วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564

เกษตรฯ ตั้งคณะทำงานร่วมขับเคลื่อนพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์สินค้าผลไม้ตอบโจทย์ตลาดนำการผลิต

 


            เกษตรฯ ผนึกพาณิชย์จับมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานร่วมผลักดัน 4 พันธกิจ โดยการสร้างและใช้ข้อมูลฐานเดียวกัน (Single Big Data) สร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ รวมทั้งพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด  


                                                                                                

            นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการย่อย 4 คณะ โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นประธานอนุกรรมการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด มีหน้าที่หลักจัดทำแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าเกษตรนวัตกรรม และสินค้าอื่น ๆ ที่มาจากภาคเกษตรกรรมให้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ มุ่งคำนึงถึงศักยภาพความคุ้มค่าในกระบวนการผลิต การออกแบบและพัฒนาหลักสูตรรวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก เพื่อให้ผลิตสินค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตรงตามความต้องการของตลาด โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและเสนอข้อคิดเห็น พร้อมรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตนั้น ภายใต้คณะอนุกรรมการร่วมฯ ดังกล่าวได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 4 คณะ เพื่อดูแล 4 กลุ่มสินค้าเกษตร ได้แก่ 1. สินค้าข้าว พืชไร่และพืชสวน 2. สินค้าผลไม้ 3. สินค้าปศุสัตว์ และ 4. สินค้าประมง 



            สำหรับคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์สินค้าผลไม้ มีรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะทำงาน คณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย รองประธานสภาอุตสาหกรรมสินค้าเกษตร ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ และผู้แทนจากสถาบันการศึกษา มีหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์สินค้าผลไม้ การแปรรูป รวมทั้งนวัตกรรม พร้อมเสนอแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนในด้านดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป                                                                                  

            ด้านนางอุบล มากอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) และจัดทำยกร่างแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์สินค้าผลไม้ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การพัฒนาศักยภาพของเกษตร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกที่มีการผลิต/ประกอบการผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน มังคุด และลำไย 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน มังคุด และลำไย ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนี้ ต้นน้ำ : พัฒนาศักยภาพและยกระดับเกษตรกรเป็น Smart Farmer, Young Smart Farmer วิสาหกิจชุมชน รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิต มีศูนย์ AIC ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ การจัดทำระบบ GAP ออนไลน์เพื่อง่ายต่อการเข้าถึง เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ กลางน้ำ : พัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกร ผู้รวบรวมคัดแยก/บรรจุผลผลิต/แปรรูป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มีความเข้มแข็งในการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ มีกลไกการบริหารจัดการสินค้าเกษตร มีข้อมูลการเกษตร Single Big Data ที่ทุกภาคส่วนสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันในการบริหารจัดการอุปทานสินค้าเกษตรครบวงจร สามารถจัดเก็บและใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด การจัดชั้นตลาดต่างประเทศ ในประเทศ รวมไปถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ปลายน้ำ : พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบไปสู่ตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวชสำอาง และอื่น ๆ เป็นต้น การขยายช่องทางการตลาดเชื่อมโยงตลาดทุกระดับ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภคในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนา คือ ผลิตภัณฑ์ดี มีคุณภาพ มีรายได้เพิ่มขึ้น ตอบโจทย์และสนองนโยบายตลาดนำการผลิตซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

เกษตรกรหมูเผยภัยแล้งกระทบหนัก ต้องซื้อน้ำใช้ในฟาร์ม-โรคหน้าร้อนซ้ำเติม ส่งผลต้นทุนการเลี้ยงสูง


 

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า สภาพอากาศร้อนจัด และภัยแล้งที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับรายงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ว่าปี 2564 ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤตภัยแล้งหนัก เนื่องจากปริมาณฝนสะสมในปีที่ผ่านมา มีค่าน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 4 ถือเป็นเหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน (2562-2563) ทำให้ฤดูแล้งนี้จะมีน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะในการเลี้ยงสุกรที่ต้องใช้น้ำสำหรับกินและใช้ในกระบวนการเลี้ยงในปริมาณมาก โดยเฉลี่ยพ่อแม่พันธุ์สุกรใช้น้ำวันละ 130 ลิตรต่อตัว สุกรขุนใช้น้ำวันละ 40 ลิตรต่อตัว ทำให้ปริมาณน้ำที่เกษตรกรกักเก็บสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเริ่มไม่เพียงพอ เกษตรกรหลายพื้นที่ต้องซื้อน้ำจากแหล่งอื่นมาให้หมูกิน ใช้ทำความสะอาด และหล่อเลี้ยงระบบทำความเย็นในโรงเรือน เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดน้ำสะอาดและอากาศร้อนจัด



ขณะนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก จนต้องซื้อน้ำจากภายนอกมาใช้ในฟาร์มทุกวัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก จากเดิมต้นทุนการใช้น้ำอยู่ที่ 30 บาทต่อตัว เพิ่มเป็น 300-600 บาทต่อหมูขุน 1 ตัว หรือ 3-6 บาทต่อหมู 1 กิโลกรัม จากเฉลี่ยแล้วหนึ่งเที่ยวราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อน้ำ 1 หมื่นลิตร สำหรับฟาร์มขนาดเล็กต้องใช้น้ำราว 2 เที่ยวต่อวัน ต้นทุนในส่วนนี้จึงเพิ่มขึ้นถึง 6,000 บาทต่อวัน หากเป็นฟาร์มใหญ่ขาดแคลนน้ำมาก ต้นทุนก็จะสูงขึ้นมากขึ้นไปอีก กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับต้นทุนการเลี้ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นายสิทธิพันธ์ กล่าว

