วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564

“จ่าวิรัช” ควักเงินกว่า 3 ล้านบาท แจกถุงปันสุขให้ชาวบ้านตำบลท่าน้ำอ้อยม่วงหัก พร้อมทุนการศึกษาให้เยาวชน ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน

   ร.ต.ต.วิรัช โตอิ้ม นายกเทศมนตรีตำบลท่าน้ำอ้อยม่วงหัก อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนไม่สามารถดำเนินธุรกิจหรือทำมาหากินได้ตามปกติ ตนในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลท่าน้ำอ้อยม่วงหัก และเจ้าของกิจการโรงงานปลาร้าจ่าวิรัช จ่าวิรัชเอ้าท์เล็ท และจ่าวิรัชฟู้ด มีความห่วงใยประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลท่าน้ำอ้อยม่วงหัก ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการ “ปันสุข ปันน้ำใจ” ขึ้นมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กันในยามวิกฤติเช่นนี้



   โดยโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากการปันผลกำไรของร้านจ่าวิรัชทั้งสิ้น เพื่อตอบแทนสังคมและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลท่าน้ำอ้อยม่วงหัก แบ่งออกเป็นการมอบถุงปันสุขให้กับประชาชนในเขตตำบลท่าน้ำอ้อยม่วงหักจำนวน 1,500 ครัวเรือน ในถุงปันสุขประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ เสื้อผ้า อาหารปรุงสำเร็จ มูลค่า 1,500 บาท และเงินทุนเลี้ยงชีพอีก 500 บาท รวมเป็น 2,000 บาท/ครัวเรือน พร้อมกันนี้ยังได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนจาก 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลพยุหะคีรี (วัดพระปรางค์เหลือง) โรงเรียนวัดบ้านบน โรงเรียนวัดเขาบ่อพลับและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเขาบ่อพลับ โรงเรียนบ้านเขาไม้เดน จำนวน 395 ราย ทุนละ 1,000 บาท คิดเป็นเงิน 395,000 บาท



    “ครอบครัวโตอิ้มได้ดำเนินกิจการปลาร้ามากว่า 100 ปี ได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนด้วยดีเสมอมา เมื่อเราทำการค้าได้ผลกำไรก็อยากตอบแทนช่วยเหลือสังคม ซึ่งที่ผ่านมาร้านจ่าวิรัชได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนมาอย่างต่อเนื่องปีนี้เข้าสู่ปีที่ 18 แล้ว พอเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทางร้านจ่าวิรัชก็ได้นำถุงยังชีพไปมอบให้กับผู้สูงอายุทันทีตั้งแต่การแพร่ระบาดในรอบแรก และล่าสุดก็ได้จัดกิจกรรมมอบถุงปันสุขให้กับ 1,500 ครัวเรือนในชุมชนพื้นที่ตำบลท่าน้ำอ้อยม่วงหัก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นขวัญกำลังใจในช่วงวิกฤติเช่นนี้ รวมทั้งเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวชุมชนท่าน้ำอ้อยม่วงหักด้วย” ร.ต.ต.วิรัช โตอิ้ม กล่าวทิ้งท้าย



   ด้านนางกาญจนา แสนสงคราม ชาวบ้านตำบลท่าน้ำอ้อย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับถุงปันสุขและเงินทุนจากนายกฯวิรัช ได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและจะนำเงินไปลงทุนทำมาหากินต่อ เพราะตั้งแต่มีไวรัสโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบทำให้ขายของได้ลดลง รายได้น้อยลงไปมาก จากเดิมที่ขายหอยทอดมีกำไรวันละ 300-500 บาท เดี๋ยวนี้บางวันขายได้ไม่ถึง100 บาท แต่ก็ต้องสู้ต่อไป

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564

แม็คโคร จับมือสหกรณ์การเกษตรหนองอึ่งฯ จ.ยโสธร ส่งเสริมอาชีพชุมชนสู่ SME

    บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สหกรณ์การเกษตรหนองอึ่งฯ จ.ยโสธร บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากป่าชุมชน อาทิ เห็ดโคน ไข่มดแดง เห็ดเผาะฯ ขายในแม็คโครทุกสาขาทั่วไทย ตอกย้ำโมเดลแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ผลักดันเกษตรกรสู่ SME สร้างอาชีพยั่งยืนรายได้มั่นคง



    นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยาม    แม็คโคร จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า แม็คโคร ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผลผลิตการเกษตรจากเกษตรกรรายย่อย และผู้ผลิต SME ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพและเสริมสร้างศักยภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน ล่าสุดแม็คโครได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากป่าชุมชน ทั้ง เห็ดโคน ไข่มดแดง เห็ดเผาะฯ  มายังสาขาของแม็คโครทั่วประเทศ  และยังได้วางแผนร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน การวางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโมเดลในการบูรณาการความร่วมมือที่จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรก้าวสู่การเป็น SMEs ผ่านแพลตฟอร์มแห่งโอกาสของแม็คโครอีกโมเดลหนึ่ง

“แม็คโครเล็งเห็นถึงความเข้มแข็งของชาวชุมชนในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร ที่นำผลผลิตจากป่าชุมชนอย่าง เห็ดโคน ไข่มดแดง เห็ดเผาะ มาแปรรูป ภายใต้แบรนด์ วนาทิพย์  ซึ่งเป็นโอท็อปดังของจังหวัด ความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้สินค้าจากชุมชนมีช่องทางจำหน่ายผ่านสาขาของแม็คโคร  สร้างรายได้ที่มั่นคง และเกิดการพัฒนา ยกระดับศักยภาพของเกษตกรรายย่อยและผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่มาตรฐาน ภายใต้แพลตฟอร์มแห่งโอกาสของแม็คโคร”

