นายวิศณ์ ประสานพันธ์
หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร สภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า
ช่วงเวลาที่ผ่านมาภาคการเกษตรเผชิญกับสถานการณ์ที่หลากหลายมากตั้งแต่การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา
2019 (covid-19) ที่ขยายลุกลามไปทั่ว ภาวะฝนแล้ง
น้ำท่วม กระทบผลผลิต สินค้าล้นตลาดและขาดรายได้
การดำเนินชีวิตติดขัดยากลำบากแตกต่างกันไป
สภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษได้รับปัญหาต่างๆจากเกษตรกรและเข้าช่วยเหลือ แก้ปัญหา
รวมทั้งหาช่องทางทำการตลาดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ยกตัวอย่างเช่น
เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงอำเภอยางชุมน้อย พื้นที่ปลูกหอมแดงกว่า 250 ไร่ ถูกน้ำจากลำน้ำมูลเอ่อเข้าท่วมเสียหายทั้งหมด
ขณะที่การสำรวจแปลงหอมแดงในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อย พบพื้นที่เสียหายมากกว่า 2,000 ไร่ เกษตรกรขอความช่วยเหลือมาทางสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ
จึงเชิญจังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ พาณิชย์จังหวัด ร่วมปรึกษา รวมทั้ง ‘เชฟเต๋า’ นายสิรพงศ์ สังข์แก้ว วิทยากรชำนาญการ
สาขาการประกอบอาหาร ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ
ว่าน่าจะแปรรูปเป็นกิมจิได้ จึงทดลองทำกิมจิรอบแรก 4
กิโลกรัม ถือว่าผ่าน รอบที่ 2
ในงานช่วยเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงพื้นที่โดนน้ำท่วม โดยเชิญแกนนำกลุ่มมาเรียนรู้การทำกิมจิแล้วปรับรสชาติ
เพิ่มเป็น 40 กิโลกรัม ขายดีขึ้น รอบที่ 3 ทำจำหน่ายในงานตักบาตรของจังหวัด 140 กิโลกรัม
จำหน่ายหมดเลย ภายใต้แบรนด์ ‘กิมจิต้นหอมยางชุมน้อย’
นายวิศณ์ กล่าวต่อไปว่า
หอมแดงศรีสะเกษนั้นขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยเทคนิคการเพาะปลูกของคนในท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมายาวนานจึงทำให้หอมแดงศรีสะเกษมีกลิ่นและรสชาติที่โดดเด่นแตกต่างจากแหล่งปลูกพื้นที่อื่น
กล่าวคือหอมแดงศรีสะเกษมีเปลือกแห้งมัน สีแดงเข้มปนม่วง หัวมีลักษณะกลม มีกลิ่นฉุน
ดินมูลทรายที่เป็นดินตะกอนลุ่มน้ำโบราณลำน้ำมูลและลำน้ำสาขามูลที่ทับถมมานาน
ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์สูง
ประกอบกับเมื่อผสมกับดินโพนหรือดินจอมปลวกจึงทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ กลิ่นหอม
อร่อยและเป็นเอกลักษณ์ ทั้งนี้
หอมแดงศรีสะเกษที่นำมาทำกิมจิควรมีอายุ ประมาณ 30-45 วัน
เกินกว่านี้จำหน่ายเป็นแบบแห้ง ‘กิมจิต้นหอมยางชุมน้อย’
ใช้เวลาหมัก 2 วัน จำหน่ายหน้างานได้เลย
หากเป็นการสั่งซื้อแบบออนไลน์หมัก 1
วันแล้วส่งวันรุ่งขึ้นถึงมือผู้บริโภครสชาติจะพอดีอร่อย ตลาดของ ‘กิมจิต้นหอมยางชุมน้อย’
ตอนนี้รับคำสั่งซื้อในจังหวัดและส่วนหนึ่งจำหน่ายผ่านออนไลน์ไปกรุงเทพ
ปริมาณกล่องละ 200 กรัม ราคา 35 บาท 3 กล่อง 100 บาท และ 300 กรัม
ราคา 59 บาท 2 กล่อง 100 บาท ไม่รวมค่าส่ง
ซึ่งสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษกำลังคิดต่อยอดร่วมกับภาคส่วนพันธมิตรเพราะถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของจังหวัด
ซึ่งก่อนหน้านี้หอมแดงศรีสะเกษก็มีปัญหาล้นตลาด ส่งจำหน่ายไม่ได้ด้วยติดสถานการณ์โควิด-19
จึงจะสร้างมาตรฐานและเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้จำหน่ายหอมแดงเป็นกล่องที่เพิ่มมูลค่าต่อยอดจากการจำหน่ายเป็นกิโลกรัมหรือเป็นตัน
หากสนใจผลิตภัณฑ์ ‘กิมจิต้นหอมยางชุมน้อย’ สามารถสอบถามหรือสั่งซื้อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 08-8714-9714
ขณะที่ ‘กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ไฮเลิง’ เป็นกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรกับสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ
เป็นกลุ่มเลี้ยงกบพันธุ์บูลฟร็อก
ทำหนังสือขอรับความช่วยเหลือเนื่องจากกลุ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด
ทางบริษัทที่รับซื้อกบไม่สามารถเดินทางมารับกบไปจำหน่ายได้ ทำให้กบตกค้างประมาณ 30 ตัน เกษตรกรแบกรับต้นทุนอาหารกบไม่ไหว
สภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษจึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรึกษา ‘เชฟเต๋า’ ด้วยทั้งนี้
เพื่อแนะนำเรื่องการจำหน่าย แปรรูป
การตลาด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งการแปรรูปเริ่มแรกทำแล้วทดลองจำหน่ายในกลุ่มเล็กๆต่อมาทำจำหน่ายในจังหวัดปรากฏว่ายอดสั่งซื้อถือว่าดี
เสียงตอบรับดี รวมทั้งรับคำสั่งซื้อจากนอกพื้นที่รวมทั้งกรุงเทพฯด้วย
โดย นางสุชาดา หินกล้า ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ไฮเลิง เปิดเผยว่า ได้รับความรู้และการแนะนำจากสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ และ ‘เชฟเต๋า’ หลักคือการแปรรูป และจะไม่ทำเหมือนตามตลาดทั่วไปแต่จะแบ่งเป็นชิ้นส่วน มีน่อง ตัว น่องใหญ่ น่องเล็ก กบยัดไส้ กบอั่ว หัวกบทอด อ่อมเครื่องใน และต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็น หนังกบทอดรสจี๊ดจ๊าด รสบาร์บีคิว ขณะที่ขี้กบก็นำไปเลี้ยงหนอนโปรตีนแล้วนำหนอนกลับมาเลี้ยงกบอีกที โดยกบที่นำมาแปรรูปจะมีน้ำหนักประมาณ 3 ขีดกว่าๆ 3-4 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 300 – 400 บาท ถ้าแยกขายเป็นแพ็ค ขากบสด น่องกบสด ราคากิโลกรัมละ 350 บาท , กบสดตัวละ 140 บาท , หนังกบสดกิโลกรัมละ 50 บาท , หนังกบทอดกิโลกรัมละ 250-300 บาท , น่องกบทอด กิโลกรัมละ 300 – 350 บาท ส่งขายซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ งานโอทอป MOBILE พาณิชย์ รวมทั้งรับคำสั่งซื้อแล้วส่งผ่านระบบไปรษณีย์ หากสนใจทดลองรสชาติกบของกลุ่มฯสามารถสั่งซื้อหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ไฮเลิง 08-6277-7055
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น