นอกจากนี้ฤดูร้อนยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิด โรคกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ หรือ โรค  PRRS ที่ทำให้สุกรแท้งลูกในระยะท้ายของการอุ้มท้อง ส่งผลต่อเนื่องถึงสุกรอนุบาลและสุกรขุนทำให้อัตราเสียหายเพิ่ม และต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น ขณะเดียวกัน เกษตรกรทั่วประเทศยังคงเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรคสำคัญในสุกรทั้ง ASF และ PRRS อย่างเข้มงวด โดยเพิ่มความเข้มข้นของระบบ Biosecurity ในฟาร์ม และเน้นการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ต้นทุนการป้องกันโรคเพิ่มกว่า 200-300 บาทต่อตัว และคาดว่าต้นทุนการเลี้ยงในขณะนี้สูงกว่า ประมาณการต้นทุนการลี้ยงสุกรขุนเฉลี่ยไตรมาส 1/2564 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่คาดว่าอยู่ที่ 77.49 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเฉลี่ยสุกรมีชีวิตตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอยู่ที่ 79-80  บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับเกษตรกรแทบไม่มีกำไรจากการเลี้ยง แต่ยังจำเป็นต้องประคับประคองอาชีพเดียวเอาไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคมีปริมาณสุกรบริโภคอย่างเพียงพอ

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2564

"ทีมพลังรักษ์สหกรณ์" ชูนโยบาย 8 ระบบ เดินหน้าสร้างสหกรณ์สมาชิกเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตสมาชิก ยืนบนขาตัวเองได


 

เมื่อวันที่ 25  มี.ค. ทีมพลังรักษ์สหกรณ์ นำโดยนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม พร้อมด้วย                     พล.ต.ท.วิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล และผู้สมัครในนามทีมพลังรักษ์สหกรณ์ ร่วมแถลงนโยบายลงสมัครเลือกตั้งประธาน และคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยจำกัด (ชสอ.) ณ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ



นายปรเมศวร์ กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมากระบวนการสหกรณ์ประสบปัญหามากมาย ทำให้สหกรณ์ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ทีมเราจึงต้องการไปพัฒนา ชสอ. เพื่อไปสร้างสหกรณ์สมาชิกให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาสมาชิก เพราะสมาชิกของเราเป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจ วันนี้สหกรณ์ออมทรัพย์มีสมาชิกเป็นล้านล้าน จะต้องทำอย่างไรให้สมาชิกเข้มแข็ง ทั้งนี้ ทีมทั้งหมดคิดว่าสหกรณ์ไม่ได้บริหารงานเงินแต่บริหารชีวิตของสมาชิกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถยืนบนขาตัวเองได้ รวมทั้งมีคนของเรารวมอยู่ในคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) มีแรงที่จะไปผลักดันสร้างเศรษฐกิจฐานรากทั้งภาคการเกษตร และนอกการเกษตรให้เดินต่อไปได้

นอกจากนี้ เรายังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานช่วยในการสร้างสหกรณ์ให้กับแรงงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ ชสอ. และสสท. ส่งเสริมให้สมาชิกที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการได้มีสวัสดิการที่ดีขึ้น วันนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องนำกระบวนการสหกรณ์เดินหน้าไปให้ได้ คนที่อยู่ในทีมของเราได้มีการคัดสรรมาแล้ว เช่น ตัวแทนจากสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุข สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ เพราะมีการจัดสวัสดิการถือเป็นต้นแบบที่ดีที่จะเป็นแบบอย่างให้กับสหกรณ์ประเภทอื่นๆ รวมทั้งยังมีตัวแทนของครูที่จะมาร่วมแก้วิกฤตของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งเรามีครบทุกฝ่าย โดยกรรมการชุดนี้อาสาสมัครเพื่อพัฒนาชุมชนคนฐานรากของประเทศไทย จึงอยากฝากทีมพลังรักษ์สหกรณ์เพื่อให้สหกรณ์เดินได้ เศรษฐกิจสหกรณ์เดินได้

ด้าน พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า ในฐานที่ตนเป็นประธานคณะกรรรมการ ชสอ. มา 2 ปี ผลงานที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันเรื่องกฎกระทรวง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อขบวนการสหกรณ์ รวมทั้งมีการต่อสู้ในเรื่องของเงินกู้การบินไทย ซึ่งมี 87 สหกรณ์ ถือหุ้นอยู่ประมาน 47,000 ล้านบาท ต่อสู้เพื่อไม่ให้มีการตัดหนี้สหกรณ์ออก เงินทุกบาทต้องอยู่ครบ ในปีนี้มีการบริหารงานภายใต้วิกฤตโควิด-19 และเศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็สามารถทำกำไรได้มากมาย โดยการบริหารงานของทีมพลังรักษ์สหกรณ์ อย่างไรก็ตาม ตนคนเดียวทำไม่ได้ แต่ที่ทำได้คือความร่วมมือจากทีมเดียวกันที่เป็นทีมสามารถบริหารงานโดยไม่มีอุปสรรคปัญหา ฉะนั้นทีมเราขอเสนอตัวเป็นผู้แทนโดยได้มีการคัดเลือกผู้สมัครที่มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นขอให้เชื่อใจทีมพลังรักษ์สหกรณ์เพื่อสานงานเก่า ก่องานใหม่ ตั้งใจพัฒนา สหกรณ์สมาชิกให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน



ขณะที่ ดร.มะณู บุญศรีมณีชัย ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขหนองคายจำกัด และผู้สมัครเลือกตั้งประธาน ชสอ. กล่าวว่า ทีมพลังรักษ์สหกรณ์มีนโยบายที่จะสานงานต่อ ก่องานใหม่ ตั้งใจพัฒนาภายใต้นโยบาย 8 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบการบริหารจัดการ ชสอ.ต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินของกระบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้การแข่งขันกับสถาบันการเงินอื่นนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นคง และยั่งยืน 2.ระบบสวัสดิการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดสวัสดิการของสหกรณ์สมาชิก เพื่อสร้างความมั่นคงของสมาชิกสหกรณ์ 3.ระบบพัฒนาบุคลาการ โดยพัฒนาสถาบันและพัฒนาบุคลาการออมทรัพย์เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาคนเข้าสู่กระบวนการสหกรณ์ 4.ระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม มีการจัดสรรและกระจายงบลงสู่พื้นที่อย่างเพียงพอและเป็นธรรม ส่งเสริมให้เขตพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาตามบริบทของพื้นที่ พร้อมเปิดพื้นที่สะท้อนและรับฟังความคิดเห็นของสหกรณ์สมาชิกในรูปแบบสภาที่ปรึกษา 5.ระบบการออม ส่งเสริมการออมแก่กระบวนสหกรณ์พร้อมผลักดันให้การออมเป็นวาระแห่งปี 6.ระบบสินเชื่อ ให้มีจัดระบบสินเชื่อให้มีความหลากหลาย และสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม 7.ระบบการลงทุน บริหารการลงทุนของ ชสอ.อย่างมืออาชีพเพื่อสร้างความมั่นคงและรักษาสภาพคล่องทางการเงินที่สมดุล ในรูปแบบสมาคมนักลงทุนในกระบวนการสหกรณ์ และ8.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ยกระดับ ชสอ.เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาระบบไอที และศูนย์ข้อมูลกลางในรูปแบบบิ๊กดาต้าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้เป็นสารสนเทศ MIS 3



เป้าหมายของทีมพลังรักษ์สหกรณ์ คือการพัฒนาให้สหกรณ์สมาชิกที่มีศักยภาพเป็นมืออาชีพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีประมาน 3.3 ล้านล้านคน ที่ดีขึ้นดร.มะณู  กล่าว

ซีพีเอฟ ยึดแนวทาง "ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ" ใช้ข้าวโพดระบุที่ปลูกถูกต้อง 100% พร้อมส่งเสริมเกษตรกร เติบโตไปด้วยกัน



        บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นใส่ใจการผลิตอาหารด้วยความรับผิดชอบทุกขั้นตอน เน้นสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างโปร่งใส ยืนยันใช้วัตถุดิบข้าวโพดจากแหล่งผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  พร้อมช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตด้วยการปลูกแบบถูกวิธี มีรายได้มั่นคง ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจสร้างความยั่งยืน ทุกฝ่ายเติบโตไปด้วยกัน



       ซีพีเอฟ โดย บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเติบโตไปด้วยกัน ตามนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน โดย ซีพีเอฟ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคู่ค้าในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร โดยสามารถระบุพื้นที่เพาะปลูกได้ตามเอกสารสิทธิ์ครบถ้วน 100% แล้ว ตามแนวทาง “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ขณะเดียวกันร่วมพัฒนาเกษตรกรในห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เติบโตไปด้วยกัน เป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนห่วงโซ่การผลิตอาหารมั่นคง  



        นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2559 ซีพีเอฟได้ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งปลูกได้ (Corn Traceability) เพื่อระบุผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ซื้อต้องไม่ได้มาจากแหล่งปลูกพื้นที่ป่า และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ล่าสุดบริษัทฯ ร่วมมือจากคู่ค้าธุรกิจและผู้รวบรวมข้าวโพดในการติดตั้งระบบ GPS Tracking เพื่อใช้ในการติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ (real time) ในการขนส่งข้าวโพดเข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์ซีพีเอฟในเขตประเทศไทยได้ครบ 100% อีกด้วย  



        นอกจากนี้ กรุงเทพโปรดิ๊วส์ยังได้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับไปขยายผลในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซีพี เมียนมา บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ประกาศรับซื้อผลผลิตข้าวโพดในเขตประเทศเมียนมา จากแหล่งผลิตที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องภายใต้ระบบตรวจสอบย้อนกลับเท่านั้น โดยเกษตรกรในเขตประเทศเมียนมาร่วมลงชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานการรับซื้อจากแหล่งผลผลิตข้าวโพดที่มีเอกสารสิทธิ์ และเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจัดการปัญหาหมอกควัน

       ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังเดินหน้าส่งเสริมพันธมิตรในห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งคู่ค้าธุรกิจ และ เกษตรกรเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน โดยริเริ่มโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทยเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญของบริษัทให้คำแนะนำใกล้ชิด ควบคู่กับการบริหารจัดการแบบเกษตรแปลงใหญ่ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ Chat bot ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลราคารับซื้อผลผลิตหน้าโรงงานได้ทุกวัน และข้อมูลรถเก็บเกี่ยวและรถขนส่งในชุมชน สนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดต้นทุนการผลิต

       ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม บริษัทเพิ่มจุดรับซื้อผลผลิตที่ได้มาตรฐานในชุมชนให้อยู่ใกล้พื้นที่ปลูกเกษตรกร เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร ประหยัดค่าขนส่ง ช่วยเกษตรกรได้รับรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยบริษัทช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวและการขนส่งเพื่อนำผลผลิตมาจำหน่ายที่จุดรับซื้อ

 

ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดด้วยความรับผิดชอบ 9,554 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 241,220 ไร่ โดยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ในปี 2563 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเทียบกับ 909 กิโลกรัมต่อไร่ของเกษตรกรนอกโครงการฯ ช่วยให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 29,628 บาทต่อครัวเรือน

       ภายใต้นโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟมุ่งมั่นจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง กากถั่วเหลือง และปลาป่นที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้อย่างครบถ้วน เพื่อสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรทางธรรมชาติ และร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564

จินดาสมุนไพร ดันผลิตภัณฑ์จากใบหมี่ลุยตลาดออนไลน์



      สถานการณ์จากโรคระบาดโควิด-19 ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่อีกนาน ผู้ประกอบการต่างๆมีการปรับกลยุทธ์ช่องทางการตลาดกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ ช่องทางการตลาดสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆเดินต่อไปได้ จินดาสมุนไพร เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ต้องฝ่าวิกฤตโควิด-19 นี้ไปให้ได้ พร้อมลุยตลาดออนไลน์ทุกรูปแบบ



      นายไชยกร นิธิคณาวุฒิ ประธานกรรมการบริษัทจินดาสมุนไพร จำกัด กล่าวว่า จินดาสมุนไพร เป็นอีกหนึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะร้านค้าตัวแทนจำหน่ายที่เป็นร้านสมุนไพรในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่มีมากกว่า 70% ทำให้การสั่งซื้อสินค้าต้องหยุดชะงักลง รวมถึงตลาดต่างประเทศที่หยุดการสั่งซื้อสินค้าชั่วคราว ทำให้จินดาสมุนไพร มองหาช่องทางตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดออนไลน์ อย่าง ลาซาด้า ตลาดใหญ่ที่รวมผลิตภัณฑ์จินดาสมุนไพรครบทุกผลิตภัณฑ์ไว้ในทีเดียว เซเว่นออนไลน์ รวมถึงช่องทางเพจเฟสบุ้ค : จินดาสมุนไพร ใส่ใจดูแลเส้นผม ที่เป็นช่องทางติดต่อสอบถามผลิตภัณฑ์ และสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าได้ช้อปปิ้งง่ายๆแค่ปลายนิ้วคลิก 




     “ตลาดออนไลน์ เป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 หลายคนเลือกที่จะทำงานอยู่กับบ้าน การซื้อของออนไลน์ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี จินดาสมุนไพร มีผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมอย่างแชมพู ครีมนวด เซรั่ม ทรีทเม้นต์บำรุงเส้นผม มีวัตถุดิบหลักอย่างใบหมี่สดและพืชสมุนไพรอื่นๆ ช่วยให้เส้นผมนุ่ม สลวย ลดการหลุดร่วง  รวมถึงยังผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างอื่นเช่น สบู่สมุนไพร ยาหม่องเหลืองสมุนไพร ยาสีฟันสมุนไพร ให้ลูกค้าได้เลือกสรรกันอย่างสะดวก” คุณไชยกร  กล่าว



      ตลาดออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางการตลาดในยุคนี้ ที่หลายผลิตภัณฑ์พุ่งเป้ามาโดยเฉพาะ เป็นช่องทางที่ง่ายสะดวกและเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น สนใจผลิตภัณฑ์จินดาสมุนไพรหรือสนใจเป็นตัวแทนจำหน่าย สอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 0041417 , 02 987 1389-90,086 3442269 ,086 3442071

 

วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564

มกอช. นำทีมร่วมประชุมเวที ACHPFS เลือกไทยเจ้าภาพหลักปรับประสานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร จัดทำมาตรฐานเฉพาะสำหรับวัสดุสัมผัสอาหาร นำร่องเซรามิก


 

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นางสาวเมทนี สุคนธรักษ์ ที่ปรึกษาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นำคณะทำงานประกอบด้วย นางอรทัย ศิลปะนภาพร,นางอุษา บำรุงพืช ที่ปรึกษา มกอช. นางสาวยุพา เหล่าจินดาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักกำหนดมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ มกอช. และคณะทำงานจากตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม Joint Sectoral Committee on MRA for Inspection and Certification Systems on Food Hygiene for Prepared Foodstuff Products (JSC MRA on PF) ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคม 2564 การประชุม ASEAN Committee on Harmonisation of Prepared Foodstuff Standards (ACHPFS) ครั้งที่ 3 ในวันที่ 18-19 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และการประชุม Prepared Foodstuffs Product Working Group (PFPWG) ครั้งที่ 32 ในวันที่ 29-30 มีนาคม 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนด การปรับประสานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร ของอาเซียนสำหรับวัตถุเจือปนอาหาร สารปนเปื้อน ฉลากโภชนาการ วัสดุสัมผัสอาหาร พิจารณาการดำเนินงานภายใต้ความตกลงยอมรับร่วมอาเซียนสาขาผลิตภัณฑ์อาหาร (ASEAN MRA on PF) และการระบุถึงความช่วยเหลือทางเทคนิคและขีดความสามารถในการสนับสนุนการทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป



มกอช. ได้นำเสนอความคืบหน้าของการสนับสนุนจากโครงการการสนับสนุนด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรปเพิ่มเติม (ASEAN Regional Integration Support from The EU; ARISE Plus) ในการจัดทำมาตรการเฉพาะ (specific measures) สำหรับวัสดุสัมผัสอาหาร โดยที่ประชุมได้คัดเลือกให้อาเซียนเริ่มจัดทำมาตรการเฉพาะสำหรับเซรามิกก่อนเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการปรับประสานในเรื่องดังกล่าว



นอกจากนี้ JSC MRA on PF ได้คัดเลือกผู้แทนจากประเทศบรูไนดารุสซาลาม 2 คน ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญของอาเซียนที่จะทำหน้าที่ตรวจประเมินความสอดคล้องของระบบการตรวจสอบและการให้การรับรองด้านสุขลักษณะอาหารสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้ ASEAN MRA on PF เพิ่มเติมจากที่เคยได้คัดเลือกผู้แทนประเทศไทยจากกรมประมง กรมปศุสัตว์ อย. และ มกอช. รวม 4 คนเลขาธิการ มกอช. กล่าว

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564

กรมประมง...เดินหน้า “โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลา” เน้นชุมชนมีส่วนร่วม จัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด


                 กรมประมง...ย้ำชัดพร้อมขับเคลื่อน โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลาหนุนแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสัตว์น้ำ โดยเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อบริหารทรัพยากรประมงให้มีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด



            นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ว่า ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทยซึ่งมีขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช มีสภาพทางระบบนิเวศวิทยาและพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลาย เนื่องจากมีต้นน้ำลำคลองหลายสายไหลมาบรรจบกันและเชื่อมต่อสู่ทะเลอ่าวไทย แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำเริ่มเสื่อมโทรมลงจากปัญหาการทำประมงที่เกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ และขาดการบริหารจัดการ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งฟื้นฟูเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากร กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลาขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนต่อภาคการเกษตร โดยอาศัยการบูรณาการจากชุมชนประมงท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ




ซึ่งโครงการดังกล่าว มีการดำเนินงานแบ่งเป็น 6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการพัฒนาฟาร์มสัตว์น้ำชุมชน กิจกรรมการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กิจกรรมการควบคุมการทำประมงในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา กิจกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กิจกรรมการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ และกิจกรรมการเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งผลการดำเนินโครงการฯ ปี 2563 ได้มีการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยในกิจกรรมบูรณาการฟาร์มทะเลโดยชุมชนเพื่อการฟื้นฟูทะเลสาบ จำนวน 52.09 ล้านตัว มีการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพื่อปล่อยอีกกว่า 2.37 ล้านตัว และผลการสำรวจสภาวะทรัพยากรและประเมินผลผลิตสัตว์น้ำรอบทะเลสาบสงขลา ปี 2563 มีปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้รวมทั้งสิ้นกว่า 2,774.7 ตัน



            สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ รองอธิบดีกรมประมงยังได้เข้าเยี่ยมองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) ม.1 ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประกวดชุมชนประมงดีเด่น ภายใต้โครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนประมง ประจำปี 2563 ของกองตรวจการประมง กรมประมง โดยกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) เป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ภายใต้โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลา

            นายหมัดอุเส็น สนเส็ม ประธานกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 จากปัญหาการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำที่ส่งผลให้รายได้ชาวบ้านลดลง มีหลักการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1. ด้านการปกป้องพื้นที่เพื่ออนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นที่อาศัยหลบภัยของสัตว์น้ำ 2. ด้านการฟื้นฟู อาทิ ติดตั้งซั้งบ้านปลา ปลูกต้นโกงกาง เพาะฟักปลาขี้ตัง ปูดำ ปูม้า เป็นต้น และ 3. ด้านการส่งเสริมต่อยอดองค์ความรู้ ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้จำนวนปลากดขี้ลิง ทรัพยากรสัตว์น้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์มีการเพิ่มปริมาณมากขึ้นหลายเท่าตัว จนทำให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกและประชาสัมพันธ์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยทางกรมประมงได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ต่าง ๆ และเพิ่มศักยภาพให้กับทางกลุ่มฯ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นการบูรณาการชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน



            สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการฯ ในปี 2564 นั้น ยังคงมุ่งเน้นการฟื้นฟูทรัพยากรประมงโดยชุมชนมีส่วนร่วม มีการดำเนินกิจกรรมด้านการฟื้นฟูทรัพยากรประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มผลผลิตและคงความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา โดยมีแผนการดำเนินงานผลิตปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 53 ล้านตัว และเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อีกกว่า 2 ล้านตัว

            รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า จากการตรวจติดตามโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลาครั้งนี้ เชื่อมั่นว่า โครงการฯ มีความพร้อมและศักยภาพมากพอที่จะฟื้นฟูทรัพยากรประมง สามารถเพิ่มผลผลิตและคงความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา สร้างรายได้ให้กับชาวประมง เป็นแหล่งอาหารของชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา ตลอดจนชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรประมงได้อย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด

วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2564

CPF คว้า 2 รางวัล IAA Awards CEO และ CFO ยอดเยี่ยมกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

 


       นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบรางวัล IAA Awards for Listed Companies 2020 ประเภท รางวัล CEO ยอดเยี่ยมกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2020 แก่ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ ประเภทรางวัล CFO ยอดเยี่ยมกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2020 แก่ นายไพศาล จิระกิจเจริญ ประธานผู้บริหารฝ่ายการเงิน ซีพีเอฟ โดยมี ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และ นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ร่วมแสดงความยินดี ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก  




        รางวัลดังกล่าวเป็นความร่วมมือของนักวิเคราะห์การลงทุนในการเสนอชื่อและให้คะแนนแก่ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน โดยเป็นการลงคะแนนเสียงจากนักวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งพิจารณาจากความรู้ความสามารถในการบริหารของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ที่นำพาให้องค์กรประสบความสำเร็จ และเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการมีบรรษัทภิบาลในการดำเนินธุรกิจและการให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น ตลอดจนมีการนำเสนอและให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอในเชิงลึก ตรงประเด็น มีคุณภาพ ชัดเจน และถูกต้องครบถ้วน นับเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย./

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

ม.สงขลานครินทร์ และ ซีพีเอฟ จับมือเดินหน้าหนุนวิชาการเกษตรครบวงจร มุ่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรให้ประเทศ

  


        นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีลงนาม “โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร” ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านการเกษตรครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มุ่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจภาคเกษตร (Young  Agribusiness Entrepreneurs) โดยมี ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มอ.  และ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เป็นผู้ลงนาม  พร้อมด้วย นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ กรรมการสภา มอ. นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และ นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ ร่วมด้วย ณ อาคารทรู ทาวเวอร์ ถ.รัชดาภิเษก

        ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความเชี่ยวชาญในการผลิตบัณฑิตคุณภาพของภาคเกษตร และมีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อยกระดับความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ให้นักศึกษามาโดยตลอด ครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของโลกอย่างซีพีเอฟ ได้ร่วมสนับสนุนงานด้านวิชาการและงานวิจัย ส่งทั้งบุคลากรของบริษัทเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน ตลอดจนมีสถานที่จริงให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ได้จริงและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมาก  



       “โครงการความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัย ด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และซีพีเอฟ เป็นการยกระดับการศึกษาของไทยโดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจริง ประสบการณ์จริงของภาคธุรกิจ มาถ่ายทอดผ่านการเรียนการสอนและการลงมือปฏิบัติของนักศึกษา มั่นใจว่าทุกคนที่ผ่านโครงการนี้จะมีความพร้อมก้าวสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประกอบการภาคเกษตรได้”  ผศ.ดร.นิวัติกล่าว



        การลงนามครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นระบบ โดยมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้หลักช่วยส่งเสริมการสร้างศักยภาพเยาวชน เน้นการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญา ในการสร้างฐานทางเศรษฐกิจ  โดยบูรณาการความรู้เชิงปฏิบัติ ซึ่งความร่วมมือกับซีพีเอฟ เป็นก้าวที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ในการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ สร้างเครือข่ายความร่วมมือนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ของประเทศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ตอกย้ำจุดที่มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นดำเนินมาตลอดคือ เรื่อง food security job security และ health security ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าและเข้มแข็ง

       ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟเป็นบริษัทผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีห่วงโซ่การผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่ Feed-Farm-Food ไปจนถึง Retail โดยมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็น “ครัวของโลก” และมีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทย โดยล่าสุด ได้ร่วมมือกับภาคการศึกษาที่มีความแข็งแกร่งในด้านเกษตรครบวงจรเช่นเดียวกันอย่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ในการร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งด้านนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเชิงเกษตร ด้านการวิจัยพัฒนาในทุกส่วนงานของธุรกิจเกษตรครบวงจร ทั้ง Feed- Farm และ Food ครอบคลุมทั้งสัตว์บกและสัตวน้ำ ตลอดจนพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไปจนถึงการเพิ่มพูนทักษะการเป็นเจ้าของกิจการด้านการเกษตร หรือ Young Agribusiness Entrepreneurs ทั้งนี้เพื่อมุ่งสร้างเยาวชนภาคเกษตรตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และการบ่มเพาะความพร้อมในการเป็นเจ้าของกิจการภาคเกษตรของเยาวชน  

        “ซีพีเอฟ เป็น Good Corporate Citizen ดำเนินธุรกิจด้วยปรัชญา 3 ประโยชน์ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เรานำประสบการณ์จริง ความเชี่ยวชาญจริง มาถ่ายทอดสู่นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในสายทีสนใจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร เพื่อประโยชน์ในการร่วมพัฒนาการศึกษาและสร้างเยาวชนคุณภาพตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมเกษตรให้แก่ประเทศของเรา” นายประสิทธิ์กล่าว  