สำหรับ สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร ดำเนินการส่งเสริมการแปรรูปอาหารจากป่าชุมชนดงมัน อาทิ เห็ดโคน เห็ดเผาะ ไข่มดแดง โดยสมาชิกใน 7 ชุมชน จะเก็บผลผลิตจากป่ามาแปรรูป และจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ วนาทิพย์ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รับการคัดเลือกเป็นโอท็อประดับห้าดาวของจังหวัด



     ทั้งนี้ แม็คโคร มีแนวทางในการสนับสนุน   SME และเกษตรรายย่อย ผ่าน แพลตฟอร์มแห่งโอกาส ใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่  1.การขยายช่องทางการตลาดผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2.  การพัฒนาองค์ความรู้ นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้ธุรกิจรายย่อยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น พร้อมยกระดับ SME สู่           Smart SME ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ 3.สนับสนุนให้ SME ก้าวข้ามขีดจำกัดในเรื่องของเงินทุนและสภาพคล่อง โดยการเชื่อมโยงระหว่าง SME กับสถาบันการเงิน เพื่อขยายการลงทุนและสร้างสรรค์    ผลิตภัณฑ์ใหม่



     “เกษตรกรรายย่อยกลุ่มนี้ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายเพื่อพัฒนาเกษตรกรและ SME ให้มีความแข็งแกร่ง สามารถนำเสนอสินค้าไปสู่ผู้บริโภค และเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแม็คโครช่วยเป็นคู่คิดธุรกิจ เป็นพี่เลี้ยงที่แนะนำโอกาสการเติบโตทางธุรกิจได้มากกว่าการซื้อมาขายไป” นางศิริพร กล่าว

วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เกษตรกรร้องรัฐเร่งปราบปราม ‘ขบวนการลักลอบนำเข้าหมู’ เสี่ยงโรค-สารเร่ง-บ่อนทำลายอุตสาหกรรมหมูไทย

   นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งเข้ามาในประเทศไทย โดยสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าชนิดอื่น มีการจัดจำหน่ายทั้งแบบบรรจุภัณฑ์ที่ลักลอบมาจากต่างประเทศ และกระจายสินค้าเพื่อจำหน่ายปะปนกับเนื้อสุกรไทย เรื่องนี้ถือเป็นการบ่อนทำลายภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องรวมแล้วกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศขอเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และดำเนินการจับกุมเอาผิดผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ทั้งความผิดทางศุลกากร และผิดกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ โดยเฉพาะความเสี่ยงเรื่องโรคสุกรที่อาจติดมากับผลิตภัณฑ์ที่ไม่รู้แหล่งที่มา ซึ่งไม่มีใบขออนุญาตนำเข้าซากสัตว์ และไม่ผ่านการกักตรวจโรคก่อนนำเข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงที่ถือเป็นสารต้องห้าม ตามพรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ เนื้อสุกรแช่แข็งที่ลักลอบนำเข้ามานี้จึงถือเป็น “มหันตภัย” ต่อผู้บริโภคชาวไทย ต่อพี่น้องเกษตรกร และทำลายเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง



   “ขบวนการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศลักลอบเข้ามาสวมเป็นหมูไทย เพื่อกระจายขายในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศนี้ กำลังสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย ทั้งในแง่เศรษฐกิจจากการนำเข้าโดยสำแดงเท็จหรือหลีกเลี่ยงภาษีอากร ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ การนำเข้าโรคระบาดสัตว์ที่อาจติดมากับสินค้าลักลอบที่ไม่ผ่านการกักตรวจโรค หากในสินค้ามีโรคปนเปื้อนย่อมทำลายภาคอุตสาหกรรมหมูอย่างย่อยยับ ขณะเดียวกันผู้เลี้ยงหมูและห่วงโซ่อุปทานจะต้องล่มสลายจากกลไกสินค้าที่ถูกบิดเบือนเพราะผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างประเทศ ที่สำคัญคนไทยต้องเสี่ยงกับสารเร่งเนื้อแดงที่แถมมาด้วยโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เกษตรกรทั่วประเทศขอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาดูแล ตรวจสอบ และปราบปรามขบวนการนี้โดยเร็ซ เพื่อไม่ให้ประชาชน ประเทศชาติ และอาชีพเลี้ยงหมูของเกษตรกรกว่า 2 แสนรายต้องพังลง” นายปรีชา กล่าว



   นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย โดยผู้เลี้ยงสุกรต่างร่วมใจกันปฏิบัติตามกฎหมายโดยคำนึงถึงผู้บริโภคปลายทาง ตลอดจนเร่งยกระดับการป้องกันโรคระบาดในสุกรเพื่อรักษาอาชีพเดียวไว้ และพัฒนากระบวนการผลิตเนื้อสุกรปลอดสาร ปลอดโรค ปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค การปล่อยให้คนส่วนน้อยที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมาทำลายประเทศจึงไม่เป็นธรรมต่อประชาชน และเกษตรกรไทย ที่สำคัญในแง่จิตวิทยา การลักลอบดังกล่าวทำให้ไม่มีแรงจูงใจการลงทุนในประเทศ เกษตรกรไม่กล้าเสี่ยงที่จะเลี้ยงสุกรต่อ เพราะรู้ดีว่าไม่สามารถแข่งขันราคากับเนื้อสุกรต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าได้อย่างแน่นอน เมื่อภาคผู้ผลิตสุกรถูกทำลาย ย่อมกระทบกับห่วงโซ่การผลิตต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าว ที่ราคาต้องตกต่ำจากปัญหาการนำเข้าเนื้อสุกรที่ทำลายอุตสาหกรรมเกษตรไทย

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ไก่ไทยส่งออกฉลุย ยืนหนึ่งมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์สากล


  


   สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ย้ำอุตสาหกรรมผลิตเนื้อไก่ไทยได้มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์สากลและมาตรฐานส่งออกของกรมปศุสัตว์ มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานสากล (3rd Party) จากประเทศผู้นำเข้า ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทั่วโลก ตามแนวการผลิตอาหารมั่นคงและการบริโภคอย่างยั่งยืน มั่นใจบรรลุเป้าหมายส่งออก

   นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ไทยในฐานะผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมส่งออกเนื้อไก่มาโดยตลอด ทั้งการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) ตั้งแต่องค์ประกอบของฟาร์ม เช่น อาหาร น้ำ การจัดการฟาร์ม การจัดการสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมไก่ให้มีสุขภาพดี ปราศจากยาปฏิชีวนะ ตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวดตลอดห่วงโซ่การผลิต ส่งผลดีต่อเนื้อไก่และเหมาะสมในการนำไปผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค



   นอกจากนี้ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยต้องผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มที่ดีจากกรมปศุสัตว์ เนื้อไก่ที่นำไปผลิตอาหารต้องมาจากฟาร์มที่ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงจากการปนเปื้อนของอันตรายทางกายภาพ เคมีและชีวภาพ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยของไก่ ไม่เลี้ยงไก่หนาแน่นเพื่อให้ไก่อยู่สบาย และสัตว์ต้องได้รับการดูแลอย่างดีตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโรงงานแปรรูปไม่ให้มีการทรมานสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น



   สมาคมฯ ตั้งเป้าส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปในปี 2564 รวม 900,000 ตัน มูลค่า 101,000 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ในปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับที่ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยไทยมีปริมาณส่งออกสินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 981,089 ตัน มูลค่า 107,828 ล้านบาท 

   “ไทยคุมเข้มมาตรฐานการผลิตและการส่งออกเนื้อไก่ในระดับสูง โดยเฉพาะตลาดหลักของไทย คือ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่มีกฎเกณฑ์ด้านสุขอนามัยสูงมาก (Sanitary and Phytosanitary :SPS) ทั้งมาตรฐานฟาร์มและการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์อย่างเท่าเทียม ซึ่งผู้ส่งออกไทยผ่านการรับรองมาตรฐานตามข้อกำหนดทั้งหมด และผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานสากลที่ได้รับมอบหมายจากลูกค้าเสมอ” นายคึกฤทธิ์กล่าว  

    ผู้ส่งออกไทยยังต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานอย่างต่อเนื่องจากกรมปศุสัตว์ ทั้งมาตรฐานฟาร์มและโรงงาน ให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานในประเทศและมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค

   นายคึกฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก GAP และหลักสวัสดิภาพสัตว์สากลที่ผู้ส่งออกไทยผ่านมาตรฐานแล้ว ไทยยังคำนึงถึงการใช้ยาปฏิชีวนะด้วยความรับผิดชอบ (Prudent Use of Antibiotics) โดยสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลทั้งสุขภาพสัตว์และสุขอนามัยภายในฟาร์ม ควบคู่กับการระบบการป้องกันโรคทางชีวภาพ (Bio-security) เพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคภายใต้หลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ทำให้คนไทยและผู้บริโภคทั่วโลกได้รับประทานเนื้อไก่ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ประธานอาวุโส ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ เพิ่มโอกาสคนไทยเข้าถึงยาฟ้าทะลายโจร ซีพีเอฟ ร่วมร้อยเรียงความดีซีพี 100 ปี ส่งถึงมือชาวสงขลาต่อเนื่อง


 

จากนโยบาย ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประกาศจัดทำโครงการ ซีพี ปันปลูก ฟ้าทะลายโจรภายใต้แนวคิด ร้อยเรียงความดีซีพี 100 ปีผลิตยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรแจกฟรี 30 ล้านแคปซูล เพื่อเพิ่มโอกาสคนไทยเข้าถึงยาสมุนไพร โดยซีพีเอฟผนึกกำลังทุกกลุ่มธุรกิจแจกจ่ายถึงกลุ่มเปราะบางอย่างทั่วถึงโดยเร็วที่สุด ล่าสุดซีพีเอฟส่งมอบยาฟ้าทะลายโจรแก่ชาวสงขลา ผ่านเทศบาลบ้านไร่ รพ.สต.บ้านพรุ และรพ.สต.คลองยางแดง อ.หาดใหญ่

นายจรัส อัศวชาญชัยสกุล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ นำทีมงานจิตอาสาโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านพรุ เดินหน้าส่งมอบยาฟ้าทะลายโจรจากเครือซีพี เพื่อชาวหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผ่าน นายนิวอง รัตนพันธ์ รองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านไร่ เป็นผู้แทนรับมอบยาฟ้าทะลายโจร และเดินสายมอบแก่ นางสาวกัญเปมฐิษา แกล้วทนงค์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพรุ จัดสรรส่งต่อให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง มีโอกาสได้เข้าถึงยาเพื่อใช้ในการดูแลต่อไป



นายนิวอง รัตนพันธ์ เปิดเผยว่า พื้นที่ตำบลบ้านไร่ยังคงมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อยู่ การที่เครือซีพีมามอบยาแคปซูลในโครงการ ซีพี ปันปลูก ฟ้าทะลายโจรให้กับเทศบาลบ้านไร่ เป็นสื่อกลางในการแจกจ่ายให้กับชุมชนในพื้นที่ผ่านอสม. ผู้ใหญ่บ้าน ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19  และผู้ที่มีความเสี่ยงในครั้งนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชาวตำบลบ้านไร่ ขอขอบคุณในความห่วงใยที่บริษัทมีต่อพี่น้องประชาชนเสมอมา



