วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อุตสาหกรรมอาหารตื่นตัวจัดการขยะอย่างยั่งยืน รับเทรนด์โลกเศรษฐกิจหมุนเวียน



จากกระแสตื่นตัวต่อสถานการณ์วิกฤติขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่เป็นปัญหาระดับโลกที่กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยก็น่ากังวลไม่แพ้กัน มีอัตราการทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากติดอันดับต้นๆ ของโลก ความร่วมมือกันของรัฐ เอกชนและประชาชนที่ลดและเลิกใช้พลาสติกแบบที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use plastic) นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน กำลังเป็นเทรนด์ของโลกที่จะมาช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ยั่งยืน
ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับการจัดการพลาสติกที่ครบวงจร ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด และการจัดการให้พลาสติกหรือทรัพยากรถูกหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้นานที่สุด ลดปริมาณของเสียที่ปล่อยออกสู่ธรรมชาติให้มากที่สุด ทั่วโลกต่างให้ความสนใจนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ต่อสู้กับวิกฤติขยะพลาสติก อย่าง สหภาพยุโรปที่กำหนด ยุทธศาสตร์การจัดการพลาสติกของยุโรป (A European strategy for plastic) ขึ้นโดยมีเป้าหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมจากมลภาวะพลาสติก กำหนดให้พลาสติกที่ใช้ในตลาดทั้งหมดต้องสามารถใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้ฃ
เช่นเดียวกับ จีนที่ประกาศนโยบายลดใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง และสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้แทนในอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่เบริโภค ทั้งนี้ พลาสติก ยังมีความสำคัญต่อภาคการผลิตอาหาร ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกัน ช่วยปกป้องคุณภาพ และความปลอดภัยของอาหาร ป้องกันปนเปื้อนเชื้อโรคจากภายนอก ช่วยยืดอายุในการเก็บรักษา แต่อีกด้านหนึ่ง ทำให้ขยะพลาสติกตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน และก่อให้เกิดการแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน ภาคการผลิตอาหารของไทย เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตั้งแต่โรงงานผลิตจนถึงร้านอาหาร การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือนำมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกต้อง


นายกิตติ หวังวิวัฒน์ศิลป์ ในฐานะประธานคณะทำงานบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)​ หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก กล่าวว่า ซีพีเอฟมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เพื่อที่จะร่วมขับเคลื่อนการลดปริมาณขยะพลาสติกจากกระบวนการผลิตและบริโภคอาหาร บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่ ยึดหลัก Reduce-Reuse-Recycle มาใช้ตั้งแต่เริ่มออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พยายามลดการใช้พลาสติกในแต่ละบรรจุภัณฑ์มากที่สุด ควบคู่กับการคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร  หรือ เลือกใช้พลาสติกที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ และวัสดุที่เอื้อต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีเป้าหมายที่ให้มีวัสดุเหลือทิ้งหลังการบริโภคให้น้อยที่สุด


ปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารของซีพีเอฟส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recyclable plastic) ส่วนที่เหลือ เป็นพลาสติกนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (Reusable plastic) และพลาสติกที่ย่อยสลายได้ คิดเป็นร้อยละ 99.99 ของปริมาณวัสดุที่ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังเดินหน้าศึกษาและออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารที่ใช้วัสดุชนิดเดียว (mono material) ตลอดทั้งชิ้น เพื่อให้สามารถนำบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้สะดวกขึ้น โดยไม่ปล่อยให้เป็นของเหลือทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษที่ผ่านมา แต่ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นภายหลังจากการบริโภคถูกนำกลับเข้ามาใช้ประโยชน์ใหม่เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ส่วนใหญ่ถูกทิ้งปนอยู่กับขยะทั่วไป สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่า บรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่การนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ว่าจะเป็น recycle และ reuse จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมทั้งผู้บริโภค ในการลดการใช้พลาสติก และคัดแยกประเภทขยะพลาสติกให้ถูกวิธีก่อนทิ้ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์ และเกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด


โครงการหนึ่งที่ซีพีเอฟได้ดำเนินการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดย ร้าน ซีพี เฟรชมาร์ท ได้ร่วมกับ GEPP ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพไทยที่เชี่ยวชาญในการทำระบบจัดการขยะ ดำเนินโครงการ “CP Fresh Mart มาเก็บในเดือนตุลาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายสร้างชุมชนต้นแบบในการรีไซเคิลขยะ โดยส่งเสริมให้ประชาชนที่อยู่รอบๆ ร้านซีพี เฟรชมาร์ทเข้ามีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะให้ถูกต้อง โดยให้ผู้บริโภคนำขยะพลาสติก 50 ชิ้นมาแสดงต่อพนักงานเพื่อรับไข่ไก่สด 10 ฟอง โดยนำร่องกับร้านซีพี เฟรชมาร์ทในกรุงเทพมหานครจำนวน 8 สาขา จากการดำเนินโครงการในระยะเวลาร่วม 6 เดือน สามารถรวบรวมขยะพลาสติกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ประมาณ 180,000 ชิ้น เป็นความพยายามที่ช่วยกันลดปริมาณขยะในชุมชน และนำไปสู่การจัดการขยะพลาสติกที่สอดคล้องกับแนวทางของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป
การจัดการพลาสติกที่มุ่งสู่แนวทาง เศรษฐกิจหมุนเวียน”​ ไม่เพียงเป็นหนทางที่จะช่วยสนับสนุนการใช้พลาสติกหมุนเวียนแล้ว ยังนับเป็นโอกาสทางธุรกิจในการเปลี่ยนไปสู่ทิศทางการค้าแบบยั่งยืน ส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อม  และช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อาหารของมนุษยชาติควบคู่กัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...