วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กองทัพอากาศ ปล่อยขบวนรถขนข้าวโครงการ “ทัพฟ้าช่วยชาวนา” และเชิญชวนอุดหนุนเกษตรกร


 

พลอากาศเอก นภาเดช  ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ มอบหมายให้ พลอากาศโท ชัยนาท ผลกิจ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถขนข้าว โครงการ ทัพฟ้าช่วยชาวนาณ กรมขนส่งทหารอากาศ ดอนเมือง โดยมี พลอากาศตรี ธีรพล  สนแจ้ง เจ้ากรมขนส่งทหารอากาศ ร่วมพิธี



สำหรับขบวนรถดังกล่าว ประกอบด้วย รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ จำนวน ๗ คัน และรถยนต์โดยสารปรับอากาศขนาดใหญ่ จำนวน ๑ คัน ซึ่งกองทัพอากาศให้การสนับสนุนการรับ-ส่งเกษตรกร พร้อมข้าว จำนวน ๕๐ ตัน ประกอบด้วย ข้าวเหนียว ข้าวจ้าว ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง และข้าวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ จากศาลากลาง จังหวัดยโสธร ถึงปลายทางสนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) เพื่อนำมาจำหน่ายในโครงการ ทัพฟ้าช่วยชาวนาซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศ กับ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรจังหวัดยโสธร ในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร

โดยกองทัพอากาศได้สนับสนุนพื้นที่ของสนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) เป็นสถานที่จำหน่ายข้าวและผลผลิตทางการเกษตร สนับสนุนอาคารที่พักนักกีฬา ๕ ชั้น เป็นสถานที่พักให้แก่เกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนยานพาหนะในการขนส่งสินค้าจากต้นทางมายังพื้นที่จำหน่าย



ทั้งนี้ กองทัพอากาศตระหนักดีว่า ความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากข้าวและสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจร่วมอุดหนุนข้าวและสินค้าเกษตรจากโครงการ ทัพฟ้าช่วยชาวนาเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ ๑ - ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ - ๒๐.๐๐ นาฬิกา ณ สนามกีฬากองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์)

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลกฯ ตอกย้ำเนื้อไก่ไทยปลอดโรค ปลอดภัย ปลอดสาร


 

สมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย จัดงานประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2564 ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ เผยแพร่องค์ความรู้ด้านสัตว์ปีก ระดมกูรูทั่วไทยไขประเด็นเนื้อไก่ ปลอดโรค ปลอดภัย ปลอดสาร ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้บริโภค แนะวิธีสร้างภูมิคุ้มกันสู้โควิด 

น.สพ. ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก สาขาประเทศไทย เป็นประธานเปิดงานฯ ปีนี้ยังคงมุ่งเน้นการบรรยายด้านวิชาการ โดยนักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ตอกย้ำความเชื่อมั่นด้านสัตว์ปีกของไทยที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการผลิต การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้ผลผลิตสัตว์ปีกที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดโรค ปลอดภัย ปลอดสาร สำหรับผู้บริโภคชาวไทยและตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 



ประเทศไทยเป็น 1 ใน 80 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก และในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่เป็นอันดับ 8 ของโลก มีการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 4 ของโลก การติดตามงานวิจัยที่หลายประเทศจัดทำและออกเผยแพร่อย่างใกล้ชิด ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นกุญแจสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิต ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งลดต้นทุน และได้ผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ปีกที่ปลอดโรค ปลอดภัย ปลอดสารน.สพ. ศักดิ์ชัย กล่าว



สำหรับปีนี้ นักวิชาการชั้นนำของไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในหลากหลายหัวข้อ โดยมุ่งเน้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 อาทิ การบรรยายหัวข้อ อาหารและการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิดโดย ผศ.ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการเสวนาหัวข้อ ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกปลอดภัยมั่นใจต่อผู้บริโภคช่วงโควิดได้รับเกียรติจาก น.สพ.โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ร่วมเสวนา โดยมี รศ.ดร.ยุวเรศ เรืองพานิช ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ 



นอกจากนี้ ยังเปิดเวทีให้นิสิต นักศึกษา ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยด้านสัตว์ปีกอีก 4 ผลงาน ที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ในการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็น และประสบการณ์ในด้านวิชาการผลิตสัตว์ปีก เผยแพร่ความรู้ แนวความคิด และวิทยาการใหม่ๆแก่สมาชิก พร้อมให้การสนับสนุนในการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และการดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านวิชาการการผลิตสัตว์ปีก ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

แม็คโคร จับมือกรมปศุสัตว์ พัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสู่โคเนื้อคุณภาพสูง รองรับเทรนด์บริโภคเนื้อมาแรง ตอกย้ำการเป็น Beef Destination


 

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม MOU กับ กรมปศุสัตว์ บริษัท พรีเมี่ยมบีฟ และ       ธ.ก.ส. พัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงจากฝูงโคนม สร้างโอกาสเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทย เฉลี่ย 10,000-20,000 บาทต่อตัว รองรับความต้องการบริโภคเนื้อวัวคุณภาพภายในประเทศ ตอกย้ำการเป็น Beef Destination พร้อมวางแผนต่อยอดสู่การส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน 