ด้าน นางสาวกัญเปมฐิษา แกล้วทนงค์ กล่าวว่า รพ.สต.บ้านพรุ จะนำยาฟ้าทะลายโจรนี้ไปมอบแก่พี่น้องชาวบ้านพรุ สรรพคุณทางยาช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้นในผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มที่ยังไม่มีอาการรุนแรง ถือว่าเป็นโครงการที่ดีและน่าชื่นชมมากที่ซีพีห่วงใยไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ขอขอบคุณน้ำใจของบริษัทเป็นอย่างมาก

นายเชิดพงศ์ ไตรแก้ว ตัวแทนชาวบ้านไร่ กล่าวขอบคุณซีพีและซีพีเอฟ ที่ส่งมอบยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณที่ดีให้กับชาวบ้านในพื้นที่ แสดงถึงความห่วงใยที่บริษัทมีให้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้ ทางด้าน นายอนุสรณ์ สุนทรสวัสดิ์ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ถือว่าช่วยบรรเทาความกังวลแก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 และคนในกลุ่มเสี่ยง ขอขอบคุณอีกครั้งที่จัดโครงการดีๆแบบนี้ให้กับคนไทย

ส่วน นายจรัส อัศวชาญชัยสกุล กล่าวว่า ด้วยดำริของประธานอาวุโสเครือซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่เล็งเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบันการดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง จึงประกาศจัดทำโครงการ ซีพี ปันปลูก ฟ้าทะลายโจรภายใต้แนวคิด ร้อยเรียงความดีซีพี 100 ปีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยปลูกฟ้าทะลายโจรในพื้นที่ 100 ไร่ ใช้เวลา 100 วัน เพื่อผลิตยาฟ้าทะลายโจร 30 ล้านแคปซูล แจกฟรีให้กับพี่น้องประชาชนและชุมชน ให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงยาฟ้าทะลายโจร โดยมีทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯร่วมกันกระจายความห่วงใยนี้ เพื่อช่วยเหลือสังคมให้ก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน สำหรับซีพีเอฟร่วมส่งมอบในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส นครราชสีมา และกรุงเทพฯ



ทางด้าน นายสนต์นา รัตนพงศ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมตำบลคลองยางแดง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา รับมอบยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรจากซีพีเอฟ โดยมี นายรัชชวัฒน์ นพภา ผู้แทนซีพีเอฟส่งมอบ เพื่อนำไปมอบแก่ชาวคลองยางแดง นายสนต์นา กล่าวขอขอบคุณแทนประชาชนชาวต.ท่าชะมวง ที่เครือซีพีสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทยฟ้าทะลายโจร ที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันไข้หวัด ใช้ดูแลสุขภาพสร้างภูมิคุ้มกัน โดยจะมอบฟ้าทะลายโจรให้กับผู้ที่มาใช้บริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพต.คลองยางแดง และมอบให้กับชาวชุมชนต่อไป

ขณะที่ นางสาวอาอีฉ๊ะ หมัดศรี ตัวแทนชาวชุมชนที่มารับมอบยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้รับมอบฟ้าทะลายโจรจากเครือซีพี ซึ่งในชุมชนยังคงมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ยาที่ได้รับจะช่วยให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจมีสมุนไพรป้องกันตนเองได้ เช่นเดียวกับ นางสาวสิริโฉม เต๊ะหมาด บอกว่า โครงการนี้เป็นผลดีต่อประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ 4 ที่ยังคงมีผู้ป่วยและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ด้าน นางสมพร เอียดแก้ว กล่าวขอบคุณความห่วงใยที่ซีพีและซีพีเอฟมอบให้กับชาวสงขลามาตลอด

วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564

กสส.จับมือไจก้า ประกาศความสำเร็จพัฒนาคุณภาพกาแฟสหกรณ์ดอยสะเก็ดเชียงใหม่ หลังร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตกาแฟจนได้คุณภาพเกรดพรีเมี่ยม


 

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์  อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามโครงการการจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชนสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (กาแฟอาราบิกา) ณ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับ Mr.Takahiro Morita หัวหน้าผู้แทนสำนักงานไจก้าประเทศไทย (Chief Representative of JICA Thailand) Mr.Hanazawa Takafumi ผู้แทนประจำประเทศไทย เจ้าหน้าที่ JICA และ Mr.Masahiro Okada ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)  ในฐานะที่ได้ร่วมมือกันทำโครงการดังกล่าวต่อเนื่องมาปีที่  2   และจะเริ่มดำเนินการต่อไปเป็นปีที่ 3 ในปี  2565 เพื่อเป็นการขยายผลไปสู่การยกระดับกาแฟของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัดของไทยไปสู่เวทีกาแฟเกรดพรีเมี่ยมในตลาดระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการประกาศถึงศักยภาพของกาแฟไทยที่มีคุณภาพสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภค อีกทั้งเป็นกาแฟที่เป็นไปตามหลักของการส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟคุณภาพมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น



