินหน้ารองรับเส้นทางรถไฟสายลาว-จีนปลายปี 64


 

             ปลัดเกษตรใส่เกียร์เดินหน้าแผนขับเคลื่อนโลจิสติกส์-โซ่อุปทานภาคเกษตรระยะเร่งด่วน-ระยะยาว  มุ่งต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ลดการสูญเสียของผลผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร และรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายลาว-จีนปลายปี 64  

การพัฒนาและขับเคลื่อนโลจิสติกส์เกษตรตลอดโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ  นับเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร   เนื่องจากกลไกลดังกล่าวช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ลดการสูญเสียของผลผลิต และรักษาคุณภาพผลผลิต ตั้งแต่การจัดการในฟาร์มของเกษตรกร ผ่านสถาบันเกษตรกรไปสู่การส่งมอบหรือขนส่งผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค   เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจ ทั้งในด้านคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรและระยะเวลาในการให้บริการที่รวดเร็ว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว   จึงได้เร่งขับเคลื่อนแผนงานทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าเกษตร-โซ่อุปทานเกษตรรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการเดินรถในเดือนธันวาคมปีนี้และระยะต่อไป   ตลอดจนเตรียมพร้อมในการรองรับการแข่งขันสินค้าเกษตรและการเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรไทยในระยะยาว



ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร   กล่าวถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล ด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าเกษตรและบริการของประเทศในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนี้ว่า  มีความก้าวหน้าตามลำดับ   ล่าสุดได้มีการพิจารณาสำคัญ 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1) กรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ 2) การจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร



โดยกรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น   ได้มอบหมายสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ในฐานะผู้ประสานงานหลักภายใต้กรอบความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชไทย-จีน(SPS Focal Point) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯและกรมวิชาการเกษตรเร่งรัดการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรค และตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่ 3 พร้อมทั้งเร่งหาแนวทางเจรจาเพิ่มเติมด่านนาทา จังหวัดหนองคาย ในเอกสารแนบท้ายพิธีสารฯ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการในอนาคต 

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีนในระยะเร่งด่วนและระยะต่อไป โดยมอบหมายให้มกอช.เป็นประธานคณะทำงาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)  เป็นคณะทำงานและมีผู้แทนมกอช. เป็นฝ่ายเลขานุการเพื่อดำเนินการจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมในภาพรวมของกระทรวงเกษตรฯในระยะเร่งด่วนที่ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมการให้บริการและดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อมีการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน ในเดือนธันวาคมนี้   รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมความพร้อมของกระทรวงเกษตรฯในระยะต่อไป เพื่อรองรับการให้บริการและดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อมีการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีนอย่างสมบูรณ์

สำหรับความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ได้มอบหมายให้ มกอช. และกรมวิชาการเกษตร เร่งหาแนวทางการลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน โดยเจรจาและใช้กลไกทางการทูตเพื่อให้มีการลงนามในพิธีสารได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งเร่งเจรจาเพิ่มด่านนาทา และด่านศุลกากรหนองคาย ในเอกสารแนบท้ายพิธีสารฯ เพื่อให้สามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศที่สามได้ทันทีเมื่อมีการเปิดให้บริการดร.ทองเปลว กล่าว



ดร.ทองเปลว ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาระบบโลจิสติกส์เกษตรตลอดห่วงโซ่ระยะยาวด้วยว่า ได้มีการเห็นชอบกรอบและกระบวนการการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2566-2570 โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามกรอบการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ และยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตรพ.ศ. 2566-2570 เสนอคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป

ดร.ทองเปลว กล่าวด้วยว่า ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) และปรับลดขั้นตอนการทำงานเพื่อรองรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรด้วยว่า     ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและพัฒนาธุรกรรมที่ให้บริการผ่านระบบ NSW ได้ 117 ธุรกรรม   คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 81.82 (จากทั้งหมด 143 ธุรกรรม) และสามารถปรับลดขั้นตอนการทำงานรายสินค้ายุทธศาสตร์ (น้ำตาล ข้าว ยางพารา สินค้าแช่แข็ง และวัตถุอันตราย) ได้แล้ว 66 รายการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.19 (จากทั้งหมด 74 รายการ) ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาการให้บริการผ่านระบบ NSW และการปรับลดขั้นตอนการทำงานสินค้า ที่ยังค้างอยู่ 34 รายการ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จให้ชัดเจน



นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆที่ต้องคำนึง เช่น ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID -19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และศูนย์กลางของโลจิสติกส์สินค้าเกษตรและอาหารระดับภูมิภาค โดยมอบหมายให้สศก.ดำเนินการยกร่างแผนปฏิบัติการฯ ให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณาเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตรให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และลดต้นทุนโลจิสติกส์การเกษตรตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการในอนาคตนำไปสู่การพัฒนาโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป



การเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนให้สำเร็จ  เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ลดการสูญเสียของผลผลิต และรักษาคุณภาพผลผลิต ตั้งแต่การจัดการในฟาร์มของเกษตรกร ผ่านสถาบันเกษตรกรไปสู่การส่งมอบหรือขนส่งผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคและช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความ พึงพอใจ ทั้งในด้านคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรและระยะเวลาในการให้บริการที่รวดเร็วนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรแบบมั่นคง ยั่งยืนในอนาคตดร.ทองเปลว กล่าวทิ้งท้าย

                                             

 

 

 

 

 

 

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564

“แม่นาย ไม้หมอนฟาร์ม” กระจายอาชีพสร้างรายได้เติมสุขให้ชุมชน ปรับตัวเรียนรู้ข้ามผ่านทุกวิกฤติ สู่ต้นแบบเกษตรครบวงจร เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน


 

            บนเส้นทางการเปลี่ยนพื้นที่สวนลำไย 15 ไร่ ของ แม่นาย ไม้หมอนฟาร์มให้เป็นสวนเกษตรแบบครบวงจร โดดเด่นด้วยภาพลักษณ์ร้านกาแฟในสวน จนเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดเชียงรายและนักท่องเที่ยว เกิดจากความอบอุ่นของครอบครัว ที่เรียนรู้ ปรับตัว ผ่านเรื่องราว สารพัดบททดสอบ ด้วยความมุ่งมั่น ขยันและอดทน แต่สิ่งที่ อารีพร สุยะมองว่าเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องก้าวผ่านคือ การทำให้ธุรกิจนี้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง รวมทั้งเชื่อมต่อแบ่งปันกระจายงานและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับวิกฤตโควิด 19 แต่ชุมชนนี้ก็สามารถรับมือได้อย่างเข้มแข็ง



            อารีพร สุยะเล่าถึงเส้นทางของแม่นาย ไม้หมอนฟาร์ม อำเภอพาน จ.เชียงราย ว่า เดิมมีรายได้หลักจากอาชีพเกษตรกรสวนลำไยและขายก๋วยเตี๋ยวควบคู่กันไป แต่เมื่อผลผลิตและราคารับซื้อลำไยไม่ค่อยดี ประกอบกับลูกสาวที่เรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยใกล้จะจบการศึกษามีความคิดอยากกลับมาอยู่บ้าน ทำงานในสิ่งที่รักได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา และพ่อแม่ก็ได้มีความสุขกับอาชีพทำสวนทำไร่ที่ชื่นชอบไปด้วยเช่นกัน จึงตัดสินใจเปลี่ยนแนวคิดใหม่เลิกทำสวนลำไยหันไปปลูกพืชอื่น ๆ แทน เพื่อวางแผนเตรียมเปิดร้านกาแฟให้ลูกสาวกลับมาบริหารเมื่อเรียนจบ ซึ่งยอมรับว่ามีความท้าทายมาก เพราะในช่วงแรกยังมองไม่เห็นว่าจะเดินไปในทิศทางไหน และจะวางแผนพัฒนาอย่างไร



            จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดจากการที่ลูกสาวกำลังเรียนจบมหาวิทยาลัย และมีความคิดอยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดอยู่กับครอบครัว ก็หารือกันว่าจะทำอาชีพอะไรดีที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ยอมรับว่าในช่วงแรกยังจับหลักไม่ถูก ทำให้ท้อแท้เหมือนกัน แต่โชคดีที่มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมในโครงการพลังปัญญา ซึ่งสอนให้รู้จักการสร้างคุณค่าจากสิ่งที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จึงมีแนวคิดอยากจะพัฒนาสวนลำไยให้เป็นสวนเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และการจัดจำหน่าย รวมไปถึงการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ และได้นำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาปรับใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ คุณภาพ ราคา ความซื่อสัตย์