นางสาวธีราพร ธีรทีป ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้าอาหารสด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคเนื้อวัวคุณภาพสูงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป ต่างให้ความไว้วางใจกับการเลือกซื้อเนื้อวัวที่วางจำหน่ายในสาขาของแม็คโคร เพราะคุณภาพและความหลากหลาย โดยเฉพาะเนื้อโคขุนจากเกษตรกรไทยที่ได้รับการยอมรับไม่แพ้เนื้อนำเข้าจากต่างประเทศ และตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ แม็คโคร จึงร่วมกับ กรมปศุสัตว์  พัฒนาเนื้อโคขุนหลากหลายสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาเนื้อวัวคุณภาพสูงจากฝูงโคนม โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน พร้อมด้วย บริษัท พรีเมี่ยมบีฟ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นการผนึกกำลังช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น



โครงการนี้เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และกลุ่มเอสเอ็มอีผู้ผลิตอย่าง พรีเมี่ยมบีฟ ในการพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูงให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน โดยผ่านกระบวนการเลี้ยงขุนในฟาร์มและผลิตในโรงงานผลิตที่ได้รับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ รวมถึงการทำการตลาด เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร ผ่านสาขาของแม็คโคร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ย 10,000-20,000 บาทต่อตัว

ในปัจจุบันการเลี้ยงโคนมประสบปัญหา เรื่องการเกิดใหม่ของลูกวัวเพศผู้ ที่ไม่สามารถให้นมได้ รวมถึงโคนมเพศเมียที่มีปัญหาเรื่องการให้นมน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรหยุดเลี้ยงและขายออกให้พ่อค้าคนกลาง หรือตลาดล่างในราคาที่ต่ำ ซึ่งโครงการนี้จะเข้าไปพัฒนาคุณภาพเนื้อวัวคุณภาพสูงจากฝูงโคนม โดยนำคุณลักษณะเด่นของโคนมที่มีเลือดสายพันธุ์เมืองหนาวสูง (สายพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเซี่ยน) ทำให้เนื้อวัวมีความละเอียดหอมนุ่มเป็นธรรมชาติตามคุณลักษณะของสายพันธุ์เมืองหนาว เมื่อนำมาพัฒนาต่อยอดด้วยการเลี้ยงแบบขุนด้วยธัญพืชที่มีคุณภาพ จะช่วยพัฒนาเนื้อจากโคนมให้มีคุณภาพดี มีมูลค่าเพิ่มขึ้น



สิ่งที่ผู้บริโภคนิยมเนื้อโคขุนไทยมากขึ้นและกลายเป็นกระแสดังในโลกออนไลน์ เนื่องจากมีกลิ่นหอม และรสชาติที่เข้มข้น นิยมนำมาบริโภคในหลายเมนู อาทิ  สเต๊ก บาบีคิว สตูว์ ปิ้งย่าง ชาบู ซึ่งแม็คโครได้สนับสนุนและพัฒนาผลผลิตจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย บราห์มัน, ลูกผสมชาโรเลย์, วัวนมขุน, ลูกผสมไทย-แองกัส, และลูกผสม ไทย-วากิว ภายใต้แบรนด์ โปรบุชเชอร์ครอบคลุมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนไทยมากกว่า 10,000 ครัวเรือน ตอกย้ำการเป็น Beef destination ที่ลูกค้าพูดถึงเรานางสาวธีราพร กล่าวทิ้งท้าย

เกษตรกรเลี้ยงหมู ขอบคุณ รมว.พาณิชย์ จัดขายหมูถูก 600 จุดทั่วไทย ดูแลผู้บริโภค-เกษตรกร


 

นายสิทธิพันธ์  ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรขายปลีกที่ปรับขึ้นว่า เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคภายในประเทศและนักท่องเที่ยงที่ทยอยเข้ามาท่องเที่ยว หลังจากไทยเปิดประเทศเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สวนทางกับปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดที่ลดลงกว่า 30% จากผลกระทบของโรค PRRS ในสุกร ทำให้สุกรแม่พันธุ์และสุกรขุนเสียหายภาวะโรค และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงชะลอการเข้าเลี้ยงสุกรเพื่อรอดูสถานการณ์ หลังจากต้องแบกรับภาระขาดทุนมานานกว่า 3 ปี จากกลไกตลาดที่เกิดขึ้น ภาครัฐโดยท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  ได้มีนโยบายในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยการจัดโครงการ พาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชนจำหน่ายหมูเนื้อแดงกิโลกรัมละไม่เกิน 130 บาท ที่คาดว่าจะเปิด 600 จุดทั่วประเทศ โดยเริ่มจำหน่ายแล้วที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น ยะลา ราชบุรี ฯลฯ และจะดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป รวมถึงโครงการอาหารจานด่วนที่เปิดให้ร้านค้าทั่วไปในตลาดสดและร้านอาหารธงฟ้าจำหน่ายอาหารราคาจานละ 30-35 บาท และในห้างจานละไม่เกิน 35-40 บาท เพื่อช่วยค่าครองชีพผู้บริโภค



