การพัฒนาและขับเคลื่อนโลจิสติกส์เกษตรตลอดโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ
นับเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
เนื่องจากกลไกลดังกล่าวช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตร
ลดการสูญเสียของผลผลิต และรักษาคุณภาพผลผลิต ตั้งแต่การจัดการในฟาร์มของเกษตรกร
ผ่านสถาบันเกษตรกรไปสู่การส่งมอบหรือขนส่งผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจ
ทั้งในด้านคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรและระยะเวลาในการให้บริการที่รวดเร็ว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว
จึงได้เร่งขับเคลื่อนแผนงานทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าเกษตร-โซ่อุปทานเกษตรรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน
ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการเดินรถในเดือนธันวาคมปีนี้และระยะต่อไป
ตลอดจนเตรียมพร้อมในการรองรับการแข่งขันสินค้าเกษตรและการเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรไทยในระยะยาว
ดร.ทองเปลว
กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร
กล่าวถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล
ด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าเกษตรและบริการของประเทศในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนี้ว่า มีความก้าวหน้าตามลำดับ ล่าสุดได้มีการพิจารณาสำคัญ 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1) กรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน
และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ 2) การจัดทำ (ร่าง)
แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร
โดยกรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน
และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น
ได้มอบหมายสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ในฐานะผู้ประสานงานหลักภายใต้กรอบความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชไทย-จีน(SPS Focal
Point) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯและกรมวิชาการเกษตรเร่งรัดการลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรค
และตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่ 3
พร้อมทั้งเร่งหาแนวทางเจรจาเพิ่มเติมด่านนาทา จังหวัดหนองคาย
ในเอกสารแนบท้ายพิธีสารฯ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการในอนาคต
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีนในระยะเร่งด่วนและระยะต่อไป
โดยมอบหมายให้มกอช.เป็นประธานคณะทำงาน
มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร เช่น กรมวิชาการเกษตร
กรมประมง กรมปศุสัตว์ และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เป็นคณะทำงานและมีผู้แทนมกอช.
เป็นฝ่ายเลขานุการเพื่อดำเนินการจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมในภาพรวมของกระทรวงเกษตรฯในระยะเร่งด่วนที่ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมการให้บริการและดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อมีการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน
ในเดือนธันวาคมนี้
รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมความพร้อมของกระทรวงเกษตรฯในระยะต่อไป
เพื่อรองรับการให้บริการและดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อมีการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีนอย่างสมบูรณ์
“สำหรับความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้มอบหมายให้ มกอช. และกรมวิชาการเกษตร
เร่งหาแนวทางการลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน
โดยเจรจาและใช้กลไกทางการทูตเพื่อให้มีการลงนามในพิธีสารได้เร็วขึ้น
พร้อมทั้งเร่งเจรจาเพิ่มด่านนาทา และด่านศุลกากรหนองคาย ในเอกสารแนบท้ายพิธีสารฯ
เพื่อให้สามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศที่สามได้ทันทีเมื่อมีการเปิดให้บริการ”
ดร.ทองเปลว กล่าว
ดร.ทองเปลว ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาระบบโลจิสติกส์เกษตรตลอดห่วงโซ่ระยะยาวด้วยว่า
ได้มีการเห็นชอบกรอบและกระบวนการการจัดทำ (ร่าง)
แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2566-2570 โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)
ในฐานะฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามกรอบการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ
และยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตรพ.ศ. 2566-2570 เสนอคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป
ดร.ทองเปลว กล่าวด้วยว่า
ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการการพัฒนาระบบ National
Single Window (NSW) และปรับลดขั้นตอนการทำงานเพื่อรองรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรด้วยว่า
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและพัฒนาธุรกรรมที่ให้บริการผ่านระบบ
NSW ได้ 117 ธุรกรรม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 81.82 (จากทั้งหมด 143 ธุรกรรม)
และสามารถปรับลดขั้นตอนการทำงานรายสินค้ายุทธศาสตร์ (น้ำตาล ข้าว ยางพารา สินค้าแช่แข็ง
และวัตถุอันตราย) ได้แล้ว 66 รายการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.19
(จากทั้งหมด 74 รายการ) ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ
ได้เร่งรัดให้หน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาการให้บริการผ่านระบบ NSW
และการปรับลดขั้นตอนการทำงานสินค้า ที่ยังค้างอยู่ 34 รายการ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จให้ชัดเจน
นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆที่ต้องคำนึง เช่น ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID -19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และศูนย์กลางของโลจิสติกส์สินค้าเกษตรและอาหารระดับภูมิภาค โดยมอบหมายให้สศก.ดำเนินการยกร่างแผนปฏิบัติการฯ ให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณาเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตรให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และลดต้นทุนโลจิสติกส์การเกษตรตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการในอนาคตนำไปสู่การพัฒนาโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
“การเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน
ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนให้สำเร็จ เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตร
ลดการสูญเสียของผลผลิต และรักษาคุณภาพผลผลิต ตั้งแต่การจัดการในฟาร์มของเกษตรกร
ผ่านสถาบันเกษตรกรไปสู่การส่งมอบหรือขนส่งผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคและช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความ
พึงพอใจ
ทั้งในด้านคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรและระยะเวลาในการให้บริการที่รวดเร็วนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรแบบมั่นคง
ยั่งยืนในอนาคต”ดร.ทองเปลว กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น