        โครงการดังกล่าวมีการออกแบบกรอบการทำงานและจัดตั้งคณะทำงาน หรือ Work Stream อย่างเป็นระบบใน 3 ด้าน คือ1.) ด้านการพัฒนาหลักสูตร โดยออกแบบหลักสูตรรูปแบบใหม่ชื่อ Young Agri-business Entrepreneurs ซึ่งนักศึกษาจะได้รับการเรียนรู้จากผู้ชำนาญการในแต่ละด้านของซีพีเอฟ 2.) ด้านการพัฒนาการวิจัย โดยต่อยอดจากการวิจัย จัดทำโครงการต่อเนื่องในด้านอาหารและอาหารสัตว์ เช่น โครงการไก่เบตงครบวงจร แพะเนื้อ แพะนม ข้าวโพด ทุเรียน มังคุด และกาแฟ เป็นต้น และ 3.) ด้านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการ CPF in your Area ที่นำโมเดลธุรกิจห้าดาวให้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ภายในรั้วมหาวิทยาลัย และ การจัด Alumni Panelist เพื่อนำผู้บริหารซีพีเอฟที่เป็นศิษย์เก่าร่วมให้ความรู้ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา ตลอดจน การจัดวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อต่างๆที่เป็นความเชี่ยวชาญของซีพีเอฟ เช่น ด้านเทคโนโลยีอาหาร เทคโนโลยีการเกษตร วิศวกรรม ไอที และ ด้านธุรกิจ./

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2564

มกอช.หนุนเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ติดสติกเกอร์ Organic Thailand ที่ตัวผลิตภัณฑ์ สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้สินค้าอินทรีย์แท้ 100%


 

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2564 และพิธีมอบป้ายสัญลักษณ์และสติกเกอร์เครื่องหมายรับรองสินค้าเกษตรให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน โดยมีนายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ มกอช. คณะผู้บริหาร  และผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 45 ราย เข้าร่วมในงานดังกล่าว ณ ห้องประชุม มกอช.



นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า การจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP พืชอาหาร (มกษ.9001-2556) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000 เล่ม 1) และมาตรฐานหลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร GMP (มกษ.9023-2550) ให้สามารถใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q และ Organic Thailand ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเครื่องหมายสัญลักษณ์ดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าได้เป็นอย่างดี




นอกจากนี้ มกอช. ยังได้ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ดีจีทีฟาร์ม (DGT Farm) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม ที่ จัดทำขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการโดยการขยายทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งให้ผู้บริโภคสามารถตามสอบแหล่งที่มาของผลผลิตได้โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดระบบตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (Qr trace) โดยเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา มกอช.มีการขับเคลื่อนด้านการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรหลายด้าน อาทิ การส่งเสริมให้คำปรึกษาในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้า โดยมีการสร้างพี่เลี้ยง (Q อาสา และ Organic อาสา) คอยให้คำแนะนำสนับสนุนทั้งความรู้ เทคโนโลยี จัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับส่งเสริมด้านการตลาด ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ สร้างการรับรู้ในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานต้องมีตราสัญลักษณ์ Q หรือ Organic Thailand เท่านั้น



ในโอกาสนี้ เลขาธิการ มกอช.และคณะยังได้ลงพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนเราเกษตรอินทรีย์ หนองเสือ ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นต้นแบบในการปฏิบัติมาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000 เล่ม 1) และมีผลตรวจสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรปลอดภัยตามที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งสามารถแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนเราเกษตรอินทรีย์ พบว่ากลุ่มนี้มีสมาชิกทั้งหมด 12 ราย มีจำนวน 2 รายที่ผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร สามารถใช้เครื่องหมาย Organic Thailand ติดกับตัวผลิตภัณฑ์ได้แล้ว ที่เหลืออีก 10 ราย มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP สามารถใช้เครื่องหมาย Q ได้ ทั้งนี้ คาดว่าในระยะเวลาอันใกล้สมาชิกทั้งหมดจะสามารถปรับเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ครบ 100% ซึ่ง วันนี้ มกอช.ได้นำป้ายรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และสติกเกอร์ Organic Thailand มามอบให้กับเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐาน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคและตลาดทราบว่าผู้ผลิตรายนี้ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งข้าว พืชผัก ผลไม้ที่ติดสติกเกอร์ Organic Thailand เป็นผลิตผลอินทรีย์แท้ๆ ที่ผ่านมาตรฐานตามหลักสากล มีคุณภาพ ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

พลังรักษ์สหกรณ์ พร้อมยืนหยัดเคียงข้าง สหกรณ์สมาชิก เข้าพบ อธิบดีแก้ปัญหากฎกระทรวง



      ดร. มะณู บุญศรีมณีชัย นายกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขไทย กล่าวในนามผู้ ลงสมัครประธานชสอ.และตัวแทนทีมพลังรักษ์สหกรณ์ว่าตนพร้อมจะสานงานต่อ ก่องานใหม่ สนองเจตนารมณ์ ในการ ช่วยเหลือสหกรณ์สมาชิก ผลักดันกฎกระทรวง ให้สหกรณ์ออมทรัพย์เดินหน้า ดำเนินงาน บริหารจัดการต่อไปได้ โดยล่าสุด ได้นำทีม เข้าพบอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ เพื่อหารือ ประเด็นขอแก้ไขกฎกระทรวง 5 ฉบับที่ส่งผลกระทบต่อสหกรณ์เป็นอย่างมาก โดยเบื้องต้นกรมส่งเสริมสหกรณ์รับปากจะช่วยแก้ไขปัญหา ตามข้อเรียกร้อง และรับทราบถึงปัญหาต่างๆที่สหกรณ์ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ทีมพลังรักษ์สหกรณ์ มีความตั้งใจ และมุ่งมั่น ในการช่วยเหลือพี่น้อง สหกรณ์ออมทรัพย์ 