การยื่นมือเข้ามาช่วยดูแลปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือทั้งผู้บริโภคและพี่น้องเกษตรกรกรไปพร้อมๆกัน ของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนการมองสถานการณ์อย่างรอบด้านและแก้ไขอย่างตรงจุด ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ทำธุรกิจค้าขายยังคงเดินหน้าอาชีพของตนเองต่อไป ผู้ค้าอาหารต่างๆยังคงค้าขายอาหารการกินได้ตามปกติโดยไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคา พี่น้องประชาชนมีทางเลือกในการบริโภค มีช่องทางการซื้อหาวัตถุดิบอาหารในราคาที่จับต้องได้ ขณะที่คนเลี้ยงหมูที่ต้องขาดทุนสะสมมาถึง 3 ปี ก็ได้ลืมตาอ้าปาก พอมีรายได้ต่อทุนประคองอาชีพเดียวนี้ต่อไป เกษตรกรทุกคนขอขอบคุณการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนและอาชีพของเกษตรกรที่เข้าใจและเข้าถึงหัวใจของปัญหา และปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานซึ่งจะทำให้ราคาหมูปรับเข้าสู่สมดุลได้เองนายสิทธิพันธ์ กล่าว



นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวอีกว่า ผลเสียหายในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา จากราคาสุกรขุนต่ำกว่าต้นทุนทั้งประเทศมีมูลค่ารวม 8,000-10,000 ล้านบาท โดยมีราคาขายต่ำสุดที่ 56 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปัจจุบันคาดว่าประเทศไทยจะมีการผลิตหมูขุนจำนวน 15 ล้านตัวต่อปี จากเดิมที่มีการผลิตอยู่ที่ 19-20 ล้านตัวต่อปี หรือลดลง 20-25 % โดยคาดว่าอย่างช้าอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี ในการเพิ่มปริมาณสุกรพันธุ์เข้าเลี้ยงใหม่ เพื่อให้มีปริมาณเนื้อสุกรสมดุลกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้แม้ราคาสุกรในปัจจุบันจะขยับตัวได้บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวผ่านต้นทุนที่ต้องแบกรับในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นภาระหนี้สินภาคเกษตรที่ส่งผลต่อหนี้สินภาคครัวเรือน จึงขอความเห็นใจและความเข้าใจจากผู้บริโภค

กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ผลสำเร็จแปลงใหญ่จังหวัดสระบุรี ภายใต้ “โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด”


 

กรมส่งเสริมการเกษตร นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าโครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี  โชว์ผลสำเร็จแปลงใหญ่พืชไร่และประมง ใช้เทคโนโลยีใหม่ต่อการพัฒนาอาชีพ มุ่งสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน



            นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า  เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพื่อพยุงเศรษฐกิจและเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ในปีงบประมาณ 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ร่วมกับหน่วยงานเจ้าของสินค้าอีก 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย  กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย และกรมหม่อนไหม โดยเน้นส่งเสริมการผลิตในรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ และสร้างความร่วมมือการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน ข้อมูลภาพรวมโครงการ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 มีกลุ่มแปลงใหญ่ที่แจ้งเข้าร่วมโครงการยกระดับฯ ทั้งสิ้น 3,381 แปลง แบ่งเป็น กรมส่งเสริมการเกษตร 1,065 แปลง กรมการข้าว 2,029 แปลง กรมปศุสัตว์ 109 แปลง กรมประมง 29 แปลง การยางแห่งประเทศไทย 134  แปลง และกรมหม่อนไหม 15 แปลง 



อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดสระบุรี มีแปลงใหญ่ทั้งสิ้นจำนวน 77 แปลง ซึ่งได้เสนอความต้องการเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ทั้งหมดจำนวน 61 แปลง งบประมาณรวมประมาณ 152.7 ล้านบาท โดยมีจำนวน 36 แปลงที่ยืนยันเข้าร่วมโครงการฯ งบประมาณรวมประมาณ 100.7 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการเบิกจ่ายแล้วร้อยละ 98.36 ของจำนวนแปลงที่เข้าร่วมโครงการของจังหวัด ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงาน มีแปลงใหญ่ในจังหวัดสระบุรีหลายแปลงที่เข้าร่วมโครงการแล้วประสบความสำเร็จ สามารถต่อยอดพัฒนากลุ่มไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง อาทิ แปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง ที่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตมันสำปะหลัง โดยไม่มีวัสดุทางการเกษตรเหลือทิ้ง (zero waste) โดยการใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของมันสำปะหลัง ได้แก่ 1) การนำใบและยอดมาหมักเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหาร TMR สำหรับโคนม  2) นำหัวมันสดมาแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาดและหัวมันหมัก 3) นำส่วนของเหง้ามันสำปะหลังมาเผาเป็นถ่านด้วยเตาเผาถ่านชีวมวล และ 4) มีการเก็บต้นมันสำปะหลังเป็นท่อนพันธุ์สำหรับการปลูกในครั้งต่อไป ซึ่งนับเป็นผลสำเร็จของโครงการฯ ที่มีส่วนผลักดันให้เกษตรกรสามารถดำเนินธุรกิจในระดับชุมชนได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่อำเภอวังม่วง ที่เกษตรกรสามารถใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุน รวมทั้งสมาชิกทุกคนยังได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง (GAP กรมประมง) แล้ว



ทั้งนี้ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการต่อยอดมาจากโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานขับเคลื่อนการดำเนินงานกับหน่วยงานเจ้าของสินค้า  ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ที่ผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 8,318 แปลง เกษตรกรประมาณ 4.67 แสนราย พื้นที่กว่า  7.65 ล้านไร่ สร้างมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตรวมประมาณ 47,275.71 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564)

