บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพชีวิตแรงงาน (LPN : Labour Protection Network) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกัน และยุติการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบและการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่การผลิต และร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน เน้นสร้างความมั่นคงและปลอดภัยให้กับพนักงานทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ
นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหาร ทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัท คู่ค้า และเกษตรกร มีการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน มีการจัดการประเด็นสิทธิมนุษยชน สุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ ซีพีเอฟได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เป็นปีที่ 4 เพื่อสานต่อโครงการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voice Hotline by LPN” และการอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่พนักงาน (Worker Training) เพื่อสร้างความมั่นใจให้พนักงานทุกคนมีช่องทางรับฟังเสียงพนักงานจากองค์กรที่เป็นกลาง ได้การอบรมด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายแรงงาน อาชีวอนามัยและธรรมาภิบาล เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ มีส่วนร่วมในการยุติปัญหาแรงงาน และสิทธิมนุษยชนในภาคการผลิตอาหารของไทยอย่างยั่งยืน
“การร่วมมือกับมูลนิธิ LPN องค์กรประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิแรงงานต่างชาติในประเทศ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานสามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาค สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ” นางสาวพิมลรัตน์กล่าว
สำหรับความร่วมมือในปีนี้ เพื่อตอบสนองต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซีพีเอฟร่วมกับ LPN ปรับรูปแบบการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิแรงงานแก่พนักงานผ่านระบบการประชุมทางไกล ต่อเนื่องจากปีที่แล้วโดยได้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพึงพอใจ นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังมีแผนการดำเนินการร่วมกับ LPN ในการตรวจสอบ และส่งเสริมตัวแทนจัดหาแรงงานในประเทศต้นทางในการจัดหาแรงงานข้ามชาติอย่างถูกต้อง เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการจัดหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยความรับผิดชอบ โปร่งใส และไม่เอาเปรียบแรงงาน
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การดำเนินงานศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voice Hotline by LPN” โดย LPN ยังมีส่วนช่วยให้บริษัท รับทราบปัญหาหรือข้อเสนอแนะของพนักงานเพื่อปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนได้ทันสถานการณ์ อีกทั้ง LPN ยังร่วม แบ่งปันความชำนาญและเครือข่าย จัดการอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า การอบรมได้ช่วยให้แรงงานส่วนใหญ่มีความรู้ด้านสิทธิแรงงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น และรับรู้ช่องทางการรับฟังเสียงพนักงาน ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในองค์กรได้
ด้าน นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า ความร่วมมือกับซีพีเอฟ มีส่วนช่วยให้แรงงานต่างชาติที่เป็นพนักงานซีพีเอฟ ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ศูนย์ Labour Voices Hotline by LPN จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้กับซีพีเอฟในการแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้กับแรงงานต่างชาติได้ตระหนักถึงการปฏิบัติตนในการป้องกันโรค และรับฟังข้อเสนอแนะและความต้องการของพนักงาน
ในปีที่ผ่านมา มูลนิธิ LPN ได้จัดกิจกรรม Focus Group กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่หอพัก เพื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจและให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการและที่พักอาศัย เพื่อร่วมส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และการทำงานอย่างปลอดภัยและยอมรับในความหลากหลายภายในองค์กร
นอกจากนี้ มูลนิธิ LPN ยังได้รับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน และไข่ไก่สดจากซีพีเอฟเพื่อบรรจุเป็นถุงยังชีพ เพื่อนำไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่แรงงานต่างชาติในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น