            ไม้หมอนฟาร์มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น หลังจากลงมือสำรวจพื้นที่ 15 ไร่ ที่เดิมใช้เป็นบ้านพักอาศัย ร่วมกับสวนลำไย โดยได้จัดสรรแบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ เริ่มจากแปลงเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชและผลไม้เมืองหนาว เช่น องุ่น สตรอเบอรี่ ผักปลอดสาร เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารภายในร้านและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และยังได้ปลูกพืชสมุนไพร ทั้งไพล ตะไคร้หอม มิ้นท์ และยูคาลิปตัส เพื่อผลิตน้ำมันสกัดหอมระเหยที่ได้เรียนรู้เรื่องโรงกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงราย ทำให้สินค้าจากชุมชนได้รับการพัฒนาจนมีคุณภาพและสามารถส่งออกขายในต่างประเทศ



            นอกจากนี้ ยังมีร้านขายของที่ระลึก ไม้หมอนฟาร์มเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากฟาร์มโดยตรงให้แก่นักท่องเที่ยว ผู้มาเยี่ยมเยียนดูงานและผู้บริโภค โดยแนวคิดการตั้งร้านนั้น เริ่มต้นจากความตั้งใจที่จะนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมในโครงการมาต่อยอดและพัฒนาท้องถิ่น จึงทำให้มีความแตกต่างจากร้านทั่วไป เพราะสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นในร้านคือ สิ่งที่ครอบครัวและชุมชนร่วมกันทำ ตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป รวมถึงการจัดจำหน่าย เช่น น้ำมันหอมระเหย เริ่มต้นจากนำภูมิปัญหาท้องถิ่นเรื่องการต้มสมุนไพรมาลองผิดลองถูก จนเป็นผลิตภัณฑ์สเปรย์ไล่ยุง ก่อนที่สถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอด ปัจจุบันไม้หมอนฟาร์มได้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่สำคัญ หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบ โครงการพลังชุมชนที่เปิดพื้นที่สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ เสริมความรู้คู่คุณธรรมให้กับวิสาหกิจชุมชน รวมถึงให้โอกาสผลิตภัณฑ์ของโครงการพลังชุมชนจากภาคีเครือข่ายมาวางจำหน่ายในร้านค้าเพื่อเติบโตร่วมกันอีกด้วย อีกทั้ง ยังมีการเรียนรู้ต่อยอดการขายสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์



            โครงการพลังชุมชนที่จัดโดยเอสซีจี สอนให้เรารู้จักคำว่าแบ่งปันให้กับสังคมและชุมชน เราจึงมีแนวคิดว่า ไม่สามารถเติบโตได้โดยลำพัง ต้องรู้จักแบ่งปันให้กับชุมชน สังคม และคนรอบข้าง เพื่อที่จะเติบโตไปด้วยกัน ช่วยสร้างความสุขและความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งความท้าทายก็คือ การวางแผนที่จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน และชุมชนโดยรอบ สามารถอยู่ได้ในระยะยาว โดยทุกวันนี้ทางฟาร์มเปิดให้คนทั่วไปที่สนใจเข้ามาเยี่ยมเยียนและศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ คำแนะนำในทุกเรื่องนางอารีพร กล่าว

            ด้วยความอดทนมุ่งมั่นในเป้าหมาย ขยันเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นต้นแบบและแนวทางการบริหารจัดการชุมชน ที่มีกระบวนการปรับเปลี่ยนวิธีคิดสู่การต่อยอดทางความคิด พร้อมด้วยความรักความอบอุ่นของครอบครัว ทำให้ แม่นาย ไม้หมอนฟาร์มนอกจากจะสามารถพึ่งพาตนเอง และมีรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนแล้ว ยังมีการเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถแบ่งปันกระจายงานและกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ชป.จับมือหลายหน่วยงานฝ่าวิกฤตแล้ง หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง



   กรมชลประทาน จับมือหลายหน่วยงานเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำนาปีไปแล้ว เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รวมถึงกิจกรรมการใช้น้ำภาคส่วนอื่นๆ พร้อมทั้งวางแผนสำรองน้ำไว้ในฤดูแล้งหน้า เร่งสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในการจัดรอบเวร การประหยัดน้ำ คาดว่าฝนที่ตกช่วงต้นเดือนกรกฎาคมจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนทางตอนบนได้



   ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (28 มิ.ย. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,314 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 10,384 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,788 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,092 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปี 64 ไปแล้วทั้งประเทศรวม 8.55 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 4.70 ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 59 ของแผน 



   ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นทางตอนบนของประเทศ แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ปัจจุบันมีพื้นที่หลายแห่งเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการผลิตประปา รวมไปถึงสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ส่งผลกระทบต่อน้ำดิบผลิตประปาของการประปานครหลวง(กปน.) ทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มจากแผนที่วางไว้ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความแปรปรวนสูง อาจจะส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการเพาะปลูกของเกษตรกร และยังคงจำเป็นต้องจัดสรรน้ำตามรอบเวรให้กับพื้นที่การเกษตรที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว โดยจะให้ความช่วยเหลืออย่างศักยภาพ ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทั้งนี้ ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ตลอดจนรักษาระบบนิเวศและพื้นที่การเกษตรในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อชี้แจงประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ทุกภาคส่วนรับทราบอย่างต่อเนื่อง



   กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ตลอดจนน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอตามแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเดินหน้าประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

แม็คโคร ผนึกกรมการค้าภายใน ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เคาะรับซื้อกุ้งขาว เดือน มิ.ย.- ก.ค. 1,500 ตัน พร้อมชวนคนไทยกินกุ้งหนุนระบายผลผลิต


 

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จับมือกรมการค้าภายใน คิกออฟ กิจกรรมส่งเสริมการบริโภค โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2564  รับซื้อกุ้งขาวสองเดือน มิ.ย.- ก.ค. จำนวน 1,500 ตัน เพิ่มช่องทางระบายผลผลิตกระจายขายทุกสาขาทั่วประเทศ พร้อมชวนคนไทยกินกุ้ง หนุนบริโภคต่อเนื่อง ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน  



นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม็คโคร ได้ร่วมกับ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2564 อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับพันธกิจสำคัญของแม็คโคร นั่นคือ “โครงการแม็คโครเคียงข้างเกษตรกรไทย สู้ภัยโควิด” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาว หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประสบปัญหามีช่องทางระบายผลผลิตน้อยลง ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ แม็คโครจึงรับซื้อตรงเพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ได้ระบายผลผลิตรวมแล้วมากกว่า 1,500 ตัน ซึ่งคาดว่าตลอดทั้งปี 2564 จะสามารถรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรได้ประมาณ 10,000 ตัน นอกจากนี้ยังจัดโปรโมชั่นและกิจกรรมส่งเสริมการกินกุ้งในทุกสาขาทั่วประเทศ รวมถึงจัดกิจกรรมพิเศษทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ใน 17 สาขาของกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย



ความร่วมมือระหว่างแม็คโครและกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในทุกโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  ไม่ว่าจะเป็น การร่วมแก้ปัญหารับซื้อผลผลิตในระยะสั้น ที่ทำได้อย่างรวดเร็วช่วยเกษตรกรในหลายพื้นที่ได้ทันท่วงที และการพัฒนาขีดความสามารถเกษตรกรตามแนวทาง ตลาดนำการผลิตเพื่อเป็นคู่ค้าในระยะยาว เช่นเดียวกับ ผลผลิตกุ้งขาว ที่แม็คโครรับซื้ออย่างต่อเนื่อง  โดยยังคงมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น  ภายใต้การรับรองจากกรมประมงเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบและจัดเก็บสินค้าว่ามีความปลอดภัยจากโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

ปัจจุบันแม็คโคร มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยส่งผลผลิต กุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม กุ้งนาง ให้แม็คโครประมาณ 945 ราย จากหลายภูมิภาค ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก  ในจำนวนนี้มีหลายรายที่พัฒนามาจากการเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหาและเข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงกับกรมการค้าภายใน จนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของแม็คโคร สร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน อาทิ ศรีสุบรรณฟาร์ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และประกอบฟาร์ม จังหวัดราชบุรี 



นางศิริพร กล่าวอีกว่า ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 เช่นนี้ ยังมีเกษตรกรอีกมากมายที่กำลังเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน  แม็คโครเชื่อว่า หากเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ พวกเขาจะกลายเป็นคู่ค้าคุณภาพ ที่สามารถพัฒนาทั้งผลผลิตได้มาตรฐานและสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรรายย่อยที่เป็นคู่ค้ากับแม็คโครมากกว่า 7,000 รายแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564

นายกสมาคมสัตว์แพทย์ฯ ชี้ไข้หูดับป้องกันได้ บริโภคหมูปรุงสุกเท่านั้น ซื้อจากแหล่งผลิตมาตรฐาน เน้น "ปศุสัตว์ OK"

 



   ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กล่าวว่า โดยปกติแล้วการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococus suis) เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ หรือสุกๆดิบๆ อาทิ ลาบดิบ ก้อย ส้า หลู้หมู ซอยจุ๊ ก๋วยเตี๋ยวหมูหมก แหนมดิบ รวมถึงการปิ้งย่างแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคไข้หูดับ หรือทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นสาเหตุให้เกิดประสาทหูดับเฉียบพลัน สูญเสียการได้ยิน จนอาจทำให้หูหนวกถาวร การติดเชื้อในกระแสเลือด และกรณีร้ายแรงที่สุดอาจเสียชีวิตได้ ส่วนกรณีล่าสุดที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว หลังจากการสอบสวนโรคพบว่าอาจมีโอกาสที่จะเกิดจากเชื้อเข้าทางบาดแผล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้พบบ่อยนัก ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนก เพราะมีวิธีการป้องกันได้ ด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยการรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิด ต้องปรุงให้สุกที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อสุกทั่วถึง และเชื้อโรคต่างๆจะถูกทำลายได้ในอุณหภูมิและเวลาดังกล่าว 



   “ไข้หูดับไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขลักษณะของผู้บริโภค โอกาสติดเชื้อมีสองทางคือทางการกินและการสัมผัสเชื้อโดยตรง ดังนั้นการป้องกันคือคำตอบที่ดีที่สุด โดยต้องเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบอย่างเด็ดขาด กรณีที่มีบาดแผลที่มือ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อสัตว์หรือเลือดสัตว์ โดยต้องสวมถุงมือป้องกัน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากเชื้อที่อาจปนเปื้อนจากแผลที่มือเข้าสู่เนื้อหมูหรือจากเนื้อหมูเข้าสู่แผล ต้องแยกอุปกรณ์สำหรับอาหารดิบและอาหารสุกออกจากกัน เพื่อป้องกันอีกระดับหนึ่ง เช่นการใช้เขียง หรือการใช้ตะเกียบสำหรับคีบเนื้อสด และเนื้อสุก ควรแยกกันด้วย จึงจะปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ” ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ กล่าว



   นอกจากนี้ ขอเน้นย้ำผู้บริโภคให้หลีกเลี่ยงการรับประทานหมูที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือจากแหล่งจำหน่ายที่ไม่ผ่านการรับรองของกรมปศุสัตว์ ควรเน้นเลือกซื้อเนื้อหมูจากฟาร์มมาตรฐาน GAP หรือ GFM และผ่านโรงฆ่าที่ได้มาตรฐาน จำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่กรมปศุสัตว์รับรอง หรือสังเกตเครื่องหมาย “ปศุสัตว์ OK” ที่ปัจจุบันกระจายอยู่ทั่วประเทศ มากกว่า 7 พันจุดทั่วประเทศ 



    ส่วนวิธีการป้องกันสำหรับผู้ทำงานที่ต้องใกล้ชิดหรือสัมผัสตัวหมู เนื้อ เลือด ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน อาทิ รองเท้าบู๊ท ถุงมือยาง สวมเสื้อผ้าที่รัดกุม หากมีบาดแผลต้องปิดให้มิดชิดหรือสวมถุงมือ ล้างและฟอกสบู่ทุกครั้งที่สัมผัสหมูดิบหรือชำแหละหมู สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% หมั่นล้างมือทุกครั้ง ซึ่งนอกจากจะป้องกันไข้หูดับแล้ว ยังช่วยป้องกันเชื้อโควิด-19 อีกด้วย

วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กรมประมง...วอน ! อย่าใช้ “กระแสไฟฟ้าทำประมง” ทำลายสัตว์น้ำอย่างรุนแรง ผิด จับ โทษปรับสูงถึง 1 ล้านบาท



   กรมประมง เร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ห้ามไม่ให้ใช้ “ใช้กระแสไฟฟ้าในการทำประมง” อัตราโทษสูงถึง 1,000,000 บาท   มีความผิดตามมาตรา 60 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข หลังพบคดีจับกุมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เผย..วิธีดังกล่าวทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำทุกชนิดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อนทนกระแสไฟไม่ได้เสี่ยงพิการ หรือ ตายได้ ส่งผลต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำ เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