กรมส่งเสริมฯ ยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด “กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่อำเภอวังม่วง” ทำการผลิตครบวงจร พร้อมขยายตลาดออนไลน์


 

จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จำเป็นต้องมุ่งเน้นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบจากการหดตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรของภาครัฐในการลงทุน เพื่อพยุงเศรษฐกิจและเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกรอบนโยบายด้านเกษตร ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาศักยภาพการผลิต ต่อยอดของเดิมให้ดีขึ้น เน้นการผลิตในรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแปลงใหญ่เกษตรแม่นยำที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ มีการสร้างความร่วมมือการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การวางแผนการผลิต การแปรรูป และการตลาด ตลอดจนการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะและได้มาตรฐานความปลอดภัย



            นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต โดยเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่จะร่วมกันกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอน จนถึงการเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชนแบบประชารัฐ โดยมีแผนการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ที่ผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 8,318 แปลง เกษตรกรประมาณ 4.67 แสนราย พื้นที่กว่า  7.65 ล้านไร่ สร้างมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตรวมประมาณ 47,275.71 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564) สำหรับพื้นที่จังหวัดสระบุรี มีแปลงใหญ่ทั้งสิ้นจำนวน 77 แปลง เกษตรกร 4,154 ราย พื้นที่ 113,056.94 ไร่ ซึ่งได้เสนอความต้องการโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดทั้งหมด จำนวน 61 แปลง โดยกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่อำเภอวังม่วง เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับเงินอุดหนุน โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด



            สำหรับ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่อำเภอวังม่วงเป็นการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อผลิตปลาดุกบิ๊กอุย ปลาดุกรัสเซีย และ ผลิตภัณฑ์ปลาดุกแดดเดียว ปลาดุกสวรรค์ ปลาดุกเส้นปรุงรส มีกำลังการผลิตรวม 4,664,360.88 กิโลกรัม เฉลี่ย 44,222.85 กิโลกรัม/ไร่ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตด้วยเกษตรสมัยใหม่ โดยการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร มีโรงเรือนแปรรูปสินค้าสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐาน และบริหารจัดการการใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน กลุ่มมีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง แบ่งหน้าที่ในการบริหารอย่างชัดเจน และสมาชิกของกลุ่มฯ ทั้ง 45 ราย ก็ได้รับมาตรฐานฟาร์มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง (GAP กรมประมง) แล้วทั้งสิ้น



            ด้าน นายประเทือง มานะกุล ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่อำเภอวังม่วง เปิดเผยว่า การรวมกลุ่มกันเลี้ยงปลาดุกในรูปแบบแปลงใหญ่ มีแต่ช่วยให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ ทั้งในด้านการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและการตลาด เนื่องจากมีทีมผู้จัดการแปลง ช่วยทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานภาคีทุกกิจกรรมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์โครงการ รับสมัครสมาชิก ตรวจติดตามการดำเนินงาน ร่วมแก้ไขปัญหาในขบวนการผลิต ตลอดจนการเชื่อมโยงการตลาด และการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เช่น แก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกกลุ่มในเรื่องการจัดหาปัจจัยการผลิต และเงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น




            ปัจจุบันทางกลุ่มฯ มีกำลังการผลิตปลาดุกรวม 4,664,360.88 กิโลกรัม  เฉลี่ย 44,222.85 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้ขอรับสนับสนุนงบประมาณจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด วงเงิน 3,000,000.00 บาท เพื่อมายกระดับการผลิตให้ไปสู่สินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ตลาดออนไลน์ ต่อยอดในเรื่องของการแปรูปผลผลิต ปลาดุกสวรรค์ ปลาดุกเส้นปรุงรสสมนุไพร หนังปลาดุกปรุงรส สมุนไพรก้างปลาปรุงรสสมุนไพรและปลาดุกแดดเดียว โดยมีอาคารแปรรูปปลาดุก เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำ ขยายช่องทางการตลาด และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการผลิตสินค้าสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องมีสถานที่ในการแปรรูปสินค้าสัตว์น้ำให้ได้มาตรฐานปลอดภัยสู่ตลาดผู้บริโภค

            ในด้านการตลาด จะจำหน่ายปลาสดในตลาดทุกระดับ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปส่งตลาดท้องถิ่น และสร้างตลาดออนไลน์ โดยจะรักษาตลาดเดิม และสร้างคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐาน เช่น อย. เพื่อหาแหล่งตลาดใหม่ เช่น ตลาด Modern Trade ตลาดประชารัฐ มีการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ ผลผลิตของกลุ่มฯ ผ่านสื่อทีวี ยูทูป รายการต่างๆ และสร้างผลผลิตใหม่ๆที่เป็นความต้องการของตลาด ซึ่ง นอกจากแปรรูปผลผลิตของกลุ่มแล้วยังวางแผนการรับจ้างผลิตอีกทางหนึ่งด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กรมประมง เพาะพันธุ์ “ปลาหุด” สัตว์น้ำหายาก ราคาสูง สำเร็จครั้งแรกในเขตพื้นที่ภาคใต้ กว่า 2 แสนตัว พร้อมปล่อยลงสู่แหล่งต้นน้ำ