 กสส.จับมือกับไจก้า ในการพัฒนากาแฟอาราบิกาคุณภาพ ซึ่งไจก้ามีส่วนสำคัญที่ทำให้กาแฟในพื้นที่สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ประสบความสำเร็จ  โดยได้ช่วยเหลือด้านวิชาการ ถ่ายทอดความรู้และให้คำแนะนำสมาชิกสหกรณ์ในการพัฒนาการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพ  ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป  การทำกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) และกาแฟจากแหล่งเพาะปลูกเดียว (single origin) โดยกาแฟของสหกรณ์ปลูกอยู่ในตำบลเทพเสด็จ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่ได้รับการรับรองให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(จีไอ) นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเก็บกาแฟที่มีลักษณะสุกจัดเพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพดี โดยการทำริสแบนด์ติดที่ข้อมือเกษตรกร เพื่อให้เป็นคู่มือเทียบสีในขณะเก็บเกี่ยวกาแฟ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกเก็บเมล็ดกาแฟที่มีระดับความสุกที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพสูง  โดยความร่วมมือในปีที่ 3 จะมีเป้าหมายการขยายผลไปสู่การพัฒนาการตลาด การจับคู่ธุรกิจ ซึ่งเบื้องต้นกรมฯได้สนับสนุนให้มีการจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ กับบริษัทญี่ปุ่น  4  บริษัท ที่ให้ความสนใจ นอกจากนี้หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นในปีหน้า กรมฯยังได้วางแผนการจัดงานเปิดบ้านสหกรณ์ (Open House) เพื่อประชาสัมพันธ์กาแฟที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพของสหกรณ์  จากนั้นจะขยายผลองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพกาแฟไปสู่ไปยังสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟอื่นๆเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพกาแฟของสหกรณ์ทั้งระบบนายวิศิษฐ์ กล่าว



ด้าน Mr.Takahiro Morita หัวหน้าผู้แทนสำนักงานไจก้าประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อแรกเริ่มโครงการในปี 62 ได้มีการนำคณะทำงานของไทยเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อศึกษาการพัฒนาธุรกิจกาแฟของญี่ปุ่นและนำความรู้มาปรับกระบวนการพัฒนากาแฟ  ในไทย แม้ช่วงสถานการณ์โควิดทำให้โครงการดำเนินการได้ล่าช้า แต่ทางไจก้าได้พยายามและผลักดันการเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น คือนายโอคาดะ มาช่วยดูแลกระบวนการผลิตกาแฟให้กับสมาชิกสหกรณ์ดอยสะเก็ดเป็นเวลา 1 ปี และในการเดินทางมาครั้งนี้ได้มีโอกาสไปชมสวนกาแฟที่บ้านปางบงของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดฯ ประทับใจที่ได้มีการนำวิธีการเก็บเกี่ยวที่มีการพัฒนาด้วยกันมาใช้ในการเก็บเกี่ยวกาแฟเชอร์รี่ และจากที่โครงการจะสิ้นสุดปีนี้ ไจก้าอยากให้มีการสานต่อและมุ่งเน้นส่งเสริมการตลาดกับภาคเอกชนจึงควรมีการหารือและสานต่อโครงการนี้



นายประหยัด เสนน้อง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ได้ร่วมกับไจก้าในการดำเนินโครงการ โดยคัดเลือกเกษตรกร 44 ราย เป็นเกษตรกรนำร่อง 12 รายที่จะเริ่มการพัฒนา  ผลพบว่าในช่วง 2 ปี ที่ดำเนินการคุณภาพกาแฟดีขึ้น สามารถส่งเสริมการผลิตกาแฟจากแหล่งเพาะปลูกเดียวหรือ  single origin   ได้จนเป็นที่ยอมรับ โดยพื้นที่ปลูกกาแฟของเกษตรกรส่วนมากอยู่ในป่าและมีต้นไม้หลากหลาย  จึงทำให้มีกลิ่นที่พิเศษ มีเทสโน้ต (taste note) โทนผลไม้ตระกูลส้ม ได้แก่ ซิตรัส เลมอน และน้ำผึ้ง ซึ่งกาแฟ Single Origin นี้ สามารถขายได้ในราคาที่ดีกว่ากาแฟทั่วไป เนื่องจากผู้ผลิตรายอื่น              ยังไม่สามารถทำได้มากนัก  สำหรับการผลิตกาแฟของสมาชิกนั้นจะใช้ความรู้จากไจก้าส่งเสริมการปลูก การเก็บ ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อกาแฟจากสมาชิกโดยใช้ราคารับซื้อแบบขั้นบันได เพื่อจูงใจให้สมาชิกพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพ โดยในปี 2563 ได้มีการรวบรวมกาแฟกะลา จำนวน 17 ตัน และปี 64  จำนวน 22 ตัน ส่วนปี 65 มีแผนรวบรวมกาแฟกะลา จำนวน 35 ตัน และกาแฟเชอร์รี่ 18 ตัน จากเกษตรกร 7 หมู่บ้านที่ส่งให้สหกรณ์ สหกรณ์ได้มีการทดสอบรสชาติทุกราย โดยสหกรณ์ได้ส่งกาแฟของสมาชิกสหกรณ์เข้าประกวดงานสุดยอดกาแฟไทย (Thai Coffee Excellence) ที่มีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ร่วมจัดงาน โดยกาแฟของสมาชิกได้ลำดับที่ 14  คะแนนการชิม (cupping score) 82.40 นอกจากนี้ ยังได้ส่งกาแฟของสมาชิกเข้าประกวดงาน National Coffee Competition by SCATH 2021 ซึ่งจัดโดยสมาคมกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทย ได้คะแนนมากกว่า 80 คะแนน  ดังนั้น ต่อไปสหกรณ์จะเน้นการพัฒนากาแฟพิเศษให้มากขึ้น 