​   นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า  พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 60 ได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง เนื่องจากการทำการประมงด้วยกระแสไฟฟ้าเป็นลักษณะการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ แบตเตอรี่ ผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟต่อกับอุปกรณ์ที่เป็นตะแกรงหรือเหล็กปล่อยกระแสไฟฟ้า จุ่มลงไปในน้ำที่เป็นที่จับสัตว์น้ำ เพื่อให้กระแสไฟฟ้าช๊อตทำอันตรายสัตว์น้ำแล้วเก็บเอาสัตว์น้ำนั้นมาใช้ประโยชน์ ส่งผลทำให้สัตว์น้ำทุกชนิดที่อยู่บริเวณนั้น และสัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดเล็กที่ทนกระแสไฟฟ้าไม่ได้จะตาย หรือพิการ ผู้ที่ใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงจะเก็บเฉพาะสัตว์น้ำที่ต้องการมาใช้ประโยชน์เท่านั้น ทำให้เกิดการสูญเสีย และทำลายวงจรชีวิตสัตว์น้ำ การใช้กระแสไฟฟ้าจึงเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรง เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้น กฎหมายจึงได้บัญญัติห้ามใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงโดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน ได้เน้นย้ำให้กรมประมงดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพและสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบข้อกฎหมายและความตระหนักในการดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำ



​   อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถิติผลคดีการจับกุมผู้กระทำผิดในการใช้กระแสไฟฟ้าการทำประมง ในปีที่ผ่าน พบคดีมีสูงถึง จำนวน 161 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 109 ราย โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำจืด และล่าสุดในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน พบมีผู้กระทำความผิดในคดีดังกล่าวแล้วกว่า 62 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 42 ราย ซึ่งผู้กระทำผิดลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงต้องระวางโทษมีอัตราการเปรียบเทียบปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า อีกทั้ง ผู้ที่ครอบครองสัตว์น้ำที่ได้จากการใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมง ไว้เพื่อการค้าต้องระวางโทษปรับ 10,000 บาท หรือ ปรับจำนวน 5 เท่า ของมูลค่าสัตว์น้ำที่มีไว้ในครอบครองแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า นอกจากนี้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 166 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ผู้สนับสนุนหรือผู้ได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิด เช่น ผู้จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ทำหรือประกอบอุปกรณ์ทำการประมงด้วยกระแสไฟฟ้า ก็เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดและต้องได้รับโทษทางกฎหมายด้วยเช่นกัน  

​    ทั้งนี้ นายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง  ได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องชาวประมง ที่อาจจะกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งกฎหมายมีบทลงโทษที่สูง เนื่องจากวิธีการทำประมงด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง จึงได้สั่งการให้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจถึงผลเสียและข้อกฎหมายให้กับ พี่น้องชาวประมงได้รับรู้และเข้าใจเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด แต่หากยังพบผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดให้ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง...รองอธิบดีฯ กล่าว

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กรมประมง...เปิดตัว “กุ้งขาวสิชล 1” หลังวิจัยได้สำเร็จ ตั้งเป้ากระจายพ่อแม่พันธุ์เพิ่มศักยภาพการเลี้ยงกุ้งให้เกษตรกรไทย


 

      กรมประมง...โชว์ผลงานวิจัย กุ้งขาวสิชล 1หลังปรับปรุงพันธุกรรมกุ้งขาวแวนาไมให้เป็นสายพันธุ์คุณภาพได้สำเร็จ การันตี !! เลี้ยงง่าย โตไว ไร้โรคและให้ผลผลิตสูง พร้อมกระจายพ่อแม่พันธุ์สู่เกษตรกรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ พุ่งเป้าเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันในตลาดโลก



       นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรองรับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคพร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก  ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำนับได้ว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมประมงของไทย เนื่องจากสัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติมีปริมาณไม่แน่นอนและมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกทั้งในด้านการเพาะเลี้ยงยังมีข้อจำกัดด้านผลผลิตจากปัญหาโรคระบาดต่าง ๆ ขณะที่ความต้องการบริโภคสัตว์น้ำยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้น กรมประมงจึงให้ความสำคัญและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยง และลดปัญหาการผสมเลือดชิดที่อาจส่งผลให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์น้ำลดลง



กุ้งขาวแวนนาไม (Litopenaeus vannamei Boone, 1931) นับเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ  เกษตรกรจึงมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย โดยจากข้อมูลในปี 2563 มีปริมาณผลผลิตประมาณ 372,378 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 54,601 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่า 33.25% ของมูลค่าผลผลิตสัตว์น้ำทั้งหมด  กรมประมงจึงได้มีดำเนินการศึกษา วิจัยปรับปรุงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรที่ต้องการพันธุ์กุ้งขาวคุณภาพดี เลี้ยงง่าย โตไว ไร้โรค และให้ผลผลิตสูง

