วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กรมประมง เพาะพันธุ์ “ปลาหุด” สัตว์น้ำหายาก ราคาสูง สำเร็จครั้งแรกในเขตพื้นที่ภาคใต้ กว่า 2 แสนตัว พร้อมปล่อยลงสู่แหล่งต้นน้ำ


             กรมประมง ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ ปลาหุดหรือ ปลาพุดปลาประจำถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช และพัทลุง เผย...เป็นสัตว์น้ำหายาก และมีแนวโน้มลดจำนวนลงมาก เพาะพันธุ์ด้วยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ อนุบาลอีก 2 เดือน เตรียมปล่อยคืนสู่ น้ำตกยอดน้ำแหล่งต้นกำเนิด พร้อมมีนโยบายเร่งสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำประจำถิ่นที่เสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ นำมาทดลองเพาะขยายพันธุ์และปล่อยคืนแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรักษาสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ให้คงอยู่ประจำถิ่น



นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง โฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ปลาหุด หรือ ปลาพุด จัดเป็นปลาประจำถิ่นหายากของจังหวัดนครศรีธรรมราช อาศัยในแหล่งต้นน้ำ น้ำตก และลำธาร ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปลาพุดมีพฤติกรรมวางไข่เพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำหลากปลาพุดจะอพยพลงมาจากภูเขาว่ายน้ำลงมาตามลำคลองสาขาเพื่อวางไข่ ชาวบ้านจึงอาศัยช่วงเวลานี้จับปลาดังกล่าวเพื่อนำไปบริโภคและจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาพุดที่มีไข่จะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 700 – 1,000 บาท เนื่องจากเป็นปลาพื้นถิ่นที่หายาก มีรสชาติอร่อยและเป็นที่นิยมนำมาบริโภค จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านจับปลาพุดในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ปลาพุดมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น กรมประมงจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานกรมประมงในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาพุดจากสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ปลาพุด น้ำตกยอดน้ำ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยวิธียกยอ เพื่อให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช นำมาเพาะขยายพันธุ์ เพื่อนำไปปล่อยกลับคืนที่แหล่งอาศัยบริเวณต้นน้ำ น้ำตก และลำธารเพื่อฟื้นฟูพันธุ์ปลาพุดในท้องถิ่นเป็นแหล่งสร้างผลผลิต สร้างรายได้แก่ชุมชน  




ทั้งนี้ กรมประมง ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูสัตว์น้ำหายากราคาสูง โดยให้มีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ปล่อยคืนแหล่งน้ำธรรมชาติเดิม เพื่อคงสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ในท้องถิ่นนั้นๆ จึงมีนโยบายเร่งดำเนินการฟื้นฟูพันธุ์ปลาพุดในพื้นที่ต้นน้ำ จังหวัดนครศรีธรรมราชภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ต้นน้ำ เช่น  มีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ปลาพุด น้ำตกยอดน้ำ ตำบลเขาน้อย อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศในธรรมชาติกับการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป สอดคล้องกับนโยบาย ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำให้กรมประมงอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูก และเป็นแหล่งประกอบอาชีพที่มั่นคงของประชาชนในพื้นถิ่น 

ด้านนายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าวเสริมในรายละเอียดว่า ปลาพุดหรือชื่อเรียกตามท้องถิ่น เรียก ปลาหุด ปลามัน ปลาเลียหิน ปลาลูกอีแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceratogarra cambodgiensis (Tirant 1884) ลักษณะมีลำตัวเรียวยาวเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว มีหนวดที่ปลายจะงอยปากหนึ่งคู่ ลำตัวด้านหลังเป็นสีเขียว เกล็ดมีสีขาวเงินสะท้อนแสง มีแถบสีดำพาดตามตัวจากหลังช่องเหงือกถึงโคนหาง มีขนาดความยาวเต็มที่ประมาณ 11 เซ็นติเมตร อาศัยตามบริเวณพื้นที่เป็นกรวดและหินตามแหล่งน้ำลำธารต้นน้ำและน้ำตก มีพฤติกรรมการวางไข่โดยการอพยพจากลำธารลงไปวางไข่ตามคลองหรือในทุ่งนา กินอาหารโดยดูดตะไคร่น้ำ แพลงก์ตอน และแมลงน้ำเป็นอาหาร ในประเทศไทยพบกระจายลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำน่านในเขตอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน รวมถึงภาคใต้ หน่วยงานกรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช ได้พยายามเพาะพันธุ์ปลาพุดจากพ่อแม่พันธุ์ที่รวบรวมจากธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจนเพาะพันธุ์ได้สำเร็จในปีนี้ 




โดยเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 นางสาวนิภา กาลศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช ได้รับพันธุ์ปลาพุด จากศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำนครศรีธรรมราช ซึ่งรวบรวมจากธรรมชาติโดยกลุ่มอนุรักษ์ปลาพุด น้ำตกยอดน้ำ เป็นปลาพุดเพศเมีย จำนวน 44 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 23.93 กรัม ความยาวเฉลี่ย 13.70 เซนติเมตร และเพศผู้ จำนวน 7 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 5.19 กรัม ความยาวเฉลี่ย 7.70 เซนติเมตร ได้นำมาเพาะพันธุ์ด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยฉีดฮอร์โมนกระตุ้นในการเพาะพันธุ์ ปลาเพศเมียฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ความเข้มข้น 15 ไมโครกรัม ปลาเพศผู้ฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ 10 ไมโครกรัม ต่อน้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม  ฉีดฮอร์โมนพร้อมกันทั้งเพศผู้และเพศเมีย แล้วปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองในถังไฟเบอร์ ที่มีระบบน้ำหมุนเวียน มีการทำฝนเทียม และให้อากาศตลอดเวลา และเตรียมระบบถังฟักไข่ในรูปแบบไข่ครึ่งจมครึ่งลอย ผลปรากฏว่า หลังฉีดฮอร์โมน 5 ชั่วโมง พ่อแม่ปลาเริ่มผสมพันธุ์วางไข่ และสิ้นสุดการวางไข่ภายใน 2 ชั่วโมงนับจากเวลาเริ่มวางไข่ จำนวนไข่ที่วางเฉลี่ย ทั้งหมด 766,000 ฟอง จำนวนไข่เฉลี่ยต่อแม่  8,850 ฟอง หลังวางไข่ 11 ชั่วโมง ลูกปลาเริ่มฟักจากไข่ อัตราการฟักเฉลี่ย 389,000 ตัว คิดเป็นร้อยละ 50.83 เมื่อถุงไข่แดงยุบลูกปลาพุดมีอัตรารอดเฉลี่ย 192,000 ตัว คิดเป็นร้อยละ 49.35 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการอนุบาลลูกพันธุ์โดยจะมีการให้อาหารที่แตกต่างกันเริ่มจากหนอนจิ๋ว อาร์ทีเมีย ไรแดง และอาหารผง หลังจากอนุบาลได้ประมาณ 2 เดือน จะเตรียมนำลูกพันธุ์ปลาพุดที่เพาะได้ปล่อยคืนสู่แหล่งต้นน้ำธรรมชาติ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการทดลองเพาะขยายพันธ์ปลาพุด ยังคงพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากปลาพุดเพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย 4-5 เท่า มีนิสัยปราดเปรียว ว่ายน้ำเร็ว ทำให้จับรวบรวมได้ยาก อีกทั้ง เป็นปลาที่วางไข่เพียงปีละ 1 ครั้ง ดังนั้น สัดส่วนพ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์ยังไม่สมดุลกัน อัตราผสมไข่จึงน้อย เนื่องจากมีน้ำเชื้อไม่เพียงพอ กรมประมง จึงแผนที่จะเก็บรักษาลูกพันธุ์ที่เพาะได้นี้บางส่วนไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป



รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การเพาะพันธุ์ปลาพุดในจังหวัดนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ได้สำเร็จ กรมประมงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งในการที่จะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่หายากกลับคืนสู่แหล่งน้ำต้นกำเนิดเพื่อคืนความหลากหลายและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสในการปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการช่วยกันรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย ที่สำคัญ ฝากถึงพี่น้องชาวประมงให้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและโปรดทำการประมงด้วยวิธีที่ถูกกฎหมายไม่ทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำสืบไป ทั้งนี้ หากชาวบ้านมีการพบพันธุ์ปลาพุดในธรรมชาติในช่วงนี้ ขอความกรุณาช่วยรวบรวม และประสานแจ้งประมงอำเภอในพื้นที่ เพื่อนำไปให้ศูนย์วิจัยฯ นำเพาะขยายพันธุ์ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...