 นายอานนท์ พวงเสน คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกหลานสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด ที่ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรเหรียญทองแดง ในงานประกวดสุดยอดกาแฟไทยปี  2564 ประเภทคุณภาพกาแฟระดับดีมาก (very good) กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปด้วยวิธีเปียก (wet process) คะแนนการชิม (cupping score) 83.03 รวมทั้งมีแบรนด์กาแฟ “DOI PANG BONG” เป็นของตนเองด้วย   กล่าวว่า พ่อแม่ปลูกกาแฟ 40 ปี ตนเองเพิ่งกลับมาอยู่บ้านและเริ่มทำจริงจัง 4  ปี ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนได้ลิ้มลองรสชาติและทราบว่ากาแฟคุณภาพจากบ้านปางบงเป็นอย่างไร จึงได้เริ่มทำแบรนด์ DOI PANG BONG ออกมาสู่ตลาด โดยใช้ความรู้จากไจก้าที่มาถ่ายทอด จะเก็บกาแฟที่สุกเต็มที่ เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีออกมาเป็นกาแฟที่ดี ผลผลิตของตนจะได้ 2-3 ตันต่อปี พื้นที่ 30 ไร่ รายได้ต่อปีประมาณ   2-3 แสนบาทต่อปี โดยสหกรณ์จะรับซื้อกะลาจากเกษตรกร  การพัฒนาต่อไปคือการรักษาพันธุ์ พัฒนาคุณภาพและมุ่งสู่เวทีประกวด เพื่อให้ทราบว่าต้องพัฒนาอะไรเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค เชื่อว่าตลาดของกาแฟคุณภาพยังมี แต่ทำอย่างไรจะให้ผู้บริโภครับทราบว่ามีกาแฟดีที่ไหนบ้าง

ก้าวใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าถึงเกษตรกร


 

กรมส่งเสริมการเกษตรจัดสัมมนา DOAE Next Step ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรวิถีใหม่ สร้างความรู้ความเข้าใจในนโยบาย แนวทางการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแนวทางการดำเนินงานกรมส่งเสริมการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเปิดงาน พร้อมมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบแนวทางการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ณ โรงแรมรามา การ์เด้น กรุงเทพมหานคร



นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย และตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบแนวทางให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ภายใต้สโลแกน เกษตรกรก้าวทันยุคดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีแม่นยำ เชื่อมโยงตลาดนำการผลิตนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการปรับองค์กรเข้าสู่วิถีใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับปริบททางสังคมปัจจุบัน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้พัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรและบุคลากรของกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้แนวคิด DOAE Next Step ขับเคลื่อนงานส่งเสริมเกษตรวิถีใหม่



อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานภายใต้กรอบ Next Step ในปี 2565 ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางไว้ ยังคงมุ่งพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร ตามหลัก 5 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ยุทธศาสตร์ 3’s (Safety-Security-Sustainability-เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน) ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล เกษตร-พาณิชย์ทันสมัยยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา และ 15 นโยบายสำคัญ คือ นโยบาย ตลาดนำการผลิตเพิ่มช่องทางตลาดให้หลากหลายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก  การส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up การส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) การพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ การส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การประกันภัยพืชผล ให้ความคุ้มครองความเสียหายหรือความสูญเสียต่อพืชผล การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน และสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การวิจัยและพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย เพื่อตอบสนองการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศบนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศ Big Data โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ และการประกันรายได้ของเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์




นอกจากนี้ยังได้ปรับระบบการทำงานเข้าสู่ New Normal พัฒนากรมส่งเสริมการเกษตรสู่การเป็น Digital DOAE เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานและรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้ โดยยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผ่านการให้บริการรูปแบบดิจิทัลต่างๆ ที่พัฒนาโดยกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น ระบบบริการข้อมูลแผนที่ส่งเสริมการเกษตร (SSMAP) ระบบฐานข้อมูลการจำหน่ายพืชพันธุ์ดี (e-Catalog) สมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัล (Farmbook) แอปพลิเคชันรู้ดินรู้ปุ๋ย ระบบตรวจติดตามการระบาดศัตรูพืช (DOAE Pest Forecast) และ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เป็นต้น ซึ่งช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สันนิบาตสหกรณ์ฯ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ชูตำราทรัพยศาสตร์อีกหนึ่งแนวทางพัฒนาสหกรณ์


 

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 เพื่อแจงผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมชูตำราทรัพยศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์ เน้นสหกรณ์เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่รอด



นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประธานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานประชุมใหญ่ฯของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสันนิบาตสหกรณ์ที่มีต่อขบวนการสหกรณ์เสมอมา เนื่องจากสันนิบาตสหกรณ์ฯเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนากิจการสหกรณ์ทุกประเภทในประเทศไทย

ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังคงเดินหน้าต่อในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร อันเป็นเหตุจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ปริมาณธุรกิจสหกรณ์ภาคการเกษตรลดลงกว่า 7,555 ล้านบาท เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตการเกษตรได้เหมือนเช่นสถานการณ์ปกติ รวมถึงผู้ส่งออกชะลอการรับซื้อสินค้าจากสหกรณ์ ขณะที่สมาชิกสหกรณ์ส่วนหนึ่งต้องกู้เงินจากสหกรณ์ หรือแหล่งเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อนำมาลงทุนทำการเกษตร ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรมีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้หลังจากดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว ทางกรมฯได้ลงไปเยี่ยมเยียนในต่างจังหวัดหลาย ๆ แห่ง พบว่าสหกรณ์ที่เขามีศักยภาพในการส่งเสริมให้สมาชิกประกอบอาชีพและรวบรวมผลผลิตออกจำหน่าย สมาชิกทำจริง มีรายได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมฯพร้อมให้การสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์พัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ เพื่อจะได้มีเงินเลี้ยงครอบครัวและส่งชำระหนี้คืนสหกรณ์ได้ ทำให้ปัญหาเรื่องหนี้ค้างชำระลดลงในที่สุดนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว



ด้านนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของสันนิบาตสหกรณ์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้แทนสหกรณ์สมาชิก ได้รับทราบผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา และพิจารณาอนุมัติงบประมาณ ประจำปี 2565 ด้วย โดยได้รับเกียรติจากนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร



นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สันนิบาตสหกรณ์ฯ มีวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรกลางเพื่อพัฒนาขบวนการสหกรณ์สู่ความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน สู่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ สหกรณ์มิได้มีความหมายว่าเป็นเพียงนิติบุคคลซึ่งเป็นการรวมตัวของประชาชนเพื่อร่วมกันช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว สหกรณ์มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าที่เข้าใจกันอยู่ กล่าวคือ สหกรณ์เป็นระบบเศรษฐศาสตร์ประเภทหนึ่งหรืออาจจะเรียกได้ว่า ระบบเศรษฐกิจสหกรณ์และหากมองลงไปให้ลึกกว่านี้จะพบว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับหน่วยธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นจริงในสมัยรัชกาลที่ 6 และถูกนำมาสร้างความเป็นประชาธิปไตยในสมัยรัชการที่ 7 นั่นคือ สหกรณ์



การสร้างหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ได้สืบทอดและพัฒนาจากแนวคิด ความร่วมมือของชุมชน” (Co-operative Community) จนถึงขั้นระดมทุนมาร่วมกันทำกิจการร้านค้าที่เรียกว่า สมาคมการค้า” (Trading Association) เป็นร้านสหกรณ์จำหน่ายสินค้า ซึ่งนั่นหมายถึงหน่วยธุรกิจ เพื่อต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบการปลอมปนสินค้าการกำหนดราคาสูงเกินควรในยุคที่ต้องต่อสู้กับ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและต่อมาได้พัฒนาเป็นสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ จนกระทั่งในที่สุดได้พัฒนาเป็นสถาบันการจัดหาทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมวลสมาชิก โดยอาศัยชุมชนร่วมกัน เพื่อเป็นเจ้าของในกิจการร่วมกัน หากได้พิจารณาแนวคิดดังกล่าวจะพบได้ว่า ในตำรา ทรัพย์ศาสตร์อันเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของสยามประเทศ เขียนโดย พระยาสุริยานุวัตรเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญเช่นเดียวกับอารยประเทศในยุโรป



พระยาสุริยานุวัตรเน้นว่าการสหกรณ์เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่รอด เพราะด้วยวิธีการ สหกรณ์นี้ แรงงาน(ประชาชน) ยังมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต แต่นำเอาปัจจัยนั้นมาร่วมกันในการผลิต ต่างมีส่วนในการจัดการและแบ่งปันผลผลิต ตามแรงและทุนที่ร่วมกันลงไป แรงงานเป็นเจ้าของทุนด้วยในขณะเดียวกัน ความอริวิวาทในระหว่างนายทุนกับแรงงานจะไม่มี ระบบนี้ยังให้ความยุติธรรมในการปันกำไรให้แก่แรงงานที่เป็นเจ้าของทุนด้วยตามความเหน็ดเหนื่อย ในทัศนะของพระยาสุริยานุวัตร ทุนนับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นไปได้สำเร็จ การลงทุนทำให้เกิดผลประโยชน์และทรัพย์ได้ต่อไป ประเทศที่มีการลงทุนมากจึงเจริญก้าวหน้ารวดเร็ว โดยพระยาสุริยานุวัตรได้แบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็น 3 ประการ คือ ที่ดิน, แรงทำการ และทุน แต่ความหมายของทุนก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะ เงินทุนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ทรัพยกรบุคคลอีกด้วย

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ระบบสหกรณ์ คือ ระบบที่สร้างความเข็มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มั่นคงยั่งยืนให้คนฐานรากได้มีทุนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สหกรณ์จึงมิใช่สถาบันการเงินอย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสำนักเศรษฐกิจการคลังเข้าใจ แต่สหกรณ์เป็นหน่วยธุรกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ให้ประชาชนเฉพาะกลุ่มแต่ละกลุ่มเข้าถึงแหล่งเงินราคาถูก ด้วยการช่วยกันเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ขบวนการสหกรณ์เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนตามหลักการสหกรณ์นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. กล่าว

กรมประมงจับมือ SEAFDEC แนะนำเรือฝึก “ปลาลัง” เรือฝึกประมงอเนกประสงค์ ลดต้นทุนแรงงาน-เชื้อเพลิง


             กรมประมง ร่วมกับ SEAFDEC นำโดย นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง และคณะร่วมชมการสาธิตและสังเกตการณ์การทำประมงด้วยเรือฝึกปลาลัง ณ ท่าเทียบเรือประมงศรีราชา (ท่าเรือจรินทร์) จังหวัดชลบุรี โดยมีนางมาลินี สมิทธิ์ฤทธี เลขาธิการและผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรม ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) และเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับ



นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การเยี่ยมชมเรือฝึกปลาลังในครั้งนี้ ได้รับชมการสาธิตการใช้เครื่องมือช่วยทำการประมงอวนลาก อวนลอย และลอบ โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการปล่อยอวนไปจนถึงการเก็บและกู้อวนด้วยเครื่องมือทุ่นแรงระบบไฮดรอลิกส์ การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือช่วยทำการประมงประเภทอื่นๆ รวมไปถึงการมีพื้นที่ที่ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยสำหรับแรงงานและลูกเรือ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพรอบด้าน ทางกรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างกรมประมงและศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ผ่านเรือฝึก ปลาลังนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมง ให้สามารถใช้เรือฝึกปลาลังเป็นต้นแบบ หรือเป็นแนวความคิด โดยในอนาคต SEAFDEC มีโครงการเพื่อสาธิตการทำประมงโดยใช้เรือประมงต้นแบบนี้ให้กับชาวประมงในจังหวัดระยองและตราดในช่วงเดือนมกราคม 2565 เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับเรือประมงของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน เชื้อเพลิง และรักษาคุณภาพสัตว์น้ำบนเรือประมง ส่งผลให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่จับได้อย่างคุ้มค่าต่อไป 



