วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

"กรมสมเด็จพระเทพฯ"เสด็จพระราชดำเนินติดตามโครงการทหารพันธุ์ดี

    


 "กรมสมเด็จพระเทพฯ"เสด็จพระราชดำเนินติดตามโครงการทหารพันธุ์ดี ทั้งนี้ "อธิบดีกรมปศุสัตว์" น้อมเกล้าฯถวายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ไก่ประดู่หางดำและไก่เหลืองหางขาว สำหรับใช้ขยายพันธุ์ในโครงการทหารพันธุ์ดี



     วันที่ 21 มิถุนายน  2564 เวลา 9.30 น.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ โครงการทหารพันธุ์ดี จังหวัดน่าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ รับเสด็จฯ กล่าวถวายรายงาน เรื่อง กิจกรรมด้านการปศุสัตว์เพื่อสนับสนุน โครงการทหารพันธุ์ดี และน้อมเกล้าฯ ถวายพ่อพันธุ์ -แม่พันธุ์ไก่ประดู่หางดำ พ่อพันธุ์ 5 ตัว แม่พันธุ์ 20 ตัว และไก่เหลืองหางขาว สำหรับใช้ขยายพันธุ์ในโครงการทหารพันธุ์ดีน่าน เพื่อป้องกันสายเลือดชิด



    "ไก่ประดู่หางดำ" เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองยอดนิยมที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะมีลักษณะเด่นตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งในด้านเนื้อและลักษณะภายนอก ทำให้ไก่ประดู่หางดำเป็นที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกรในประเทศแล้ว ยังแพร่กระจายพันธุ์ไป ไก่ประดู่หางดำเป็นผลงานการต่อยอดการวิจัยที่เกิดขึ้นของกรมปศุสัตว์ และสำนักงานพัฒนาการเกษตรวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.โดยดำเนินงานที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจ อายุ 12 สัปดาห์ เพศผู้ น้ำหนัก 1,273 - 1,515 กรัม เพศเมียน้ำหนัก 1,004 - 1,104 กรัม ประสิทธิภาพการให้อาหาร (FCR) 3.2 อัตราการตาย 1.5 % อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก 163 - 215 วัน ผลผลิตไข่ 95 - 175 ฟอง/แม่/ปี



    "ไก่เหลืองหางขาว" เป็นไก่พื้นเมืองไทยที่มีมาแต่โบราณ มีถิ่นกำเนิดแถบภาคเหนือของไทย แหล่งกำเนิดไก่พันธุ์เหลืองหางขาวพันธุ์ดีสายเลือดแท้ เป็นที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป ลักษณะประจำพันธุ์สัตว์ ไก่เหลืองหางขาวลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจ เพศผู้ มีน้ำหนัก 3 กิโลกรัมขึ้นไป เพศเมีย มีน้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก 198 วัน ผลผลิตไข่/ปี 136 ฟอง น้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก 2,086 กรัม การนำไปใช้ประโยชน์:เพื่อการบริโภคทั้งบริโภคเนื้อ และไข่สามารถเพิ่มรายได้ของครอบครัวเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกร

      ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานในการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ได้อย่างยั่งยืนและเป็นการสานต่อโครงการพระราชดำริ น้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติและประยุกต์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับชุมชนและพื้นที่ ช่วยให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์มากขึ้นบนพื้นฐานทรัพยากรของท้องถิ่นนั้นๆ กรมปศุสัตว์จะมุ่งสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ชุมชนยั่งยืน กรมปศุสัตว์จะพัฒนางานด้านปศุสัตว์ให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรยิ่งขึ้นและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนองพระราชดำริต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...