             กรมประมง ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ ปลาหุดหรือ ปลาพุดปลาประจำถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช และพัทลุง เผย...เป็นสัตว์น้ำหายาก และมีแนวโน้มลดจำนวนลงมาก เพาะพันธุ์ด้วยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ อนุบาลอีก 2 เดือน เตรียมปล่อยคืนสู่ น้ำตกยอดน้ำแหล่งต้นกำเนิด พร้อมมีนโยบายเร่งสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำประจำถิ่นที่เสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ นำมาทดลองเพาะขยายพันธุ์และปล่อยคืนแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรักษาสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ให้คงอยู่ประจำถิ่น



นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง โฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ปลาหุด หรือ ปลาพุด จัดเป็นปลาประจำถิ่นหายากของจังหวัดนครศรีธรรมราช อาศัยในแหล่งต้นน้ำ น้ำตก และลำธาร ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปลาพุดมีพฤติกรรมวางไข่เพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำหลากปลาพุดจะอพยพลงมาจากภูเขาว่ายน้ำลงมาตามลำคลองสาขาเพื่อวางไข่ ชาวบ้านจึงอาศัยช่วงเวลานี้จับปลาดังกล่าวเพื่อนำไปบริโภคและจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาพุดที่มีไข่จะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 700 – 1,000 บาท เนื่องจากเป็นปลาพื้นถิ่นที่หายาก มีรสชาติอร่อยและเป็นที่นิยมนำมาบริโภค จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านจับปลาพุดในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ปลาพุดมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น กรมประมงจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานกรมประมงในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาพุดจากสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ปลาพุด น้ำตกยอดน้ำ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยวิธียกยอ เพื่อให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช นำมาเพาะขยายพันธุ์ เพื่อนำไปปล่อยกลับคืนที่แหล่งอาศัยบริเวณต้นน้ำ น้ำตก และลำธารเพื่อฟื้นฟูพันธุ์ปลาพุดในท้องถิ่นเป็นแหล่งสร้างผลผลิต สร้างรายได้แก่ชุมชน  




ทั้งนี้ กรมประมง ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูสัตว์น้ำหายากราคาสูง โดยให้มีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ปล่อยคืนแหล่งน้ำธรรมชาติเดิม เพื่อคงสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ในท้องถิ่นนั้นๆ จึงมีนโยบายเร่งดำเนินการฟื้นฟูพันธุ์ปลาพุดในพื้นที่ต้นน้ำ จังหวัดนครศรีธรรมราชภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ต้นน้ำ เช่น  มีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ปลาพุด น้ำตกยอดน้ำ ตำบลเขาน้อย อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศในธรรมชาติกับการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป สอดคล้องกับนโยบาย ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำให้กรมประมงอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูก และเป็นแหล่งประกอบอาชีพที่มั่นคงของประชาชนในพื้นถิ่น 

ด้านนายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าวเสริมในรายละเอียดว่า ปลาพุดหรือชื่อเรียกตามท้องถิ่น เรียก ปลาหุด ปลามัน ปลาเลียหิน ปลาลูกอีแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceratogarra cambodgiensis (Tirant 1884) ลักษณะมีลำตัวเรียวยาวเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว มีหนวดที่ปลายจะงอยปากหนึ่งคู่ ลำตัวด้านหลังเป็นสีเขียว เกล็ดมีสีขาวเงินสะท้อนแสง มีแถบสีดำพาดตามตัวจากหลังช่องเหงือกถึงโคนหาง มีขนาดความยาวเต็มที่ประมาณ 11 เซ็นติเมตร อาศัยตามบริเวณพื้นที่เป็นกรวดและหินตามแหล่งน้ำลำธารต้นน้ำและน้ำตก มีพฤติกรรมการวางไข่โดยการอพยพจากลำธารลงไปวางไข่ตามคลองหรือในทุ่งนา กินอาหารโดยดูดตะไคร่น้ำ แพลงก์ตอน และแมลงน้ำเป็นอาหาร ในประเทศไทยพบกระจายลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำน่านในเขตอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน รวมถึงภาคใต้ หน่วยงานกรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช ได้พยายามเพาะพันธุ์ปลาพุดจากพ่อแม่พันธุ์ที่รวบรวมจากธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจนเพาะพันธุ์ได้สำเร็จในปีนี้ 




โดยเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 นางสาวนิภา กาลศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช ได้รับพันธุ์ปลาพุด จากศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช ซึ่งรวบรวมจากธรรมชาติโดยกลุ่มอนุรักษ์ปลาพุด น้ำตกยอดน้ำ เป็นปลาพุดเพศเมีย จำนวน 44 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 23.93 กรัม ความยาวเฉลี่ย 13.70 เซนติเมตร และเพศผู้ จำนวน 7 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 5.19 กรัม ความยาวเฉลี่ย 7.70 เซนติเมตร ได้นำมาเพาะพันธุ์ด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยฉีดฮอร์โมนกระตุ้นในการเพาะพันธุ์ ปลาเพศเมียฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ความเข้มข้น 15 ไมโครกรัม ปลาเพศผู้ฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ 10 ไมโครกรัม ต่อน้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม  ฉีดฮอร์โมนพร้อมกันทั้งเพศผู้และเพศเมีย แล้วปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองในถังไฟเบอร์ ที่มีระบบน้ำหมุนเวียน มีการทำฝนเทียม และให้อากาศตลอดเวลา และเตรียมระบบถังฟักไข่ในรูปแบบไข่ครึ่งจมครึ่งลอย ผลปรากฏว่า หลังฉีดฮอร์โมน 5 ชั่วโมง พ่อแม่ปลาเริ่มผสมพันธุ์วางไข่ และสิ้นสุดการวางไข่ภายใน 2 ชั่วโมงนับจากเวลาเริ่มวางไข่ จำนวนไข่ที่วางเฉลี่ย ทั้งหมด 766,000 ฟอง จำนวนไข่เฉลี่ยต่อแม่  8,850 ฟอง หลังวางไข่ 11 ชั่วโมง ลูกปลาเริ่มฟักจากไข่ อัตราการฟักเฉลี่ย 389,000 ตัว คิดเป็นร้อยละ 50.83 เมื่อถุงไข่แดงยุบลูกปลาพุดมีอัตรารอดเฉลี่ย 192,000 ตัว คิดเป็นร้อยละ 49.35 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการอนุบาลลูกพันธุ์โดยจะมีการให้อาหารที่แตกต่างกันเริ่มจากหนอนจิ๋ว อาร์ทีเมีย ไรแดง และอาหารผง หลังจากอนุบาลได้ประมาณ 2 เดือน จะเตรียมนำลูกพันธุ์ปลาพุดที่เพาะได้ปล่อยคืนสู่แหล่งต้นน้ำธรรมชาติ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการทดลองเพาะขยายพันธ์ปลาพุด ยังคงพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากปลาพุดเพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย 4-5 เท่า มีนิสัยปราดเปรียว ว่ายน้ำเร็ว ทำให้จับรวบรวมได้ยาก อีกทั้ง เป็นปลาที่วางไข่เพียงปีละ 1 ครั้ง ดังนั้น สัดส่วนพ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์ยังไม่สมดุลกัน อัตราผสมไข่จึงน้อย เนื่องจากมีน้ำเชื้อไม่เพียงพอ กรมประมง จึงแผนที่จะเก็บรักษาลูกพันธุ์ที่เพาะได้นี้บางส่วนไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป



รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การเพาะพันธุ์ปลาพุดในจังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ได้สำเร็จ กรมประมงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งในการที่จะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่หายากกลับคืนสู่แหล่งน้ำต้นกำเนิดเพื่อคืนความหลากหลายและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสในการปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการช่วยกันรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย ที่สำคัญ ฝากถึงพี่น้องชาวประมงให้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและโปรดทำการประมงด้วยวิธีที่ถูกกฎหมายไม่ทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำสืบไป ทั้งนี้ หากชาวบ้านมีการพบพันธุ์ปลาพุดในธรรมชาติในช่วงนี้ ขอความกรุณาช่วยรวบรวม และประสานแจ้งประมงอำเภอในพื้นที่ เพื่อนำไปให้ศูนย์วิจัยฯ นำเพาะขยายพันธุ์ต่อไป

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือแอมเวย์ยาวนาน 22 ปี ส่งข้าวมากกว่า 3.9 หมื่นตัน สร้างรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์กว่า 992.76 ล้านบาท ขยายตลาดข้าวสารต่อเนื่อง


 

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดพิธีลงบันทึกข้อตกลงขายข้าวแอมเวย์ โดยมี นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นสักขีพยาน ระหว่าง บริษัท ซี.เอ.เอส อินเตอร์เทรด จำกัด กับสหกรณ์การเกษตร จำนวน 5 แห่ง ที่เป็นคู่ค้าข้าวสารกับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมหนุนสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวพัฒนาต่อยอดข้าวคุณภาพ หวังส่งออกจำหน่ายตลาดต่างประเทศ     



นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์                           ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ขยายช่องทางตลาดข้าวสารภายในประเทศ โดยประสานความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวคุณภาพกับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อช่วยให้สหกรณ์มีตลาดจำหน่ายข้าวสารที่แน่นอน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง กรมฯ จึงได้ดำเนินการคัดเลือกสหกรณ์การเกษตรที่มีการแปรรูปข้าวที่มีศักยภาพและเป็นสหกรณ์ที่ผลิตข้าวหอมมะลิแท้ ทำสัญญาซื้อขายและเป็นคู่ค้าข้าวสารสหกรณ์กับ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นข้าวหอมมะลิบรรจุถึงสุญญากาศ ภายใต้เครื่องหมาย “Amway” ตั้งแต่ ปี 2542 เป็นต้นมา จวบจนปัจจุบันเป็นระยะเวลายาวนานถึง 22 ปี



นายอัชฌา กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งเริ่มโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีปริมาณและมูลค่าของข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวกล้องงอก ที่ส่งมอบให้กับบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด มีปริมาณรวมกว่า 39,300.45 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 992.76 ล้านบาท ปัจจุบันมีสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ 5 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด สหกรณ์การเกษตรปราสาท จำกัด จังหวัดสุรินทร์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัด จังหวัด บุรีรัมย์ และสหกรณ์การเกษตรพร้าว จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทุกสหกรณ์มีศักยภาพในการผลิตรวบรวมและแปรรูปข้าวสาร มีโรงสีข้าวที่ผ่านมาตรฐาน GMP HACCP และ อย. มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 40 – 100 ตันต่อวัน ที่ผ่านมา กรมฯ ได้สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจข้าวของสหกรณ์ตั้งแต่ด้านการผลิต การรวบรวม การแปรรูป และการตลาด โดยให้ความรู้ สนับสนุนเงินทุน อุปกรณ์การตลาด การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หาตลาดและการจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมการค้าภายใน องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. รวมทั้งสหกรณ์ได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพที่มีหลากหลายสายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น พัฒนาเครื่องจักรกลต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ปริมาณโรงสีขนาดใหญ่ในสถาบันเกษตรกร/สหกรณ์เพิ่มมากขึ้น มีประมาณ 50 โรงสี รวมทั้งมีไซโลเก็บผลผลิตทางการเกษตรขนาดใหญ่ และสิ่งที่สำคัญที่จะตอบโจทย์การตลาดในปัจจุบัน คือ การตลาดออนไลน์ การขนส่งมีความรวดเร็ว สินค้าดีมีคุณภาพตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค




      สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงขายข้าวแอมเวย์ ในครั้งนี้ เป็นความตกลงร่วมกันในการซื้อขายข้าวสาร Lot 50 ในปริมาณ 312 ตัน มูลค่า 9.862 ล้านบาท กำหนดส่งมอบระหว่างเดือนมกราคม - กันยายน 2565 ทั้งนี้ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ได้มีการนำเสนอสินค้าใหม่เพื่อทำข้อตกลงซื้อขายระหว่างสหกรณ์ กับบริษัท ซี.เอ.เอส อินเตอร์เทรด จำกัด ในฐานะผู้แทนของบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีนโยบายในการขยายฐานลูกค้าใหม่ ต้องการข้าวสารคุณภาพ อาทิ ข้าว 5 สี (ข้าวไรซ์เบอร์รี่งอก ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวสังข์หยด ข้าว กข.43 และข้าวหอมมะลิ) และข้าวตรา CaslightG เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้าประเภทร้านอาหารเป็นหลัก เน้นการตลาดออนไลน์มีการสื่อสารที่รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ช่วยระบายข้าวในสต๊อคของสหกรณ์  และเป็นการแก้ไขปัญหาข้าวราคาตกต่ำด้วย

ด้าน นางปาณชญา บวชสันเทียะ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ฯ ได้เข้าร่วมโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 44 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ข้าวของสหกรณ์ฯ เป็นที่รู้จักและยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตข้าวของสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์มีโอกาสพัฒนาต่อยอดข้าวคุณภาพจำหน่ายให้กับลูกค้ารายอื่นด้วย ขณะนี้นอกจากจะส่งข้าวให้กับแอมเวย์แล้ว สหกรณ์ยังส่งข้าวให้กับโรงแรมต่าง ๆ ข้าวปลอดภัยส่งขายให้โรงพยาบาลในจังหวัดนครราชสีมา และจำหน่ายให้กับเครือข่ายสหกรณ์ รวมทั้งมีพ่อค้ารายอื่น ๆ ติดต่อขอซื้อข้าวสารของสหกรณ์ด้วย และทางสหกรณ์มีความพร้อมมีศักยภาพในการผลิตข้าวคุณภาพ หากในอนาคตจะมีการส่งออกข้าวไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งเราต้องอาศัยความร่วมมือจาก บริษัท ซี.เอ.เอส อินเตอร์เทรด จำกัด เป็นตัวกลางในการประสานเครือข่ายทางการตลาดกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน อินเดีย รวมทั้งประสานกับบริษัท แอมเวย์ ในต่างประเทศนำข้าวแอมเวย์ไปจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ถ้าสามารถกระจายไปยังต่างประเทศได้ จะทำให้สหกรณ์มียอดการจำหน่ายสูงขึ้น สหกรณ์มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจมากขึ้น สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

กรมส่งเสริมสหกรณ์ อนุมัติกรอบวงเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ ปี 2565 จำนวน 4,700 ล้านบาท ให้สหกรณ์นำไปปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ


 

กรมส่งเสริมสหกรณ์ อนุมัติกรอบวงเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ ปี 2565 จำนวน 4,700 ล้านบาท ให้สหกรณ์นำไปปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ดูแลช่วยเหลือการประกอบอาชีพของสมาชิก พร้อมหนุนให้สหกรณ์ขนาดกลางและขนาดเล็ก มีเงินทุนหมุนเวียนรวบรวมผลผลิตการเกษตร และแปรรูปจำหน่าย เพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างรายได้ให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งมุ่งแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำในพื้นที่ทำการเกษตร แก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพสมาชิกสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง

           นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ กพส. เกิดจากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ทุกประเภท ปัจจุบัน กพส. มีทุนดำเนินงานกว่า 6,400 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯได้จัดสรรเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์นำไปเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ และช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพให้กับสมาชิก จุดประสงค์หลักของกองทุนคือการเสริมสร้างสหกรณ์ในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ที่ผ่านมามีสหกรณ์หลายแห่งที่นำเงินกู้ กพส.ไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ สามารถพัฒนาธุรกิจสหกรณ์จนเติบโตก้าวหน้า สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและทำให้สมาชิกสหกรณ์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจะต้องเลือกเฟ้นสหกรณ์ที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เข้าไปแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงาน เพื่อให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าไปมีส่วนร่วมกับฝ่ายจัดการของสหกรณ์กับคณะกรรมการของสหกรณ์ ในการที่จะดูแลส่งเสริมให้ความรู้ทั้งด้านการบริหารจัดการ การบริหารสินเชื่อ การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ส่งเสริมให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มากขึ้นด้วย