       นายมนู บุญศรีมณีชัย กล่าวว่า ขอให้มั่นใจสามารถนำพา ชสอ. เป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกได้อย่างแน่นอน ขอให้เชื่อใจเชื่อมั่นและศรัทธาในทีมพลังรักษ์สหกรณ์ เราพร้อมจะเป็นปากเสียงให้กับสหกรณ์สมาชิก และยินดีผลักดันแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆของสหกรณ์ อย่างแน่นอน

เกษตรกรเลี้ยงไก่ ขอบคุณกรมการค้าภายใน ดันไข่ธงฟ้า-ส่งออกไข่ ช่วยสร้างเสถียรภาพราคา ก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน



        นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 เดือน นับจากเดือนธันวาคม 2563 ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ตลาด ร้านค้า ร้านอาหารบางแห่งต้องปิดทำการ ตลอดจนการประกาศหยุดการเรียนการสอน การท่องเที่ยวกลับมาหยุดชะงักอีกครั้ง ซึ่งในภาวะปกตินั้นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมีการบริโภคไข่ไก่ถึงวันละ 2 ล้านฟอง ส่งผลให้การบริโภคลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากปริมาณผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ยวันละ 42 ล้านฟอง แต่มีการบริโภคเพียงวันละ 38 ล้านฟอง ทำให้มีผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกินถึงวันละ 4 ล้านฟอง ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง   


                                       

        ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน เร่งออกมาตรการแก้ปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ ด้วยการจัด “โครงการไข่ไก่ธงฟ้าลดราคาเพื่อประชาชน” ภายในปั๊มน้ำมันพีทีที สเตชั่น และบางจาก ที่ดำเนินการจบไปแล้วเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ช่วยระบายไข่ไก่สดตามเป้าหมาย 20 ล้านฟอง ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ประกอบกับคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมีมติให้กรมการค้าภายในดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพไข่ไก่ ปี 2564 ดำเนินการเร่งผลักดันไข่ไก่ 200 ล้านฟอง ออกสู่ตลาดต่างประเทศอย่างเร่งด่วน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการส่งออก จำนวน 100 ล้านฟองแรก ในราคาฟองละ 50 สตางค์ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 51 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จากการดำเนินการที่ต่อเนื่องและทันท่วงทีนี้ จะสามารถระบายไข่ไก่ออกจากระบบและพยุงราคาไข่ไก่ไม่ให้ตกต่ำจนเกษตรกรไม่สามารถรับภาระการขาดทุนได้ ทั้งนี้ การส่งออกไข่ไก่ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากภาวะจำเป็นที่ไทยต้องเร่งระบายผลผลิตส่วนเกินให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ภายในประเทศ โดยผู้ส่งออกต้องยอมส่งไข่ในราคาขาดทุน ทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง 

        “เกษตกรขอขอบคุณกรมการค้าภายในที่เห็นถึงทุกข์ของเกษตรกร และยื่นมือเข้ามาช่วย ทั้งการจัดโครงการไข่ไก่ธงฟ้าฯ และการเร่งส่งออกไขไก่ โดยพิจาราณาสนับสนุนเงินชดเชยเพื่อกิจกรรมนี้ เพราะการส่งออกนั้นไม่ใช่การสร้างผลกำไรให้ผู้ส่งออก แต่เป็นการขายขาดทุนฟองละ 40-50 สตางค์ เพื่อแข่งขันราคากับทั้งจีนและสหรัฐที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ที่ผ่านมาจึงไม่มีใครอยากส่งออกไข่ การส่งออกจึงถือเป็นการเสียสละเพื่อพี่น้องเกษตรกรและอุตสาหกรรมไข่ไก่ทั้งระบบ” นายสุเทพ กล่าว



        ด้าน นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรอยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งไปถึงฟองละ 2.69 บาทแล้ว และมีแนวโน้มต้นทุนสูงขึ้นอีกจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง มันสัมปะหลัง นอกจากนี้เกษตรกรหลายรายต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการซื้อน้ำสำหรับใช้ภายในฟาร์ม กลายเป็นต้นทุนที่จำต้องแบกรับเพิ่มขึ้นถึง 10-20 สตางค์ต่อฟอง 

       “ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้งประเทศ ขอขอบคุณเอ้กบอร์ด กรมการค้าภายใน และผู้ประกอบการส่งออกที่ร่วมมือกันทำเพื่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมไข่ไก่ของไทย ขอให้ภาคเอกชนที่มีกำลังพอที่จะช่วยผลักดันการส่งออกได้อีก ให้มาช่วยกันเร่งระบายผลผลิตไข่ไปยังต่างประเทศ ให้เกษตรกรได้พอลืมตาอ้าปาก และผ่านพ้นวิกฤตทั้งโควิดและปัญหาราคาตอกต่ำไปได้” นางพเยาว์ กล่าว

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...