ทั้งนี้ เรือฝึก ปลาลังเดิมเป็นเรือประมงอวนล้อมจับ และได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นเรือฝึกประมงอวนลากในปี 2564 ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกรมประมงและรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้งบประมาณ Japanese Trust Fund ในหัวข้อโครงการ Responsible Fishing Technology and Practice ให้เป็นเรือฝึกประมงตัวอย่าง ในการพัฒนา ปรับปรุงเครื่องมือทำการประมง เพื่อช่วยลดต้นทุนในการประกอบอาชีพด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแหล่งทำการประมง รวมถึงภาวะโลกร้อน (Low Impact and Fuel Efficient)  นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่และสุขอนามัยที่ดีของลูกเรือบนเรือประมง เสริมสร้างความปลอดภัยการทำงานในทะเล การส่งเสริมและให้ความสำคัญในด้านการเก็บรักษาคุณภาพสัตว์น้ำบนเรือประมง ทั้งแบบสดและมีชีวิต (Fresh & Life Fish) อย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อให้สัตว์น้ำที่จับได้สามารถคงความสด ลดการสูญเสีย และขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด



ด้าน นางมาลินี สมิทธิ์ฤทธี เลขาธิการและผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรม ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) กล่าวว่า SEAFDEC เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่หลักในด้านฝึกอบรม ศึกษากลวิธีการประมง ซึ่งเหมาะแก่การประมงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ประมงและทำการสำรวจแหล่งทำการประมง และค้นคว้าสมุทรศาสตร์การประมงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการประมงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจัดส่งผลการศึกษาและการวิจัยให้แก่ประเทศสมาชิก ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฯ มีสมาชิกรวม 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า สิงคโปร์ บรูไน และไทย ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาการประมงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีความทันต่อสถานการณ์การแปลี่ยนแปลงในการประกอบอาชีพประมงในปัจจุบัน โดยสามารถนำสัตว์ทะเลมาใช้เป็นอาหารได้เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน ภายใต้การคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืนด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการประมงมาประยุกต์และเผยแพร่ต่อชาวประมงภายในภูมิภาคให้นำไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ



สำหรับงานฝึกอบรม สำนักงานฝ่ายฝึกอบรมมีบทบาทในการจัดฝึกอบรมสำหรับบุคลากรทางการประมงในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการทำประมงอย่างรับผิดชอบ การจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง การจัดการทรัพยากรประมงโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พร้อมกับมีการทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการทำประมงตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งการสาธิตและสังเกตการณ์การทำประมงด้วยเรือฝึกปลาลังในครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในภารกิจการการฝึกอบรมที่สำคัญ โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเรือฝึกปลาลัง ได้ที่ Facebook Page “เรือปลาลัง - ซีฟเดคซึ่งทางศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ที่สนใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าต่อไป  

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เครือเจริญโภคภัณฑ์ มุ่งมั่น "ร้อยเรียงความดี" มอบหน้ากากอนามัย CP หนุนภารกิจ ก.เกษตรฯ มอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนส่งท้ายปี


 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับมอบ หน้ากากอนามัย CP’ จำนวน 100,000 ชิ้น จากมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ โดย นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพื่อส่งต่อความห่วงใยให้แก่พี่น้องประชาชน ได้เข้าถึงอุปกรณ์ในการป้องกันโรคเพื่อสุขภาวะที่ดี ณ อาคารกระทรวงเกษตรฯ



ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมการจัดทำโครงการมอบของขวัญให้แก่เกษตรกรและประชาชน เพื่อแสดงออกถึงไมตรีจิต ความสัมพันธ์ และความร่วมมืออันดีในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรไปพร้อมกันทั้งภาคประชาชน เกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เตรียมของขวัญปีใหม่ให้แก่เกษตรกรและประชาชนไทย โดย ซีพี และซีพีเอฟ ถือเป็นเอกชนรายแรกๆที่เสนอตัวมาร่วมสนับสนุนโครงการให้พี่น้องชาวไทยในทันที โดยนำหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ มามอบแก่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อส่งต่อความสุข และความห่วงใย เป็นของขวัญให้ประชาชนในช่วงปลายปีนี้ ในการนี้ขอชื่นชมและขอขอบคุณในน้ำใจที่มอบให้กับคนไทยมาตลอด

ทางด้าน นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวฯ โดยมอบหน้ากากอนามัย จำนวน 100,000 ชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่เข้าเยี่ยมชมศูนย์ท่องเที่ยวทางการเกษตร ทั้งหมด 31 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของท่านประธานอาวุโส “ธนินท์ เจียรวนนท์” ที่มอบหมายให้กับกลุ่มธุรกิจเข้าไปช่วยเหลือสังคม ภายใต้โครงการ ซีพีร้อยเรียงความดี



จากความห่วงใยที่มีต่อชาวไทยจนถึงวันนี้ เครือซีพีได้มอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) ให้คนไทยทั่วประเทศไปแล้วกว่า 28 ล้านชิ้น นอกจากนั้นยังส่งมอบอาหาร 2 ล้านกล่อง ให้ชุมชนภายใต้โครงการ ครัวปันอิ่ม” 40 จุดทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และล่าสุดยังเดินหน้าโครงการ ซีพี ปันปลูก ฟ้าทะลายโจรภายใต้แนวคิด ร้อยเรียงความดีซีพี 100 ปีด้วยการปลูกและผลิตยาสมุนไพร แจกฟรี 30 ล้านแคปซูล โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร ในการเข้าไปให้ความรู้ตามมาตรฐาน GAP เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาสมุนไพรไทยแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ โดยได้ร่วมกันแจกแล้วในเขตบางพลัดและบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี และเขตดินแดงและห้วยขวาง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสนับสนุนในวันนี้ จะมีส่วนช่วยส่งความสุขให้ประชาชนในช่วงส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ 2565 ที่จะถึงนี้

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...