สิ่งที่อยากเห็นคือ กองทุนพัฒนาสหกรณ์สามารถสร้างความก้าวหน้าและการเติบโตให้กับสหกรณ์อย่างแท้จริง ทั้งสหกรณ์ขนาดกลาง ขนาดเล็กหรือสหกรณ์ที่เพิ่งตั้งใหม่ ให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพและเข้มแข็งจากการนำเงินจาก กพส. ไปเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลผลิตการเกษตรและนำมาแปรรูป เพื่อจำหน่ายสู่ตลาด เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต และสร้างรายได้กลับสู่สมาชิก จากสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีการระบาดของโรคโควิด – 19 ยังมีสหกรณ์อีกจำนวนมากที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้สมาชิกประกอบอาชีพและรวบรวมผลผลิตออกจำหน่าย ทำตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สมาชิกมีความตั้งใจในการทำการเกษตรจริง ก็จะทำให้มีรายได้ และเมื่อครบกำหนดการชำระหนี้                  สมาชิกก็นำเงินที่เขากู้ไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลับมาคืนสหกรณ์ สหกรณ์ก็ส่งคืนให้กับกองทุนพัฒนาสหกรณ์ โดยอัตราดอกเบี้ยก็คิดตามขนาด ตามชั้นลูกหนี้ กพส.ที่เราได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ซึ่งถ้าเทียบต้นทุนของสหกรณ์ กับการที่เขาจะต้องไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น ถือว่าเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจให้กับสหกรณ์ได้ ก็จะทำให้สหกรณ์ขนาดเล็กหลายแห่งเติบโตขึ้น สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนายวิศิษฐ์ กล่าว



สำหรับปีงบประมาณ 2564 คณะกรรมการบริหาร กพส. ได้อนุมัติวงเงินกู้ 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการปกติ 2,280 ล้านบาท โครงการพิเศษ 1,720 ล้านบาท มีสหกรณ์กู้เงิน กพส. 1,631 แห่ง 1,787 สัญญา เป็นเงิน 3,547 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 88.68 เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจถดถอยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 5 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์การเกษตรมีความประสงค์ขอกู้เงินไปให้สมาชิกกู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพทางการเกษตร ประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม รวมทั้งสหกรณ์นำไปดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิต และจัดหาสินค้าและปัจจัยการผลิตมาบริการสมาชิกเพื่อลดต้นทุนการประกอบอาชีพ



ในปีงบประมาณ 2565 กรมฯได้จัดสรรกรอบวงเงินกู้ กพส.จำนวน 4,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการปกติ 2,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 64 คิดเป็น 27% และโครงการพิเศษ 1,800 ล้านบาท ปัจจุบันได้มีการอนุมัติและเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 18 สหกรณ์ วงเงิน 58 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 1.24 ของวงเงินทั้งหมด โดยส่วนใหญ่สหกรณ์ขอกู้เพื่อนำไปรวบรวมผลผลิต จัดหาสินค้ามาจำหน่าย นำไปให้สมาชิกกู้ยืม และลงทุนในทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรเงินอีกส่วนหนึ่งเพื่อดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ปีการผลิต 2564/65 โครงการส่งเสริมการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีในสถาบันเกษตรกร ปี 2565 โครงการบริหารจัดการธุรกิจรวบรวมผลไม้ในสถาบันเกษตรกร ปี 2565 โครงการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวบรวมกาแฟในสถาบันเกษตรกร ปี 2565 โครงการพัฒนาการผลิตน้ำนมโคที่มีคุณภาพลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการสนับสนุนเงินกู้ให้แก่สหกรณ์ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง ส่วนหนึ่ง กรมฯ มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำในไร่นาของสมาชิกสหกรณ์ การส่งเสริมอาชีพในยุค New Normal และ Next Normal ให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 วงเงิน 280 ล้านบาท รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้ และการฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกต่อเนื่องเป็นปีที่สอง วงเงิน 25 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมฯยังได้กำหนดวงเงินกู้สำหรับช่วยเหลือสหกรณ์เป็นการเร่งด่วน สำหรับสหกรณ์ที่ประสบปัญหาอุทกภัย จำนวน 300 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ ได้สำรวจและจัดสรรวงเงินให้จังหวัดแล้ว 26 จังหวัด 103 สหกรณ์ สมาชิกได้รับผลกระทบ 15,558 ราย พื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย 251,609.26 ไร่ ซึ่งในปี 2565 จะมุ่งกระจายความช่วยเหลือไปยังสหกรณ์ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนี้ กรมฯ ได้สำรวจความต้องการของสหกรณ์ที่มีความประสงค์จะขอกู้เงิน กพส. เพื่อนำขยายธุรกิจสหกรณ์หรือนำไปช่วยเหลือสมาชิก โดยมีกรอบการจัดสรรเงิน กพส. ร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัด/สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และ พื้นที่ 2 และจะมีการติดตามการใช้เงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เร่งรัดการใช้หนี้คืนตามกำหนด ปัจจุบันมีจำนวนการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ กพส. ลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่กระบวนการแรกในการพิจารณาคำขอกู้ของสหกรณ์ การวิเคราะห์แผนการนำเงินกู้ไปใช้ประโยชน์ของสหกรณ์ รวมถึงการติดตามให้สมาชิกใช้เงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กู้ไปจากสหกรณ์ด้วย

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...