นางสาวอรุณี วงศ์ราเชน
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเงินสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
เปิดเผยว่า สมาชิกสหกรณ์ทุกคน ถือเป็นเจ้าของสหกรณ์ร่วมกัน
จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์
โดยเฉพาะมีความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสหกรณ์
รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสมาชิก
ซึ่งเป็นการรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกเอง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
เป็นหน่วยงานซึ่งมีภารกิจหลักในการตรวจสอบบัญชีและแสดงความเห็นต่องบการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรตามมาตรฐานการสอบบัญชีและระเบียบที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด
ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกและผู้ใช้งบการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมากยิ่งขึ้น
งบการเงินก็เปรียบเสมือนใบรายงานผลสุขภาพทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
รายการและตัวเลขที่ปรากฏในงบการเงิน ซึ่งประกอบด้วยงบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน
งบกระแสเงินสดหรืองบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์
จะชี้ให้ผู้ใช้งบการเงินทราบในเบื้องต้นว่า สหกรณ์มีฐานะการเงินอย่างไร
ผลการดำเนินงานในรอบปีของสหกรณ์เป็นอย่างไร
มีกำไรหรือขาดทุน กระแสเงินสดที่ใช้หมุนเวียนในรอบปีมีสภาพคล่องเพียงไร
และที่สำคัญคือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่อยู่ในส่วนท้ายของงบการเงิน
ซึ่งแสดงถึงความโปร่งใสในการเปิดเผยนโยบายการบัญชีที่สำคัญ
และรายละเอียดประกอบรายการต่าง ๆ ที่ปรากฏในงบการเงิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเงินสหกรณ์ กล่าวอีกว่า
งบการเงินที่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจัดทำให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบนั้น
จะตรวจสอบตามหลักฐานที่เพียงพอและเหมาะสมว่า
สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้ปฏิบัติตามกฎหมายสหกรณ์ กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์อย่างถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญหรือไม่
และแสดงความเห็นต่องบการเงินของสหกรณ์
หลังจากนั้นผู้สอบบัญชีจะส่งรายงานการสอบบัญชีให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเพื่อนำเสนอไว้ในรายงานกิจการประจำปี
ประกอบด้วยรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานผลการตรวจสอบบัญชีประจำปี
เพื่อให้สมาชิกได้รับทราบและทำความเข้าใจ ดังนั้น
สิ่งแรกที่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรต้องให้ความสำคัญคือ รายงานของผู้สอบบัญชี
ที่ผู้สอบบัญชีได้แสดงความเห็นต่องบการเงินของสหกรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สอบบัญชี
จะแสดงความเห็นต่องบการเงินแบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งแปลว่า
สหกรณ์มีการดำเนินการที่ถูกต้อง เรียบร้อย แต่ในบางสหกรณ์ผู้สอบบัญชีอาจเพิ่มวรรคเน้นให้ผู้ใช้งบการเงินได้ทราบว่าสหกรณ์ได้มีการดำเนินการบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ซึ่งสหกรณ์ควรแก้ไขให้ถูกต้อง
แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไข
สมาชิกต้องให้ความสำคัญและทำความเข้าใจว่าสิ่งใดที่ผู้สอบบัญชีได้ระบุเป็นเงื่อนไขไว้ในรายงานของผู้สอบบัญชี
ซึ่งเป็นความเสี่ยง ที่สหกรณ์ต้องเพิ่มความระวังและดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง
และหากสมาชิกมีข้อสงสัย ก็สามารถซักถามผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการดำเนินการได้
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส
สำหรับรายงานผลการตรวจสอบบัญชี
จะเป็นการสรุปข้อสังเกตและวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้
๑.)
ข้อสังเกตที่ตรวจพบจากการตรวจสอบเกี่ยวกับจุดอ่อนของการควบคุมภายใน
ผู้สอบบัญชีจะแจ้งให้สหกรณ์ทราบว่าจากการตรวจสอบบัญชี
ยังมีจุดใดบ้างที่สหกรณ์ควรควบคุมดูแลให้ถูกต้องและเหมาะสม และกำหนดมาตรการในการป้องกัน
ป้องปราม หรือแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป
ข้อสังเกตที่ผู้สอบบัญชีตรวจพบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง เงินสดขาดบัญชี สินค้าขาดบัญชี
การไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสหกรณ์ ทั้งด้านสินเชื่อ เงินรับฝาก
การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย การจัดทำบัญชีและงบการเงินไม่เรียบร้อย ไม่ครบถ้วน
และการไม่รักษาความปลอดภัยของข้อมูลสำหรับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลข้อมูล
๒.)
ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงิน ผู้สอบบัญชีจะวิเคราะห์ข้อมูลใน ๖ มิติ
ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กัน ดังนี้
ด้านความเพียงพอของเงินทุน
เป็นการบอกให้ทราบถึงโครงสร้างเงินทุนที่สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรได้มาเพื่อใช้ในการดำเนินงานว่า
ได้มาจากทุนของตัวเองหรือจากหนี้สิน (ส่วนใหญ่จะเป็นเงินรับฝากและเงินกู้ยืม)
เงินทุนเหล่านี้ถ้ามีความเพียงพอและเข้มแข็ง ก็อาจนำไปลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวได้
อัตราส่วนสำคัญที่ใช้ประกอบการวิเคราะห์ ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน
อัตราทุนสำรองต่อสินทรัพย์ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของทุน หรือ ROE สิ่งที่สหกรณ์ต้องพึงระวังคือ
การได้มาและการใช้ไปของเงินทุนควรมีความเหมาะสมทั้งช่วงเวลาและจำนวนเงิน
มิฉะนั้นอาจทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินได้ เช่น
สหกรณ์ได้เงินทุนมาจากการก่อหนี้โดยการกู้ยืมระยะสั้นแต่ได้นำเงินไปใช้ลงทุนในระยะยาว
ซึ่งอาจทำให้สหกรณ์มีเงินไม่เพียงพอ เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายชำระคืนเจ้าหนี้
ด้านคุณภาพของสินทรัพย์
เป็นการวิเคราะห์ว่าสหกรณ์ได้นำเงินทุนที่ได้มาไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือผลตอบแทนในสินทรัพย์ใดบ้าง
เช่น ให้สมาชิกหรือสหกรณ์กู้ ลงทุนในหลักทรัพย์ ฝากที่สหกรณ์อื่น สินค้าหรือลงทุนในครุภัณฑ์ต่าง
ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน อาคาร รถยนต์ หรืออุปกรณ์
เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและให้บริการสมาชิกได้อย่างรวดเร็ว
อัตราส่วนสำคัญที่นำมาวิเคราะห์ เช่น อัตราหมุนของสินทรัพย์ อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ ROA อัตราหนี้ค้างชำระ
ดังนั้น หากสินทรัพย์ที่สหกรณ์นำไปลงทุนมีปัญหา เช่น
ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา ถอนเงินฝากสหกรณ์อื่นไม่ได้ สถาบันการเงินที่นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์มีปัญหา
มีสินค้าคงเหลือมาก หรือใช้ครุภัณฑ์ไม่คุ้มค่าไม่เกิดประโยชน์ต่อการลงทุน
ก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนและผลการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
ด้านความสามารถในการบริหารธุรกิจและความสามารถในการทำกำไร
เป็นการวิเคราะห์ว่าในรอบปีบัญชีสหกรณ์มีมูลค่าการดำเนินธุรกิจอย่างไร
มีการเติบโตเพิ่มขึ้น หรือถดถอยจากปีก่อนเพียงใด
ซึ่งจะสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของสหกรณ์ว่าธุรกิจใดบ้างที่ทำแล้วมีกำไร หรือ
ขาดทุน หรือมีกำไรแต่ลดลงจากปีก่อน สาเหตุเกิดจากอะไร รายได้ลดลง
ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากรายการใด เพื่อสหกรณ์จะได้ควบคุมให้เหมาะสมต่อไป
อัตราส่วนที่สำคัญ เช่น อัตรากำไรสุทธิ
อัตราค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน เป็นต้น
ด้านสภาพคล่อง
เป็นการวิเคราะห์ว่าสหกรณ์มีสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้นเหมาะสมเพียงใด
โดยเปรียบเทียบสินทรัพย์ระยะสั้นกับหนี้สินระยะสั้นของสหกรณ์ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด
สินทรัพย์ระยะสั้นของสหกรณ์มีเพียงพอต่อการชำระคืนเจ้าหนี้ระยะสั้นหรือไม่
ซึ่งจะสัมพันธ์กับคุณภาพของสินทรัพย์ด้วย เพราะถ้าสินทรัพย์ระยะสั้นของสหกรณ์ไม่มีปัญหาใด
ก็จะมีความคล่องตัวที่จะแปรสภาพเป็นเงินสดได้ง่าย อัตราส่วนที่สำคัญ เช่น
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน อัตราหมุนของสินค้า อัตราหมุนของลูกหนี้การค้า
อัตราลูกหนี้ที่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด เป็นต้น
ผลกระทบของธุรกิจสหกรณ์ เป็นปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของสหกรณ์
อาทิ กฎ ระเบียบ เทคโนโลยี ภาวะเศรษฐกิจ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การเมือง นโยบายรัฐบาล
ความเชื่อมั่น ศรัทธาในระบบสหกรณ์ ปัจจัยเหล่านี้สหกรณ์ควรนำพิจารณาประกอบการบริหารจัดการและการดำเนินงานของสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง
“กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นเพียงผู้อยู่เบื้องหลังการดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
จำนวน 12.8 ล้านคน มูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้น 3.56 ล้านล้านบาท
แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหน้าการดูแลรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่แท้จริงก็คือสมาชิกทุกคน
ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร ความตอนหนึ่งว่า “...ช่วยกันสร้าง ทำให้สหกรณ์แข็งแรง มีความก้าวหน้า เมื่อสหกรณ์ก้าวหน้า แข็งแรง
แต่ละคนที่เป็นสมาชิก ก็มีความสุข มีความภูมิใจได้ว่า
สร้างตัวเองขึ้นมา...” สมาชิกแต่ละคนจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างและดูแลรักษาสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรของท่านให้เข้มแข็ง
และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”