ด้าน นายกฤษณุพันธ์ โกเมนไปรรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการทดลองปรับปรุงพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547โดยรวบรวมประชากรกุ้งขาวจากในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และกระบี่ เพื่อนำมาผสมข้ามแหล่งพันธุ์ และดำรงพันธุ์ไว้เรื่อยมาจนถึงรุ่นที่ 4 หรือ F4 หลังจากนั้น จึงได้มีการปรับปรุงพันธุ์ และคัดสายพันธุ์ตามหลักพันธุศาสตร์  โดยใช้กุ้งขาว รุ่นที่ 4 เป็นประชากรพื้นฐาน หรือ Base Population จำนวน 250 คู่ เพื่อสร้างประชากรตั้งต้นหรือ รุ่น P0 จำนวน 50 ครอบครัว (50 แม่) พร้อมทำการทดสอบความต้านทานโรคตายด่วนในกุ้ง (Early Mortality Syndrome, EMS) ในลูกกุ้งระยะ PL25-35 แล้วคัดเลือกจำนวน 34 ครอบครัว เพื่อเลี้ยงแบบแยกครอบครัวจนเป็นพ่อแม่พันธุ์ ทำการคัดเลือกโดยดูลักษณะภายในครอบครัว (Within family selection) แล้วจึงนำมาผสมพันธุ์ โดยใช้พ่อแม่พันธุ์จำนวน 250 คู่ ผลิตลูกกุ้งรุ่น G1 จนได้ลูกจำนวน 23 ครอบครัว (23 แม่) เพื่อเลี้ยงเป็นกุ้งขาวแวนนาไมสายพันธุ์หลัก หรือพันธุ์ขยาย ของศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช  ทั้งนี้ การดำรงรักษาสายพันธุ์ จะใช้วิธีการคัดเลือกพันธุ์โดยวิธีการคัดเลือกมาตรฐาน (Conventional selection) โดยใช้พ่อแม่พันธุ์รุ่น G1 ไม่น้อยกว่า 250 คู่ สร้างประชากรรุ่น G2 จำนวน 50 ครอบครัว แล้วสุ่มกุ้งจากทุกครอบครัวในจำนวนที่เท่ากัน เลี้ยงรวมกันจนมีอายุ 120 วัน จึงทำการคัดและแยกเพศ คัดเลือกโดยวิธีการคัดเลือกแบบดูลักษณะตัวเอง (Individual selection) เพศละ 250 ตัว แล้วใช้การผสมแบบรวมกลุ่ม (Mass spawning) สร้างประชากรรุ่นถัดไปไม่น้อยกว่า 50 ครอบครัว กระทั่งปัจจุบันได้คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์รุ่น G3 ผลิตลูกรุ่น G4 โดยในแต่ละรุ่นได้ทำการดำรงพันธุ์หลักไว้ประมาณ 1,000 ตัว/รุ่น




สำหรับ กุ้งขาวสิชล 1ที่ทางศูนย์ฯ พัฒนาได้สำเร็จเป็นกุ้งที่ปลอดจากเชื้อที่กําหนด 8 โรค ได้แก่โรคตัวแดงดวงขาว (WSSV) โรคทอร่า (TSV) โรคกล้ามเนื้อขาวหรือกล้ามเนื้อตาย (IMNV) โรคแคระแกร็น (IHHNV) โรคหัวเหลือง (YHV) โรค covert mortality nodavirus (CMNV) โรคตายด่วนเนื่องจากแบคทีเรียที่ทําให้เกิดตับวายเฉียบพลัน (EMSAHPND) และเชื้อ Enterocytozoon hepato penaei (EHP)  นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาพันธุ์จนมีการเจริญเติบโตด้านน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากพันธุ์เดิมถึง 32.5434.58 เปอร์เซ็นต์ มีประสิทธิภาพผลผลิตเฉลี่ย เท่ากับ 15.65 ตัน/ล้านตัว  สามารถนําไปเลี้ยงและกระจายพันธุ์ได้ตอนกุ้งมีอายุ 90 วัน โดยอัตราการปล่อยที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 100,000150,000 ตัว/ไร่ ความเค็มของน้ำระหว่าง 1020 ppt  ทั้งนี้ ผลผลิตที่ได้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและสภาพแวดล้อมในระหว่างการเลี้ยง รวมถึงการตรวจสุขภาพกุ้งอย่างสม่ำเสมอด้วย



รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้กรมประมงได้มีการจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวสิชล 1 เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงเพาะฟักได้นำไปเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตแล้วเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ในราคาตัวละ 100 บาท โดยคาดว่าจะมีผลผลิตลูกพันธุ์ PL ล็อตแรกออกจำหน่ายได้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 นี้  นอกจากนี้ กรมประมงยังมีลูกพันธุ์กุ้งขาวสิชล 1 พันธุ์ขยายระยะ PL12-15 จำหน่ายในราคาตัวละ 22 สตางค์ สำหรับให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกพันธุ์ด้วย  พร้อมทั้งมีพันธุ์จำหน่ายระยะนอร์เพลียส  ในราคาล้านละ 5,000 บาท  และระยะ PL12 ราคาตัวละ 12 สตางค์ สำหรับให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงเพื่อเพิ่มผลผลิตในบ่อดินด้วย

ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช กรมประมง โทรศัพท์  075-536157 ในวันและเวลาราชการ

"กรมสมเด็จพระเทพฯ"เสด็จพระราชดำเนินติดตามโครงการทหารพันธุ์ดี

    


 "กรมสมเด็จพระเทพฯ"เสด็จพระราชดำเนินติดตามโครงการทหารพันธุ์ดี ทั้งนี้ "อธิบดีกรมปศุสัตว์" น้อมเกล้าฯถวายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ไก่ประดู่หางดำและไก่เหลืองหางขาว สำหรับใช้ขยายพันธุ์ในโครงการทหารพันธุ์ดี



     วันที่ 21 มิถุนายน  2564 เวลา 9.30 น.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ โครงการทหารพันธุ์ดี จังหวัดน่าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ รับเสด็จฯ กล่าวถวายรายงาน เรื่อง กิจกรรมด้านการปศุสัตว์เพื่อสนับสนุน โครงการทหารพันธุ์ดี และน้อมเกล้าฯ ถวายพ่อพันธุ์ -แม่พันธุ์ไก่ประดู่หางดำ พ่อพันธุ์ 5 ตัว แม่พันธุ์ 20 ตัว และไก่เหลืองหางขาว สำหรับใช้ขยายพันธุ์ในโครงการทหารพันธุ์ดีน่าน เพื่อป้องกันสายเลือดชิด



    "ไก่ประดู่หางดำ" เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองยอดนิยมที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะมีลักษณะเด่นตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งในด้านเนื้อและลักษณะภายนอก ทำให้ไก่ประดู่หางดำเป็นที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกรในประเทศแล้ว ยังแพร่กระจายพันธุ์ไป ไก่ประดู่หางดำเป็นผลงานการต่อยอดการวิจัยที่เกิดขึ้นของกรมปศุสัตว์ และสำนักงานพัฒนาการเกษตรวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.โดยดำเนินงานที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจ อายุ 12 สัปดาห์ เพศผู้ น้ำหนัก 1,273 - 1,515 กรัม เพศเมียน้ำหนัก 1,004 - 1,104 กรัม ประสิทธิภาพการให้อาหาร (FCR) 3.2 อัตราการตาย 1.5 % อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก 163 - 215 วัน ผลผลิตไข่ 95 - 175 ฟอง/แม่/ปี



    "ไก่เหลืองหางขาว" เป็นไก่พื้นเมืองไทยที่มีมาแต่โบราณ มีถิ่นกำเนิดแถบภาคเหนือของไทย แหล่งกำเนิดไก่พันธุ์เหลืองหางขาวพันธุ์ดีสายเลือดแท้ เป็นที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป ลักษณะประจำพันธุ์สัตว์ ไก่เหลืองหางขาวลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจ เพศผู้ มีน้ำหนัก 3 กิโลกรัมขึ้นไป เพศเมีย มีน้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก 198 วัน ผลผลิตไข่/ปี 136 ฟอง น้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก 2,086 กรัม การนำไปใช้ประโยชน์:เพื่อการบริโภคทั้งบริโภคเนื้อ และไข่สามารถเพิ่มรายได้ของครอบครัวเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกร

      ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานในการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ได้อย่างยั่งยืนและเป็นการสานต่อโครงการพระราชดำริ น้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติและประยุกต์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับชุมชนและพื้นที่ ช่วยให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์มากขึ้นบนพื้นฐานทรัพยากรของท้องถิ่นนั้นๆ กรมปศุสัตว์จะมุ่งสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ชุมชนยั่งยืน กรมปศุสัตว์จะพัฒนางานด้านปศุสัตว์ให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรยิ่งขึ้นและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนองพระราชดำริต่อไป 

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...