จากกรณีข่าวที่แพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์กรณีพบนักเรียนมัธยมฮ่องกงติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ แบบหาสาเหตุไม่ได้ ส่งผลให้หน่วยงานสาธารณสุขของฮ่องกงเข้าตรวจสอบบ้านพักของนักเรียนดังกล่าวและเก็บตัวอย่างทั้งจากภายในบ้านและสภาพแวดล้อมรอบบ้านไปตรวจสอบ ซึ่งจากการติดตามผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาได้รับการรายงานว่าพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ปนเปื้อนอยู่บนบรรจุภัณฑ์เนื้อจระเข้แช่แข็งที่นำเข้าจากประเทศไทย คาดว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ ส่งผลให้ศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร(The Centre for Food Safety: CFS) ซึ่งอยู่ภายใต้ Food and Environmental Hygiene Department (FEHD) สั่งให้ผู้ค้าปลีกหยุดจำหน่ายเนื้อจระเข้แช่แข็งและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากไทยเป็นการชั่วคราวระหว่างรอผลการตรวจสอบเชื้อโควิด –19
นอกจากการตรวจสอบบรรจุภัณฑ์เนื้อจระเข้ที่พบในตู้แช่แข็งบ้านเด็กนักเรียน ทางศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหารฮ่องกง ยังได้ทำการสุ่มตรวจตัวอย่างสินค้าจระเข้แช่แข็งจากประเทศไทยในคลังสินค้าและร้านค้าปลีกของผู้ค้าที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกจำนวน 103 ตัวอย่าง ซึ่งผลการตรวจสอบตัวอย่างทั้งในตัวสินค้าและบนบรรจุภัณฑ์ไม่พบเชื้อโควิด - 19 จึงอนุญาตให้ผู้ค้าปลีกสามารถกลับมาจำหน่ายเนื้อจระเข้แช่แข็งของประเทศไทยได้ตามปกติ สอดคล้องกับข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่านในฮ่องกง อาทิ ประธานภาควิชาแพทยศาสตร์และการบำบัดจากมหาวิทยาลัยจีนในฮ่องกง หัวหน้าภาควิชาห้องปฏิบัติการสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งได้ออกมาให้ข้อมูลกับสื่อว่า การตรวจพบเชื้อ โควิด-19 บนบรรจุภัณฑ์ของเนื้อจระเข้แช่แข็งจากประเทศไทยในครั้งนี้ไม่ควรถือว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียนติดเชื้อได้ เนื่องจากปริมาณไวรัสที่ตรวจพบบนบรรจุภัณฑ์ค่อนข้างต่ำมาก คาดว่าเชื้อที่พบน่าจะเกิดจากเด็กนักเรียนเป็นผู้กระจายเชื้อจากการจามไปโดนผลิตภัณฑ์มากกว่า
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความกังวลด้านอาหารปลอดภัยมากขึ้น รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารของไทย โดยได้มอบนโยบายให้ภาครัฐ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันออกมาตรการการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของโรงงานส่งออก ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID-19 Prevention Best Practice)กรมประมง เพิ่มเติมจากมาตรการที่มีทั้ง GMP และ HACCP กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรการได้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมาโดยตลอดและยืนยันว่าสินค้าที่ส่งออกไปจากประเทศไทยมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และมาตรฐานการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019อย่างแน่นอน สำหรับผู้ประกอบการหากต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการฯ สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ www.fisheries.go.th/quality/มาตรการโควิด.php หรือสอบถามได้ที่ กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมงโทร.02-562-0600-15 รองอธิบดีฯ กล่าว
ถึงแม้ว่าในหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 แต่สำหรับประเทศไทยมาตรการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหารและมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่หลากหลายในช่วงสถานการณ์วิกฤตินี้ได้เป็นอย่างดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น