นายประภัตร โพธสุธน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom Cloud
Meeting ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า
ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก
ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ จำนวนทั้งหมด 7
มาตรฐาน ในปีงบประมาณ 2564 นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 - 31 กันยายน 2564 ได้แก่ 1. หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์
(มกษ.1004-2557) 2. หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ด (มกษ.2507-2559)
3. เมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซิน (มกษ.4702-2557)
4. การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ (มกษ.6401-2557)
5. การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไม
ปลอดโรค (มกษ.7432-2558) 6. การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง
(มกษ.9046-2560) และ7. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่
(มกษ.6909-2562) ซึ่งได้ดำเนินการออกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 332 ฉบับ
โดยแบ่งเป็นใบอนุญาตผู้ผลิต 236 ฉบับ ผู้ส่งออก 88 ฉบับ และผู้นำเข้า 8 ฉบับ
นอกจากนี้
ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 6 เรื่อง ได้แก่ 1.ลูกเดือย 2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค
3.หลักปฏิบัติสำหรับการเฝ้าระวังและตรวจติดตาม
เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในปศุสัตว์ 4.หลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์
: ระบบการผลิตสุกร 5.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล
และ 6.การแสดงฉลากสินค้าเกษตร ทั้งนี้
เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป
ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ
มกอช. กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 6 เรื่อง คือ 1.ลูกเดือย
เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการบริโภค อุตสาหกรรมอาหาร
ตลาดต้องการลูกเดือยคุณภาพดี โดยปี 2563
มีการส่งออกลูกเดือยทั้งเปลือกมูลค่า 102.5 ล้านบาท ปริมาณ 2,035 เมตริกตัน ซึ่งการจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรลูกเดือย
เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำกับดูแลการนำเข้าลูกเดือยและคุณภาพของลูกเดือยภายในประเทศ
2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค
ปัจจุบันเกษตรกรและผู้ประกอบการมีการเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคหลากหลายชนิด
เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการได้เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์
โดยมาตรฐานฯ นี้
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคครอบคลุมองค์ประกอบฟาร์ม
การจัดการฟาร์ม บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ การจับ
และการจัดการตัวสัตว์และผลิตผล สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง
สามารถนำไปใช้เป็นอาหาร หรือเลี้ยงต่อเป็นอาหาร หรือเพื่อให้ได้ผลิตผลที่ ปลอดภัย
มีความเหมาะสมในการนำไปบริโภค
3.หลักปฏิบัติสำหรับการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในปศุสัตว์
มาตรฐานฯ นี้
เป็นการให้แนวปฏิบัติสำหรับการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเฉพาะแบคทีเรียในปศุสัตว์
ที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต
ครอบคลุมการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ในอาหารสัตว์
ผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบระบบการเลี้ยงสัตว์
ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยา
แนวทางการเก็บตัวอย่าง การเก็บและนำส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการ
การเก็บรักษาสภาพแบคทีเรีย การทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพ การบันทึก
และเก็บข้อมูลจนถึงการวิเคราะห์และรายงานผล 4.หลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์
: ระบบการผลิตสุกร มาตรฐานฯ นี้ เป็นการกำหนดหลักการ
คำอธิบายตัวชี้วัดด้านสวัสดิภาพสัตว์สำหรับสุกร
และข้อแนะนำด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีในระบบการผลิตสุกร ครอบคลุมการผสมพันธุ์
การเลี้ยงและการจัดการฟาร์มสุกร ตั้งแต่การรับสุกรเข้าฟาร์มจนถึงระยะจับขายหรือส่งโรงฆ่า
โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์
และให้แนวทางการประเมินสวัสดิภาพสัตว์จากผลลัพธ์ของการจัดการเลี้ยงที่เกิดกับสุกรโดยตรง
5.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล
มกอช. ได้ทบทวนขั้นตอนการจัดทำมาตรฐาน ให้สอดคล้องและเป็นไปตามข้อกำหนดของ Global
Sustainability Seafood Initiatives (GSSI) โดยการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการวิชาการพิจารณาร่างมาตรฐานให้ครอบคลุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีความสมดุล
รวมถึงการทบทวนมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล
(มกษ.7401-2562) ซึ่งครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล
เช่น กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย กุ้งขาวแวนนาไม ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยง การจับ
จนถึงหลังการจับก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม เพื่อให้ได้ผลิตผลกุ้งที่มีคุณภาพดี
ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยคำนึงถึงสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์
ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ 6.การแสดงฉลากสินค้าเกษตร
เนื่องจากความหลากหลายของสินค้า
และกฎระเบียบด้านการแสดงฉลากสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องอาจทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการนำไปปฏิบัติ
ดังนั้น เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับอ้างอิงในการกำหนดการแสดงฉลากของสินค้าเกษตร
คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรจึงเห็นสมควรให้จัดทำมาตรฐานฯ นี้ขึ้น
ซึ่งครอบคลุมการแสดงฉลากของสินค้าเกษตร ทั้งที่เป็นอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร
ที่บรรจุในหีบห่อสำหรับผู้บริโภค
หรืออยู่ในภาชนะบรรจุที่ไม่ได้จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค
แต่ไม่ครอบคลุมการแสดงฉลากของสินค้าเกษตรที่อยู่ในรูปแบบบัลก์ (Bulk) ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่ไม่ได้บรรจุหีบห่อ
และสินค้าเกษตรนั้นสัมผัสโดยตรงกับพื้นผิวสัมผัสของพาหนะที่ใช้ขนส่งสินค้าเกษตรและบรรยากาศ
เช่น สินค้าเกษตรที่บรรทุกในท้ายรถบรรทุกแบบเทกอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น