กรมประมง...ย้ำชัดพร้อมขับเคลื่อน “โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลา” หนุนแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสัตว์น้ำ โดยเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อบริหารทรัพยากรประมงให้มีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด
นายเฉลิมชัย
สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง
เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลาเมื่อต้นเดือนมีนาคม
2564 ที่ผ่านมา ว่า “ทะเลสาบสงขลา”
เป็นทะเลสาบธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทยซึ่งมีขนาดใหญ่
ครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา พัทลุง
และนครศรีธรรมราช มีสภาพทางระบบนิเวศวิทยาและพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลาย
เนื่องจากมีต้นน้ำลำคลองหลายสายไหลมาบรรจบกันและเชื่อมต่อสู่ทะเลอ่าวไทย
แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำเริ่มเสื่อมโทรมลงจากปัญหาการทำประมงที่เกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ
และขาดการบริหารจัดการ
จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งฟื้นฟูเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากร
กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลาขึ้น
เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
และสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ
ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่เน้นย้ำความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนต่อภาคการเกษตร
โดยอาศัยการบูรณาการจากชุมชนประมงท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ
ซึ่งโครงการดังกล่าว มีการดำเนินงานแบ่งเป็น
6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการพัฒนาฟาร์มสัตว์น้ำชุมชน
กิจกรรมการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
กิจกรรมการควบคุมการทำประมงในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา
กิจกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กิจกรรมการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ
และกิจกรรมการเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
ซึ่งผลการดำเนินโครงการฯ ปี 2563
ได้มีการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยในกิจกรรมบูรณาการฟาร์มทะเลโดยชุมชนเพื่อการฟื้นฟูทะเลสาบ
จำนวน 52.09 ล้านตัว
มีการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพื่อปล่อยอีกกว่า 2.37 ล้านตัว
และผลการสำรวจสภาวะทรัพยากรและประเมินผลผลิตสัตว์น้ำรอบทะเลสาบสงขลา ปี 2563 มีปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้รวมทั้งสิ้นกว่า 2,774.7
ตัน
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้
รองอธิบดีกรมประมงยังได้เข้าเยี่ยมองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น
กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) ม.1
ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา
ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประกวดชุมชนประมงดีเด่น
ภายใต้โครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนประมง ประจำปี 2563 ของกองตรวจการประมง กรมประมง โดยกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่
(ท่าเสา)
เป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ
ภายใต้โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลา
นายหมัดอุเส็น
สนเส็ม ประธานกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) กล่าวว่า “กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 จากปัญหาการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำที่ส่งผลให้รายได้ชาวบ้านลดลง
มีหลักการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1. ด้านการปกป้องพื้นที่เพื่ออนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นที่อาศัยหลบภัยของสัตว์น้ำ
2. ด้านการฟื้นฟู อาทิ ติดตั้งซั้งบ้านปลา ปลูกต้นโกงกาง
เพาะฟักปลาขี้ตัง ปูดำ ปูม้า เป็นต้น และ 3. ด้านการส่งเสริมต่อยอดองค์ความรู้
ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้จำนวนปลากดขี้ลิง
ทรัพยากรสัตว์น้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์มีการเพิ่มปริมาณมากขึ้นหลายเท่าตัว
จนทำให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้
สร้างจิตสำนึกและประชาสัมพันธ์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนแก่นักเรียน
นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยทางกรมประมงได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ต่าง ๆ
และเพิ่มศักยภาพให้กับทางกลุ่มฯ
เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ
เป็นการบูรณาการชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน”
สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการฯ
ในปี 2564 นั้น ยังคงมุ่งเน้นการฟื้นฟูทรัพยากรประมงโดยชุมชนมีส่วนร่วม
มีการดำเนินกิจกรรมด้านการฟื้นฟูทรัพยากรประมง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มผลผลิตและคงความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา
โดยมีแผนการดำเนินงานผลิตปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 53 ล้านตัว
และเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อีกกว่า 2 ล้านตัว
รองอธิบดีกรมประมง
กล่าวในตอนท้ายว่า
จากการตรวจติดตามโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลาครั้งนี้
เชื่อมั่นว่า โครงการฯ มีความพร้อมและศักยภาพมากพอที่จะฟื้นฟูทรัพยากรประมง
สามารถเพิ่มผลผลิตและคงความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา สร้างรายได้ให้กับชาวประมง
เป็นแหล่งอาหารของชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา
ตลอดจนชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรประมงได้อย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น