วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

กรมส่งเสริมฯ ยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด “กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่อำเภอวังม่วง” ทำการผลิตครบวงจร พร้อมขยายตลาดออนไลน์


 

จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จำเป็นต้องมุ่งเน้นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบจากการหดตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรของภาครัฐในการลงทุน เพื่อพยุงเศรษฐกิจและเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกรอบนโยบายด้านเกษตร ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาศักยภาพการผลิต ต่อยอดของเดิมให้ดีขึ้น เน้นการผลิตในรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแปลงใหญ่เกษตรแม่นยำที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ มีการสร้างความร่วมมือการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การวางแผนการผลิต การแปรรูป และการตลาด ตลอดจนการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะและได้มาตรฐานความปลอดภัย



            นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต โดยเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่จะร่วมกันกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอน จนถึงการเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชนแบบประชารัฐ โดยมีแผนการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ที่ผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 8,318 แปลง เกษตรกรประมาณ 4.67 แสนราย พื้นที่กว่า  7.65 ล้านไร่ สร้างมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตรวมประมาณ 47,275.71 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564) สำหรับพื้นที่จังหวัดสระบุรี มีแปลงใหญ่ทั้งสิ้นจำนวน 77 แปลง เกษตรกร 4,154 ราย พื้นที่ 113,056.94 ไร่ ซึ่งได้เสนอความต้องการโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดทั้งหมด จำนวน 61 แปลง โดยกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่อำเภอวังม่วง เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับเงินอุดหนุน โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด



            สำหรับ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่อำเภอวังม่วงเป็นการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อผลิตปลาดุกบิ๊กอุย ปลาดุกรัสเซีย และ ผลิตภัณฑ์ปลาดุกแดดเดียว ปลาดุกสวรรค์ ปลาดุกเส้นปรุงรส มีกำลังการผลิตรวม 4,664,360.88 กิโลกรัม เฉลี่ย 44,222.85 กิโลกรัม/ไร่ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตด้วยเกษตรสมัยใหม่ โดยการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร มีโรงเรือนแปรรูปสินค้าสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐาน และบริหารจัดการการใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน กลุ่มมีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง แบ่งหน้าที่ในการบริหารอย่างชัดเจน และสมาชิกของกลุ่มฯ ทั้ง 45 ราย ก็ได้รับมาตรฐานฟาร์มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง (GAP กรมประมง) แล้วทั้งสิ้น



            ด้าน นายประเทือง มานะกุล ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่อำเภอวังม่วง เปิดเผยว่า การรวมกลุ่มกันเลี้ยงปลาดุกในรูปแบบแปลงใหญ่ มีแต่ช่วยให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ ทั้งในด้านการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและการตลาด เนื่องจากมีทีมผู้จัดการแปลง ช่วยทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานภาคีทุกกิจกรรมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์โครงการ รับสมัครสมาชิก ตรวจติดตามการดำเนินงาน ร่วมแก้ไขปัญหาในขบวนการผลิต ตลอดจนการเชื่อมโยงการตลาด และการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เช่น แก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกกลุ่มในเรื่องการจัดหาปัจจัยการผลิต และเงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น




            ปัจจุบันทางกลุ่มฯ มีกำลังการผลิตปลาดุกรวม 4,664,360.88 กิโลกรัม  เฉลี่ย 44,222.85 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้ขอรับสนับสนุนงบประมาณจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด วงเงิน 3,000,000.00 บาท เพื่อมายกระดับการผลิตให้ไปสู่สินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ตลาดออนไลน์ ต่อยอดในเรื่องของการแปรูปผลผลิต ปลาดุกสวรรค์ ปลาดุกเส้นปรุงรสสมนุไพร หนังปลาดุกปรุงรส สมุนไพรก้างปลาปรุงรสสมุนไพรและปลาดุกแดดเดียว โดยมีอาคารแปรรูปปลาดุก เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำ ขยายช่องทางการตลาด และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการผลิตสินค้าสัตว์น้ำ จึงจำเป็นต้องมีสถานที่ในการแปรรูปสินค้าสัตว์น้ำให้ได้มาตรฐานปลอดภัยสู่ตลาดผู้บริโภค

            ในด้านการตลาด จะจำหน่ายปลาสดในตลาดทุกระดับ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปส่งตลาดท้องถิ่น และสร้างตลาดออนไลน์ โดยจะรักษาตลาดเดิม และสร้างคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐาน เช่น อย. เพื่อหาแหล่งตลาดใหม่ เช่น ตลาด Modern Trade ตลาดประชารัฐ มีการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ ผลผลิตของกลุ่มฯ ผ่านสื่อทีวี ยูทูป รายการต่างๆ และสร้างผลผลิตใหม่ๆที่เป็นความต้องการของตลาด ซึ่ง นอกจากแปรรูปผลผลิตของกลุ่มแล้วยังวางแผนการรับจ้างผลิตอีกทางหนึ่งด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...